ความมีอายุยืนมิได้เป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต

ความมีอายุยืนมิได้เป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของ ชีวิต

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความมีอายุยืนจะเป็นสภาพที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในทางธรรม ท่านมิได้ถือว่าความมีอายุยืนนั้นเป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตเครื่องตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตนั้น อยู่ที่ว่า ระหว่างที่อายุยังทรงอยู่ ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวก็ตาม บุคคลได้ใช้ชีวิตนั้นอย่างไร คือ ได้อาศัย ชีวิตนั้นก่อกรรมชั่วร้ายเป็นโทษ หรือทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ พอกพู้นอกุศลธรรมหรือเจริญกุศลธรรม ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของอวิชชาตัณหาหรือดำเนินชีวิตด้วยปัญญาและกรุณาชีวิตที่งอกงามด้วยกุศลธรรมอำนวยประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น แม้จะสั้นก็ยังประเสริฐกว่าชีวิตซึ่งยืนยาว แต่เป็นที่สั่งสมอธรรมและแผ่ขยายความทุกข์

ดังตัวอย่างพุทธพจน์ในธรรมบทคาถาว่า

“ผู้ใดเกียจคร้าน หย่อนความเพียร ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้มีความเพียรมั่นคง แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

“ผู้ใดทรามปัญญา ไม่มีสมาธิ ถึงจะมีชิวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของคนมีปัญญา มีสมาธิ แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

“ผู้ใดไม่เห็นอุดมธรรม ถึงจะมีชิวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้เห็นอุดมธรรม แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”


ชีวิตที่ไร้ธรรมเป็นโทษ ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งมีโอกาสพอกพูนอกุศลให้หนาแน่น และแผ่ขยายทุกข์ภัยให้มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น

ส่วนชีวิตที่ชอบธรรมและบำเพ็ญคุณประโยชน์แม้จะอยู่เพียงเวลาสั้นก็ยังมีคุณค่ามาก ดังที่เรียกว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ หากยิ่งอยู่ยาวนานมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นกำลังส่งเสริมธรรมให้เข้มแข็ง และสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้พรั่งพร้อมยิ่งขึ้นแก่พหูชน
กล่าวอีกนัยหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับท่านซึ่งเป็นผู้นำในการเชิดชูธรรมและในงานสร้างสรรค์ประโยชน์สุขอายุของผู้ทรงธรรมก็เท่ากับหรือส่วนสำคัญแห่งอายุของธรรมที่จะรุ่งเรืองอยู่ในสังคมด้วย อายุของผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ก็เท่ากับเป็นส่วนสำคัญแห่งอายุของประโยชน์สุขในสังคมนั้นด้วย ยิ่งผู้ทรงธรรมมีอายุยืนเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้ธรรมมีกำลังรุ่งเรืองอยู่ในโลกหรือในสังคมนั้นยืนนานมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขมีอายุยืนนานมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้ประโยชน์สุขดำรงอยู่ในโลกหรือในสังคมนั้น ได้ยืนนานมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้อายุของผู้ทรงธรรมและบำเพ็ญประโยชน์สุข จึงมีคุณค่ามาก เพราะมีความหมายสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อายุของธรรมและอายุของประโยชน์สุขที่จะมีผลต่อสังคมหรือต่อประชาชน



จาก หนังสือ สร้างวาสนา เพิ่มค่าให้อายุ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)