นักวิทยาศาสตร์อิสราเอลชี้ การคุยโทรศัพท์มือถือต่อเนื่องนานเพียง 10 นาทีก็เพียงพอต่อการก่อตัวของเซลล์เนื้องอกในสมอง ย้ำว่าคลื่นความถื่ในโทรศัพท์มือถือล้วนมีผลรบกวนกระบวนการแบ่งเซลล์สมองไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่สูงหรือต่ำ โดยกระบวนการแบ่งเซลล์สมองที่ผิดปกตินี้เองที่จะนำไปสู่การเกิดก้อนเนื้อร้ายในอนาคต

ผลการศึกษาชิ้นนี้เป็นของกลุ่มนักวิจัยในสถาบันวิทยาศาสตร์ไวส์แมนน์ (Weizmann Institute of Science) ของอิสราเอล โดยแม้ทีมวิจัยจะไม่ได้แถลงว่าคลื่นสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่มีอันตรายอย่างชัดเจน แต่การศึกษาพบว่ามีโอกาสเป็นไปได้ สวนทางกับผลวิจัยของหลายสถาบันที่ยืนยันว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือไม่มีผลเกี่ยวข้องกับสาเหตุการเกิดก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งในสมองแต่อย่างใด

สถาบันเหล่านี้ระบุว่าโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากปริมาณคลื่นความถี่ที่โทรศัพท์มือถือส่งออกมานั้นอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งไม่เข้มข้นพอจะทำให้เกิดการผิดปกติในสมอง แต่การศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอลพบว่าคลื่นความถี่เพียงน้อยนิดก็สามารถเกิดความเสี่ยงได้ โดยทำการทดลองนำเซลล์สมองของมนุษย์และหนูมาวิจัยร่วมกับคลื่นรังสีระดับ 875 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นความถี่ย่านเดียวกับที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือหลายๆรุ่น

จากการทดลองใช้คลื่นความถี่ระดับอ่อนกว่าคลื่นความถี่ในโทรศัพท์มือถือรุ่นทั่วไป คลื่นเหล่านี้เริ่มมีปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นสัญญาณเคมีในเซลล์สมองโดยใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ทีมวิจัยระบุว่าสัญญาณเคมีที่ตรวจจับได้ส่งผลโดยตรงต่อการแบ่งตัวของเซลล์สมอง

ผลการศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียดถูกตีพิมพ์เป็นรายงานในนิตยสารเคมีชีวภาพ Biochemical Journal โดยระบุว่าความร้อนไม่มีผลต่อปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น และย้ำว่าการค้นพบครั้งนี้คือการประกาศความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์จากการใช้โทรศัพท์มือถือที่แตกต่างจากการวิจัยอื่นๆในอดีต

"การทดลองนี้ทำให้เห็นปฏิกิริยาของสมองที่เกิดขึ้นกับคลื่นความถี่โดยไม่มีการนำประเด็นความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง" ดร.รอนนี่ ซีเกอร์ (Rony Seger) หนึ่งในสองผู้เขียนรายงานการวิจัยครั้งนี้ให้สัมภาษณ์

ไม่เป็นเอกฉันท์

ผลการวิจัยล่าสุดนี้กลับสวนทางกับความเห็นของนักวิทยาศาสตร์รายอื่นแม้แต่ในอิสราเอลเอง เช่น ดร.ไซมอน อาเธอร์ (Simon Arthur) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัย Dundee University ระบุว่าผลการศึกษาที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างจากมูลเหตุการเกิดโรคมะเร็งโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับดร.ดาเรียส เลสซินสกี้ (Dariusz Leszczynski) จากสำนักงานดูแลความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และคลื่นความถี่ในเฮลซิงกิ ที่มองว่าตราบใดที่คลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงด้านชีววิทยา เมื่อนั้นคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือก็จะไม่มีทางเป็นอันตรายต่อมนุษย์

"เมื่อไรก็ตามที่มีใครสามารถแสดงผลข้างเคียงด้านชีววิทยา เมื่อนั้นถึงจะเป็นเรื่องที่แตกต่างอย่างแท้จริง"

สำนักข่าวเดลีเมลของอังกฤษรายงานว่า รายงานการศึกษาความปลอดภัยจากการใช้โทรศัพท์มือถือหลากหลายชิ้นจะถูกตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักอนามัยหรือ Health Protection Agency ของอังกฤษในเดือนกันยายน โดยเป็นรายงานต่อเนื่องจากรายงานที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2004 เพื่อให้ประชาชนวางใจการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเต็มที่ ซึ่งการตีพิมพ์ในครั้งนั้นมีการแนะนำให้ระวังการใช้งานในเด็กเป็นพิเศษ