ระบบการเลี้ยง ที่มีการควบคุม ดูแล สิ่งที่อาจเป็นพาหะ ไม่ให้มีโอกาสนำเชื้อโรคเข้าไปสู่ไก่ที่เลี้ยงอยู่ในเล้า เช่น ควบคุมการ เข้า-ออก ของคนที่เกี่ยวข้องในเล้าไก่ โดยการสเปรย์น้ำยาฆ่าเชื้อโรค แล้วอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าใส่ชุดของฟาร์ม และรองเท้าของฟาร์ม ควบคุม อุปกรณ์ และสิ่งของที่จะนำเข้าไปในเล้า ไม่ให้นำเชื้อโรคเข้าไปสู่ไก่ โดยการฆ่าเชื้อโรค ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การรมควันด้วยฟอร์มาลดีไฮด์แก๊ส ฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้แสง UV เป็นต้น

ส่วนอาหารสัตว์ที่ใช้ ต้องนำมาจากโรงงานที่ผลิตตามระบบ HACCP นอกจากนั้น ต้องมีการเข้มงวด ในงานด้านการสุขาภิบาล และควรเลี้ยงไก่อายุเดียวกันทั้งหมดในฟาร์มเดียวกัน โดยการนำไก่เข้า และปลดออกพร้อมกัน

ไม่จำเป็นต้องใช้ เล้าแบบปิด หรือเล้าอีแว๊ป เสมอไป แต่ท่านจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการเฉพาะ ตามแบบเล้า ที่ท่านใช้อยู่เป็นอย่างดี เพราะเล้าแต่ละแบบ จะมีวิธีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน เช่น เล้าไก่แบบเปิด ให้ระวังไก่เครียดเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง ถ้าเลี้ยงไก่แน่นเกินไปจะทำให้การจัดการยากยิ่งขึ้น เล้าไก่บนบ่อปลา ระวังพื้นเล้า อาจทำให้เท้าไก่บาดเจ็บ ห้ามนำน้ำในบ่อปลา มาใช้ล้างเล้า หรือฉีดพ่นบนหลังคา ให้จับปลาหลังจากปลดไก่ไปแล้ว กำหนดจุดจับปลาให้ห่างจากเล้าไก่ และถนนที่ใช้เป็นทางเข้าเล้าไก่ เล้าไก่แบบปิด (อีแว๊ป) ต้องคำนวณเรื่องความเร็วลม ความสม่ำเสมอของกระแสลม และความกดดันอากาศในเล้า อย่างถูกต้อง และคำนวณความหนาแน่นในการเลี้ยงไก่ เป็นน้ำหนักไก่ต่อพื้นที่ เป็นต้น

เล้าแบบปิด (อีแว๊บ)
เล้าไก่ที่มีผนังเล้าปิดมิดชิด อากาศจะผ่านเข้ามาในโรงเรือนโดยผ่านแผ่นรังผึ้ง(Cooling pad) หรือวัสดุอื่นที่ใช้เป็นตัวทำความเย็นเท่านั้น มีการควบคุมกระแสลมและการถ่ายเทอากาศอย่างถูกต้อง ขณะที่ลมวิ่งด้วยความเร็ว จะทำให้ความร้อนที่อยู่รอบตัวไก่ถูกพาไป ไก่จะระบายความร้อนออกจากตัวได้ดีขึ้น จึงมีความรู้สึกเย็นสบาย โดยทั่วไปมักใช้ร่วมกับ ระบบทำความร้อน และ/หรือ ระบบการทำความเย็น เช่นในประเทศไทย จะใช้ร่วมกับระบบการทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำ (Evaporative cooling) ลมร้อนที่ไหลผ่านการระเหยน้ำเข้ามาในเล้าจะเย็นลง ยิ่งทำให้ความเย็นที่เกิดจากกระแสลม (Wind chilled effect) มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อุณหภูมิของอากาศใน เล้าปิด (อีแว็ป) จะต่ำกว่าอากาศภายนอกเล้า และอุณหภูมิของอากาศในแต่ละช่วงเวลาจะมีความแตกต่างกันน้อยกว่า เล้าเปิด ทำให้ไก่ไม่มีความเครียด หรือมีน้อย จึงสามารถเลี้ยงไก่ได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งของ เล้าแบบปิด (อีแว๊ป) คือ ช่วยลดปริมาณของเชื้อโรคที่แพร่ระบาดมาทางอากาศ เพราะขณะอากาศไหลผ่านเข้าเล้าทางแผ่นรังผึ้ง (Cooling pad) ที่เปียกชื้นด้วยน้ำ ฝุ่นละอองจะถูกดักจับไว้เป็นส่วนใหญ่ และขณะที่น้ำระเหยเป็นไอ เชื้อโรคไม่สามารถเกาะติดไปกับไอน้ำได้ ในสภาพเช่นนี้ เชื้อโรคจะลดปริมาณลงเรื่อยๆ เพื่อความมั่นใจ ในช่วงเวลาที่มีปัญหาโรคระบาด เราอาจเติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ชนิดที่ไม่เป็น Oxidizing agent และไม่มีผลทำให้น้ำเป็น กรด หรือ ด่าง ลงในน้ำที่ใช้ไหลผ่าน แผ่นรังผึ้ง ก็ได้ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค

วัตถุประสงค์ในการใช้เล้าแบบปิด (อีแว๊ป)
เพื่อเพิ่มปริมาณ ประสิทธิภาพ และคุณภาพในการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในการผลิตระดับอุตสาหกรรม และการส่งออกตามข้อกำหนดด้าน Animal Welfare ของกลุ่มประเทศยุโรป ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เล้าแบบปิด (อีแว๊ป) สามารถเพิ่มผลผลิต และประสิทธิภาพในการผลิตได้ดีกว่า ไม่ว่าจะใช้ในการเลี้ยงสัตว์ประเภทใด แต่อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบนี้ ค่อนข้างสูง ดังนั้น ต้องมีการ ออกแบบ-ก่อสร้าง และการจัดการ อย่างถูกต้อง จึงจะคุ้มค่าในการลงทุน คราวนี้ท่านคงจะเข้าใจแล้วว่า ระบบปิด กับ เล้าปิด นั้นเหมือน หรือต่างกัน อย่างไร บทเรียนจากปัญหาโรคหวัดนก ในครั้งนี้ คงจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ระบบการเลี้ยงสัตว์ มีความสำคัญเพียงใด ไม่ว่าท่านจะเลี้ยงไก่หรือสัตว์ปีกชนิดใด ก็ไม่อาจรอดพ้นภัยพิบัติและชะตากรรมที่เกิดร่วมกันไปได้ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ท่านที่เลี้ยงสัตว์ปีกทุกชนิด ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ได้จัดการระบบการเลี้ยงสัตว์ของท่านอย่างถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ของท่านเองและส่วนรวม ท่านที่เลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อการกีฬา หรือเพื่อความสวยงามก็สามารถนำหลักการ ระบบปิด ไปดัดแปลงใช้ได้ ขอให้ระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ และการนำสัตว์ใหม่เข้ารวมฝูง จะต้องทำการ กัก-แยก สัตว์ไว้ไม่น้อยกว่า 14 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการติดโรคมาด้วย โดยเฉพาะไก่ชน ควรมีคอกพิเศษ ที่อยู่ห่างไกลฝูงไก่ส่วนใหญ่ เพื่อใช้กักไก่ชนที่นำกลับมาหลังจากการเปรียบไก่ บางท่านคิดว่า ไก่ชนมีการออกกำลังกายทุกวัน ทำให้แข็งแรง จึงไม่ติดโรคได้โดยง่าย แต่มันก็ไม่แน่เสมอไป ใช่ไหม ...... ? การจะใช้ เล้าปิด (อีแว๊ป) นั้น น่าจะขึ้นอยู่กับว่า ท่านต้องการ เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการผลิตหรือไม่? การที่ระบบอีแว๊ปช่วยป้องกันโรคได้ เป็นแค่ผลข้างเคียง เท่านั้น สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรทางวิชาการ มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา นักวิชาการในภาคราชการและเอกชน รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่มีประสบการณ์ ยินดีที่จะให้ข้อคิดเห็น คำแนะนำ และช่วยเหลือทางวิชาการแก่ท่านที่สนใจและต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับ ระบบการเลี้ยงสัตว์ และการจัดการ ตามหลักวิชาการสัตวบาล หรือการออกแบบระบบอีแว๊ป สำหรับเล้าเลี้ยงสัตว์ ทุกชนิด ทุกประเภท โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โปรดติดต่อ สอบถามได้ที่ สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย สถานที่ตั้งอยู่ที่ฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

ระบบปิด หรือ เล้าปิด โดย สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย
ตั้งแต่เกิดเรื่องไข้หวัดนกระบาด ทำให้สัตว์ปีกต้องตาย และถูกฆ่าตัดตอนไปเป็นจำนวนมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เป็นคนกลุ่มใหญ่ ที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินที่ลงทุน ลงแรง เลี้ยงดู หวังว่าจะมีรายได้ไว้จุนเจือครอบครัว และเหลือไว้ลงทุนในรุ่นต่อไป แต่เพียงชั่วข้ามคืน มันกลับหายวับไปกับตา ตามกฎเหล็ก... รัฐบาลท่านก็ดีใจหาย รีบออกมาตรการมาช่วยเหลือโดยการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรผู้สูญเสียเหล่านั้น ยังมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ อีกกลุ่มหนึ่งไม่ประสบปัญหาไก่ป่วย (อยู่นอกเขตสีแดง) กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะไก่ที่เลี้ยงไว้ ต้องกินอาหารทุกวัน แต่การขายไก่หรือไข่ ต้องรอขั้นตอนการตรวจรับรอง ซึ่งใช้เวลานานหลายวัน

ที่มา http://www.tkc.go.th