กำลังแสดงผล 1 ถึง 3 จากทั้งหมด 3

หัวข้อ: 'ข้าวคุณธรรม' ผลผลิตเกรดเอ จากชาวนาผู้รักษาศีล

  1. #1
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ ต้นข้าว
    วันที่สมัคร
    Dec 2007
    กระทู้
    588

    'ข้าวคุณธรรม' ผลผลิตเกรดเอ จากชาวนาผู้รักษาศีล

    ปลายทางของความ ใฝ่ใจในทางธรรม ล้วนแต่ส่งผลมาสู่ผู้ปฏิบัติเสมอ ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในสังคมแบบใดก็ตาม หลักความจริงแห่งการทำความดี ย่อมสะท้อนถึงเรื่องราว น่าชื่นใจจากแง่มุมต่างๆ ของการทำดีตามมาอย่างแน่นอน “ทำดี...ย่อมได้ดี” จึงเป็นความจริงเสมอโดยไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา

    • กลุ่มชาวนารวมตัวก่อตั้งเครือข่ายข้าวคุณธรรม

    ด้วยแนวคิดข้างต้นนี้เอง กลุ่มชาวนาซึ่งเรียกตัวเอง ว่า “เครือข่ายคุณค่าข้าวคุณธรรม” โดยการนำของ คุณพ่อวิจิตร บุญสูง ปราชญ์ชาวบ้านระดับชาติ ภายใต้เครือข่ายของมูลนิธิธรรมร่วมใจ วัดป่าสวนธรรม อ. นาโส่ จ.ยโสธร จึงเกิดขึ้นมา อย่างมั่นคงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจาก รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นฝ่ายสนับสนุนในการร่วมพัฒนาแนวคิดของชาวนากลุ่มนี้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับข้าวที่ผลิตได้ ด้วยการชูสโลแกนเรื่องคุณธรรมของชาวนาผู้ผลิตข้าว เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนาคนและผลผลิตควบคู่กันไปในการสร้างแบรนด์ ‘ข้าวคุณธรรม’

    จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากการดำเนินงาน โครงการวิจัยขบวนการพัฒนาสหกรณ์ใน พื้นที่ จ. ยโสธร ภายใต้ชุดโครงการวิจัย การพัฒนาโครงการสหกรณ์ในพื้นที่ 36 จังหวัด โดย ทีมงานและผู้ประสานงานกลางของ รศ.จุฑาทิพย์ ได้พบปะพูดคุยกับแกนนำชาวนา อ. ป่าติ้ว จ. ยโสธร และนัดหมายจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่วัดป่าธรรมะร่วมใจ ใน อ. ป่าติ้ว อีก 3 ครั้ง จึงได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาข้าวเกษตรอินทรีย์ โดยการสร้างพรีเมี่ยม แบรนด์ของข้าวอินทรีย์ กระจายอยู่ในพื้นที่ ใน 4 จังหวัดของภาคอีสาน

    ทั้งนี้ กรอบแนวคิดของเครือข่ายข้าวคุณธรรม มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ของข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มาแล้วมากกว่า 3 ปี ภายใต้แบรนด์ ‘ข้าวคุณธรรม’ ซึ่งมีเจตนารมณ์สำคัญ คือ ต้องการแก้ไขปัญหาการขายข้าวของชาวนาที่ได้ราคาต่ำ เพราะต้องพึ่งอาศัยคนกลางในระบบตลาดเสรี โดยมุ่งหวังให้เกิดการค้าที่ยุติธรรมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ชาวนาผู้ผลิต ผ่านกระบวนการตลาด จนถึงมือผู้บริโภค จะต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

    ที่สำคัญ คือ ต้องก่อให้เกิดอุดมการณ์แห่งความร่วมมือ ซึ่งจะได้ต้นแบบใน 2 มิติ ดังนี้ มิติแรก คือ การเป็นต้นแบบห่วงโซ่อุปทาน (ความต้องการซื้อสินค้า) ที่มีคุณค่า บนกรอบ ความคิด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการนำผลผลิตข้าวจากชาวนาไปสู่ผู้บริโภคคนสุดท้าย อันจะนำไปสู่ผลผลิตชนิดอื่นและพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ต่อไป มิติที่สอง เป็นต้นแบบของการพัฒนาคนให้มีความร่วมมือกันที่จะสร้างระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้นภายในกลไกการผลิต และการตลาด ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยให้เกิดการสร้างคน ในทางปฏิบัตินอกห้องเรียน อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

    ภายหลังจากที่รับทราบถึงปัญหาของตัวเองและตั้งเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะแก้ไขแล้ว การหยิบยกเอาเรื่องคุณธรรมเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นกระบวนการที่ถูกต่อยอดจากคุณธรรมตามศีล 5 ที่ชาวนากลุ่มนี้มีอยู่แล้วแต่เดิมในเวลาต่อมา

    • เจ้าของแปลงนาต้องถือศีล 5

    คุณพ่อวิจิตรเล่าว่า ถึงตอนนี้ มีชาวนาเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 108 คน จาก 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร มุกดาหาร อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มมาตรฐาน ดังนี้ 1. กลุ่มข้าวคุณธรรมเต็มรูปแบบ คือ ชาวนาที่ได้รับมาตรฐานข้าวอินทรีย์ตามาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มทก.)แล้ว และ 2. กลุ่มข้าวคุณธรรมปรับเปลี่ยน จะหมายถึงชาวนาที่ผลผลิต ของตัวเองยังไม่ได้คุณภาพ ตามมาตรฐาน มทก. แต่ก็เข้าสู่กระบวนการข้าวคุณธรรมของโครงการด้วย

    ในกระบวนการผลิตข้าวคุณธรรมนั้น เริ่มต้นจากการหว่านข้าวลงในแปลงนา ซึ่งเจ้าของแปลงต้องเป็นชาวนาผู้ถือศีล 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเคร่งครัดในการ ลด ละ เลิก อบายมุข 3 ประการ คือ การงดเสพสุรา ของมึนเมา ไม่สูบบุหรี่ และ ไม่เล่นการพนัน นอกจากนี้ ในส่วนของกระบวนการตลาด โครงการนี้ก็ต้องการเน้นให้ การดำเนินการเป็นไปโดยโรงสีชุมชน ซึ่งจะคอยทำหน้าที่รวบรวมข้าวสู่คลังสินค้า ตลอดจนการสีข้าวตามการสั่งซื้อร่วมกันและรับหน้าที่การตลาดตามข้อตกลง

    “ปัญหาเดิมที่คั่งค้างแม้ว่าจะพากันละทิ้งแนวทางของเกษตรเคมี และหันมาปลูกข้าว หอมมะลิในแบบเกษตรอินทรีย์แล้วก็ตาม แต่สภาพความเป็นจริงของชาวนาที่เป็นมาตลอด นั่นคือ แม้ข้าวที่ปลูกจะได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว แต่ก็ต้องประสบกับภาวะของราคาข้าว ตกต่ำ มิหนำซ้ำ แม้ปลูกข้าวเองแต่ทุกวันนี้ก็ยังต้องซื้อข้าวกิน หมดเงินไปกับการจับจ่ายจนแทบไม่มี เงินเหลือเก็บ เป็นหนี้เป็นสิน ทำให้ชาวนาอย่างพวกเราต้องร่วมกันคิดหาวิธีแก้ไข และสร้างกระบวนการความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชนขึ้นมา” คุณพ่อวิจิตร กล่าว

    เหตุผลข้างต้นจึงกลายเป็นที่มาของการใช้ศีลธรรมประจำใจที่หลายคนในกลุ่มถือปฏิบัติอยู่แล้ว ถูกหยิบนำมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนา ลบภาพที่มักจะติดตา คนทั่วไปว่า เป็นชาวนาแต่ต้องเป็นหนี้และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เนื่องจากที่ผ่านมารายได้ที่มีนั้นแทบจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครัวเรือน ทั้งที่เป็นรายจ่ายที่จำเป็นและค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับการดำเนินชีวิต เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และใช้รายได้ครัวเรือนให้หมดไปกับการพนันต่างๆ จนทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัวตามมาในที่สุด และเมื่อมีการเริ่มโครงการก็สามารถช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ ซึ่งจะนำ ไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนได้อีกทางหนึ่ง

    • มีการตรวจสอบศีลอย่างเคร่งครัด

    ขั้นตอนของการตรวจสอบศีลนั้น เป็นไปอย่างเคร่งครัดมีทั้งหมด 3 ระดับ โดยแกนนำคนสำคัญ มีทั้งผู้นำกลุ่มชาวนา พระสงฆ์ในชุมชน ผู้ทำหน้าที่สอนเรื่องหลักธรรมให้กับสมาชิกในกลุ่มชาวนา นักส่งเสริมผู้ทำหน้าที่่ประเมินเกษตรกรตามมาตรฐานโครงการ คือ การตรวจที่แปลงนา (ตรวจว่าไม่มีการใช้สารเคมีปนเปื้อนตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่) ส่วนในระดับเพื่อนบ้าน (จะช่วยกันตรวจสอบว่ามีการใช้สารปนเปื้อน และมีการละเมิดผิดศีล หรือเปล่า) และสุดท้ายเป็นการตรวจศีลที่วัด (การจัดสร้างเวทีให้ความรู้และเสวนาธรรมโดย มีพระคุณเจ้าพรหมมา สุภทฺโธ เป็นผู้ตรวจสอบ)

    คุณพ่อวิจิตร เล่าว่า ถือเป็นความท้าทายมากว่าจะสามารถรักษาศีลและทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติและวิธีการตรวจสอบ ก่อนอื่นก็ต้องอาศัยความจริงใจและความซื่อสัตย์ของสมาชิกในกลุ่มที่จะคอยเป็นหูเป็นตาไม่ให้ความตั้งใจของกลุ่มเสียหลักการไปตั้งแต่แรก

    นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้ นั่นคือกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งจะทำหน้าที่คอยสอดส่อง ตรวจสอบศีล และควบคุมคุณธรรมของสมาชิกในกลุ่ม โดยที่ตัวเองก็ต้องเป็นผู้รักษาศีลและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสียก่อน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสมาชิกในกลุ่มให้ดีขึ้น ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกลุ่ม มีคุณธรรมในทุกๆ ขั้นตอน จนในที่สุดจาก 108 รายที่เข้าร่วม โครงการเหลือเพียง 38 รายที่ผ่านการคัดเลือกมาตรฐานคุณธรรม

    “ในระบบการตรวจสอบจะมีผู้ตรวจศีล ซึ่งก็คือชาวนาให้ชาวนาตรวจสอบตนเอง และการตรวจสอบจากผู้ตรวจศีล ซึ่งจะเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน รวมทั้งญาติพี่น้องของ ชาวนาจะช่วยกันสอดส่องดูแล ตักตือน และคอยจดบันทึกเพื่อนำมารายงาน โดยทุกๆ ขั้นตอนจะมีระบบการตรวจสอบจากกลุ่มชาวบ้านด้วยกันอย่างเคร่งครัด”

    คุณพ่อวิจิตรย้ำว่า เพราะถ้าเราบอกกับใครๆว่า เราเป็นชาวนาผู้รักษาศีลที่ปลูกข้าวคุณธรรม แต่เรายังไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองว่า เราทำอะไรลงไป ก็คงจะเสียความน่าเชื่อถือได้ ไม่เช่นนั้น อาจะทำให้เกิดข้าวคุณธรรมเถื่อนที่แอบอ้างคุณสมบัติตรงนี้ขึ้นมา โดยที่ชาวนาผู้ปลูกข้าว อาจจะไม่ได้รักษาศีลอย่างแท้จริง


    ++++++++


    มีต่อ..........


    (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 86 ม.ค. 51 โดยภาษิตา)

  2. #2
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม
    วันที่สมัคร
    Mar 2007
    กระทู้
    1,212
    มาเว่าเป็นตาคึดยากแท่ ห่าไปซื้อเพิ่นถามว่ามีคุณธรรมบ่ สิตั๋วว่าจั่งใด๋น้อ บาดนี่ คึดยากหลาย

  3. #3
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ หลานพระรถ
    วันที่สมัคร
    Aug 2008
    ที่อยู่
    เมืองพระรถธานี, ชลบุรี
    กระทู้
    343
    เป็นกุศโลบายที่ยอดเยี่ยมจริงๆ คะ สิ่งที่ชัดเจน คือ
    1. ผู้ปลูกข้าวจะมีสุขภาพกายดี เพราะไม่มีสารเคมีปนเปื้อนในกระบวนการเพาะปลูก
    2. ผู้ปลูกมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะได้รับอานิสงส์จากการรักษาศีล
    3. ชุมชนเข้มแข็ง มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
    ขอชื่นชมด้วยความจริงใจคะ หากมีโอกาสผ่านเมืองบั้งไฟโก้อีกจะแวะเด้อค๊า :g

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •