เข้าใจผิดว่าฤดูร้อนโลกใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด



เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่ว่า
ฤดูร้อนโลกจะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด





เข้าใจผิดว่าฤดูร้อนโลกใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด




ผิด ! เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมากที่สุด คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า

ฤดูร้อนเกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และฤดูหนาว
มีอากาศหนาวเกิดจากการที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ จริงอยู่ที่ว่า
โลกเรานั้นมีบางช่วงที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และบางช่วงที่ถอยห่างจากดวงอาทิตย์

เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีเช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ
แต่วงรีนี้เป็นวงรีที่มีความรีน้อยมาก หรือกล่าวได้ว่าเกือบจะเป็นวงกลม

ดังนั้นระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ของสองช่วงนี้จึงแตกต่างกันน้อยมาก
ซึ่งแทบจะไม่มีผลต่ออุณหภูมิเลย ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า ในฤดูหนาวโลกกลับ
อยู่ใกล้จากดวงอาทิตย์มากกว่าในฤดูร้อนเสียอีก แปลกไหมล่ะ?

แกนเอียงของโลกทำให้พื้นที่ในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ได้รับ
ปริมาณแสงแดดไม่เท่ากัน กลไกสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาลที่แท้จริงคือ
ความเอียงของโลก โลกมีแกนเอียง 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบ
ของระบบสุริยะ ดังนั้นจึงมีบางช่วงที่โลกหันซีกโลกเหนือเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์

ส่วนซีกโลกใต้ก็หันเอียงออกจากดวงอาทิตย์ ช่วงนี้เองที่เป็นฤดูร้อนของ
ซีกโลกเหนือ เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์ส่องพื้นผิวโลกในส่วนที่เป็น
ซีกโลกเหนือในปริมาณมากกว่า มุมที่แสงแดดตกกระทบพื้นดินก็เป็น
มุมมากกว่า และกลางวันก็ยาวกว่ากลางคืน ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย
โลกจะหันประเทศไทยเข้าหาดวงอาทิตย์โดยตรงในช่วงเดือน- มีนาคม
จนถึงพฤษภาคม

ในขณะที่ทางประเทศออสเตรเลียเป็นช่วงฤดูหนาว เนื่องจากแสงแดดตก
กระทบพื้นดินเป็นปริมาณน้อยกว่า และมีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่า
เวลากลางคืน เมื่อย่างเข้าช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
โลกจะหันด้านใต้เข้าหาดวงอาทิตย์แทน ฤดูกาลก็จะสลับกัน
ช่วงที่เป็นฤดูร้อนของทางซีกโลกใต้ก็จะเป็นฤดูหนาวของทางซีกโลกเหนือ





เข้าใจผิดว่าฤดูร้อนโลกใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด