สงครามจีน-เวียดนาม..ใครสั่งสอนใคร ?

สงครามจีน-เวียดนาม..ใครสั่งสอนใคร ?
ทหารกองทัพประชาชนจีนเตรียมวางพวงมาลาที่สุสานมาลิโบ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรำลึกถึงทหารจีนที่เสียชีวิตใน "สงครามสั่งสอน" เกือบ 30,000 นาย

มีสุสานแห่งหนึ่งที่เมืองมาลิโบ (Malipo) ในมณฑลหยุนหนัน ใกล้กับชายแดนเวียดนาม ที่นั่นฝังร่างและวิญญาณของทหารหาญชาวจีนราว 957 คน ที่เสียชีวิตจากการทำ "สงครามสั่งสอน" เวียดนามในเดือน ก.พ. 2522 และ ตลอดเวลาอีก 10 ปีต่อมา (The Sino–Vietnamese War หรือที่รู้จักกันในนาม The Third Indochina War)

สุสานได้รับการดูแลรักษาอย่างดี แต่ผู้คนทั่วไปจะไม่ค่อยทราบที่มาที่ไปของมัน และ เหตุการณ์เมื่อ 28 ปีก่อน ก็ยังไม่เคยได้รับการอธิบายให้แจ่มชัดว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและเพื่ออะไร ตลอดจนคำถามที่ว่า "ใครสั่งสอนใคร?"

สงครามจีน-เวียดนาม..ใครสั่งสอนใคร ?
อดีตทหารผ่านศึกจาก "สงครามสั่งสอน" เมื่อปี 2522 กลับไปเยี่ยมเยือนสหายศึกที่สุสานแห่งนี้

ตามตัวเลขที่ปรับปรุงใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่ามีทหารจีนเสียชีวิตกว่า 20,000 คน ในสงครามที่กินเวลาแค่ 4 สัปดาห์ ส่วนฝ่ายเวียดนามเสียหายมากกว่านั้น สงครามเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.พ. เป็นเวลา 1 เดือนเศษหลังจากกองทัพมหึมาของเวียดนาม ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต พี่เบิ้มใหญ่ในอดีต ยาตราข้ามพรมแดนเข้าสู่กัมพูชาในปลายเดือน ธ.ค.2521 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงของนายพลพต (Pol Pot) ที่จีนหนุนหลัง

สงครามจีน-เวียดนาม..ใครสั่งสอนใคร ?
นี่ก็เป็นอดีตนักรบอีกคนที่ไปเยี่ยมสุสานเพื่อรำลึกถึงผองเพื่อนผู้จากไป มีคนไม่มากไปที่นั่น

เวียดนามยึดกรุงพนมเปญได้เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2522 ผลักดันให้คอมมิวนิสต์เขมรแดงสายจีน กลับเข้าสู่เขตฐานที่มั่นเดิมในเขตป่าเขา ต่อสู้กับ “ผู้รุกราน” ต่อมาอีกกว่า 1 ทศวรรษ ด้วยการสนับสนุนอย่างรอบด้านจากจีน ทหารจีนหลายกองพลพร้อมยานเกราะได้ยาตราข้ามพรมแดนเข้าไปเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรในดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่เบาบางทางภาคเหนือเวียดนาม แต่ท่ามกลางการต่อต้านอย่างเหนียวแน่นของนักรบเวียดนามที่เชี่ยวชาญในยุทธภูมิมากกว่า

สงครามจีน-เวียดนาม..ใครสั่งสอนใคร ?

นั่นคือเหตุการณที่เกิดขึ้นหลังจากเวียดนามได้ชัยชนะเหนือกองทัพสหรัฐอเมริกากับพันธมิตร และเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนได้ในวันที่30 เม.ย.2518


สงครามจีน-เวียดนาม..ใครสั่งสอนใคร ?
หลุมศพหลุมหนึ่งในสุสานที่ค่อนข้างลับตาคน และ ทุกคนที่เกี่ยวข้องอยากจะลืมอดีต

สุสานมาลิโบตั้งอยู่บนเนินที่ลับตาผู้คน อยู่ห่างจากชายแดนจีน-เวียดนาม 43 กิโลเมตร เป็นอนุสรณ์ของการศึกที่ทั้งเวียดนามและจีนตั้งใจจะลืมเลือน หลายปีที่ผ่านมาสองประเทศคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้านแทบจะไม่ปริปากพูดถึงเรื่องนี้ และ ทุกอย่างเงียบหายไปเลย หลังจากสองฝ่ายได้ปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันจนถึงระดับปกติเมื่อปี 2542

สุสานได้รับการดูแลเอาไว้อย่างดี ไม่ได้รกร้างว่างเปล่า แต่ก็มีผู้คนไปที่นั่นน้อยมาก ราวกับว่าประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นได้ถูกลืมเลือนไป ไม่มีคำอธิบายจากพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่มีการเขียนไว้ในตำราเรียน สาธารณชนจำนวนไม่น้อยไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไปว่า มีสงครามนี้เกิดขึ้น

นายหลิ่วหมิงปัง (Liu Mingpang) วัย 54 ปี ไปที่สุสานมาลิโปเพื่อคารวะดวงวิญญาณของสหายศึก เขาเป็นชาวเสฉวน ไปที่นั่นเพียงครั้งที่ 2 ในรอบเกือบ 30 ปี และ ก็เช่นเดียวกันกับทุกคน คือ ไม่อยากจะพูดถึงสงครามอีก หลายเสียงบอกว่า "สงครามสั่งสอน" เป็นสิ่งที่น่าละอายสำหรับฝ่ายจีน เพียงแค่ 1 เดือนมีทหารเสียชีวิตมากมายขนาดนั้น และสำหรับเวียดนาม นักประวัติศาสตร์มองว่าการเกิดสงครามระหว่างคอมมิวนิสต์ที่มีรั้วบ้านติดกัน มันเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงทางประวัติศาสตร์

"สงครามสั่งสอน" ไม่ได้พิสูจน์อะไร ไม่มีใครได้รับประโยชน์ และ มีแต่ความเสียหายใหญ่หลวง

หลังเปิดการรุกใหญ่ในภาคสนาม จีนได้ตั้งหลักใหม่ หันมากดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อให้เวียดนาม "หลั่งเลือดสีขาว" แทน เลือดสีแดงเข้ม แต่กว่าจะถึงจุดนั้นก็ต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 ปี เวียดนามยอมถอนทหารชุดสุดท้ายจากกัมพูชาในเดือน ต.ค.2532 และ ในอีก 2 ปีต่อมาสหภาพโซเวียตถึงกาลล่มสลาย

"มันจบแล้ว มันเป็นอะไรสักอย่างในอดีตและไม่มีความจำเป็นต้องรบกันอีกแล้ว" นายหลิ่วกล่าวกับเอเอฟพี ด้วยแววตาที่เต็มไปด้วยความรู้สึก

สงครามจีน-เวียดนาม..ใครสั่งสอนใคร ?
โลกคอมมิวนิสต์ขัดแย้งกันเอง ?

ชายคนนี้ยังกล่าวอีกว่าจีนในยุคโน้นเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายและยุ่งเหยิง มีสิ่งเลวร้ายหลายอย่างเกิดขึ้น มันเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากจริงๆ อย่างไรก็ตาม นายหลิ่วก็เหมือนกับสหายศึกที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนรอยากจะลืมสงครามสั่งสอน แต่ก็ยังถูกอดีตตามหลอกตามหลอน

นายหลิ่ว อานหลิน (Liu Anlin) ซึ่งเคยประจำการตามแนวพรมแดนจีน-เวียดนาม เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ยิ่งไม่มีอะไรจะพูดมากเกี่ยวกับเรื่องนี้

"มันไม่ควรจะมีอยู่ที่นี่ด้วยซ้ำไป" นายอานหลินชี้มือไปยังสุสานมาลิโบ

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า การศึกครั้งนั้นได้เปิดเผยให้เห็นจุดอ่อนของจีนหลายอย่าง ตั้งแต่ความอ่อนด้อยทางยุทธวิธี อาวุธที่ล้าสมัย กับ ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการสื่อสารในสงครามยุคใหม่

ตัวเลขที่ได้รับการเปิดเผยเมื่อจีนกับเวียดนาม ร่วมกันเซ็นสัญญาปักปันเขตแดนในอีก 2 ทศวรรษถัดมาก็คือ ฝ่ายจีนมีทหารเสียชีวิต 26,000 คนในสงครามสั่งสอน และ เวียดนามที่เป็นฝ่ายถูกสั่งสอน มีทหารเสียชีวิตถึง 37,000 คน


ที่สุสานมาลิโบไม่ได้เปิดเผยอะไร และ ไม่ได้บอกอะไรมากมายเกี่ยวกับศึกครั้งนั้น จารึกที่สุสานมีข้อความแต่เพียงว่า "สงครามที่จบลงด้วยชัยชนะดำเนินไปอย่างเป็นแบบแผนที่ปฏิวัติ แสดงออกซึ่งความรักชาติและความอาจหาญของกองทัพพวกเรา"
"ชัยชนะนี้เป็นผลลัพธ์จากการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของรัฐบาลกลาง เป็นผลพวงจากการสนับสนุนของประชาชน และ เป็นผลจากการต่อสู้นองเลือดของทหารหาญ"

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ความจริงแล้วศึกนี้เป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางด้านความคิดและอุดมการณ์ ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตต่างหาก แต่เมื่อตอนที่จีนประกาศ "สงครามสั่งสอน" เวียดนามนั้น กลับไม่ได้แถลงถึงเหตุผลที่แท้จริงแม้แต่น้อย

สงครามจีน-เวียดนาม..ใครสั่งสอนใคร ?
ที่ตั้งทหารจีนที่เมือง Lang shan,1979

ทางการจีนให้เหตุผลเกี่ยวกับการทำสงครามว่า เป็นเพราะเวียดนามปฏิบัติต่อชาวจีนเชื้อสายเวียดนามอย่างไม่ยุติธรรม และ ปัญหาการรุกล้ำพรมแดนที่หมู่เกาะสแปร็ตลียส์ (Spratlys) ในทะเลจีนใต้ ซึ่งถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

การรุกใหญ่ในสงครามสั่งสอนสิ้นสุดลงในเวลาเพียง 1 เดือน แต่การศึกยังไม่ยุติ จีนยังคงยิงถล่มที่ตั้งทางทหารเวียดนามตามแนวพรมแดนต่อมาอีกเป็นระยะๆ และ ส่งทหารลุยข้ามพรมแดนเข้าไปในอีกหลายพื้นที่ ตลอดช่วง 10 ปีหลังจากนั้น

นายสูเคอะ (Xu Ke) อดีตทหารราบที่เคยรบในยุทธภูมิเล่าซาน (Laoshan) เมื่อปี 2527 กล่าวว่า เหตุผลของจีนในการรุกเข้าไปในเวียดนามครั้งนั้นชัดเจนมา คือ ฝ่ายจีนต้องการแสดงให้เวียดนามตระหนักว่า จีนไม่พอใจที่เวียดนามไปฝักใฝ่โซเวียตจนลืมว่า จีนนั้นได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือเวียดนามอย่างมากมาย ในการทำสงครามกับสหรัฐฯ

สงครามจีน-เวียดนาม..ใครสั่งสอนใคร ?
ใครสั่งสอนใครกันแน่ ?

นายเคอะเขียนบันทึกเล่มหนึ่งชื่อว่า "The Last War" บอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองในสงครามสั่งสอน และ เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้

"หนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับสงครามถูกเก็บยึดไปเกือบหมด" นายเคอะกล่าว พร้อมทั้งอธิบายว่าทางการจีนไม่ประสงค์ที่จะให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกต่อไป และ อยากจะให้ทุกคนลืมมันเสีย

สิ่งที่ นายเคอะบันทึกเอาไว้ก็คือ หลังกองทัพจีนเปิดการรุกวันที่ 15 ก.พ.2522 ต่อมาอีกเพียง 4 สัปดาห์ ก็ได้ตัดสินใจถอนทหารข้ามพรมแดนกลับออกไป พร้อมอ้างชัยชนะทั้งๆ ที่การต่อสู้ตามแนวพรมแดนยังคงดำเนินต่อมาอีกหลายปี

นักวิชาการประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นพ้องกันเป็นสียงส่วนใหญ่ว่า สงครามสั่งสอนได้เปิดเผยให้เห็นการเตรียมรบที่ไม่ดีพอของฝ่ายจีนในการประมือกับเวียดนาม ที่มีความช่ำชองมากกว่า นายเคอะกล่าวว่า จีนยังคงเปิดยุทธการรุกรบเข้าไปในดินแดนเวียดนามอีกเป็นเวลา 5 เดือนในปี 2527 สองฝ่ายมีการเคลื่อนไหวคึกคัก แต่ก็ไม่ค่อยมีการศึกที่ใหญ่โตแบบเอาชัยชนะขั้นเด็ดขาด

"กองทัพเวียดนามเข้มแข็ง ไม่ได้ง่ายที่จะเอาชนะ พวกเขาต่อสู้ทำศึกต่อเนื่องมานานนับสิบๆ ปี และ มีประสบการณ์" นายเคอะกล่าว.


credit www.artsmen.net