นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการ กยศ.และคณะกรรมการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เกี่ยวกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.กยศ.พ.ศ. ....ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.กยศ.พ.ศ. ...โดยสาระสำคัญได้ขยายวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม กยศ. จากเดิมให้กู้เฉพาะกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ อย่างเดียว ให้กู้ครอบคลุมจนถึงกลุ่มสาขาวิชาขาดแคลนและเป็นความต้องการของประเทศด้วย ส่วนจะเพิ่มสาขาขาดแคลนจากที่ กยศ.ประกาศไปเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมาหรือไม่นั้น เป็นเรื่องรายละเอียดที่ต้องไปหารือในที่ประชุม คณะกรรมการ กยศ.ต่อไป ทั้งนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กยศ. ฉบับนี้ จะไม่มีคำว่า “กรอ.” เข้ามาอยู่ในร่างกฎหมาย เพราะเป็นเพียงการนำสาระสำคัญของ กรอ.มาบรรจุไว้เท่านั้น ส่วนงบประมาณยังคงเป็นไปตามหลักการเดิม การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ก็เพื่อให้มีกฎหมายมารองรับการดำเนินการมากกว่า ซึ่งขณะนี้ต้องถือว่าหลักการในร่าง พ.ร.บ.ยุติแล้ว จากนี้ตนจะนำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.กยศ. ต่อปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนจะประกาศใช้ทันปีการศึกษา 2552 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ครม.

รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ กยศ. จะขยายสาขาการกู้ยืมเพิ่มขึ้น เพื่อผู้กู้ได้มีทางเลือกในการเรียนมากขึ้น ที่สำคัญเด็กที่เรียนไม่เก่งมากนักซึ่งมีจำนวนมากจะได้มีทุนเรียน

ด้านนายวีรวัฒน์ วรรณศิริ นายกสมาคมโรงเรียน อาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการขยายการกู้ กยศ.โดยให้กู้ในสาขาที่ขาดแคลน และอยากให้รัฐบาลใช้กลไกของ กยศ.กำหนดนโยบาย ที่จะทำให้เด็กเลือกเรียนสายอาชีวะมากกว่าสายสามัญ ซึ่งอาจกำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลที่จะผลิตแรงงานของประเทศ โดยถือเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ.
http://www.thairath.co.th/news.php?section=education&content=115767