น.ส.สุกัญญา จงถาวรสถิต นักวิชาการสาธารณสุข7 สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตนและคณะได้ทำการวิจัยเรื่อง “การปนเปื้อนเชื้อโรคอาหารเป็นพิษในหอยแครงและหอยแมลงภู่พร้อมบริโภค” ซึ่งเหตุผลที่ทำการวิจัยเนื่องจากเห็นว่าโรคอาหารเป็นพิษพบได้ตลอดทั้งปี โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2552-8 ต.ค.2551 ที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 86,834 ราย เสียชีวิต 3 ราย ปัจจัยเสี่ยงและแหล่งโรคส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเลที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จึงได้ศึกษาการปนเปื้อนในหอยแครงและหอยแมลงภู่พร้อมบริโภคที่จำหน่ายในห้องสรรพสินค้า ตลาดนัด และร้านอาหาร

น.ส.สุกัญญา กล่าวต่อว่า จากการสุ่มเก็บตัวอย่างหอยแมลงภู่นึ่งทันที หอยแมลงภู่ที่นึ่งไว้แล้ว หอยแครงลวกทันที และหอยแครงลวกไว้แล้วที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า 10 แห่ง จำนวน 20 ตัวอย่าง ตลาดนัด 10 แห่ง จำนวน 24 ตัวอย่าง และร้านอาหาร 10 แห่ง จำนวน 17 ตัวอย่าง มาทำการตรวจวิเคราะห์เชื้อและปัจจัยที่มีผลต่อการพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ผลการศึกษาพบว่า ตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตรวจพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ คือ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) และ ซัลโมเนลลา 13 ตัวอย่างจาก 20 ตัวอย่าง คิดเป็น 65 % ตัวอย่างจากตลาดนัด พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ 16 ตัวอย่างจาก 24 ตัวอย่าง คิดเป็น 66.6 % และร้านอาหาร พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ 4 ตัวอย่างจาก 17 ตัวอย่าง คิดเป็น 23.52 %

'ทั้งนี้หอยแมลงภู่นึ่งไว้แล้วที่จำหน่ายที่ตลาดนัดพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษมากที่สุด คือ 88.9 % หอยแครงที่ลวกไว้แล้วที่จำหน่ายทั้ง 3 แห่ง พบเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษทุกตัวอย่าง หอยแมลงภู่นึ่งไว้แล้วมีโอกาสพบเชื้อมากกว่าหอยแมลงภู่ที่นึ่งทันที 11.4 เท่า ดังนั้นควรเลือกบริโภคหอยแมลงภู่และหอยแครงที่ผ่านการให้ความร้อนที่เหมาะสมและปรุงสุกใหม่' น.ส.สุกัญญา กล่าว

น.ส.สุกัญญา กล่าวด้วยว่า หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมหอยแครงหรือหอยแมลงภู่ที่ลวกหรือนึ่งไว้แล้วพร้อมรับประทานจึงมีเชื้อโรคอยู่ สันนิษฐานว่า ช่วงที่ลวกหรือนึ่งนั้นใช้เวลาแป๊บเดียว เช่น หอยแครงในตลาดนัด มีการลวกเพียงไม่กี่วินาที อีกทั้งน้ำลวกก็ไม่เดือดแค่ร้อน ๆ และน้ำที่ลวกก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนบ่อย ตอนนำหอยแครงขึ้นมา หอยแครงยังมีเลือดสด ๆ อยู่ ทำให้เชื้อพบเชื้อโรค ส่วนกรณีของหอยแมลงภู่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้า หรือ ตลาดนัดที่ตรวจพบ สันนิษฐานว่า ผู้ประกอบอาหาร ใช้เวลานึ่งไม่นาน บางแห่งมีการนึ่งตั้งแต่เช้าแล้วนำมาจำหน่ายในช่วงเย็น หรือ นึ่งตั้งแต่เช้า ตอนเย็นก็ยังขายไม่หมด อย่างที่ตรวจในห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นซึ้งนึ่งอาหารที่มีอยู่ 3 ชั้น ชั้นล่างลวก ชั้น 2 และ 3 นึ่ง แต่เนื่องจากใช้เวลาไม่นานทำให้เชื้อโรคยังมีอยู่ จะสังเกตว่า บางแห่ง หอยแมลงภู่ยังมีขนาดใหญ่เต็มฝาหอยไม่ได้หดเล็กลงเลย

ด้าน นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตนก็ชอบรับประทานหอยแครง แต่เคยท้องเสียรุนแรง ดังนั้นจึงอยากเตือนประชาชนว่า ควรรับประทานหอยแครงและหอยแมลงภู่ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น มิฉะนั้นอาจทำให้ก่อโรคอาหารเป็นพิษได้

ในขณะที่ นางอรุณ บ่างตระกูลนนท์ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง หอยแครงและหอยแมลงภู่สด ๆ จากตลาดในจ.นนทบุรี 10 แห่ง มาตรวจ พบเชื้ออาหารเป็นพิษ คือ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) ในหอยแครงร้อยละ 100 ในหอยแมลงภู่พบร้อยละ 80 พบเชื้อซัลโมเนลลา ในหอยแครงร้อยละ 10 % และในหอยแมลงภู่ร้อยละ 70 หากจะทำลายเชื้อโรคด้วยการต้มหรือลวกหอยแครงนั้นจะต้องทำในน้ำเดือดนาน 1 -2 นาที ส่วนการอบหรือนึ่งหอยแมลงภู่นั้นต้องใช้เวลา 5-7 นาที จะสามารถทำลายเชื้อได้หมด.

นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 27 มกราคม 2552