จันทบุรี-ระยอง เสี่ยงถูกพายุกระหน่ำ




จันทบุรี-ระยอง เสี่ยงถูกพายุกระหน่ำ



จันทบุรีและระยองต้องเฝ้าระวังพิเศษภัยน้ำท่วมและพายุพัดผ่านมากผิดปกติ สถาบันน้ำแนะกทม.แบ่งงบฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดและบึงเสนาท ชะลอน้ำท่วมกรุง

ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลประวัติพายุ การเปลี่ยนแปลงของทะเล รวมถึงสถิติต่างๆ ด้านอุตุนิยมวิทยา สรุปได้ว่า ปี 2552 ปริมาณน้ำจะมากและมีโอกาสเกิดพายุพัดเข้าไทยมากกว่าปีก่อนๆ โดยพื้นที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ ระยองและจันทบุรี ส่วนพื้นที่เสี่ยงอื่น เช่น ตรัง สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ปัตตานีและยะลา

ปีที่ผ่านมาไทยมีปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ยทั้งปีถึง 1,543 มิลลิเมตร จากปกติเพียง 1,374 มิลลิเมตร หรือเพิ่มขึ้นกว่า 12% ขณะที่ข้อมูลประเทศไทยในรอบ 40 กว่าปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 9 % เท่านั้น

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งถึงจังหวัดระยองและจันทบุรี ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยมอบให้กรมชลประทานและกรมทางหลวงประสานงานกัน วางแผนระบายน้ำลงสู่ทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งควรมีระบบจัดเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ทั้งยังเป็นการใช้น้ำจืดต้านน้ำทะเล ลดการกระแทกของคลื่นที่แรงที่สุดในช่วง

กรณีปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ที่ใช้งบป้องกันกว่า 4 พันล้านบาทนั้น กทม.ควรจะแบ่งงบ 200 - 300 ล้านบาท ฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดและบึงเสนาท จ.นครสวรรค์ เพื่อชะลอการไหลเข้ากรุงเทพฯอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาน้ำท่วม มักคาดหวังว่างบประมาณของกรมชลประทานสามารถแก้ปัญหาได้ และลืมไปว่างบส่วนใหญ่กว่า 4 แสนล้านบาท อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบท.)

"งบดังกล่าวมีเพียง 2.7% เท่านั้นที่นำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำ ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีสูงถึง 7% โดยเฉพาะในส่วนของอบท. สสนก.จึงได้สรุปข้อมูลเสนอต่อกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ พร้อมจัดทำรายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางป้องกันน้ำท่วมสนองพระราชดำริ กระจายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป"