ปัจจุบันเราได้ยินคำว่า "ฟันธง" กันอยู่บ่อยครั้ง เช่นในประโยค "การชกมวยนัดนี้ ฟันธงลงไปได้เลยว่าฝ่ายแดงจะต้องเป็นฝ่ายชนะ" หรือแม้แต่หมอดูชื่อดังท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านการทำนายทายทัก ก็ยังได้รับการขนานนามว่า "โหรฟันธง" ท่านผู้อ่านเคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าครับว่า "ฟันธง" นั้นมีความหมายว่าอะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร

คำว่า "ฟันธง" นี้ไม่มีบันทึกอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ในพจนานุกรมฉบับนอกราชบัณฑิตฯ โดยสำนักพจนานุกรมมติชน ได้ระบุความหมายของ "ฟันธง" ไว้ว่า ตัดสินลงไปอย่างเด็ดขาด แต่ไม่ได้อธิบายถึงที่มาของคำอย่างละเอียด ผมจึงได้ค้นคว้าเพิ่มเติมจนได้คำตอบที่น่าจะเป็นที่มาของคำว่า "ฟันธง" จากคอลัมน์ ๑๐๘ ซองคำถาม ของนิตยสารสารคดี (www.sarakadee.com ) ดังนี้

คำว่า "ฟัน" หมายถึงเอาของมีคมฟาดลงไป หรือทำอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น ส่วน "ธง" หมายถึงอุปกรณ์ซึ่งใช้เป็นอาณัติสัญญาณ หรือแสดงสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังหมายถึง แนวคำตอบสำหรับข้อสอบได้ด้วย โดยในวงการนิติศาสตร์ เวลาตอบข้อสอบหรือตัดสินคดีความ "ธง" คือประเด็นใหญ่ หลักใหญ่ หรือตัวบทมาตราข้อกฎหมายหลัก ที่นำมาปรับใช้กับกรณีนั้นหรือโจทย์ข้อสอบนั้น

การให้คะแนนของอาจารย์จะแบ่งเป็นส่วนๆ โดยส่วนแรกคือการอ้างมาตรากฎหมายจะต้องถูกต้องเสียก่อน เรียกว่า "ธงถูก" หรือ "ฟันธงถูก" ก็จะได้คะแนนไปเกินครึ่ง แต่จะได้มากได้น้อยแค่ไหนต้องตามไปดูอรรถาธิบายขั้นต่อๆ ไป ดังนั้นการตอบ "ฟันธง" ก็คือ สรุปให้ชัดเจนก่อน ณ เบื้องต้นว่าหลักการคืออะไร จากนั้นจึงค่อยๆ สาธยายเหตุผล

นอกจากนี้ยังมีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่อาจเป็นที่มาของคำว่า "ฟันธง" คือมาจากภาษาอังกฤษ flag down ที่หมายถึงการโบกธงในกีฬาแข่งรถ ใช้เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าถึงเส้นชัยแล้ว ดังนั้นการ "ฟันธง" จึงหมายการตัดสินผลลัพท์ของการแข่งขันต่างๆ

และปัจจุบันก็ใช้ครอบคลุมไปถึงเรื่องทั่วๆ ไปด้วย โปรดสังเกตว่าการ "ฟันธง" ไม่ใช่การเอาของมีคมมาฟันธงให้ขาดอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่หมายถึงการโบกธงลงมาในลักษณะการให้สัญญาณครับ