พบโรคใหม่ "ไข้กระต่าย" ครั้งแรกในไทย

พบโรคใหม่ 'ไข้กระต่าย' ครั้งแรกในไทย เตือนติดจากสัตว์เลี้ยงได้ง่าย อันตรายถึงตาย!
วันที่ 16 มีนาคม 2551 - เวลา 21:28:19 น.

พบหนุ่มใหญ่ป่วยเป็นโรคไข้ประหลาดจนเสียชีวิต สหรัฐฯตรวจเชื้อ-ยันผล 99% เป็นโรค'ไข้กระต่าย' พบในเมืองไทยครั้งแรก เผยเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงเข้าสู่ร่างกายคนได้ทุกทาง เตือนคนเลี้ยงสัตว์แปลกนำเข้าจากต่างประเทศระวังมากขึ้น

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีการตรวจพบโรคทูลาเรเมีย (Tularemia) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส Francisella tularensis ส่วนมากมักจะพบในสัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะกระต่าย ในต่างประเทศบางครั้งเรียกว่าไข้กระต่าย หรือ Rabbit Fever และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศแถบยุโรป และอเมริกา ซึ่งโรคดังกล่าวพบได้ทั่วไปแทบทุกประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยถือเป็นการตรวจพบครั้งแรก เชื่อว่าอาจจะติดจากการเลี้ยงกระต่ายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ขณะนี้ได้ส่งเชื้อให้ฝ่ายปฏิบัติการที่สหรัฐอเมริกาตรวจยืนยันผล เพราะห้องปฏิบัติการในประเทศไทยยังไม่สามารถตรวจเชื้อตัวดังกล่าวได้ ซึ่งมีการยืนยันผลแล้ว 99% ว่าจะเป็นเชื้อชนิดดังกล่าว

นพ.ธวัชกล่าวว่า ผู้ป่วยโรคทูลาเรเมียรายดังกล่าวเป็นชายวัย 35-40 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) ประจวบคีรีขันธ์ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง เริ่มรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 โดยผู้ป่วยมีไข้เป็นระยะๆ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ต่อมาวันที่ 25-30 กันยายน 2550 ผู้ป่วยเริ่มมีไข้สูง มีอาการขาบวม และเข้ารับการรักษาที่ รพ.ศิริราช กระทั่งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2550 ผู้ป่วยมีอาการไม่ดี แพทย์ทำการเจาะเลือด พบเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นบาซิลัสตัวใด ต่อมาไม่นานผู้ป่วยเสียชีวิต

นพ.ธวัชกล่าวอีกว่า ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ลงไปสอบสวนโรคที่บ้านและครอบครัวของผู้ตาย พบว่าไม่มีประวัติการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ การเล่นคลุกคลีกับสัตว์ไม่แน่ชัด แต่ในละแวกบ้านมีการเลี้ยงโค สุนัข และมีแมวจรจัดค่อนข้างมาก เบื้องต้น กรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ทำการเจาะเลือดโค และสุนัข ตรวจหาเชื้อแล้ว พร้อมทั้งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ด้วยการสัมภาษณ์และเจาะเลือด รวมทั้งดักจับหนูทั้งในบ้าน รอบบ้านของผู้ป่วยสงสัยและเพื่อนบ้านเพื่อตรวจการติดเชื้อจากตับ ม้าม ปอด ของหนูที่ดักได้ เก็บเห็บหมัด เพื่อตรวจ PCR และเจาะเลือดเพื่อตรวจทางซีโรโลยี รวมทั้ง เจาะเลือดสัตว์ในบริเวณพื้นที่ของการสอบสวนโรคเพิ่มเติม โดยส่งตัวอย่างทั้งหมดตรวจที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทหาร (AFRIMS) รพ.พระมงกุฎเกล้า คาดว่าจะทราบผลการตรวจในเร็วๆ นี้

ผู้ป่วยโรคทูลาเรเมียมักมีอาการแรกเริ่มคือมีไข้ กล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งเป็นอาการคล้ายกับหลายโรค แพทย์จึงวินิจฉัย และให้การรักษาแบบครอบคลุมคือให้ยาปฏิชีวนะ จนกระทั่วผู้ป่วยหายในที่สุด แต่ไม่ได้มีการตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคใดกันแน่ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะระบุว่าเป็นไข้หวัดโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งผู้ป่วยจำนวนนี้มีเยอะมาก' อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ด้าน น.สพ.พลายยงค์ สการะเศรณี นายสัตวแพทย์ 9 กลุ่มงานโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อแบคทีเรียบาซิลัส Francisella tularensis นี้ สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้หลายทางและจะแสดงอาการตามช่องทางที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น ถ้าติดมาจากการกินอาหาร หรือน้ำ ที่มีเชื้อปนเปื้อน ก็จะมีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน อาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง ถ้าติดทางการหายใจ ก็จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว ปอดบวม ปอดอักเสบ หรือถ้าติดทางผิวหนัง จากสารคัดหลั่งของสัตว์ โดยเชื้อเข้าสู่ร่ายกายคนผ่านทางบาดแผล ก็จะทำให้มีแผลอักเสบ เรื้อรัง รักษาไม่หาย และสุดท้ายเชื้อโรคก็จะเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้โลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิตในที่สุด

อยากจะเตือนบรรดาผู้ที่รักสัตว์ โดยเฉพาะการนำสัตว์เลี้ยงทั้งที่แปลกและไม่แปลกเข้ามาจากต่างประเทศ ควรที่จะต้องมีการป้องกันโดยการตรวจสอบเอกสารรับรองการปลอดโรคของสัตว์ทั้งจากต่างประเทศ และด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศของไทย เพราะเชื้อโรคบางอย่าง เมื่ออยู่ในตัวสัตว์จะไม่แสดงอาการ แต่เมื่อถ่ายทอดมาสู่คน คนจะมีอาการป่วย การคลุกคลีหรือเล่นกับสัตว์ต้องระมัดระวัง ล้างมือ ทำความสะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ จะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น' น.สพ.พลายยงค์กล่าว



ข้อมูลจาก
http://www.matichon.co.th/news_title.php?id=1593
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต