แนวการศึกษาในพระพุทธศาสนา


แนวการศึกษาในพระพุทธศาสนา

**********************


ขณะนี้ปรากฏว่า ศีลธรรมกำลังเสื่อมไป บ้านเมืองกำลังเดือดร้อนเพราะศีลธรรมเสื่อม จนถึงต้องมีการวิจัยและอบรมศีลธรรมเป็นการใหญ่ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้บ้านเมืองมีศีลธรรมดีขึ้น

เหตุที่ศีลธรรมเสื่อม มีผู้กล่าวว่า เพราะสถานการณ์ของบ้านเมือง เพราะผู้ใหญ่ทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้ผู้น้อยเห็นบ้าง เพราะความผู้ใหญ่ทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้ผู้น้อยเห็นบ้าง เพราะความเข้าใจผิดว่า คนตั้งใจทำความดีซื่อสัตย์สุจริต แต่ต้องลำบากยากจนแทบเอาตัวไม่รอด ส่วนผู้ตั้งหน้าทำความชั่ว โกงเขาบ้าง กินเขาบ้าง แต่กลับร่ำรวย มีผู้คนนับหน้าถือตา มีความสุขมีความเจริญเพราะเศรษฐกิจบ้าง หลักธรรมในพระพุทธศาสนามีอยู่ว่า

“ยาทิสํ วปเต พีชํ ตา ทิสํ ลภเต ผลํ กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ”
แปลว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว


ดังเช่น ปลูกมะม่วงก็เกิดเป็นมะม่วงจะต้องเกิดเป็นขนุน ปลูกขนุนจะต้องเกิดเป็นมะม่วง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำชั่วต้องได้รับผลชั่ว ทำดีต้องได้รับผลดี ธรรมดาของไฟจะต้องมีความร้อน ถ้าเถ้าปกปิดไว้ อาจจะยังไม่ร้อนก็ได้ แต่ถึงอย่างไรถ้าไฟไหม้จนเถ้าร้อนแล้วก็จะต้องร้อนถึงคนเหยียบอยู่บนเถ้าด้วย ก็อะไรเป็นต้นเหตุสำคัญของการเสื่อมแห่งศีลธรรมเล่า ทำไมสถานการณ์ที่ปั่นป่วนของบ้านเมือง จึงทำให้เสื่อมศีลธรรมได้ ทำไมผู้ใหญ่จึงทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้ผู้น้อยเห็น จนเป็นเหตุให้เกิดเสื่อมศีลธรรมได้ ทำไมจึงเกิดเข้าใจผิดว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว จนเป็นเหตุให้เสื่อมศีลธรรมได้ ทำไมเศรษฐกิจจึงทำให้ศีลธรรมเสื่อมได้ ในฐานะแห่งนักศึกษาทางพระพุทธศาสนา จึงขอตอบตามความรู้สึกว่า น่าจะเป็นเพราะแนวการศึกษา คือ การศึกษาทางโลกนั้น ศึกษาหนักไปในทางพุทธิศึกษา คือความรู้ ยิ่งกว่าจริยศึกษา คือความประพฤติไม่สูงตาม ก็เป็นเหตุให้ใช้ความรู้ในทางที่ผิดศีลธรรมได้ง่ายมาก เหมือนรถยนต์ที่มีความเร็วมาก แต่ถ้าห้ามล้อไม่ดีพอกับความเร็ว ก็เป็นอันตรายเช่นแล่นไปชนสิ่งต่างๆได้ง่าย แนวการศึกษาในพระพุทธศาสนาเพ่งความประพฤติเป็นเบื้องต้นยิ่งกว่าความรู้พระพุทธเจ้าจึงทรงวางหลักไว้เป็นลำดับดังนี้

ศีลสิกขา ศึกษาในเรื่องศีล คือความสำรวมกาย วาจา ให้เรียบร้อย ไม่ล่วงละเมิดข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
สมาธิสิกขา ศึกษาในเรื่องสมาธิ คือความรักษาใจให้มั่นคง ไม่ให้หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่ให้เกิดความยินดีหรือเกิดความยินร้าย
ปัญญาสิกขา ศึกษาในเรื่องปัญญา คือความรอบรู้ในกองสังขารว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์มิใช่ตัวตน

แนวการศึกษาในพระพุทธศาสนา ยกศีลขึ้นเป็นข้อต้น ปัญญาเป็นข้อสุดท้าย ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาต้องเรียนและปฏิบัติในเรื่องศีลก่อน จึงจะเรียนสมาธิและปัญญาตามลำดับไป แม้ฆราวาสจะมาขอความรู้จากภิกษุสามเณร ก็ต้องแสดงตนเป็นคนมีศีลก่อน เช่น รักษาศีลก่อนแล้วจึงฟังธรรม และต้องมีมารยาทดีสมกับหน้าที่ของผู้ฟัง ถ้าขาดมารยาทที่ดี ก็ห้ามมิให้ภิกษุสามเณรแสดงธรรมให้ฟัง ดังในเสขิยวัตรบัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ภิกษุแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ซึ่งมีอาวุธในมือหรือนั่งที่สูงกว่า”เป็นต้น แนวการศึกษาในพระพุทธศาสนาเป็นเช่นนี้ จึงควบคุมบุคคลต่างตระกูลต่างชั้นต่างวรรณะต่างความรู้ต่างอัธยาศัย ผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาให้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นคณะได้โดยสามัคคีและสันติธรรม ส่วนแนวการศึกษาในทางโลกเพ่งความรู้ยิ่งกว่าความประพฤติจึงได้วางหลักไว้เป็นลำดับดังนี้

พุทธิศึกษา ได้แก่การให้ความรู้ที่ทำให้ผู้รับการศึกษาเกิดสติปัญญา สำหรับคิดอ่านประกอบการอาชีพโดยชอบธรรมต่อไปในภายหน้า

จริยศึกษา ได้แก่การสอนและการอบรมอุปนิสัยใจคอให้เป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ

พลศึกษา ได้แก่การสอนให้รู้จักรักษาตัว และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักอนามัย จะได้เป็นพลเมืองดีที่แข็งแรงปราศจากโรคาพยาธิต่างๆ ในปัจจุบันนี้เพิ่ม

หัตถศึกษา คือการสอนให้มีความรู้ทางการฝีมือต่าง ๆ

และอาชีวศึกษา คือการสอนให้มีความรู้ในทางอาชีพด้วย แนวการศึกษาในทางโลก

ยกพุทธิคือความรู้เป็นข้อต้น จริยศึกษาคือความประพฤติเป็นข้อรอง นักเรียนต้องเพ่งความรู้มากกว่าความประพฤติ เพราะคะแนนได้ตกตัดสินด้วยความรู้แม้คะแนนความประพฤติจะไม่ได้เลย แต่ถ้าความรู้ดีก็มีหวังสอบได้ นักเรียนกลัวการสอบตก ยิ่งกว่ากลัวการประณามว่าเสียความประพฤติ นักเรียนมีความประพฤติดีแต่สอบตกเพราะความรู้ไม่ดี ต้องเสียชื่อ มีความอาย แต่นักเรียนมีความประพฤติเสียหาย เช่น เกเร แต่สอบได้เพราะความรู้ดี มีชื่อเสียง คะแนนจรรยาก็น้อยมาก จนไม่อาจช่วยนักเรียนที่มีความประพฤติดีแม้เป็นเยี่ยมในโรงเรียนได้ สรุปความว่า กรณีแวดล้อมทุกประการ ล้วนแต่สนับสนุนให้นักเรียนแพ่งความรู้ยิ่งกว่าความประพฤติทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เวลาออกจากโรงเรียนไปประกอบอาชีพ ถ้ากำลังใจไม่มั่นคงในศีลธรรมดีพอ ก็อาจทำความเสียหายได้ง่ายในเมื่อมีกรณีแวดล้อมชวนให้ทำ เช่น สถานการณ์ของบ้านเมือง ตัวอย่างที่ไม่ดีบ้างเห็นเขาโกงเขากินแล้วร่ำรวยบ้างเศรษฐกิจบ้าง การแก้ไขก็ทำกันอยู่แล้ว ด้วยการเผยแผ่ศีลธรรมความรู้ทางศาสนาขององค์การต่าง ๆ แต่การป้องกันด้วยแนวการศึกษาก็น่าจะได้ทำคู่กันไปด้วย


มีภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า “ความประพฤติเดินหน้า วิชาตามหลัง”

ขอให้ภาษิตบทนี้ จงเป็นคำขวัญของการศึกษาในทางโลกเถิด ฯ


ข้อมูลจาก...พระมหาวิฑูรย์ สิทธิเมธี...วัดชัยภูมิพิทักษ์ (ผาเกิ้ง) อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ