วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 บ่ายสามโมงครึ่งผมเข้าตลาดซื้อชุดขาว สามชุด ก่อนเข้ารับออร์เดอร์งาน พร้อมกับแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดงาน ผมตั้งใจว่าคืนนี้ผมจะไปวัดและอยู่ที่นั่นจนถึงรุ่งเช้าวันอังคาร หนึ่งทุ่มครึ่งผมเข้าถึงวัดและกราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าอาวาส ผมจำได้ว่า ก่อนที่ผมจะได้เข้ามารู้จักวัดแห่งนี้ ผมมาทำงานที่เขตหนองคาย -นครพนม ระหว่างนั้นผมยังมีไข้บ้าง แต่จะหนักทางหวัดและไอมากกว่า วันพุธที่ 14 มกราคม 2552 ผมเดินออกจากที่ส่งงาน รู้สึกอ่อนล้าและอยากพบกับสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย ติดต่อไปหาเพื่อนร่วมงานว่าวันที่ 15 มกราคม บ่ายโมง ให้ไปเจอกันที่อุดรธานี วันนั้นผมตั้งใจว่าจะไปสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดขอยาและจะหาวัดสักแห่งขออาศัยหลับนอน ได้รับยามา 4 ขนานผมเลือกกินยาแก้แพ้ชนิดเดียวเท่านั้น


ป้ายทางเข้าวัดป่าแห่งหนึ่งใกล้ริมฝั่งโขงกิ่งอำเภอศรีวิไล บรรยากาศร่มรื่น สะอาด ไม่มีถาวรวัตถุสิ่งปลูกสร้างใหญ่โต ห่างชุมชนราวสองกิโลเมตร เงียบสงัดและสงบ ยังไม่ทันได้เข้ากราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสเลย ผมก็ถือวิสาสะว่าเป็นพุทธมามกะเข้าไปนั่งใต้ศาลาดอกเห็ดที่มีพื้นไม้กระดานยกสูงพอนั่งหย่อนขาสบาย ๆ ปลดสัมภาระวางข้างๆ ตัว ในวัดแห่งนี้มีกอไผ่หลายกอ ต้นประดู่ รัง มะค่า อะราง มะขาม มะม่วงป่า ยืนต้นเรียงราย แห้งโกร๋นตามฤดูกาล นึกในใจว่าหากหลวงพ่อไม่มาตั้งวัดอยู่นี่ พื้นที่ตรงนี้จะมีต้นไม้เหลือสักกี่ต้นกัน
ใบไผ่ต้องลมในฤดูกาลที่แห้งแล้งทิ้งใบสะบัดวนหมุนติ้ว ๆ ก่อนทิ้งใบลงสู่พื้นดินอย่างเงียบเบา ใบแล้วใบเล่า กระรอก กระแตวิ่งไต่ต้นไม้เล่นอย่างสบายอารมณ์ กระโดดจากกิ่งนี้ไปต้นนั้นไล่หยอกล้อกัน คงสนุกมาก (ผมคิดเอาเอง บางทีอาจเป็นธรรมชาติของสัตว์ประเภทนี้ก็ได้) และไก่ป่าฝูงใหญ่คุ้ยเขี่ยหากินอย่างไม่ตื่นกลัว คงเคยชินกับการไม่เคยถูกใครรังแกนั่นเอง ความรู้สึกของผมผ่อนคลายไม่น้อย จึงเปลี่ยนอริยาบทจากหย่อนขามาเป็นเอนหลังพิงเป้สัมภาระ

สายลมพัดผ่านยามบ่ายช่างเหมือนกับใครช่วยดึงหนังตาลงทีละนิด ๆ ผมคิดถึงคนที่ผมรัก ผุดภาพของเธอในหัวใจ นึกถึงคำพูดคุยของสองเราทั้งที่เป็นน้ำเสียงของเธอและถ้อยอักษรที่เธอสนทนากับผมในโลกไซเบอร์ ผมฝากความคิดถึงไปหาเธอกับสายลมจากดินแดนที่ราบสูงให้ช่วยพัดหอบไปส่งสู่ลมทะเล วานวอนลมทะเลพัดพาไปสู่เธอ พรุ่งนี้เมื่อถึงอุดรธานีผมจะโทหาเธอ ความคิดถึงนิ่งนึกลึกซึ้งในหัวใจที่กำลังก่อรอยยิ้ม

………………………………………
“โยม โยม” ผมตื่นตามเสียงเรียก ลืมตามองต้นเสียงเห็นสามเณรวัยหนุ่มน้อยยืนห่างประมาณสองวา ผมลุกขึ้นและลงนั่งยอง ๆ กับพื้น ยกมือนมัสการ ยิ้มอาย ๆ ในความสะเพร่าเผลอในศาสนสถานของตนก่อนที่ผมจะพูดอะไรสามเณรท่านนั้นก็บอกว่า

“ หลวงพ่อให่มาเอิ้น” แล้วท่านก็เดินไป ซึ่งผมก็เข้าใจว่าอีกไม่นานจะมืดค่ำแล้วคนแปลกหน้าอยู่ในวัดก็จะเป็นเหตุกังวลต่อพระสงฆ์องค์เจ้า อีกอย่างสภาพของผมตอนนั้นใครเห็นก็คงไม่ไว้วางใจเป็นแน่ ผมหิ้วเป้ตามสามเณรไป

ศาลาพื้นปูนต่ำไม่วิจิตรแต่สะอาด พระภิกษุสูงอายุนั่งฉันหมากอยู่บนอาสนะ ใบหน้าของท่านแย้มยิ้ม แววตาของท่านมองผมอย่างเมตตา ผมถอดรองเท้าที่พื้นดิน และวางเป้ที่ข้าง ๆ ทางขึ้น แล้วเดินเข้าไปนั่งห่างท่านประมาณสามวา กราบลงด้วยวิธีเบญจางคประดิษฐ์ ท่านชมพอได้ยินว่ากราบได้ถูกต้อง ท่านเอ่ยกับผมประโยคแรกว่า

“ห้องน้ำอยู่ทางนั้นนะโยม” จริงทีเดียว ผมต้องอาบน้ำชำระตัวเองให้เรียบร้อยก่อนสนทนากับท่าน เมื่อผมกลับมานั่งต่อหน้าท่านอีก หวัดและการไอของผมก็กำเริบให้ท่านหลวงพ่อเห็น
“ไม่สบายสินะ ไปหาหมอขอหยูกยาหรือยัง”
“กระผมไปขอยาจากสถานีอนามัยมาแล้วครับ” ผมประนมมือขึ้นและเรียนท่านด้วยน้ำเสียงแหบพร่า
“นี่ก็จะมืดค่ำแล้ว จะพักที่นี่หรือไปไหนต่อหรือโยม”
“กระผมตั้งใจว่าจะขอพึ่งหลวงพ่อขออาศัยนอนวัดคืนนี้ครับ” ผมคลานเข้าหาท่านและยื่นบัตรประชาชนให้ท่านดู ขณะนั้นมีชาวบ้าน 2 คนขี่จักรยานยนต์มาถึงศาลา ดูอายุราวสี่สิบกว่าทั้งคู่ พวกเขากราบพระแล้วนั่งถัดไปด้านซ้ายมือของผม ผมทักทายทั้งสองด้วยการไหว้
“อ้อ ผู้ใหญ่ ผู้ช่วย โยมนี่จะขอพักในวัดคืนนี้ จะพักกี่คืนหละโยม” หลวงพ่ออธิบายให้ทั้งสองคนฟัง พร้อมกับหันมาถามผม
“คืนเดียวครับหลวงพ่อ พรุ่งนี้เช้าตรู่กระผมจะกราบลาหลวงพ่อครับ”

“ให้นอนที่ศาลานี่นะผู้ใหญ่ ดูท่าทางคงไม่สบายเอามาก ข้าวปลาอาหารก็วานผู้ใหญ่กับผู้ช่วยเป็นธุระก็แล้วกัน สงเคราะห์หน่อยนะ” โอหนอ....ใต้ร่มเงาบารมีของพระสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่างร่มเย็นยิ่งนัก ผมยิ้มอย่างคลายความกังวลใจ ทั้งรู้สึกปลาบปลื้มเหลือเกิน หลวงพ่อยังเมตตาถามถึงเครื่องนอน ผ้าห่ม ซึ่งผมเรียนท่านว่ามีครบ ท่านยังให้สามเณรนำสื่อ หมอน ผ้าผวยมากองไว้ให้เผื่ออากาศจะหนาวเย็นช่วงดึก ๆ ผมประนมมือก้มหัวน้อมรับความเมตตาจากท่าน ด้วยความรูสึกซาบซึ้งและขอบพระคุณท่าน และเรียนต่อท่านว่าอาหารเย็นวันนี้ผมมีเครื่องดื่มประเภทธัญพืชติดตัวอยู่จะรบกวนขอน้ำร้อนเท่านั้น

.........................
17.30 น. เสียงระฆังดังสดใส ดังได้ยินชัดในอารามที่สงัดเงียบแห่งนี้ ด้วยเกรงว่าอาการไอถี่ จะกำเริบขณะที่ท่านทำวัตรเย็น ผมจึงลงจากศาลาไปนั่งสนทนากับท่านผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยห่างจากศาลาประมาณยี่สิบเมตรซึ่งเป็นสถานที่ตั้งน้ำร้อนน้ำชาถวายพระสงฆ์ ประมาณสิบนาทีก็เริ่มพระภิกษุเดินมายังศาลาทีละรูป จากทางที่ลึกเข้าไปด้านในของวัด ทุกรูปครองจีวรอย่างเป็นระเบียบเหมือนกัน ใช้ผ้าจีวรสีกรักทองเหมือนกัน ท่านเหล่านนั้นเดินอย่างสงบเสงี่ยมน่าเลื่อมใสศรัทธาในสมณสารูป ประมาณแปดถึงเก้ารูป เสียงสวดบททำวัตรเย็นภาษามคธชัดเจนตามอักขรวิธีท่านใช้เวลาชั่วโมงเศษ ในกิจของท่านเย็นนี้ ซึ่งสามสิบนาทีหลังเป็นท่านหลวงพ่อสั่งสอนการปฏิบัติกัมมัฏฐานแก่ลูกศิษย์ ท่านพูดฉะฉานชวนฟัง พวกเราฆราวาสนั่งในศาลาเตาไฟต่างก็นิ่งไม่พูด ผมจำได้แม่นยำตอนหนึ่งท่านว่า

“ชีวิตที่ได้เกิดมานี้ อะไรมีค่า ควรรักษาที่สุด” ท่านเว้นช่วงคล้ายให้ผู้ฟังได้คิดตาม ผมนึกตอบท่านในใจว่าการมีลมหายใจเข้าออกมีค่าที่สุด หยุดหายใจเมื่อไรเป็นอันว่าตายทุกคน
“คนโง่เขลาเท่านั้นที่คิดว่า ดวงตา หัวใจ ร่างกาย หรือการมีลมหายใจเข้าออกมีค่าที่สุดควรรักษาไว้ที่สุด” ผมสะดุ้งและอมยิ้มให้กับความโง่เขลาของตัวเอง และอย่างตั้งใจจดจ่อฟัง
“องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัย ที่พักชั่วคราวเท่านั้น หากองค์ประกอบเหล่านี้หยุดการทำงานลง มันจะหาค่าอะไรได้” ผมครุ่นคิดตามอย่างทบทวน
“มันเหมือนบ้านเรือนของชาวบ้าน เหมือกุฏิพระของข้อยของหมู่เจ้านั่นหละ ที่สำคัญที่จะทำให้บ้านเรือน กุฏิ สะอาด น่าอยู่อาศัย เป็นตานั่งตานอนก็คือคนผู้อาศัยมัน อะไรหละคือผู้อาศัยมัน “
“คิดออกบ้างหรือยัง หรือมันยังมืดปึกอยู่คือเก่า ที่สำคัญที่สุดในการมีชีวิตเกิดเป็นมนุษย์นี้ คือหยัง ใครคือผู้อาศัย ..............จิต จิตเท่านั้นที่บงการให้องค์ประกอบอื่น ๆ ของร่างกายมนุษย์เราทำงาน จิตอาศัยกายอยู่ แต่จิตนั่นหละที่สั่งกายทำนั่นทำนี่ ถ้าจิตสะอาด จิตคิดดี จิตเป็นกุศล องค์ประกอบอื่น ๆ ก็จะเคลื่อนไหวอย่างมีค่า ก่อเกิดคุณค่าในต่อองค์ประกอบของชีวิต”
“เอ้า พิจารณาดูให้ดีจะทำอะไรกับจิตก็ทำนะ “ เงียบเสียงเทศนาของหลวงพ่อ

………………….
หลวงพ่อและพระเณรลงมาที่ศาลาเตาไฟ ฆราวาสเจ้าถิ่นจัดแจงถวายน้ำร้อนน้ำชา ผมก็ช่วยบ้างแต่ไม่เข้าประเคนท่านเกรงว่าไอเจ้ากรรมจะเล่นงานตอนยื่นน้ำร้อนถวายพระ หลวงพ่อมองมาที่ผมพร้อมกับบอกสามเณรที่ปลุกผมให้หามะนาวมาและท่านให้เอามะนาวย่างไฟ ท่านสั่งว่าอย่าให้เกรียมมากนัก ท่านกำกับและสั่งให้เอาออกเมื่อได้ที่ตามที่ท่านต้องการ

“หนุ่มเอ้ย ไปกับเณรซิวหาจานใส่เกลือมา เอามีดมาด้วยนะ” หลวงพ่อบอกผม พอได้จานเกลือและมีดปอกผลไม้ ผมประเคนถวายหลวงพ่อ แล้วท่านส่งคืนให้ผมและบอกว่าให้หั่นมะนาวชิ้นบาง ๆ จิ้มเกลือกินจะได้บรรเทาอาการไอ การรับความกรุณาจากท่านอีกครั้งทำให้ขอบตาของผมอุ่นผ่าวด้วยรื้นน้ำตา หัวใจของผมศิโรราบในความเมตตาของท่าน ท่านช่างเมตตาคนแรมทางอย่างผมเหลือเกิน
“เคยบวชมาก่อนหรือ” ท่านถาม ผมเรียนกับท่านว่าเคยอยู่วัดในกรุงเทพเมื่อครั้งเรียนหนังสือหลายปี ผมขออนุญาตท่านไปเอารูปถ่ายหลวงพ่อเจ้าคุณที่ผมพกติดกระเป๋ามาให้ท่านดู

“หือ เป็นศิษย์ท่านเจ้าคุณนี่เอง” ท่านรู้จักท่านเจ้าคุณ เป็นที่ทราบดีว่าท่านเจ้าคุณ จะเข้มงวดกับศิษย์วัด ในวัตรปฏิบัติต่อพระสงฆ์ ทุกคนต้องเรียนธรรมศึกษา เรียนภาษาบาลีสันสกฤต เรียนศาสนาปรัชญา จนถึงแปลธรรมบท ท่านว่าหากมาเป็นศิษย์วัดเป็นลูกวัดแล้วมีชีวิตอย่างลูกชาวบ้านก็สู้อย่ามาอยู่วัดดีกว่า วัดจะต้องเป็นสถานที่ที่สร้างคน ศิษย์วัดที่นอกลู่นอกทางท่านให้โอกาสเพียงสองครั้ง ครั้งที่สามคือออกจากวัด

“มิน่า การกราบ การพูดกับพระสงฆ์ของเจ้า เออ ดีแล้วลูกดีแล้ว” ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมาก ที่ได้พบและได้พึ่งบารมีของหลวงพ่อผู้เป็นสหธัมมิกกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ หลวงพ่อได้สนทนากับผมหลายอย่างก่อนท่านจะบอกให้ผมไปจัดเตรียมที่นอน พรุ่งนี้ต้องได้ตื่นแต่เช้าเพราะพระเณรต้องทำวัตรเช้า ระหว่างที่ผมจัดเตรียมที่นอนท่านเดินมาดูและบอกว่าใช้ผ้าห่มที่สามเณรซิวเอามาให้ห่มด้วยร่างกายจะได้อุ่น ผมกราบแทบเท้าท่านก่อนท่านเดินลงศาลาไป
........................
เสียงระฆังปลุกผมลุกจากที่นอน ไฟบนศาลาสว่างทีละดวง ๆ มองนาฬิกาที่ผนังตีสี่พอดิบพอดี รีบจัดการเครื่องนอนพับเก็บเตรียมพร้อม ล้างหน้าแปรงฟัน อากาศเย็นยามเช้าเป็นข้ออ้างว่าอาบน้ำไม่ได้ ลูบน้ำตามแขน ต้นคอไล่ความง่วง ตีสี่ครึ่งพระเณรมาถึงศาลาแล้ว ผมหอบเครื่องนอนที่สามเณรซิวเอามาให้ไปส่งกลับที่เดิม ไหว้และกล่าวขอบคุณสามเณรซิว หลวงพ่อมาถึงศาลาพอดี ถือโอกาสนี้ร่วมกิจกรรมทำวัตรเช้ากับท่าน แปลกที่อาการไอไม่รุนแรงและอดกลั้นไว้ได หลังการนั่งสมาธิฟังเทศน์จากหลวงพ่อจบ ผมช่วยสามเณรซิวปูลาดอาสนะ จัดตั้งน้ำดื่ม แก้วน้ำ กระโถน ที่ตั้งบาตร อื่น ๆ เสร็จ หลวงพ่อและคณะของท่านกำลังครองจีวรเตรียมออกบิณฑบาต ผมเข้าไปกราบนมัสการลาท่าน
“เดินทางแล้วหรือลูก ไม่อยู่กินข้าวกินปลาก่อนหละ ” ท่านถาม ผมเรียนท่านว่ายังมีงานค้างอยู่อีกที่หนึ่งและเรียนท่านว่ามีโอกาสผ่านทางนี้จะมากราบท่านอีก ก่อนกลับผมไม่ลืมทำบุญในตู้บริจาค กำลังจะหิ้วสัมภาระเดินทาง หลวงพ่อท่านกำชับตามหลังว่า
“การได้เกิดเป็นมนุษย์ อะไรมีค่าที่สุด อย่าลืมหละ อย่าประมาทนะลูก” ผมนั่งลงประนมมือรับพรนี้จากท่าน

...................................
นี่คือเหตุที่ผมต้องเดินทางมาที่วัดป่าแห่งนี้ในเทศกาลมาฆบูชาปีนี้ เวลาสามคืนสองวันนี้
จะตั้งใจรับการอบรมจากท่านหลวงพ่อผู้เปี่ยมเมตตาธรรม ภูมิรู้ ภูมิธรรมและวัตรปฏิบัติที่งดงามอย่างยิ่ง การมาถึงครั้งนี้ผมได้รับความเมตตาและความไว้วางใจจากพระเณรและญาติโยมของวัดด้วยเหตุว่าหลวงพ่อท่านสนทนากับผมอย่างคุ้นเคย และเท่ากับเป็นการรับประกันตัวผมนั่นเอง

“มาถึงแล้วหรือลูก” หลวงพ่อทักขณะผมเข้าไปนมัสการท่านที่ศาลาเตาไฟ ก่อนหันไปประนมมือไหว้พระ และสามเณรซิว หิ้วของที่จะมาถวายท่านวางไว้ในชั้นเก็บของ เพราะมีของบางอย่างจะประเคนให้ท่านในยามวิกาลไม่ได้ ผมเลือกที่นั่งที่เหมาะสมกับตัวเอง และหันไปทักทายท่านผู้ใหญ่และชาวบ้านที่นั่งอยู่ตรงนั้นด้วยการไหว้

“ซิว พาไปเอากลดเอาเครื่องนอนมา นอนที่ศาลาเตาไฟนี่นะลูก” หลังจากผมไปรับชุดเครื่องนอนมาแล้ว หลวงพ่อบอกว่า นอนในกลดจะได้อุ่นและมีสติ ระหว่างนี้ท่านเล่าเรื่องต่าง ๆที่ท่านประสบมาครั้งออกธุดงค์ให้ฟัง ทุกเรื่องล้วนแฝงด้วยศาสตร์และศิลป์การตัดสินใจทั้งนั้น สามทุ่มหลวงพ่อกลับไปจำวัด ผมตามไปส่งท่านที่กุฏิ แสงไฟสว่างที่บริเวณกุฏิท่าน เห็นทางเดินจงกรมทำด้วยดินยกสูงจากพื้นดินราวหนึ่งคืบและยาวประมาณยี่สิบเมตรกว่า ๆ เห็นจะได้ ตรงกลางเป็นร่องหลุม คงผ่านการเดินไปเดินมาเนิ่นนาน

เสียงลมพัดใบไม้ ดวงจันทร์ใกล้เพ็ญเดือนสามลอยเด่นเหนือปลายไม้ ดวงดาวสุกใสส่องแสงเหมือนไฟดวงน้อย ๆ พริบ ๆ บนท้องฟ้า ผมมองที่ดวงดาวดวงที่ผมเฝ้ามองทุกครั้งด้วยความรักที่มีอยู่เต็มหัวใจ
“ตอบคนดีของใจห่างไกลไม่เคยไหวหวั่น
ความผูกพันสองใจไม่แปรผัน
ลมหายใจสุดท้ายคือฉันรักเธอคงมั่น
ตอบใจเธออย่างนั้นมั่นคง....
ฝากเพลงสื่อความหมาย ลมหายใจสุดท้าย คือฉันรักเธอ ” ผมร้องเพลงในใจให้ดวงดาวฟัง
“ขอให้มีความสุขนะครับคนดี คิดถึงเป็นห่วงเสมอครับ” ผมรำพึงกับดวงดาวที่อยู่แสนไกลก่อนเข้านอน


วัดป่าในกิ่ง อ.ศรีวิไล หนองคาย ๘ ก.พ. ๕๒