ยาลบความทรงจำ






"บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืมเรากลับจำ คนเรานี้ คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ…”

เชื่อว่าคนรุ่นเก่า สาว (เหลือ) น้อย หรือหนุ่ม (เหลือ) น้อยทั้งหลายคงเคยได้ยินเพลงนี้มาบ้างล่ะ หากคิดตามเนื้อเพลงคงเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เราที่มักหลงลืมหรือจำบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ ซึ่งมีทั้งที่เป็นความทรงจำที่ดี น่าจดจำ

และความทรงจำที่ไม่ดี ไม่น่าจำ จำแล้วเจ็บปวด เราไม่จำได้ไหม? คำตอบคือ อาจจะเป็นไปได้ โดยใช้ “ยาลบความจำ” มาเป็นตัวช่วย

เวลานี้นักวิจัยซึ่งนำทีมโดย ดร.เมเรล คินด์ท แห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ ได้พัฒนายาขนานหนึ่งที่เชื่อว่าช่วยลบความทรงจำที่เจ็บปวดต่างๆได้ คาดว่าจะเป็นประโยชน์ช่วยรักษาผู้มีอาการผิดปรกติจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจและความทรงจำที่เลวร้ายนั้นยังตามมาหลอกหลอนซ้ำซากได้

ยาที่พัฒนาขึ้นเป็นยากลุ่ม beta-blocker drugs ที่เรียกว่า “beta-adrenergic receptor blockers” นักวิจัยทดลองกับสัตว์แล้วพบว่าสามารถแทรกแซงสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและรื้อฟื้นความทรงจำเหตุการณ์ที่น่ากลัวต่างๆ

นอกจากนี้ยังทดสอบยากับอาสาสมัครชายและหญิงจำนวน 60 คนด้วย โดยใช้วิธีสร้างความทรงจำที่น่ากลัวด้วยการโชว์ภาพแมงมุมขณะที่ช็อตอาสาสมัครด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน เพื่อให้จดจำภาพและความทรงจำที่ไม่ดีระหว่างแมงมุมและความรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า

วันต่อมาจับแยกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้ยาจริงและยาหลอกก่อนให้ดูภาพแมงมุมอีกครั้ง พร้อมบันทึกระดับความกลัวหลังปล่อยเสียงขึ้นแบบฉับพลัน โดยวัดความแรงของการกะพริบตา ซึ่งพบว่ามีปฏิกิริยาโต้ตอบรุนแรงเมื่ออยู่ในอาการกลัว และมีเพียงเล็กน้อยหากไม่กลัว กลุ่มที่ได้รับยามีการตอบสนองต่อการกลัวน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกมาก

หลังจากนั้นนักวิจัยทดสอบการตอบสนองต่อความกลัวอีกครั้งโดยไม่ใช้ยา ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มที่เคยได้รับยามีปฏิกิริยากลัวแมงมุมน้อยลง จากตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าความกลัวถูกลบล้างลงไปได้จริง

ยาขนานใหม่นี้ใช้ได้ผล เพราะขณะที่คนเรารื้อฟื้นความทรงจำที่ไม่น่าจำจะมีการสร้างความจำขึ้นใหม่ในสมอง แต่ยานี้จะทำหน้าที่ไปแทรกแซงกระบวนการนั้นไว้ ทำให้ไม่เกิดความจำขึ้นมาใหม่นั่นเอง

คาดว่ายังต้องศึกษากันอีกหลายปีกว่าคนป่วยเพราะเหตุการณ์ร้ายแรงจะได้ใช้กัน