เชื่อหรือไม่หลายสิ่งที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นผลจากความผิดพลาดโดยแท้ โดยความผิดพลาดที่โด่งดังเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ การค้นพบทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

ชาร์ลอตต์ ฟอลตซ์ โจนส์ นักวิจัยอเมริกัน เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Mistakes That Worked:40 Familiar Inventions and How They Came to Be ซึ่งอธิบายความผิดพลาดทั้งหลายที่กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตคนเรา

เริ่มต้นจากปี 1886 เมื่อแพทย์และเภสัชกรนาม จอห์น เพมเบอร์ตัน เอาใบต้นโกโก้อเมริกาใต้มาผสมกับผลของต้นโคลา ที่รู้กันดีว่ามีสรรพคุณในการบำรุงกำลัง และชิมดูแล้วเกิดติดใจ เขาเชื่อว่า หัวเชื้อน้ำเชื่อมหรือไซรัปที่คิดค้นขึ้นมาได้โดยบังเอิญนี้จะช่วยบรรเทาความเครียด ความเหนื่อยล้า และอาการปวดฟันได้ เพมเบอร์ตันนำส่วนผสมนี้ไปยังร้านขายยาใหญ่ที่สุดในแอตแลนตา และจำหน่ายไซรัปครั้งแรกในราคาแก้วละ 5 เซ็นต์

แต่แล้วเหตุการณ์กลับพลิกผันเมื่อพนักงานขายคนหนึ่งกดหัวฉีดผิด ดันไปผสมไซรัปกับโซดาแทนที่จะเป็นน้ำเปล่า และนี่เองคือต้นกำเนิดของโคคา-โคล่า

แรกทีเดียว น้ำอัดลมชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมนัก ภายในปีแรกที่มีการตั้งโรงงานผลิตโค้ก เพมเบอร์ตันใช้เงิน 79.96 ดอลลาร์โฆษณาเครื่องดื่มชนิดใหม่ แต่ได้เงินกลับมาเพียง 50 ดอลลาร์เท่านั้น ทว่า ทุกวันนี้ โค้กมีสายการผลิตและจำหน่ายแก่ผู้บริโภคใน 200 ประเทศทั่วโลก

คุกกี้ช็อกโกแลตชิปเป็นที่โปรดปรานของอเมริกันชนมาเนิ่นนาน ขนมนี้ปรากฏตัวครั้งแรกในทศวรรษ 1930 เมื่อรูท เวกฟิลด์ เจ้าของโรมแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งในแมสซาชูเซตส์ ตัดสินใจสับช็อกโกแลตแท่งเป็นชิ้นเล็กๆ และผสมลงในแป้งดิบที่เตรียมไว้ทำคุกกี้เนย เวกฟิลด์คิดว่า ช็อกโกแลตจะละลายและทำให้คุกกี้มีสีน้ำตาลและมีรสชาติของช็อกโกแลต แต่กลับกลายเป็นว่า เธอประดิษฐ์คุกกี้ชนิดใหม่ที่มีเกล็ดช็อกโกแลตอยู่ข้างในซึ่งได้รับความนิยมอย่างเหลือเชื่อ

กระดาษโน้ตโพสต์-อิตก็เช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลจากการทดลองที่โชคร้ายของสเปนเซอร์ ซิลเวอร์จากบริษัท 3M ในปี 1968 ตอนนั้น สเปนเซอร์พยายามทำให้เทปที่มีใช้กันอยู่เหนียวติดทนนานยิ่งขึ้น โดยใช้วัสดุที่หนาจนไม่ยอมจมลงในพื้นผิว ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ในการผลิตเทปได้ การค้นพบนี้ถูกลืมไปจนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนร่วมงานของสเปนเซอร์นึกถึงวัสดุดังกล่าวขึ้นมา เพราะเกิดความรำคาญที่ที่คั่นหนังสือชอบเลื่อนหล่นไปจากหน้าเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่เขาไปร้องในโบสถ์ แต่เมื่อนำวัสดุของสเปนเซอร์มาใช้ ที่คั่นหนังสือก็ไม่เลื่อนหล่นหายอีก ปี 1980 โพสต์อิตเปิดตัวในตลาดครั้งแรก

ปี 1884 นักประดิษฐ์นาม ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ ค้นพบวิธีนำกำมะถันไปผสมกับยางโดยบังเอิญ ทำให้ยางไม่อ่อนตัวเมื่อเจออากาศร้อน และไม่เปราะในสภาพอากาศหนาวเย็น นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อวงการยานยนต์แล้ว การค้นพบของกู๊ดเยียร์ยังมีคุณูปการอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้า ที่นำยางไปใช้เป็นฉนวน

อีกหนึ่งการประดิษฐ์คิดค้นที่ดูเหมือนมาจากความผิดพลาดก็คือ เครื่องกระตุ้นหัวใจ ปี 1941 วิศวกรไฟฟ้านาม จอห์น ฮอปส์ ได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือให้วิจัยปัญหาอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ เขาพยายามค้นคว้าหาวิธีที่ดียิ่งขึ้นในการปรับอุณหภูมิในร่างกายของคนที่อยู่ในน้ำหรือในอากาศหนาวเย็นนานๆ ให้อบอุ่นอย่างรวดเร็ว

ฮอปส์เลือกใช้การกระจายคลื่นวิทยุความถี่สูง และทันใดนั้นเขาสังเกตว่า การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าทำให้หัวใจเต้นอีกครั้งหลังจากหยุดไปเพราะอากาศหนาวเย็นจัด ในปี 1950 เครื่องกระตุ้นหัวใจเครื่องแรกถูกสร้างขึ้นโดยอิงกับการค้นพบของฮอปส์ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวเทอะทะเกินไป ซ้ำบางครั้งยังทำให้ผิวหนังคนไข้ไหม้

ดร.วิลสัน เกรตแบตช์ เป็นผู้ค้นพบโดยบังเอิญอีกเช่นกันในการพัฒนาอุปกรณ์บันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ จากการสอดตัวต้านทานกระแสไฟฟ้าเข้าสู่อุปกรณ์ผิดตัว ทำให้สามารถจับจังหวะการสั่นของเครื่องวัดกำลังไฟฟ้าที่คล้ายกับการเต้นของหัวใจ สองปีหลังจากนั้น เกรตแบตช์สร้างเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบปลูกถ่ายในร่างกายสำเร็จโดยนำความผิดพลาดนี้มาประยุกต์

ปัจจุบัน มีการใช้ยาปฏิชีวนะกันอย่างกว้างขวาง 15% ของยาที่ขายกันอยู่ทั่วโลกล้วนแล้วเป็นยาปฏิชีวนะ แต่ทราบหรือไม่ว่ายาชนิดนี้เกิดขึ้นในปี1928 หลังจากอเล็กซานเดอร์ เฟลมิง สังเกตว่าเพนนิซิลินที่ได้จากเห็ดรามีผลกับตัวอย่างสตาไฟโลคอกคัสที่ถูกทิ้งไว้ริมหน้าต่าง เฟลมิงศึกษาตัวอย่างนั้นและพบว่า เพนนิซิลินสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย ความสำคัญของการค้นพบของเฟลมิงชัดเจนขึ้นในปี 1940 เมื่อมีการวิจัยยาปฏิชีวนะครั้งแรกของโลก

ซิลแวน โกลด์แมน เจ้าของสแตนดาร์ด ฟูด มาร์เก็ตส์ในโอกลาโฮมา ซิตี้ สหรัฐฯ ประดิษฐ์รถเข็นซื้อสินค้าเป็นรายแรกในปี 1936 จากการเห็นลูกค้ารายหนึ่งวางถุงของชำหนักอึ้งบนของเล่นที่ใช้เชือกลากของลูก โกลด์แมนได้ไอเดียทันที เขานำล้อเล็กๆ มาติดกับตะกร้าจ่ายตลาดธรรมดา ก่อนจะคิดค้นต้นแบบรถเข็นทันสมัยโดยอาศัยความช่วยเหลือจากวิศวกรเครื่องจักรกล กระทั่งมีการผลิตรถเข็นสินค้ากันเป็นล่ำเป็นสันในปี 1947

แฮร์รี่ วาสิลิกประดิษฐ์ถุงขยะขึ้นมาครั้งแรกในปี 1950 เมื่อเทศบาลเมืองวินนิเพ็ก แคนาดา ขอให้วิศวกรรายนี้ผลิตอะไรสักอย่างมาช่วยป้องกันไม่ให้ขยะหล่นร่วงเมื่อใช้เครื่องเก็บขยะ แรกทีเดียว วาสิลิกต้องการออกแบบเครื่องทำความสะอาดระบบสุญญากาศเพื่อเก็บขยะที่ยังร่วงจากเครื่องเก็บขยะ แต่ทันใดนั้นเขาได้ยินคนรู้จักร้องว่าอยากได้ถุงขยะ เขาจึงตระหนักทันทีว่า ก่อนอื่นต้องเก็บขยะใส่ถุงโพลีเอทิลีน เพื่อให้เครื่องเก็บขยะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เพอร์ซี สเปนเซอร์ นักวิจัยชื่อดังที่ทำงานกับเรย์ทีออน ผู้ผลิตอาวุธชั้นนำของโลก และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์คิดค้นถึง 120 สิทธิบัตร เขาคนนี้เป็นผู้สร้างเตาไมโครเวฟขึ้นมา

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไม่นาน สเปนเซอร์ขะมักเขม้นพัฒนาประสิทธิภาพของเรดาร์ วันหนึ่งเมื่อเดินเข้าไปหน้าเครื่องระบายความร้อน เขาพบว่าช็อกโกแลตในกระเป๋าเสื้อละลายหมด หลังจากทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก สเปนเซอร์จึงผลิตไมโครเวฟเครื่องแรกออกมาโดยมีน้ำหนักถึง 400 กิโลกรัมโดยประมาณ และสามารถนำไปใช้อุ่นอาหารอย่างรวดเร็วทันใจในภัตตาคาร เครื่องบิน และร้านค้าทั่วไป