กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: กรรม 16

  1. #1

    กรรม 16

    กรรม 16

    ในตอนนี้จะพูดถึงกรรม ๑๖ อย่าง เพื่อความเข้าใจในกฏแห่งกรรมตามหลักพระพุทธศาสนากว้างขวางยิ่งขึ้น
    ก่อนที่จะชี้แจงกรรม ๑๖ อย่างว่ามีอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไร ขอย้ำความเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อนว่า
    หลักพระพุทธศาสนาของเรานั้นเราไม่เชื่ออำนาจดวงดาว ไม่เชื่ออำนาจพระเจ้า
    ไม่เชื่ออำนาจสิ่งภายนอกอื่นใดว่าจะมาดลบันดาลชีวิตของเราให้สุข ให้ทุกข์ ให้เสื่อม ให้เจริญ ให้อายุสั้น ให้อายุยืน ให้เป็นอย่างโน้น
    ให้เป็นอย่างนี้ แต่เราเชื่อว่า สิ่งที่จะมาทำชีวิตเราให้เป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ได้ก็คือกรรมนั่นเอง ตัวกรรมที่เราทำไว้เอง
    เราจึงต้องเป็นไปตามกรรม ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "กมฺมุนา วคฺตติ โลโก แปลว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"
    และกรรมนั้นจะต้องมีเจตนาจึงจะเป็นกรรมได้ หากไม่มีเจตนาจะไม่เป็นกรรม ไม่ว่ากรรมฝ่ายดีหรือชั่ว พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
    "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเรียกการกระทำที่มีความจงใจว่าเป็นตัวกรรม"
    เกี่ยวกับกฏของกรรมนี้ มีบางคนสงสัยว่า ทำไมบางคนทำดีแล้วกลับไม่ได้ดี แต่กลับไปได้ชั่ว บางคนทำชั่วแล้วยังไม่ได้ชั่วแต่กลับไปได้ดี
    ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด ดังนั้น ในตอนนี้จะชี้แจงให้ทราบว่า มันมีกรรมอันใดกีดกันอยู่
    ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่า คำว่า "กรรม" ในพุทธศาสนาเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ถ้าเป็นกรรมก็เรียก กุศลกรรม ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เรียก
    อกุศลกรรม กรรมดีเป็นบุญเรียกว่า บุญกรรม กรรมชั่วเป็นบาปเรียกว่า บาปกรรม
    กรรมนั้นมีหลายระดับ เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจเหมือนศึกษาศาสตร์ต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงกรรมไว้หลายระดับ
    ดังนั้น ในพุทธศาสนาก็ได้กล่าวถึงกรรมหลายชนิด เช่น:-
    กรรม ๒ ชนิด คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม
    กฏของกรรม ๖ ชนิด คือ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน, เป็นทายาทของกรรมหรือเป็นผู้รับผลของกรรม, มีกรรมเป็นกำเนิด,
    มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์, มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย, ทำสิ่งใดไว้จะดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น
    กรรม ๑๒ อย่าง อย่างที่กล่าวมาแล้วในวันต้น คือ กรรมที่ให้ผลตามกาล ๔ อย่าง กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ ๔ อย่าง
    กรรมที่ให้ผลตามลำดับ ๔ อย่าง
    ในกรรม ๑๒ อย่าง มีอยู่หมวดหนึ่งซึ่งจะนำมาชี้แจงเพื่อเชื่อมกับกรรม ๑๖ อย่างในวันนี้ คือ กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่
    หรือว่า กรรมให้ผลตามกิจ ๔ อย่าง คือ :-


    (๑) ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด
    (๒) อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน
    (๓) อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น
    (๔) อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน


    กรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ จะให้ผลช้า ให้ผลเร็ว จะไม่ให้ผลหรือยังรอให้ผลอยู่ ต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยบริบูรณ์ กรรมนี้ก็ให้ผล ถ้าเหตุปัจจัยไม่บริบูรณ์ กรรมนี้ก็ไม่ให้ผล แต่มันจะรอผล
    อะไรคือเหตุปัจจัยที่จะเป็นแรงหนุนให้กรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ก่อผลขึ้น เพราะกรรมนั้นมีทั้งกุศลและอกุศล
    ท่านกล่าวไว้ว่า เหตุปัจจัยที่เป็นตัวสนับสนุนให้กรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ให้ผลนั้น มีอยู่ ๔ อย่าง คือ :-

    (๑) คติ คือ ที่ไปเกิด
    (๒) อุปธิ คือ รูปร่าง
    (๓) กาล คือ ยุคหรือสมัยที่เกิด
    (๔) ปโยคะ คือ ความเพียรหรือความพยายาม

    ขอให้ทำความเข้าใจ เหตุปัจจัยทั้ง ๔ อย่างนี้ให้ชัด เพราะเหตุปัจจัย ๔ อย่างนี้เป็นตัวการที่ทำให้กรรมให้ผลช้าหรือให้ผลเร็ว หรือไม่ให้ผลในขณะนั้น
    ข้อ ๑ คติ หมายถึง ที่ไปเกิด ถ้าคติดีก็ไปเกิดในสวรรค์หรือไปเกิดเป็นมนุษย์ ที่เรียกว่า สุคติ ถ้าคติไม่ดีก็จะเกิดในอบายภูมิ เช่น เกิดเป็นสัตว์นรก เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ที่เรียกว่า ทุคติ
    สุคติ แปลว่า ไปที่ดี ทุคติ แปลว่า ไปที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น เราจะ"ด้คติอันใดก็แล้วแต่กรรมของเรา คตินี้คือ ที่ที่ต้องไปเกิด หรือภูมิที่เราไปเกิดนั่นเอง เป็นเหตุปัจจัยตัวหนุนอย่างหนึ่งที่ให้กรรมให้ผลหรือไม่ให้ผล
    ข้อ ๒ อุปธิ หมายถึง รูปร่างกาย ถ้าอุปธิฝ่ายกุศล ก็มีรูปร่างสวยงาม สมบูรณ์ ไม่มีอวัยวะบกพร่อง แต่ถ้าอุปธิไม่ดี ก็มีรูปร่างกายไม่สมบูรณ์ ร่างกายบกพร่อง
    ข้อ ๓ กาล คือ ยุคหรือสมัยที่ไปเกิด ถ้าเราเกิดในยุคที่ผู้ปกครองประกอบด้วยธรรม มีแต่คนดี พระเจ้าแผ่นดินครองธรรม อย่างนี้เรียกว่า
    กาลดี ถ้าเกิดในกาลหรือยุคที่ไม่ดี เช่น เกิดในยุคที่ประชาชนไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม นักปกครองมีแต่ความเหี้ยมโหดมีแต่ความทารุณ
    เกิดในยุคที่ข้าวยากหมากแพง เดือดร้อนลำเค็ญ อย่างนี้เรียกว่า กาลไม่ดี
    ข้อ ๔ ปโยคะ หมายถึง การกระทำหรือความเพียร ถ้าเราเกิดมามีความขยันหมั่นเพียรก็หนุนให้กรรมที่เราทำไว้ได้ผลไวขึ้น
    แต่ถ้าเรเกิดทาไม่ขยันหมั่นเพียรก็ทำให้กรรมที่เราทำดีไว้ไม่ก่อผล กลับสนับสนุนกรรมชั่วให้ก่อผล
    เพราะฉะนั้น เหตุปัจจัย ๔ อย่าง คือ (๑) คติ (๒) อุปธิ (๓) กาล (๔) ปโยคะ นับว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญ ทั้ง๔
    อย่างนี้มันก็มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ถ้าฝ่ายดีท่านเรียกว่าเป็น สมบัติ คือ ความสมบูรณ์ ถ้าฝ่ายไม่ดีท่านเรียกว่า วิบัติ คือ ความสูญเสีย
    เพราะฉะนั้น เราแต่ละคนนี้จะเกิดมาได้สมบัติหรือได้วิบัติ ก็แล้วแต่กรรมของเราหนุนให้ได้รับ
    ถ้าได้สมบัติ ต้องได้สมบัติทั้ง ๔ อย่าง คือ
    (๑) คติสมบัติ ความสมบูรณ์ของคติที่เราไปเกิด เช่น เกิดในสวรรค์ เกิดเป้นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นี้เรียกว่า คติสมบัติ
    (๒) อุปธิสมบัติ คือ มีร่างกายสมบูรณ์ อวัยวะสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง เช่น รูปสวย รูปหล่อ รูปงาม นี้เรียกว่าอุปธิสมบัติ
    (๓) กาลสมบัติ คือ เกิดในยุคที่คนมีธรรม เช่น เกิดในยุคพระพุทธเจ้า เกิดในยุคที่คำสอนของพระพุทธเจ้ายังอยู่ หรือในยุคที่ผูปกครองประกอบค้วยธรรม คนประพฤติธรรม ประพฤติดี อย่างนี้เรียกว่า กาลสมบัติ
    (๔) ปโยคสมบัติ คือ เกิดมามีความขยันหมั่นเพียร ประกอบแต่กรรมดี อย่างเรามาฝึกกรรมฐาน ก็แสดงว่ามีปโยคสมบัติ เรามาสร้างปโยคสมบัติขึ้น จะเป็นเหตุให้กรรมดีที่ทำไว้ก่อผลไวขึ้น เพราะเรามาสร้างปโยคสมบัติในทางที่ดี ปโยคะ ก็คือความเพียรหรือการกระทำดีนั่นเอง เป็นปโยคสมบัติ
    เพราะฉะนั้น สมบัติมีอยู่ ๔ เป็นฝ่ายที่ดี ซึ่งตรงข้ามกับวิบัติ วิบัติก็มี ๔ เหมือนกัน คือ
    (๑) คติวิบัติ คือ เกิดมาเป็นคติวิบัติ เช่นเกิดในอบาย คือ เกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาร หรือเกิดเป็นเปรตหรืออสุรกาย
    (๒) อุปธิวิบัติ คือ เกิดมาร่างกายพิกลพิการ ร่างกายบกพร่อง เช่นตาบอด หูหนวก เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า อุปธิวิบัติ
    (๓) กาลวิบัติ คือ เกิดในยุคที่เดือดร้อน ที่ลำเค็ญ ที่คนมีแต่ความทารุณ คนไม่มีศีลธรรม ผู้ปกครองขาดคุณธรรม อย่างนี้เรียกว่า กาลวิบัติ หรือเกิดในดินแดนที่แห้งแล้ง ในยึคที่เดือดร้อน
    (๔) ปโยควิบัติ คือ ขี้เกียจ ไม่ทำความเพียร ไม่ทำความดี หรือการกระทำของตนทำในทางที่ชั่ว ทำในทางที่เสีย เรียกว่าการกระทำวิบัติ ปโยคะ คือ การกระทำ การกระทำวิบัติไปกระทำในทางที่ชั่ว ไม่มีศีลไม่มีธรรม อย่างนี้เรียกว่า ปโยควิบัติ
    ดังนั้น สมบัติก็มี ๔ วิบัติก็มี ๔ จึงรวมเป็น ๘ และกรรมนั้นก็มีทั้งกรรมฝ่ายดีและกรรมฝ่ายชั่ว เพราะฉะนั้น กรรมชั่วนั้นมีลักษณะ ๘ ประการ กรรมดีก็มีลักษณะอยู่ ๘ ประการ จึงรวมเป็นกรรม ๑๖ กรรมทั้ง ๑๖* นี้ คืออะไร จะชี้ให้ดู

    * อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ชื่อ มโนรถปูรณี ภาค หน้า ๑๔๑ และอรรถกถาวิภังค์ ข้อ ๘๔๐ หน้า ๔๕๘



    กรรมฝ่ายบาป ๘ อย่าง
    พูดถึงกรรมชั่ว ๘ อย่างก่อน ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาพระอภิธรรมว่า ท่านกล่าวไว้ใน อรรถกถาพระอภิธรรมว่า
    (๑) บาปกรรมบางอย่างถูกคติสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    (๒) บาปกรรมบางอย่างถูกอุปธิสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    (๓) บาปกรรมบางอย่างถูกกาลสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    (๔) บาปกรรมบางอย่างถูกปโยคสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    (๕) บาปกรรมบางอย่างอาศัยคติวิบัติ จึงให้ผล
    (๖) บาปกรรมบางอย่างอาศัยอุปธิวิบัติ จึงให้ผล
    (๗) บาปกรรมบางอย่างอาศัยกาลวิบัติ จึงให้ผล
    (๘) บาปกรรมบางอย่างอาศัยปโยควิบัติ จึงให้ผล


    นี้เป็นฝ่ายบาป ๘ อย่าง คือ อาศัยสมบัติ ๔ อาศัยวิบัติ ๔ รวมเป็น ๘ ทีนี้ จะยกตัวอย่างให้ดู



    ข้อที่ ๑ บาปกรรมบางอย่างถูกคติสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    คืออย่างไร ? คือบางคนนี้ทำบาปไว้ ทำบาปมาก แต่อาศัยที่ว่าเขาไปเกิดดีเสีย บาปกรรมตามเขาไม่ได้ ในคัมภีร์อรรถกถา ท่านยกตัวอย่างว่า มีชาวประมงคนหนึ่ง แกตกเบ็ดมาถึง ๕๐ ปี แต่ช่วงปลายชีวิตแกได้ฟังธรรมจากพระมหาเถระองค์หนึ่ง ถึงไตรสรณาคมน์ ไตรสรณาคมน์นี้มีผลมาก อย่างที่เรากล่าวว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ (*อ่านว่า => พุด-ทัง-สะ-ระ-นัง-คัด-ฉา-มิ *ผู้จัดทำ) เป็นต้น นี้อย่าคิดว่าไม่มีผล ไม่ใช่ปากว่าเฉยๆ เมื่อถึงไตรสรณาคมน์ เมื่อแกถึงไตรสรณาคมน์ก็บุญมันมาก ที่แกตกเบ็ดนั้น ความจริงแกก็ไม่ได้ทารุณมากเท่าไรเพราะแกทำมาหากินของแก แต่เมื่อแกมาถึงไตรสรณาคมน์ แกตายไปก็เกิดในสวรรค์ เมื่อไปเกิดในสวรรค์แล้ว บาปกรรมที่แกไปตกเบ็ดนั้นตามแกไปไม่ได้เพราะมันเกิดดีเสียแล้ว จะให้ไปตกยากได้อย่างไร ชาวสวรรค์เขาไม่มีตกยาก เขามีแต่รุ่งเรือง เพราะฉะนั้น บาปที่ทำไว้ไม่รู้จะให้ผลอย่างไรเพราะไปเกิดในที่ดีเสียแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บาปกรรมบางอย่างถูกคติสมบัติห้ามเสีย ห้ามตรงไหน ? ห้ามกรรมที่เคยไปตกเบ็ดไว้ แต่ถ้าแกจุติลงมาจากสวรรค์เมื่อไร ทีนี้บาปนั้นจะตามให้ผลแกในตอนหลัง แต่ตอนนี้บาปกรรมถูกห้ามเสียแล้ว
    เพราะฉะนั้น ในข้อที่ ๑ จึงบอกว่า บาปกรรมบางอย่างถูกคติสมบัติห้ามเสีย เพราะว่าเขาได้คติสมบัติ เขาเกิดในสวรรค์แล้ว บาปกรรมที่เขาตกเบ็ดไว้ตามเขาไม่ทัน แต่ว่าถ้าเขาจุติจากสวรรค์แล้วมันก็ตามมาทีหลัง แต่ที่ว่านี้หมายถึงบาปกรรมบางอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่าง อย่าคิดว่าทุกอย่าง



    ข้อที่ ๒ บาปกรรมบางอย่างถูกอุปธิสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล

    เช่น บางคนทำชั่วเอาไว้เป็นกรรมชั่วบางอย่าง แต่เขาเกิดมาเป็นคนรูปงาม รูปหล่อ เช่น บางคนเกิดมายากจนจริง เกิดมากับกรรมไม่ดีของเขาจึงยากจน แต่เขารูปสวย รูปหล่อ เพราะฉะนั้น เมื่อเขาได้อุปธิสมบัติอย่างนี้ แม้จะเป็นทาสรับใช้เขา แต่เนื่องจากรูปสวย รูปาม รูปหล่อ นายจึงไม่ค่อยใช้งานมากเพราะว่ารูปต้องใจนาย บางคนประกวดนางสาวไทยยังได้ แม้อยู่ต่างจังหวัดแท้ๆ เพราะรูปสวยรูปงาม ก็ได้รับยกย่องให้มีงานดี ให้มีอะไรดีทั้งๆ ที่เขาทำกรรมไม่ดีไว้ เขาเกิดมาลำบาก แต่ว่ารูปร่างเขาด เมื่อมีรูปร่างดีก้ได้งานดี ได้อะไรดี เพราะว่าอุปธิสมบัติห้ามกรรมชั่วของเขาไว้

    ข้อที่ ๓ บาปกรรมบางอย่างถูกกาลสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    คือ คนบางคนทำชั่วบางอย่างไว้ เขาไปเกิดในยุคที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ผู้ปกครองประกอบด้วยธรรม เขาก็อยู่ดีมีความสุขเพราะไปเกิดในยุคนั้น ในยุคที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ในกาลที่รุ่งเรือง เช่น เกิดไปพบพระพุทธเจ้า พยพระพุทธศาสนา ก็บุญของเขาทั้งๆ ที่กรรมชั่วบางอย่างของเขามีอยู่ แต่ตามเขาไม่ทันเวลานั้น เนื่องจากเขาไปได้กาลสมบัติที่ดี

    ข้อที่ ๔ บาปกรรมบางอย่างถูกปโยคสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    ปโยคะนี้คือความเพียรหรือการกระทำที่ดี บางคนนั้นเกิดในตระกูลที่ยากจนข้นแค้นลำบากเพราะกรรมชั่วที่เคยทำไว้ แต่เขาขยันหมั่นเพียร ตั้งใจศึกษาปฏิบัติ สร้างตัวด้วยความขยันหมั่นเพียรจริงๆ เมื่อเขามีความขยันหมั่นเพียรมากความจนก็ลดน้อยลง เพราะความขยันหมั่นเพียรหรือปโยคะตัวนี้ห้ามไม่ให้กรรมชั่วติดตามเขามาได้ เพราะฉะนั้น ในข้อที่ ๔ จึงบอกว่า บาปกรรมบางอย่างถูกปโยคสมบัติห้ามเสีย คือถูกความเพียร การกระทำที่ดีห้ามเสีย

    ข้อที่ ๕ บาปกรรมบางอย่างอาศัยคติวิบัติ จึงให้ผล
    เช่น บางคนทำกรรมชั่วไว้ พอไปเกิดเป็นสัตว์นรกก็ให้ผลทันทีเลย เพราะคติไม่ดีก็ให้ผลทันทีเลย หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ถูกฆ่า ถูกแทง ถูกเสียบเลย เพราะเขาไปได้คติวิบัติแล้ว เหมาะพอดี

    ข้อที่ ๖ บาปกรรมบางอย่างอาศัยอุปธิวิบัติ จึงให้ผล
    คือเขาเกิดมารับกรรมที่ตัวประกอบ เช่นมีโรคภัยไข้เจ็บบ้าง กรรมยิ่งซ้อนเข้าไปอีกเพราะร่างกายไม่ดี

    ข้อที่ ๗ บาปกรรมบางอย่างอาศัยกาลวิบัติ จึงให้ผล
    บางคนพอไปเกิดในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ยุคที่พระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองไม่ประกอบด้วยธรรมก็ถูกทรมานยิ่งขึ้น หรือได้รับความเดือดร้อนยิ่งขึ้น บาปกรรมที่เขาทำไว้ก็ให้ผลทันทีที่เขาเกิดในยุคที่เป็นกาลวิบัติ

    ข้อที่ ๘ บาปกรรมบางอย่างอาศัยปโยควิบัติ จึงให้ผล
    ปโยควิบัติ คือความเพียร การกระทำ ถ้าทำชั่วทำไม่ดี กรรมที่ตัวเองเคยทำชั่วหนักอยู่แล้ว ก็ก่อทุกข์หนักเข้าไปอีก อย่างบางคนเกิดมายากจนข้นแค้นแล้วยังสูบเฮโรอินเข้าอีก ยังกินเหล้าเมายาอีก ยังขี้เกียจอีก ดังนั้น บาปกรรมบางอย่างที่เขาเคยทำไว้ได้อาศัยปโยควิบัติจึงให้ผล ทำให้ผู้นั้นได้รับบาปกรรมนั้นได้ง่าย
    กรรมที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมดนั้น ๘ อย่าง นี้เป็นฝ่ายบาปกรรม



    กรรมฝ่ายบุญ ๘ อย่าง
    ต่อไปจะกล่าวถึงฝ่ายบุญหรือกุศลกรรม ฝ่ายบุญก็มี ๘ เหมือนกันคือ

    (๑) บุญหรือกรรมดีบางอย่างถูกคติวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    (๒) กรรมดีบางอย่างถูกอุปธิวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    (๓) กรรมดีบางอย่างถูกกาลวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    (๔) กรรมดีบางอย่างถูกปโยควิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    (๕) กรรมดีบางอย่างอาศัยคติสมบัติ จึงให้ผล
    (๖) กรรมดีบางอย่างอาศัยอุปธิสมบัติ จึงให้ผล
    (๗) กรรมดีบางอย่างอาศัยกาลสมบัติ จึงให้ผล
    (๘) กรรมดีบางอย่างอาศัยปโยคสมบัติ จึงให้ผล

    ในกรรมดี ๘ อย่างนี้ จะอธิบายความหมายของกรรมดีบางอย่างว่า ทำไมจึงไม่ให้ผล บางคนทำกรรมดี อย่างพวกเรานี้บางทีทำกรรมดีให้ผลทันทีเลย แต่บางทีกรรมนั้นยังไม่ให้ผลเพราะอะไร ? ก็เพราะอาศัยเหตุปัจจัยคือสมบัติและวิบัตินั่นเอง



    ข้อที่ ๑ กรรมดีบางอย่างถูกคติวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    ในคัมภีร์ท่านยกตัวอย่างว่า พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ทรงทำกรรมดีไว้มากเหมือนกัน นอกจากที่ทรงทำกรรมชั่วไว้ ถ้าพระองค์ไม่ไปฆ่าพ่อ คือปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา พระองค์คงไปเกิดในสวรรค์แน่ แต่การฆ่าพ่อนี้บาปกรรมหนัก เป็นเหตุให้พระองค์ต้องไปตกนรก เมื่อตกนรกแล้ว กรรมดีที่พระองค์เคยทำไว้มาก เช่น ทรงอุปถัมภ์สังคยานาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ทรงถึงพระรัตนตรัย ทรงฟังธรรม แต่บุญเหล่านั้นไม่อาจจะตามให้ผลได้เมื่อพระองค์ไปตกนรก เพราะอะไร ? เพราะไปเกิดอยู่ในนรกเสียแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า กรรมดีบางอย่างถูกคติวิบัติห้ามเสียจึงไม่ให้ผล

    ข้อที่ ๒ กรรมดีบางอย่างถูกอุปธิวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    เช่น บางคนเกิดเป็นลูกกษัตริย์ แต่ว่าตาบอดหรือหรือบ้าไบ้ หรือหูหนวก ตามปกติก็ควรจะได้เป็นรัชทายาท แต่เนื่องจากว่ารูปร่างไม่สมประกอบเสียแล้ว เลยเป็นรัชทายาทไม่ได้ เพราะอะไร ? เพราะอุปธิวิบัติห้ามเสียแล้ว

    ข้อที่ ๓ กรรมดีบางอย่างถูกกาลวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    คือ บางคนทำกรรมดีไว้มาก แต่เขากลับไปเกิดในยุคที่พระเจ้าแผ่นดินไม่ประกอบด้วยธรรม ผู้ปกครองทารุณโหดร้าย ไปเกิดในยุคที่ข้าวยากหมากแพง กรรมดีที่เขาเคยกระทำไห้ผลเขาไม่ได้ในช่วงนั้น เพราะเขาไปเกิดในกาลวิบัติเสียแล้ว กรรมดีมีอยู่แต่ไม่ให้ผลในตอนนั้น

    ข้อที่ ๔ กรรมดีบางอย่างถูกปโยควิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
    คิอ บางคนทำดีเอาไว้ในชาติปางก่อน แต่ในชาติปัจจุบันไม่ทำกรรมดีกลับมาทำชั่ว เป็นคนขี้เกียจไม่เอาการงาน แม้เขาเกิดมาเป็นมนุษย์ก็จริง แต่เขาไม่ทำดีในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ ถูกกรรมชั่วคือการกระทำในปัจจุบันห้ามผลที่มาในอดีตเสีย จึงไม่มีผล

    ข้อที่ ๕ กรรมดีบางอย่างอาศัยคติสมบัติ จึงให้ผล
    เช่นบางคนทำกรรมดีไว้ ทำให้เขาไปเกิดในสวรรค์ก็สุขและรุ่งเรืองทันที หรือเกิดมาเป็นมนุษย์ก็สุขและรุ่งเรืองทันที เพราะกรรมดีของเขาหนุนอยู่แล้ว

    ข้อที่ ๖ กรรมดีบางอย่างอาศัยอุปธิสมบัติ หรือรูปสมบัติจึงให้ผล
    บางคนเกิดเป็นเทวดา มีรูปสวย รูปหล่อยิ่งมีความสุขมาก หรือเกิดเป็นมนุษย์ก็มีร่างกายสมบูรณ์ หัวก็ดี สมองแจ่มใส ผิวพรรณผ่องใส เขาได้อาศัยอุปธิสมบัติ ยิ่งหนุนเขามากขึ้น บางคนยิ่งสุขล้นขึ้นไปอีก

    ข้อที่ ๗ กรรมดีบางอย่างอาศัยกาลสมบัติ จึงให้ผล
    คือเขาเกิดในยุคของพระพุทธเจ้า หรือยุคของคนมีศีลธรรม ผู้ปกครองดี เขาก็สุข รุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพราะกรรมดีเขามีอยู่แล้ว

    ข้อที่ ๘ กรรมดีบางอย่างอาศัยปโยคสมบัติ จึงให้ผล คืออาศัยความเพียรจึงให้ผล
    เมื่อเขาเกิดมาเป็นมนุษย์หรือเกิดมาเป็นเทวดาและเขาทำดีตลอด เขาไม่ทำชั่ว กรรมดีก็หนุนเขาเต็มที่ เพราะเขาอาศัยปโยคสมบัติ
    กรรมทั้ง ๑๖ ประเภทนี้ เป็นกรรมที่กล่าวไว้ค่อนข้างละเอียดในคัมภีร์อรรถกถาพระอภิธรรม และในอรรถกถาพระสูตร ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก พวกเราจึงไม่ค่อยได้ยินกันนัก แต่นี้แหละทำให้เราได้เห็นชัดว่า กรรมที่เราทำไว้บางอย่างทำไมจึงไม่ให้ผล การที่มันยังไม่ให้ผลนั้นเพราะไปอาศัยวิบัติ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งห้ามเสีย หรือคนทำชั่วบางคนทำไมจึงไม่ได้รับผล ก็เพราะไปอาศัยสมบัติ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ห้ามกรรมชั่วของเขาเสียจึงไม่ให้ผล แล้วทำไมบางคนทำดีจึงได้ไว ก็เพราะเขาอาศัยสมบัติ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหนุนเขา และทำไมบางคนทำชั่ว พอทำทันทีก็ได้ผลทันที ก็เพราะอาศัยวิบัติ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหนุนเขา เขาจึงได้ผลไว แต่กรรมที่เราทำไว้จะต้องให้ผล เพียงแต่เร็วหรือช้าเท่านั้นเอง
    นี้คือกฏแห่งกรรมอีกอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งกรรม เรียกว่า กรรมวาที เป็นผู้กล่าวเรื่องกฏแห่งกรรม คือเชื่อกรรม อย่างเรามาทำความดีในขณะนี้ ถ้าเทียบในกฏแห่งกรรม ๑๖ ฮย่างนั้นเทียบกับข้อไหน ? เทียบกับข้อปโยคสมบัติ คือเรามาทำกรรมดี เมื่อเราทำกรรมดี ถ้าบุญของเราที่ทำไว้แล้วมีอยู่มันก็หนุนเรายิ่งๆ ขึ้น ถ้าว่าบาปที่เราเคยทำมา บาปนั้นก็ลดน้อยลง เพราะกรรมดีนี้มันผลักบาปออก มันผลักบาปไม่ให้เข้ามา มันกันบาปเอาไว้ ปโยคะฝ่ายดีนี้มันหนุนบุญและผลักบาปออก
    เพราะฉะนั้น การเจริญภาวนาอย่างที่เราทั้งหลายปฏิบัติอยู่นี้ จะมีผลมากกว่าการให้ทาน กว่ารักษาศีล เป็นกรรมที่เหนือกรรมโดยทั่วไปในฝ่ายดี และสามารถจะห้ามกรรมฝ่ายชั่วได้ดีด้วย
    นี้คือกฏแห่งกรรม ๑๖ อย่าง ในพระพุทธศาสนา.


    ที่มา: http://www.tteen.net/view.php?time=20040619153224


  2. #2
    ศิลปิน นักร้อง นักแสดง
    มิสบ้านมหา 2011
    สัญลักษณ์ของ ผู้ก่อการรัก
    วันที่สมัคร
    Feb 2006
    ที่อยู่
    HappyLand ดินแดนแห่งความสุข, Thailand
    กระทู้
    3,161

    Re: กรรม 16

    เกิดมาชาตินี้มีกรรมแหละ พี่แม็กซ์
    ล้มแล้วฟื้นยืนสู้ชูช่อใหม่ เพราะต้นยังสดใสผลิใบเขียว
    ลุกขึ้นต้านลมฝนต้นเป็นเกลียว รากยึดเหนี่ยวซับซ้อนกับพื้นดิน



Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •