Hormone Therapy มือปราบมะเร็ง

เป็นที่รู้กันดีว่า อีสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) คือฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบและเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ทำให้กระดูกแข็งแรง รักษาสมดุลผิวหนังและเส้นผม ปรับระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด และยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพสมอง ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้การปฏิวัติวงการแพทย์ด้วยการนำฮอร์โมนมาใช้ในการรักษา
การรักษาแบบฮอร์โมน เธอราพี มีข้อจำกัดอยู่ว่า ต้องเป็นมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะที่สร้างหรือเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนเพศเท่านั้น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งในเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น ที่สำคัญผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งดังกล่าวจะต้องมีตัวรับฮอร์โมน (Receptors) ถ้าไม่มีก็รักษาไม่ได้ โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งว่ามีตัวรับฮอร์โมนหรือไม่ และถ้ามีแล้วเป็นชนิดไหน เพื่อเลือกฮอร์โมนที่เหมาะสมในการรักษาต่อไป ส่วนการที่ผู้ป่วยจะมีตัวรับฮอร์โมนชนิดใด หรือไม่มีเลยนั้น การแพทย์ปัจจุบันยังบ่งชี้ไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร
ฮอร์โมนบำบัดกับมะเร็งเต้านม

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งวัยหมดประจำเดือนบางราย รังไข่ไม่ทำงานแล้ว แต่ยังมีฮอร์โมนเพศที่ผลิตจากต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) อยู่ ฮอร์โมนเทราพีถือเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมาก โดยแพทย์จะใช้วิธียับยั้งการทำงานของอีสโตรเจนหรือเอนไซม์อโรมาเตส (aromatase) ที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อมีฮอร์โมนเพศลดน้อยลง การเติบโตของเซลล์มะเร็งก็จะลดลงตามจนฝ่อตายไปในที่สุด
ส่วนผู้ป่วยที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ การทำให้รังไข่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนอีสโตรเจนหยุดทำงานจะให้ผลแค่ชั่วคราว การรักษาที่ดีที่สุดคือตัดรังไข่ทิ้ง ซึ่งทำให้หลายคนกังวลว่าจะมีบุตรไม่ได้ ความจริงรังไข่มีสองข้าง ตัดทิ้งหนึ่งข้างยังเหลืออีกหนึ่งข้างเพื่อผลิตไข่ได้ อย่างไรก็ตามหากคนไข้ไม่ต้องการรักษาด้วยวิธีนี้ การฉายแสงถือเป็นตัวเลือกลำดับต่อมา หรือจะใช้ฮอร์โมนฉีดเข้าใต้สะดือ เพื่อบล๊อคต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ไม่ให้สั่งการให้รังไข่ทำงานก็ได้ แต่วิธีนี้คนไข้จะเจ็บตัวจากการฉีดยามากหน่อย โดยเลือกได้ 2 แบบคือ ฉีดเดือนละครั้ง หรือสามเดือนครั้ง
มะเร็งเต้านมในผู้ชายก็รักษาเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมในผู้หญิง แม้จะเกิดได้เพียง 2-5% ก็ตาม ทั้งนี้เพราะลักษณะทางกายวิภาคเของเต้านมเพศหญิงและเพศชายที่เหมือนกันนั่นเอง
ฮอร์โมนบำบัดกับมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งชนิดนี้เกิดขึ้นแต่กับเพศชาย ที่บริเวณต่อมลูกหมากในถุงอัณฑะซึ่งเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศ คนไข้ที่รักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยฮอร์โมนจะต้องมีตัวรับฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen receptors) ในชิ้นเนื้อมะเร็ง ในรายที่เริ่มเป็นอาจใช้วิธีผ่าตัดหรือฉายแสงร่วมด้วย หรือจะฉีดฮอร์โมนเข้าไปบล๊อคการสั่งการของต่อมใต้สมองก็ได้ ส่วนรายที่เป็นมากและมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น การผ่าตัดอัณฑะออกเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากไม่อยากตัดจะฉีดฮอร์โมนหรือทำเคมีบำบัดร่วมด้วยก็ได้
ผู้ป่วยเพศชายที่ตัดอัณฑะออกแล้ว แต่การผลิตแอนโดรเจนจากต่อมหมวกไตยังคงอยู่ แพทย์อาจให้กินยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งนอกจากจะช่วยฆ่าเชื้อแล้ว ยังช่วยยับยั้งการผลิตฮอร์โมนที่ต่อมหมวกไตได้ด้วย ทำให้เซลล์มะเร็งจะยุบตัวลงในที่สุด
เหตุผลที่ควรใช้ฮอร์โมน

การใช้ฮอร์โมนเพื่อรักษามะเร็ง แบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ เพื่อการรักษา และเพื่อการป้องกัน ในกรณีที่มะเร็งกระจายไม่มาก การเลือกรักษาด้วยฮอร์โมนเทราพีเป็นวิธีแรกที่เหมาะสมที่สุด แต่หากมะเร็งนั้นอยู่ในระยะลุกลาม ผู้ป่วยควรได้รับการบำบัดด้วยเคมี (Chemo) ในเบื้องต้นก่อนใช้ฮอร์โมนเทราพี ทั้งนี้ขึ้นอยู่วัยของผู้หญิงที่เข้ารับการรักษาด้วย เช่น วัยเจริญพันธุ์มีร่างกายแข็งแรง บางครั้งการรักษาด้วยเคมีบำบัดอาจเป็นวิธีที่เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนผู้หญิงวัยทองร่างกายไม่ค่อยสมบูรณ์แล้ว การใช้เคมีบำบัดอาจรุนแรงเกินรับไหว ฮอร์โมนเทราพีจึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของคนวัยนี้
อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งอาจต้องทำควบคู่กันหลายวิธีทั้ง ผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด หรือใช้ฮอร์โมน แต่จะใช้กี่วิธีและใช้วิธีไหนก่อนหลังนั้นขึ้นอยู่กับอาการ อายุของผู้ป่วย รวมทั้งการวินิจฉัยของแพทย์ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้นหรือผู้ที่รักษามะเร็งจนหายแล้ว ควรจะได้รับฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี เพื่อป้องกันมะเร็งไม่ให้กลับมาคุกคามได้อีก
ฮอร์โมน เธอราพีและผลข้างเคียง

เมื่อเทียบกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีผ่าตัด ฉายแสง หรือเคมีบำบัด ฮอร์โมน เธอราพีจัดว่าส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยที่สุด โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้บ้างกับผู้ป่วยบางราย และเป็นอาการที่ไม่น่าห่วงเท่าไร
ผลข้างเคียงในผู้ป่วยเพศหญิง ได้แก่ อาการหนาวๆ ร้อนๆ วูบวาบตัว คล้ายนั่งอยู่ข้างกองไฟ อารมณ์แปรปรวน ไม่คงที่ โกรธง่าย โมโหง่าย คลื่นไส้ อาเจียน ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงเล็กน้อย และอาจมีน้ำหนักเพิ่ม ผู้หญิงวัยทอง อาจพบว่ามีเลือดออกกะปริบกระปรอยคล้ายประจำเดือน ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ และสตรีที่อยู่ระหว่างการรับฮอร์โมนไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้ฮอร์โมนอีสโตรเจนในร่างกายเพิ่มสูงมาก และไปกระตุ้นให้มะเร็งเติบโตได้ง่ายขึ้น

ผลข้างเคียงในผู้ป่วยเพศชาย เช่น ความต้องการทางเพศลดลง เต้านมขยายใหญ่ขึ้น หนาวๆ ร้อนๆ รู้สึกวูบวาบ สูญเสียความสามารถในการทรงตัว กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง เป็นต้น ปัจจุบัน การรักษาด้วยฮอร์โมนสำหรับผู้ป่วยมะเร็งมีให้บริการตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วไป โดยมีค่าใช้จ่ายเดือนละไม่เกินหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับประเภทและระยะเวลาการใช้ฮอร์โมน