เกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคา ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 52-53 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาถึง 3 ครั้ง โดยในปีนี้จะเห็นสุริยุปราคาวงแหวนวันที่ 26 ม.ค. แต่ไทยจะเห็นเฉพาะสุริยุปราคาบางส่วน และวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งจะเป็น สุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งไทยก็จะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนเช่นกัน สำหรับวันที่ 26 ม.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันตรุษจีน จะเกิดสุริยุปราคาแบบวงแหวนพาดผ่านบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันตกของอินโดนีเซีย ส่วนไทยจะเห็นเพียงสุริยุปราคาบางส่วนหรือบางเสี้ยว ซึ่งสามารถดูได้ทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 16.08 น. ที่ จ.เชียงราย แล้วไปสิ้นสุดที่ จ.นราธิวาส เวลา 18.00 น.

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 เวลา 15.53 น. สิ้นสุดเวลา 17.58 น. ด้านพื้นที่ภาคใต้จะได้รับชมนานที่สุดประมาณ 2 ชั่วโมง 22 นาที โดยพื้นที่ จ.นราธิวาส ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังถึงร้อยละ 54.9 ทางท้องฟ้าทิศตะวันตก จะเห็นดวงอาทิตย์แหว่ง หรือมืดไปบางส่วน ซึ่งจะบังเต็มที่ในเวลา 17.00 น. ขณะที่วันที่ 22 ก.ค. จะเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง เริ่มต้นที่ประเทศอินเดีย ผ่านจีน ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนไทยก็จะเป็นสุริยุปราคาบางส่วน เวลาประมาณ 07.00-09.00 น. ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นพื้นที่ที่เห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุด ทั้งนี้การชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันตรุษจีน ห้ามดูด้วยตาเปล่า เพราะอาจทำให้ตาบอดหรือเป็นต้อกระจกได้ ต้องดูผ่านแว่นกรองแสงที่ออกแบบมาเพื่อชมสุริยุปราคาเท่านั้น.
นสพ.เดลินิวส์