ชื่อ
สระหัวบะดัน
ภาคใต้
จังหวัด นราธีวาส



เป็นพิธีที่นิยมจัดขึ้นในวันหลังจากที่หมอตำแยได้ทำคลอดให้ผู้หญิงคลอดลูก
ความสำคัญ
เพราะเชื่อกันว่าเมื่อหมอตำแยได้ทำคลอดให้แล้ว หากไม่ทำพิธีกรรมนี้ขึ้น จะทำให้บาปเวรติดตัวทั้งหญิงผู้คลอดและสามี คือ เมื่อตายไปแล้วฝ่ายหญิงจะต้องทูนเตาไฟ ฝ่ายชายจะต้องแบกแคร่ในการอยู่ไฟของฝ่ายหญิง

พิธีกรรม
๑. อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม มีดังนี้
๑) เครื่องสำหรับบูชาครูหมอ ได้แก่ อาหารคาว ๗ ชนิด สุราบาน น้ำบ่อ หมากพลู ๑ สำรับ ค่าธรรมเนียม (ราด) ซึ่งประกอบด้วยข้าวสาร (พอสมควร) ด้ายดิบ ๑ ม้วน หมาก ๑ คำ เงินไม่จำกัดจำนวน และเชี่ยนหมาก ๑ สำรับ
๒).เถาของสะบ้าที่ตีหรือตำให้แตกผสมน้ำพอสมควร
๓) "ขวางตะวัน" ประกอบด้วย ขมิ้น ข้าวสาร น้ำมันพืช หญ้าตีนกาผสมกับน้ำปริมาณพอเหมาะ
๔) น้ำมันพืช ๑ จอก
๕) แป้งหอม หรือ น้ำหอม
๖) ใบตาล หรือใบลาน เพื่อใช้สำหรับเขียนชื่อจำนวน ๗ แผ่น
๒. พิธีไหว้ครู
๑) เริ่มพิธีด้วยการทำพิธีไหว้ครูของหมอตำแย โดยหาชื่อของบรรพบุรุษ หากเป็นเพศชายต้องเขียนชื่อบรรพบุรุษใกล้เคียงฝ่ายพ่อที่เป็นชายจำนวน ๔ ชื่อ และที่เป็นฝ่ายแม่ ๓ ชื่อ แต่ถ้าเด็กเป็นเพศหญิงให้เขียนชื่อบรรพบุรุษฝ่ายพ่อที่เป็นหญิง จำนวน ๔ ชื่อ และที่เป็นฝ่ายแม่ ๓ ชื่อ เขียนลงบนแผ่นใบตาลหรือใบลาน ชื่อละแผ่น รวมเป็น ๗ แผ่น
๒) หมอตำแยกล่าวอธิษฐานว่า ถ้าหากบรรพบุรุษคนใดมาเกิดก็ขอให้แม่ของเด็กจับฉลากชื่อนั้น ๆ จับเพียง ๑ ครั้ง หรือหลายครั้งตามตกลงในคำอธิษฐาน เมื่อได้ชื่อแล้วหมอตำแยก็เอาฉลากชื่อนั้นแตะที่หน้าผากของเด็กพร้อมกับอวยพรและใช้ฉลากชื่อนั้นผูกคอให้เด็ก และหากภายหลังเด็กเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย และเชื่อว่าเพราะหาชื่อผู้ที่มาเกิดผิด จะต้องทำพิธีหาชื่อใหม่
๓. พิธีสะหัวบะดัน
การทำพิธีสระหัวบะดัน เริ่มโดย
๑) หมอตำแยนั่งห้อยเท้าเหมือนกับการนั่งบนม้านั่งแล้วให้แม่และพ่อของเด็กผลัดเปลี่ยนกันเอาเถาสะบ้าแตะที่หน้าผากของหมอตำแยพร้อมกับกล่าวคำขอขมาและขอบคุณหมอตำแยที่ได้ทำคลอดให้ ทำ ๓ ครั้ง
๒) หลังจากนั้นใช้น้ำสะบ้าล้างมือล้างเท้าพร้อมกับประพรมเครื่องหอมให้แก่หมอตำแย
๓) เมื่อเสร็จแล้วให้พ่อแม่ของเด็กนั่งเหยียดเท้าอยู่บนพื้น หมอตำแยก็เอา "ขวางตะวัน" ประพรมให้เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้ด้วย ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีสระหัวบะดัน

สาระสำคัญของพิธีสระหัวบะดัน
สระหัวบะดัน เป็นพิธีกรรมส่วนหนึ่งของประเพณีที่นิยมทำที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อการทำความสะอาดหรือการขอขมาหมอตำแยหลังจากการทำคลอด