กฎหมาย...การซื้อขายเหล้า
โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
น.บ. , น.บ.ท. , น.ม. (กฎหมายมหาชน)

วันนี้จะพูดคุยกับคุณผู้อ่านถึงกฎหมายสถานบริการประเภทร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย เช่น ผับ เธค ร้านข้าวต้ม คาราโอเกะ ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องเวลาเปิดปิด (ที่บางร้านก็เปิดได้ยันเช้า) หรือการปล่อยให้เด็กและเยาวชนของชาติทั้งหลายเข้าไปใช้บริการเหมือนเป็นร้านเหล้าของเด็กๆ เนื่องจากทุกวันนี้เราก็ยังเห็นเด็กและเยาวชนของชาติเดินเข้าออกและใช้บริการร้านขายเหล้า (โดยเฉพาะร้านเหล้าปั่น) เผลอๆ วัยรุ่นจะเป็นลูกค้าคนสำคัญของสถานบริการชนิดนี้เลยก็ว่าได้นะครับ ทั้งๆ ประเทศเรามีกฎหมายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบของเยาวชนอยู่ด้วย

อายุต่ำกว่า 20 ปี...ห้ามเข้าร้านเหล้า
ช่วงสองปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งรณรงค์ให้รัฐบาลเร่งเอาจริงเอาจังหรือออกมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนไทย โดยเฉพาะการควบคุมดูแลไม่ให้มีการเปิดร้านเหล้าใกล้บริเวณสถานศึกษาโดยได้มีการยื่นเรื่องต่อกรมสรรพสามิตให้ยกเลิกใบอนุญาตจำหน่ายสุราแก่ร้านเหล้าต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณรอบรั้วมหาวิทยาลัย เนื่องจากการสำรวจของเครือข่ายศูนย์กิจกรรมเยาวชนเพื่อชุมชนและสังคม บริเวณรอบมหาวิทยาลัยจำนวน 11 แห่ง พบว่ามีสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับสถานศึกษาในระยะ 500 เมตรแทบทุกมหาวิทยาลัย จำนวนถึง 335 ร้าน!! และมีป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 128 ป้าย!!

คุณผู้อ่านก็ลองนึกดูนะครับว่าเมื่อมีร้านขายเหล้ารายรอบมหาวิทยาลัยได้ขนาดนี้ เด็กและเยาวชนจะยืนมองเฉยๆ เหรอครับ ซึ่งความพยายามของหลายฝ่ายในการดูแลเยาวชนของชาติก็ใช่ว่าจะไม่มีผลเพราะมีการผลักดันออกกฎหมายจนกลายเป็น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนตกเป็นทาสของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ และกำหนดโทษผู้กระทำความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ พ.ศ. 2546 ยังระบุว่าหากบุคคลใดขาย แลกเปลี่ยนหรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์มีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยนะครับ

ขายเหล้าปั่น...ก็ต้องขอใบอนุญาต
ในช่วงเวลาสองสามปีมานี้แหละครับที่นอกจากเด็กวัยรุ่นไทยจะชอบรับประทานน้ำผลไม้ปั่น กาแฟปั่น ชอคโกแลตปั่นแล้ว เด็กวัยรุ่นไทยยังนิยมดื่มเหล้าปั่นที่มีวางขายรายรอบมหาวิทยาลัย วิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ริมถนน ตลาดนัด ฯลฯ ที่ตั้งเกลื่อนกราดเต็มไปหมด โดยบางรายอาจจะแทบไม่รู้เลยนะครับว่าการเปิดร้านจำหน่ายเหล้าปั่นจะต้องขออนุญาตจากกรมสรรพสามิตด้วย ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ไปพบเจอว่าไม่มีใบอนุญาตก็จะถูกสั่งปิดร้านทันทีครับ

กรณีที่ร้านเหล้าร้านใดได้รับใบอนุญาตขายสุราจากเจ้าหน้าที่สรรพสามิตแล้ว ก็ใช่ว่าจะสามารถขายเหล้าปั่นได้เลยทันทีนะครับ เพราะการขายเหล้าปั่นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงน้ำสุราตามมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 จะขายได้ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อได้ร้องขอให้ทำการเปลี่ยนแปลงสุราเพื่อดื่มในขณะนั้น หากขายสุราที่เปลี่ยนแปลงโดยที่ผู้ซื้อมิได้ร้องขอเพื่อดื่มในขณะนั้น มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

ขายเหล้านอกเวลาที่กำหนด....สูงสุดเพิกถอนใบอนุญาต
เวลาที่สามารถขายเหล้าตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 พ.ศ. 2515 ได้กำหนดเวลาขายเหล้าเป็น 2 ช่วงคือเวลา 11.00 – 14.00 น.และเวลา 17.00 – 24.00 น. หากนอกเหนือเวลาดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 4,000 บาท นอกจากนี้อาจต้องรับโทษตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ในการพักใช้ใบอนุญาตหรือถอนใบอนุญาตขายเหล้าเป็นเวลา 5 ปีเลยนะครับ

ส่วนนักดื่มก็ใช่ว่าจะไม่ต้องรับโทษหากนั่งดื่ม ณ ร้านเหล้าเกินเวลาที่กำหนดนะครับ คุณผู้อ่านจำไว้เลยว่าหากดื่มเกินเวลา ณ ร้านเหล้าเมื่อไหร่อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยนะครับ


ที่มา : http://ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/018/2.PDF

ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี. เรื่อง กําหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์. พ.ศ. ๒๕๕๘
http://ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/018/2.PDF