ข้อปฏิบัติเพื่อให้มีอายุยืน

ข้อปฏิบัติเพื่อให้มีอายุยืน


ข้อปฏิบัติที่จะทำให้มีอายุยืน หรือเรียกอย่างสำนวนบาลีว่า ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อการได้อายุนั้นแยกได้เป็น 2 ด้าน คือ ด้านร่างกายหรือฝ่ายรูปธรรม กับด้านจิตใจหรือฝ่ายนามธรรม

ทางด้านรูปธรรม อายุย่อมอาศัยความมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมีสุขภาพดี ไม่มีโรคร้ายเบียดเบียน หรือมีโรคเบาบาง การรู้จักบำรุงร่างกายอย่างมีใช่ปรนเปรอการระวังรักษาสุขภาพ การป้องกันและบำบัดโรค การรู้จักบริโภคปัจจัยสี่ และปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมด้วยใช้ปัญญาอย่างที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ”

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านมองเห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพทางกายเพื่อดำรงอายุไว้ โดยถือว่าเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของชีวิตที่ดีในระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ดังตัวอย่างพุทธโอวาทที่ประทานแก่พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศล

เรื่องมีว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลมักเสวยกระยาหารมากเมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงประทับนั่งอึดอัด ทั้งพระวรกายก็อุ้ยอ้าย พระพุทธเจ้าทรงประสงค์จะอนุเคราะห์จึงตรัสแนะนำด้วยพุทธโอวาทคาถาหนึ่ง ซึ่งแปลเป็นไทยได้ความว่า


“คนที่มีสติอยู่ตลอดเวลา รู้จักประมาณในการบริโภคย่อมมีเวทนาเบาบาง แก่ข้า ครองอายุอยู่ได้นาน”

พระเจ้าโกศล ทรงให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งจำคาถานั้นไว้ และคอยกล่าวในเวลาเสวยทุกครั้ง เป็นเครื่องเตือนพระสติให้ทรงยับยั้งไม่เสวยเกินประมาณ ต่อมาไม่นานนักก็ทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงสามารถวิ่งขับจับม้าจับกวางได้ มีพระดำรัสชื่นชมพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้าว่า ได้ทรงอนุเคราะห์พระองค์ทั้งด้วยประโยชน์ที่มองเห็นและด้วยประโยชน์ที่เลยสายตา

พุทธดำรัสที่ตรัสย้ำอยู่เสมอ ก็คือ คำแนะนำให้บริโภคสิ่งต่าง ๆ ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ รู้จักพิจารณากินใช้ด้วยคำนึงถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้น ๆ เพื่อให้พอดีที่จะไม่เกิดโทษ แต่ให้เป็นคุณประโยชน์ เป็นเครื่องส่งเสริมชีวิตที่มีงาม เช่น กินอาหารมิใช่เพื่อเห็นแก่สนุกสนานมัวเมา แต่เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นอยู่ผาสุกสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐได้ ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันและบรรเทาหนาวร้อน ลมแดด คุ้มภัย พักผ่อน ใช้ชีวิตส่วนตัว เป็นต้น มิใช่เพื่อฟุ้งเฟ้อแข่งขัน หรือเมาเกียรติเมายศอวดข่มใคร ๆ ผู้ใดคมตนให้ปฏิบัติได้ตามที่ปัญญาบอกอย่างนี้ ท่านเรียกว่ามีนิสสรณปัญญา คือ มีปัญญาที่ทำชีวิตให้เป็นอิสระหรือมีปัญญาพาไปสู่ความรอด หรือมีปัญญาสำหรับปลดปล่อยตัวให้เป็นอิสระ ถ้าสามารถปลอดปล่อยตัวให้เป็นอิสระได้แล้ว ก็นับว่ามีความพร้อม หรือมีคุณสมบัติพื้นฐานที่จะไปช่วยปลดปล่อยผู้อื่นต่อไปได้อย่างดี เมื่อชีวิตเป็นอิสระปลอดโปร่ง ปราศจากสิ่งบีบคั้น ก็ย่อมเกื้อกูลแก่การที่อายุจะดำรงอยู่ได้ยืนนาน


จาก หนังสือ สร้างวาสนา เพิ่มค่าให้อายุ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)