อดีตกำนันผู้ใหญ่บ้าน
กำนันผู้ใหญ่บ้าน มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อยู่คู่กับการปกครองของไทย เพียงแต่การเรียกชื่อสถาบันนี้แตกต่างกันคือ นับแต่ยุคสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ

ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี
การปกครองแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี และจัตวา ในแต่ละเมืองจะแบ่งเป็นแขวง โดยมีเจ้าเมืองและนายแขวง ดูแล ส่วนในแต่ละแขวงก็จะแบ่งเป็นแคว้น และแต่ละแคว้นแบ่งเป็นบ้าน โดยมีนายแคว้น หรือนายบ้าน เป็นหัวหน้าดูแล

ยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การปกครองสมัยสุโขทัยได้นำมาใช้ในตอนต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้ปรับปรุงการปกครอง โดยมีการแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองชั้นใน โดยมีผู้ปกครองที่มีบรรดาศักดิ์เป็นผู้รั้งหรือพระยา เมืองแต่ละเมืองจะแบ่งเป็นแขวงโดยมีหมื่นแขวงปกครอง และในระดับแขวงแบ่งเป็น ตำบล ซึ่งก็คือ แคว้นในสมัยสุโขทัย และในแต่ละตำบล ก็แบ่งเป็นบ้าน ผู้ปกครองก็จะเป็นผู้ใหญ่บ้านดูแลและมีบรรดาศักดิ์ “พัน” ซึ่งใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตำแหน่งนายบ้านและนายแคว้นก็เรียกว่า “พัน” โดยทั้งนี้ทั้งนายบ้านและนายแคว้น จะมาจากการแต่งตั้งของเจ้าเมืองหรือผู้รั้ง
กำนันผู้ใหญ่บ้านยุคปัจจุบัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงการจัดระเบียบการปกครอง โดยมีการตั้งมณฑลเทศาภิบาล จังหวัดและอำเภอ มีผู้ปกครองคือ ข้าหลวงเทศาภิบาล ข้าหลวงเมืองและนายอำเภอดูแลตามลำดับ ซึ่งต่อมาได้ยุบการปกครองระดับมณฑล และตำแหน่งข้าหลวงได้เปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนในการปกครองที่ต่ำกว่า อำเภอ ก็จะแบ่งเป็นตำบลและหมู่บ้าน และมีการเปลี่ยนแปลงการสรรหากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากการแต่งตั้งโดยข้าหลวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นการเลือกโดยประชาชนในตำบลหรือหมู่บ้านนั้น

การปรับปรุงกฎหมายหลักของการปกครองท้องที่
การปกครองภูมิภาคของประเทศซึ่งรวมทั้งการปกครองในตำบลและหมู่บ้าน เมื่อมีการปรับปรุงจนเป็นที่แน่นอน รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ รศ.116 ขึ้นใช้บังคับทั่วประเทศ และต่อมาได้ปรับปรุงเป็นพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 อีกครั้งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยและดูแลการปกครองส่วนภูมิภาคทั้งหมด มีกรมการปกครองกำกับดูแลการปกครองส่วนภูมิภาคตั้งแต่ระดับอำเภอลงไปอย่างเช่นในปัจจุบัน

การเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านโดยประชาชน
ได้มีการทดลองเลือกผู้ใหญ่บ้านและกำนันเพื่อตั้งขึ้นปกครองดูแลหมู่บ้านและตำบลเป็น ครั้งแรกที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2535 ทั้งนี้เนื่องมาจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ราษฎรมีโอกาสใช้สิทธิในการปกครองตนเอง ขั้นตอนและบรรยากาศการเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านที่พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยะศิริ) ครั้งเป็นหลวงเทศา จิตราวิจารณ์ ที่นำทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ความโดยสรุปว่า
ในขั้นต้นทำบัญชีสำมะโนครัวบ้านที่จัดเป็นหมู่บ้านและตำบลก่อน เชิญเจ้าบ้านมาประชุมที่วัด เมื่อที่ประชุมพร้อมแล้วก็สอบถามว่า สมควรให้ใครเป็น “ผู้ใหญ่บ้าน” เมื่อได้แล้วก็ออกใบตั้งชั่วคราวให้
ส่วนกำนันก็จะให้ผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น เป็นผู้เลือกผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งเป็นกำนัน ดังนั้นกำนัน จะมีสถานภาพเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านใดบ้านหนึ่งด้วย
ทั้งนี้วาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะอยู่ในตำแหน่งได้ถึง 60 ปี จึงเกษียณ ซึ่งต่อมาได้ปรับปรุงกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่อีกครั้ง โดยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี
จากปัจจุบันสู่อนาคต
เมื่อมาถึงปีปัจจุบัน ปรากฏว่าประเทศไทยได้มีการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปโดยรวดเร็ว คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ แต่การปกครองท้องที่ระดับตำบลหมู่บ้าน ยังไม่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมทำให้การปฏิบัติงานของกำนันผู้ใหญ่บ้านไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับอำนาจหน้าที่ยังมีความซ้ำซ้อนกับภารกิจและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 อีกครั้งเป็นครั้งที่ 11 เพื่อปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง บทบาทและอำนาจหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน และให้มีคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นอีกองค์หนึ่งมาช่วยงานกำนันผู้ใหญ่บ้านสอดคล้องกับการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดิน และอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การเข้าสู่ตำแหน่ง ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้เปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าสู่ตำแหน่งด้วยการเลือกของประชาชนและ พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 60 ปี ส่วนกำนันจะเป็นผู้เลือกผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น ๆ เป็นกำนันอย่างที่เคยมีมา อย่างไรก็ตาม สำหรับกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนพระราชบัญญัติที่แก้ไขใหม่นี้ก็ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะพ้นตำแหน่ง ตามที่พระราชบัญญัติที่ใช้ก่อนนี้
บทบาทหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านชัดเจนยิ่งขึ้น คือ ผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นหัวหน้าราษฎรในหมู่บ้านของตน และมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) อำนวยความเป็นธรรมและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน
(2) สร้างความสมานฉันท์ และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านรวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีในท้องที่
(3) ประสานหรืออำนวยความสะดวกแก่ราษฎรในหมู่บ้าน ในการติดต่อหรือรับบริการกับภาครัฐ
(4) รับฟังปัญหาและนำความเดือดร้อน ทุกข์สุขและความต้องการที่จำเป็นของราษฎรในหมู่บ้าน แจ้งต่อภาครัฐ เพื่อให้การแก้ไขหรือช่วยเหลือ
(5) ให้การสนับสนุน ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของภาครัฐ
(6) ควบคุมดูแลราษฎรในหมู่บ้านให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยผู้ใหญ่บ้านจะต้องทำเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรด้วย
(7) อบรมและชี้แจงให้ราษฎรมีความรู้ ความเข้าใจในข้อราชการและกฎหมาย ในการนี้สามารถเรียกราษฎรมาประชุมได้ตามสมควร
(8) แจ้งให้ราษฎรให้ความช่วยเหลือในกิจการสาธารณประโยชน์ เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายสาธารณะ อันมาโดยฉุกเฉิน รวมทั้งช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย
(9) จัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
(10) ปฏิบัติตามคำสั่งของกำนันหรือทางราชการและรายงานเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่บ้านให้กำนันและนายอำเภอทราบ
(11) ปฏิบัติตามภารกิจหรืองานอื่นตามกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมอบหมาย
การจัดให้มีคณะกรรมการหมู่บ้าน ช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยในการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและบริหารจัดการกิจกรรม ในหมู่บ้าน ร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ทุกภาคส่วน

สรุป
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด โดยเป็นผู้ช่วยเหลือทางราชการ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข แก่ประชาชนในตำบลหมู่บ้าน และเป็นผู้แทนประชาชนในตำบลหมู่บ้านใน การติดต่อกับภาคส่วนต่าง ๆ ถึงแม้สภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย จนปัจจุบันและต่อไป ในอนาคต จะทำให้ภารกิจบทบาทหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านเพิ่มมากขึ้น กรมการปกครองเป็นกรม กำกับดูแลกำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็ได้ช่วยเสริมศักยภาพให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ด้วยการขยายเวลาการทำงานให้ถึง 60 ปี เพราะประสบการณ์จะช่วยสร้างเสริมความมั่นใจในการทำงาน รวมทั้งปรับปรุงคณะกรรมการหมู่บ้านให้เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอและผู้ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้กำนันผู้ใหญ่บ้านจะเป็นที่ยอมรับหรือได้รับความศรัทธาจากประชาชนมากน้อยเท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการทุ่มเทกำลังใจ กำลังกายในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน ของกำนันผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง




โค้ด PHP:
ที่มา สุริยะ  วิริยะสวัสดิ์ รองอธิการวิทยาลัยการปกครอง