ดาวเคราะห์จิ๋วนอกระบบ






นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดเล็กที่สุดผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศโครอตของยุโรป เป็นดาวเคราะห์หินที่มีขนาดเล็กกว่าโลกถึง 2 เท่า และอุณหภูมิสูงระหว่าง 1,000-1,500 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนเกินกว่าสิ่งมีชีวิตจะอยู่อาศัยได้

บีบีซี นิวส์ ออนไลน์ รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดเล็กที่สุดผ่านการสังเกตการณ์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศโครอต (Convection Rotation and planetary Transits-Corot) ของสำนักงานอวกาศยุโรปหรืออีซา (Esa) ที่กำลังโคจรรอบโลกพร้อมกล้องขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 27 เซนติเมตร เพื่อค้นหาดาวเคราะห์ดวงอื่นที่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ของระบบสุริยะ

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบแล้วประมาณ 330 ดวง แต่ส่วนใหญ่เป็นดาวก๊าซขนาดใหญ่คล้ายกับดาวพฤหัสบดีและดาวเนปจูน ในขณะที่ดาวเคราะห์พบใหม่ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Corot-Exo-7b มีลักษณะเป็นดาวเคราะห์หินขนาดเล็กกว่าโลกถึง 2 เท่า หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่าโลก 2 เท่า โคจรรอบดวงดาวคล้ายดวงอาทิตย์ ใช้เวลา 20 ชั่วโมง และมีเส้นทางโคจรอยู่ใกล้ดาวดังกล่าวมาก ซึ่งในปัจจุบันมีดาวเคราะห์เพียงไม่กี่ดวงที่มีมวลใกล้เคียงกับโลก ดาวศุกร์ ดาวอังคารและดาวพุธ ขณะเดียวกันยังมีอุณหภูมิสูงระหว่าง 1,000-1,500 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าร้อนเกินกว่าสิ่งมีชีวิตจะอยู่อาศัยได้

มัลคอล์ม ฟริดลุนด์ นักวิทยาศาสตร์ในโครงการโครอต กล่าวว่า ถือเป็นการค้นพบดาวเคราะห์หินคล้ายโลกของเราเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจวัตถุอวกาศชิ้นนี้อีกก่อนจะจัดทำเป็นตำราวิชาการ และจะยังคงค้นหาวัตถุคล้ายโลกที่มีขนาดเล็กโดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศโครอตต่อไป

ทั้งนี้ เทคนิคในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบที่ได้รับความนิยมและค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบโดยส่วนใหญ่เป็นเทคนิคที่เรียกกันว่า radial velocity method ซึ่งดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นแสงในสเปกตรัม ทำโดยการส่องกล้องไปที่ดาวฤกษ์เป้าหมาย หากมีดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ แรงดึงดูดจะทำให้ดาวฤกษ์ถอยหลังและเดินหน้าที่เรียกว่าปรากฏการณ์ Wobbles ผลของมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นแสงในสเปกตรัม ซึ่งเรียกว่า Doppler Shifting อันจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาตำแหน่งและรู้มวลของดาวเคราะห์ได้ แต่เทคนิคนี้ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถค้นหาดาวเคราะห์ขนาดเล็กเท่าโลกได้ ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ในขณะเคลื่อนตัวผ่านดวงดาวที่มันโคจร ทำให้บดบังแสงของดวงดาวดังกล่าวลง ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจหาดาวเคราะห์ที่เรียกกันว่า "Transit Method" ซึ่งใช้การวัดความสว่างของดาวฤกษ์

สำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศโครอตเป็นโครงการของอีซาที่นำโดยองค์การอวกาศฝรั่งเศสร่วมกับองค์การอวกาศออสเตรีย สเปน เยอรมนี เบลเยียมและบราซิล ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2006 และเริ่มปฏิบัติการล่าดาวเคราะห์ในเดือนมีนาคม 2007 ที่ผ่านมา หลังจากผ่านการทดสอบอุปกรณ์ต่างๆในอวกาศนานประมาณ 2 เดือน ถือเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศกล้องแรกของโลกที่มีภารกิจล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เรียกว่า Extrasolar Planets หรือ Exoplanets ส่วนอีกภารกิจหนึ่งคือศึกษากระบวนการภายในของดาวฤกษ์เพื่อวัดมวลอายุและหาองค์ประกอบทางเคมีของดาวฤกษ์





จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2009