หน้าที่ 2 จากทั้งหมด 2 หน้า หน้าแรกหน้าแรก 12
กำลังแสดงผล 11 ถึง 14 จากทั้งหมด 14

หัวข้อ: หนึ่งเดือนในป่าพง

  1. #11
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    กลับถิ่นเดิมชั่วคราว

    วันนั้นตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าได้รับเมตตาเป็นพิเศษจากหลวงพ่อ ท่านอนุญาตให้กลับไปวัดเดิมอีก เพื่อปรับปรุงการศึกษาให้เข้ารูปเข้ารอยดีเสียก่อน ใช้เวลา ๒ เดือนแล้วจึงจะกลับมา ข้าพเจ้าได้กราบลาท่านกลับไปวัดเดิม และก็ได้เริ่มเปิดการเรียนการสอน ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ สำนักเรียนที่ข้าพเจ้าทำการสอนจะเปิดเรียนก่อนสำนักอื่นๆ ส่วนสำนักอื่นๆ ท่านจะเปิดเรียนหลังวันวิสาขะแล้ว
    เมื่อข้าพเจ้ากลับมาทำการสอนความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น ข้าพเจ้าจะใช้บริขารที่หลวงพ่อเปลี่ยนให้ คนอื่นมองเห็นมีสีผ้าสะดุดตา เพราะแปลกกว่าภิกษุสามเณรในวัดใช้กันอยู่ ข้าพเจ้าจะฉันครั้งเดียว ไม่ฉันเพล คิดสงสารโยมยาย (ยายทา) ที่ชรามากแล้ว ท่านนำปิ่นโตมาส่ง โยมยายรู้สึกว่าท่านรักและห่วงข้าพเจ้ามากอยู่ ท่านจะถามบ่อยๆ ว่า ทำไมไม่ฉันเพล ไม่หิวหรือ? จึงพูดปลอบท่านว่า ไม่เป็นไรหรอกโยมยาย อาตมาฉันให้อิ่ม ฉันให้พอ ฉันครั้งเดียวก็เหมือนฉันสองครั้งนั่นแหละ อย่าได้เป็นห่วงอาตมาเลย...
    สังเกตดูท่านมีอะไรในใจอยากจะถามเรา แต่ท่านไม่กล้าถาม คุณโยมยายเคยปรารภกับข้าพเจ้านานแล้วว่า “เมื่อยังเล็กเลี้ยงยาก เกิดมาใหม่ๆ (เกิดเวลาพระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตเวลาประมาณ ๖ โมงเช้าเศษ) ร้องไห้รบกวนเขาตั้ง ๗ วัน ค่ำมาก็ร้องจนสว่าง ได้เวลาพระออกบิณฑบาตก็หยุด กลางวันนอนตลอดวัน ต้องปลุกขึ้นให้กินนม เกือบจะเอาไปทิ้งแล้วล่ะ...” ข้าพเจ้าได้แต่รำพึงว่า “แหม เรานี่เกินไปเสียแล้ว รบกวนท่านผู้มีพระคุณตั้งเจ็ดคืนเจ็ดวัน เดชะบุญท่านมีพระเมตตา พระกรุณาท่านจึงอุตส่าห์เลี้ยงเอาไว้ มิฉะนั้นแล้วมีหวังเป็นปุ๋ยของต้นไม้ไปแล้ว คิดอีกทีหรือจะเป็นนิมิตบอกให้เรารู้ว่า วันทั้งเจ็ดไม่มีวันไหนเลยที่จะมีความสนุกสนานพอจะหลงมัวเมา ล้วนแต่เป็นวันที่ต้องทนทุกข์ได้ยากไม่แน่นนอน จำเป็นที่จะต้องหาทางผ่อนทุกข์บรรเทาทุกข์ จนกว่าจะดับทุกข์ได้ดอกกระมัง”
    นิมิตเสียง...เย็นวันหนึ่งเวลาประมาณ ๕ โมงเย็นเศษๆ เมื่อพักจากการสอนประจำวัน ขณะที่นั่งพักผ่อนอยู่ที่กุฏิ เกิดความคิดถึงหลวงพ่อชา คิดถึงเพื่อนบรรพชิตที่เคยร่วมปฏิบัติ คิดถึงลานวัดอันสะอาดราบเรียบภายใต้เงาไม้อันหนาครึ้ม คิดถึงเสียงไก่ป่าขันเจื้อยแจ้วยามดึกสงัดช่างวิเวกวังเวงดียิ่งนัก เมื่อไรหนอเราจะได้กลับไปอีก เห็นจะต้องอดใจรอไปจนถึงวันนั้น
    ข้าพเจ้าคิดว่า ถ้าได้ไปอยู่จำพรรษากับท่าน ก็ตั้งใจจะอยู่ร่วมกับท่านสัก ๕ พรรษา ตามพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ อีกสักครู่ต่อมาข้าพเจ้าได้ยินเสียงจากส่วนลึกของจิต มิใช่ได้ยินทางหู บอกข้าพเจ้าว่า... “จะอยู่กับหลวงพ่อได้เพียง ๒ พรรษา...” ข้าพเจ้ารีบสะบัดหน้าและตอบไปทางจิตว่า “ต้อง ๕ พรรษา” แต่เสียงนั้นกลับยืนยันว่า “ ๒ พรรษาเท่านั้น...” แล้วเสียงนั้นก็เลือนหายไป
    ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้า อยากจะกลับไปอยู่วัดหนองป่าพงอีก แต่อยู่ในระยะที่ต้องทำงานเพื่อพระศาสนา สักระยะหนึ่งก่อน เพราะข้าพเจ้าต้องการจากไปชนิดที่ตัดบัวให้เหลือใย...จึงยังไม่เปิดเผยให้ใครทราบ คิดว่าเมื่อก่อนวันจะจากไปสัก ๒-๓ วัน จึงจะแจ้งให้ท่านเจ้าอาวาส พระเณรและญาติโยมทราบ จึงจะไม่เกิดความขลุกขลักวุ่นวาย เกิดพระเณรย้ายหนีไปหมด สำนักเรียนก็จะร้างเร็วเกินไป จะปล่อยให้ค่อยเป็นค่อยไปจะเหมาะกว่า ถึงแม้พระภิกษุสามเณรในวัดพร้อมทั้งญาติโยมเกิดความสงสัย แต่ไม่มีใครกล้าถาม ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมบอก เพราะยังไม่ถึงเวลานั้น...
    ต่อมาก็มีคนกล้าถามจนได้... วันหนึ่งคุณปลัดธงชัย กุลราช คงไปทราบข่าวมาจากที่อื่น จึงขึ้นไปพบข้าพเจ้าที่กุฏิ พูดคุยกันพอสมควรจึงถามว่า “ผมได้ทราบว่า ท่านอาจารย์จะไปจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง เป็นความจริงไหม?” ข้าพเจ้า “ก่อนจะพูดอะไรให้ฟัง ขอสัญญาก่อนว่า ได้ทราบแล้วจะต้องปิดเป็นความลับห้ามเปิดเผย จนกว่าจะถึงวันนั้น...” เมื่อท่านปลัดรับปาก และถามข้าพเจ้าต่อไปว่า “ทำไมถึงจะทอดทิ้งลูกศิษย์ ทิ้งวัด ทิ้งญาติโยมไป ไม่เมตตาสงสารเขาหรือ? ผมนึกว่าได้ไปศึกษามาแล้ว จะเอามาโปรดพระเณรและญาติโยมทางบ้านเรา...” ข้าพเจ้าจึงพูดว่า “เรื่องจะไปนั้นเป็นความจริง แต่จะไปเมื่อปรับปรุงการศึกษาเข้ารูปเข้ารอยแล้ว บางชั้นอาตมาจะต้องสอนให้จบก่อนเดินทางไป นอกนั้นก็จะมอบให้ครูผู้เป็นศิษย์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เรื่องเมตตาสงสารนั้นมีมาก ยังรัก เคารพ นับถือกับทุกๆท่านที่คุ้นเคยช่วยเหลือ แต่อาตมามีความพิการอยู่ เป็นความพิการทางด้านคุณธรรม ด้านปริยัติธรรมนั้นได้ศึกษามา และได้มาทำประโยชน์พอสมควรแล้ว แต่ด้านปฏิบัติธรรมพิการมานานแล้ว ถ้าไม่แสวงหา ไม่ปรับปรุงแก้ไข ชีวิตทั้งหมดที่มีมา ก็จะหมดโอกาส คนพิการนั้นจะเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำที่ดีนั้นยากมิใช่หรือ? คราวก่อนที่ไปศึกษาเพียง ๑ เดือนนั้น ถ้าเป็นอาหารก็เป็นเพียงไปชิมดูเท่านั้น ยังไม่ได้รับประทานจนอิ่ม เมื่อรู้ว่าอาหารมีรสถูกปากถูกใจ ก็ใคร่จะเข้าไปรับประทานพอสมควรแก่ความต้องการ สถานที่ไปอยู่ก็ไม่ไกลเกินไป มีอะไรก็พอมีโอกาสไปมาหาสู่กันได้สะดวก ไม่ยากลำบากเกินไป...” เกือบขอยืมคำพูดหลวงพ่อที่ว่า “โยมน่ะ เขากลัวแต่วัดเขาจะร้าง เขาไม่กลัวว่าเราจะร้างหรอก...” จากกลัวว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนทางจิตใจก็เลยไม่พูด...สำหรับข้าพเจ้านั้น คำพูดประโยคนั้นยังก้องอยู่ในส่วนลึกของจิตเสมอ...เมื่อสนทนากันพอสมควรแล้วท่านปลัดก็ลากลับ...

  2. #12
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    พระองค์โสม กราบนมัสการหลวงพ่อ
    กลับถิ่นเดิมชั่วคราว
    การจากไปของบุคคลที่เรารัก เคารพนับถือ หรือสิ่งของที่เราหวงแหนมีอันสลายหายไป ย่อมนำความทุกข์ใจมาสู่หมู่มนุษย์ธรรมดาอย่าเราๆ ท่านๆ แต่การจากไปของผู้ที่เราเกลียดชังหรือสิ่งของที่เราไม่ชอบไม่อยากมี มันหายไปกลับทำให้เกิดความสบายใจ เบาใจ เพราะว่าคนหรือสิ่งของประเภทนี้ เมื่ออยู่ร่วม อยู่ใกล้ได้พบเห็น มันจะเกิดความหนักใจ ทุกข์ใจ ไม่สบายใจตลอดเวลา
    ดังนั้นการจากไปของคนหรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจหรือทุกข์ใจได้ต่างกันทั้งนี้ทางพระท่านว่า มันขึ้นอยู่กับความสำคัญมั่นหมายของเราเอง เป็นผู้เข้าไปแบก เข้าไปยึดสิ่งเหล่านั้นไว้ เรียกว่า ไม่รู้จักทำใจวางเฉยได้ ดั่งภาษิตอีสานสอนไว้ว่า “หาบช้างซาแมว” มีความหนักเบาไม่เท่ากัน ไม่เกิดความพอดี จะไม่ให้มีความทุกข์ได้อย่างไร? ความทุกข์มันจึงเกิด เกิดที่ไหนเล่า? ก็เกิดที่ใจของเรานี่เอง เราจำเป็นที่จะต้องสร้างพลังใจให้เกิดมีขึ้นตามหลักการวิธีการที่บัณฑิตท่านสอนไว้ เพื่อใจจะได้มีพลังสามารถที่จะมีภูมิต้านทาน รับและปล่อยวางสิ่งที่มาสัมผัส(อารมณ์) ได้ ความสงบสุขย่อมเกิดมีแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เรียกว่าเป็นผู้มีภูมิต้านทานสูง ย่อมอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข
    สมัยนี้โรคทางกายที่ถือว่าร้ายแรง เป็นโรคที่เรากลัวกันนักหนา ก็คือโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ (โรคเอดส์) มันเข้าสู่ร่างกายทำงาน ๓ ระยะ ระยะแรกเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเก็บตัวเงียบอยู่ ทำเป็นเหมือนจะไม่มีภยันตรายอะไร ระยะที่สองจะกระจายออกไปและทำการแหย่ๆ ทดลองหรือลองเชิงดู แต่พอระยะที่สามมันจะปลุกระดมเล่นงานอย่างโจ่งแจ้ง จนทำให้มนุษย์ขาดภูมิต้านทานและโรคแทรกซ้อนก็แห่กันมารุม...นี่เป็นโรคทางกาย
    มนุษย์ทั้งหลายพากันกลัวแต่โรคเอดส์ทางกาย ส่วนโรคเอดส์ทางจิต ทั้งๆ ที่มีความร้ายแรงพอๆกัน หรืออาจจะมากกว่าก็ได้ คือ โรคตัณหาอุปาทาน มันเข้าสู่จิตใจและทำปฏิกิริยาต่อจิตเป็นพิษเป็นภัยต่อจิตใจเป็น ๓ ระยะเช่นกัน โรคทางกายทำอันตรายได้ชาตินี้เท่านั้น แต่โรคทางจิตมันเป็นอันตรายได้มากและกว้างขวางชนิดที่ข้ามภพข้ามชาติได้ด้วย ถ้าเราคิดป้องกันโรคทางกาย ก็ควรคิดและหาวิธีป้องกันโรคทางจิตใจไว้ด้วย ก็จะเป็นการดีมาก
    อีก ๓ วัน ก่อนจะออกเดินทางสู่วัดหนองป่าพง ข้าพเจ้าจึงไปทำวัตร ขอขมาต่อหลวงพ่อพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ วัดหนองหลัก ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นบิดาผู้ให้กำเนิดทางศาสนา ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ก้าวเข้าสู่ร่มเงาแห่งกาสาวพัสตร์ครั้งแรก เป็นสามเณรน้อยๆ (พ.ศ.๒๔๘๗) หลวงพ่อพระครูฯ เป็นผู้มีพรหมวารธรรมอย่างพร้อมมูล ท่านได้สนับสนุนส่งไปศึกษาหาความรู้อยู่ที่เมืองหลวง จนได้กลับมาถิ่นกำเนิด ท่านสนับสนุนให้จัดตั้งสำนักเรียนขึ้น (ปี พ.ศ.๒๕๐๐) เพื่อทำประโยชน์แก่พระศาสนาต่อมาท่านให้กำลังใจให้ข้อคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนกระทั่งสำนักเรียนปริยัติธรรมที่ข้าพเจ้าเป็นครูสอนเจริญมาได้ ๑๒ ปีแล้ว เมื่อข้าพเจ้าถวายเครื่องสักการะและกราบเรียนให้ท่านทราบ เรียนความมุ่งหมายจุดประสงค์จนเป็นที่ทราบดีแล้ว ท่านก็อนุโมทนาท่านปรารภว่า “ความจริงแล้วเรื่องการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องที่ควรสนใจใฝ่หา สำหรับผมนั้นเสียดาย เวลายังมีอยู่น้อยมาก ถ้าผมอยู่ในวัยอย่างมหา ผมก็ต้องทำอย่างนั้น...ถ้าหากท่านไปแล้วได้พบเห็นอะไรมีเวลาก็มาเล่าให้ฟังบ้างนะ...”
    เมื่อกลับจากทำวัตรลาหลวงพ่อพระครูฯ พระอุปัชฌาย์ เย็นวันนั้น ข้าพเจ้าจึงเข้าเรียนปรึกษาแจ้งความประสงค์ให้ท่านเจ้าอาวาส (พระอธิกาจำปา) ทราบเรื่อง พอท่านได้ทราบถึงกับนิ่งอึ้ง...นั่งนิ่งอยู่ตั้งนาน ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกอึดอัดใจเต็มทน ชำเลืองดูหน้าท่านเจ้าอาวาสเปลี่ยนสี...คงได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกเห็นใจท่านมาก จึงได้พูดปลอบใจชี้แจงเหตุผลต่างๆ นานาจนท่านคลายลงบ้าง แต่ก็ยังเห็นน้ำใสๆ ยังมีคลอหน่วยตาอยู่...โอ...ท่านผู้ร่วมสร้างบารมี...
    ค่ำคืนนั้น ข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้คณะครูที่ร่วมสอน ตลอดทั้งพระเณรให้ทราบกันทั่วทุกรูป รู้สึกเป็นข่าวที่กระเทือนจิตใจมาก ไม่มีใครพูด เงียบเหมือนวัดร้าง ไม่มีแม้แต่เสียงจามหรือไอ ทุกวันได้ยินเสียงพระเณรท่องหนังสือ เสียงระงมไปทั่วอาราม ดุจเสียงกบเขียดร้องคราฝนตก...ไม่มีแสงตะเกียงวับๆ แวบๆ ตามลานวัดดูช่างเงียบเหลือเกิน...
    วันต่อมาได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบกันทั่วทุกคน และได้มีญาติโยมพูดกันปรึกษากันเป็นหมู่ๆ พากันมาขอความเมตตานิมนต์ให้ข้าพเจ้าอยู่สอนต่อไป แต่ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงให้พระเณรและญาติโยมทราบ ถึงธุระหน้าที่ในทางศาสนาที่จะต้องศึกษาและทำตาม อธิบายคำขอบรรพชาให้เข้าใจในความหมาย อ้างเอาภาษิตที่ว่า “บ่ออกจากบ้านบ่ฮู้ฮ่อมทางเทียว บ่เฮียนวิชาห่อนสิมีความฮู้” หมายความว่า ไม่ยอมออกจากบ้านย่อมไมรู้จักทางเดิน ไม่เล่าเรียนวิทยาการ ย่อมไม่มีความรู้ ความฉลาด และได้ชี้แจงว่าข้าพเจ้ายังขาดอยู่ด้านหนึ่งคือด้านวิปัสสนาธุระ จึงจำเป็นจะต้องแสวงหา เหมือนเคยจากบ้านจากญาติมิตรไปศึกษาต่างถิ่น จึงพอมีความรู้มาช่วยเหลือลูกหลาน คราวนี้ก็เช่นกัน จึงจำเป็นจะต้องไป ทั้งๆที่จิตส่วนหนึ่งก็ไม่อยากจากไป บางทีถ้าหากร่างกายยังไม่ถึงจุดจบ ก็อาจจะได้กลับมาอยู่กับญาติมิตรอีก วัดหนองป่าพงแค่นี้ไม่ไกลอะไรหรอก จึงไม่มีเหตุผลอะไรพอที่จะนำมาคัดค้านให้ข้าพเจ้าเลิกล้มความตั้งใจได้ ข้าพเจ้าไม่กล้ามองหน้าพระเณรและญาติโยม ที่เคยรักเคารพนับถือกันมาเป็นเวลานานปี เพียงชำเลืองดูก็เห็นความเศร้าบนใบหน้า บางท่านเห็นน้ำตาคลอหน่วย...ถ้ารวมความคิดของท่านเหล่านั้น คงจะเปล่งออกมาว่า
    แม้นมีสิ่ง ผูกพันธ์ อันเหนียวมั่น
    อยากร่วมกัน ผูกไว้ ให้ท่านอยู่
    จะเคารพ รักเจ้า เฝ้าเอ็นดู
    แต่ไม่รู้ ที่จะ ทำฉันใด...
    ด้วยการตัดสินใจที่ใช้เหตุผล เมื่อ ๒ เดือนก่อนนั้น ที่ยอมรับปากหลวงพ่อชา ท่านยอมเปลี่ยนบริขารให้เมื่อสิ้นเดินห้า อุ้มบาตรเวลาออกภิกขาจาร ดูนาฬิกาเวลาสอน มองดูบริขารที่นุ่งห่ม ทำให้นึกถึงคำพูดของท่าน เตือนตนเองเสมอว่า “ญาติโยมเขากลัวแต่วันเขาจะร้าง เขาไม่กลัวว่าเราจะร้าง...(ร้างจากธรรมปฏิบัติที่เกิดผล) หรอก...” ดังนั้น เหตุผลที่เขาอ้างมากับน้ำตาที่คลอหน่วย จึงมิใช่สิ่งที่จะช่วยรัดรึงให้ข้าพเจ้าอยู่ต่อไป ทั้งๆที่ยังระลึกถึงอุปการคุณเป็นอันมากที่ได้รับ จากท่านเจ้าอาวาสและญาติโยมทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า สักวันหนึ่งถ้าเป็นไปได้ เราอาจจะได้กลับมาอยู่กับท่านผู้มีอุปการคุณเหล่านั้นอีก

  3. #13
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    สู่ป่าพงครั้งที่สอง

    ความเป็นผู้ตรงต่อเวลาและหน้าที่ เมื่อนัดหรือรับปากใครไว้แล้วก็ทำตามนั้นไม่ผิดนัด ไม่ผิดหน้าที่ ย่อมเป็นผู้มีสัจจะ ย่อมเป็นที่รักเคารพ และนับถือของคนทั่วไป เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีความจริงใจและจริงจัง นับได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นการเพิ่มเกียรติและศักดิ์ศรีแก่ตนเอง
    ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๘ ซึ่งเป็นวันที่ได้กำหนดนัดกับหลวงพ่อไว้ หลังจากพระภิกษุสามเณรฉันเพลแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้นำดอกไม้ธูปเทียน ไปกราบพระประธานในโบสถ์ ตั้งจิตอธิษฐาน ขอแผ่ส่วนกุศลในการปฏิบัติธรรมแด่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติมิตร ตลอดทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงมีส่วนบุญ แล้วจึงไปกราบลาท่านเจ้าอาวาสเตรียมออกเดินทาง...
    วันนั้นได้มีพระภิกษุสามเณรและญาติโยมไปส่งประมาณ ๒๐๐ คน ไปถึงวัดหนองป่าพงตอนบ่าย บางพวกตั้งใจไปด้วยความเคารพเลื่อมใส บางพวกก็ไปเพื่อให้หายสงสัยว่าวัดหนองป่าพงมีอะไรดี ทำไมข้าพเจ้าจึงติดใจอยากไปอยู่อีก หลวงพ่อชาท่านมีบุคลิกลักษณะอย่างไร ท่านเทศน์สอนอย่างไร น่าคิดน่านึกพอจะมีประโยชน์แก่ชีวิตบ้างไหม? อยากเห็นสถานที่ๆ ท่านอยู่อาศัยมีสภาพเป็นอย่างไร? ที่ว่าไก่ป่าเป็นอย่างไร? ยังไม่เคยเห็น อยากจะเห็น อยากจะชม ซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์เรา
    หลวงพ่อท่านเอาลานวัดบริเวณหน้ากุฏิของท่านเป็นที่ต้อนรับ (บริเวณด้านทิศเหนือโบสถ์วัดหนองป่าพงใกล้กุฏิหลังเก่าของท่าน) เมื่อพระภิกษุสามเณรและญาติโยมมานั่งพร้อมกันแล้ว ถวายความเคารพท่าน ท่านได้ให้โอวาทเรื่อง “มรรคผลไม่พ้นสมัย” พอจะบันทึกไว้ดังนี้...

  4. #14
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    ***ภาพที่หลวงพ่อชา มอบให้หลวงพ่ออมร ในวันที่มาอยู่ที่วัดป่าบ้านม่วง ***
    มรรคผลไม่พ้นสมัย
    หลวงพ่อชา สุภัทโท
    (คัดจากหนังสือสุภัททานุสรณ์ ๒๕๑๑)
    วันนี้ได้มีพระภิกษุสามเณรและญาติโยมมาส่งมหาอมรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากว่าเราเคยอยู่ด้วยกันมา เคยทำงานร่วมกัน รักใคร่สนิทสนมกัน ย่อมมีความอาลัยคิดถึงกันเป็นธรรมดา การมาอยู่ที่นี่เช่นนี้จะเรียกว่า “จากกัน” ก็เป็นเพียงคำสมมติเท่านั้น ตราบใดที่เรามีความผูกพันธ์กันทางจิตใจ ยังนึกถึงคำสอนทำตามคำแนะนำของท่านอยู่ก็เชื่อได้ว่าโดยธาตุแท้เราไม่มีวันจากกัน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสสอนพระวักกะลิว่า “ดูก่อนวักกะลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต(ตัวจริง) ผู้นั้นชื่อว่าผู้เห็นธรรม ส่วนผู้ที่มัวดูแต่เพียงร่างกาย จับชายจีวรของเราเดินตามไป ชื่อว่าไม่เห็นธรรม คือไม่เห็นเราตถาคต อยู่ห่างไกลเราเหลือเกิน...”
    ดังนั้น การที่มหาอมรได้จากมาอยู่ที่นี้ ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ใจเลย จงอยู่ใกล้ท่านในลักษณะที่เห็นตัวจริง เราจะมีความเบาใจตลอดเวลา จงพากันตั้งหน้าตั้งตาศึกษาเล่าเรียน และทำงานไปด้วยความอดทน ขยันหมั่นเพียร เมื่อมีโอกาสจึงค่อยปลีกตัวออกมาปฏิบัติดูบ้าง จะเป็นการดีมาก
    การอยู่ป่าย่อมทำให้เกิดความสงบ เยือกเย็น สงัดดี ทำให้จิตใจเรามีความวุ่นวายน้อยลง เพราะอยู่กับธรรมชาติ ต้นไม้เถาวัลย์ขึ้นเขียวชอุ่ม จิตใจก็เย็นสบาย เมื่อมองดูต้นไม้เถาวัลย์คดๆงอๆ ที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด ต่างจากคนคดคนงอจะเป็นนักบวชหรือชาวบ้าน ย่อมก่อความยุ่งยากเดือดร้อน เป็นพิษเป็นภัยแก่คนและสถานที่นั้นเสมอ สู้ต้นไม้เถาวัลย์ก็ไม่ได้ มองดูทีไรสบายใจทุกครั้ง แม้จะได้ฟังเสียงร้องของกระแตและไก่ป่า นกต่างๆ จนกระทั่งแมงอี (หรีดหริ่ง) แมงง่วง (เรไร) จักจั่น เป็นต้น มันเคยร้องอย่างไร มันก็ร้องอยู่อย่างนั้น เช่นพวกนกเขา นกเค้า มันก็ร้อง บอกลักษณะของนกเขา นกเค้า อยู่ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการสัปปลับ กลับกลอก หลอกลวงอะไรเลย ถึงเวลาร้องมันก็ร้อง ถึงเวลาหยุดมันก็หยุด สัตว์ต่างๆ จึงมีอะไรหลายๆ อย่างที่ต่างจากคนเรา คนเรานั้นปากพูดไปอย่างหนึ่ง แต่จิตคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ปากพูดกับเราอยู่ดีๆ แต่ใจของเขาอาจจะมุ่งร้างทำลายเราก็เป็นได้ มองดูอาการภายนอกก็น่าคบ แต่ส่วนลึกของใจเขาเรารู้ได้ยาก เพราะเต็มไปด้วยมายา ถ้าเราเผลอตัวเชื่อง่ายเกินไป อาจจะเสียใจภายหลัง จึงต้องระวังสีและเสียงต่างๆ ที่คนปรุงแต่งขึ้น มันเป็นของปลอม เขามุ่งไปในทางยั่วยุให้ลุ่มหลงมัวเมา สำหรับหลอกคนโง่ ให้หลงจมอยู่ต่อไป ล้วนแต่เป็นมายาแทบทั้งสิ้น ซึ่งมีความแตกต่างจากสีของป่าและสียงจากป่ามากทีเดียว เพราะป่านั้นอะไรๆ มันก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเกิดที่ป่า ตรัสรู้ที่ป่า ประกาศธรรมครั้งแรกก็ที่ป่า และปรินิพพานที่ป่า ป่าจึงเป็นดินแดนแห่งความสงบ เรียกว่าได้กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก
    สมัยนี้คนเราชอบคิดและเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้ว มรรคผลพ้นสมัยเสียแล้ว ทำไปปฏิบัติไปก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย ความจริงแล้ว พุทธภาวะคือพระพุทธเจ้าที่เป็นธาตุแท้นั้นตายไม่เป็น ยังอยู่ตลอดเวลา จะปรินิพพานไปเฉพาะท่านผู้บำเพ็ญตนจนเข้าภาวะอันนั้นเท่านั้น ส่วนพระธรรมคำสอนของพระองค์ก็ยังมีอยู่ ย่อมให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติที่ถูกต้องเสมอ (อกาลิโก) ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา คนโง่เท่านั้นที่เข้าใจว่ามรรคผลพ้นสมัยเสียแล้ว แต่คนฉลาดเขาจะไม่พูดไม่เข้าใจอย่างนั้น พูดง่ายๆ ก็เหมือนเราขุดบ่อเพื่อหาน้ำ สมัยพุทธกาลเขาก็ขุดเพื่อต้องการน้ำ โกยดินเจอรากไม้เอารากไม้ออก เจอหินเอาหินออก ขุดได้ที่ดีแล้ว ย่อมได้น้ำ น้ำมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างไปแต่งน้ำอีก แต่งแต่บ่อเพื่อให้พบน้ำเท่านั้น
    สมัยนี้เราก็ขุดดินให้เป็นบ่อ เพื่อได้น้ำเช่นเดียวกัน เมื่อขุดได้ที่ดีแล้วย่อมได้น้ำ โดยไม่ต้องแต่งไม่ต้องเนรมิตอะไรทั้งนั้น คนโง่ที่อวดว่าตนฉลาดเท่านั้น จึงกล้าปฏิเสธว่าในดินไม่มีน้ำ และเขากล้ายืนยันว่าสมัยนี้ขุดบ่อแล้ว ต้องแต่งน้ำ ต้องเนรมิตน้ำอีก ยังมีคนเป็นจำนวนมากที่ยังเข้าใจว่า เมื่อเรายืนอยู่บนพื้นดินมองไม่เห็นน้ำ ต้องปฏิเสธทันทีว่าในพื้นดินไม่มีน้ำ พ้นสมัยเสียแล้วที่จะขุดบ่อ ทั้งๆที่ตนเองก็ได้อาศัยน้ำจากบ่อที่คนอื่นขุดไว้ จึงพอได้ดื่มได้ใช้อยู่ทุกวัน คิดดูแล้วน่าสงสารคนประเภทนี้จริงๆ ซ้ำร้ายยังเที่ยวพูดดูถูกดูหมิ่นคนที่เขากำลังพยายามขุดบ่อหาน้ำเสียอีก จึงขอฝากท่านทั้งหลายไว้พิจารณา
    การศึกษาปริยัติธรรมนั้น เป็นของดีมีประโยชน์ ทำให้มีความรู้ความฉลาดขึ้น รู้ที่ผิด ที่ถูก ที่ควร และไม่ควร ซึ่งถือว่าเป็นบันไดขั้นแรก แต่จะหยุดอยู่เพียงแค่นั้นยังไม่พอ ควรจะสนใจปฏิบัติดูบ้าง บางทีย่อมจะได้รับความรู้ ความฉลาดที่ลึกซึ้งแปลกกว่าที่เคยเรียนมา จึงขอฝากท่านทั้งหลายไว้เป็นข้อคิด หากท่านผู้ใดสนใจการปฏิบัติธรรม ถึงหน้าแล้งว่างจากการเรียนจะมาปฏิบัติก็ขอนิมนต์ได้เลย บัดนี้ได้เวลาพอสมควรแล้ว จึงขอนิมนต์เดินชมวัดวาอาราม ตามสะดวกสบาย...
    มรรคผลพ้นสมัยนั้น ใครขาน
    คนพูดโฉดเขลาพาล แน่แท้
    ธรรมะบ่ล่วงกาล ยังอยู่ เสมอนา
    ปฏิบัติบรรลุแล้ว ย่อมรู้รสธรรม...


    หลวงพ่อชา สุภัทโท
    (คัดจากหนังสือสุภัททานุสรณ์ ๒๕๑๑)
    วันนี้ได้มีพระภิกษุสามเณรและญาติโยมมาส่งมหาอมรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากว่าเราเคยอยู่ด้วยกันมา เคยทำงานร่วมกัน รักใคร่สนิทสนมกัน ย่อมมีความอาลัยคิดถึงกันเป็นธรรมดา การมาอยู่ที่นี่เช่นนี้จะเรียกว่า “จากกัน” ก็เป็นเพียงคำสมมติเท่านั้น ตราบใดที่เรามีความผูกพันธ์กันทางจิตใจ ยังนึกถึงคำสอนทำตามคำแนะนำของท่านอยู่ก็เชื่อได้ว่าโดยธาตุแท้เราไม่มีวันจากกัน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสสอนพระวักกะลิว่า “ดูก่อนวักกะลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต(ตัวจริง) ผู้นั้นชื่อว่าผู้เห็นธรรม ส่วนผู้ที่มัวดูแต่เพียงร่างกาย จับชายจีวรของเราเดินตามไป ชื่อว่าไม่เห็นธรรม คือไม่เห็นเราตถาคต อยู่ห่างไกลเราเหลือเกิน...”
    ดังนั้น การที่มหาอมรได้จากมาอยู่ที่นี้ ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ใจเลย จงอยู่ใกล้ท่านในลักษณะที่เห็นตัวจริง เราจะมีความเบาใจตลอดเวลา จงพากันตั้งหน้าตั้งตาศึกษาเล่าเรียน และทำงานไปด้วยความอดทน ขยันหมั่นเพียร เมื่อมีโอกาสจึงค่อยปลีกตัวออกมาปฏิบัติดูบ้าง จะเป็นการดีมาก
    การอยู่ป่าย่อมทำให้เกิดความสงบ เยือกเย็น สงัดดี ทำให้จิตใจเรามีความวุ่นวายน้อยลง เพราะอยู่กับธรรมชาติ ต้นไม้เถาวัลย์ขึ้นเขียวชอุ่ม จิตใจก็เย็นสบาย เมื่อมองดูต้นไม้เถาวัลย์คดๆงอๆ ที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด ต่างจากคนคดคนงอจะเป็นนักบวชหรือชาวบ้าน ย่อมก่อความยุ่งยากเดือดร้อน เป็นพิษเป็นภัยแก่คนและสถานที่นั้นเสมอ สู้ต้นไม้เถาวัลย์ก็ไม่ได้ มองดูทีไรสบายใจทุกครั้ง แม้จะได้ฟังเสียงร้องของกระแตและไก่ป่า นกต่างๆ จนกระทั่งแมงอี (หรีดหริ่ง) แมงง่วง (เรไร) จักจั่น เป็นต้น มันเคยร้องอย่างไร มันก็ร้องอยู่อย่างนั้น เช่นพวกนกเขา นกเค้า มันก็ร้อง บอกลักษณะของนกเขา นกเค้า อยู่ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการสัปปลับ กลับกลอก หลอกลวงอะไรเลย ถึงเวลาร้องมันก็ร้อง ถึงเวลาหยุดมันก็หยุด สัตว์ต่างๆ จึงมีอะไรหลายๆ อย่างที่ต่างจากคนเรา คนเรานั้นปากพูดไปอย่างหนึ่ง แต่จิตคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ปากพูดกับเราอยู่ดีๆ แต่ใจของเขาอาจจะมุ่งร้างทำลายเราก็เป็นได้ มองดูอาการภายนอกก็น่าคบ แต่ส่วนลึกของใจเขาเรารู้ได้ยาก เพราะเต็มไปด้วยมายา ถ้าเราเผลอตัวเชื่อง่ายเกินไป อาจจะเสียใจภายหลัง จึงต้องระวังสีและเสียงต่างๆ ที่คนปรุงแต่งขึ้น มันเป็นของปลอม เขามุ่งไปในทางยั่วยุให้ลุ่มหลงมัวเมา สำหรับหลอกคนโง่ ให้หลงจมอยู่ต่อไป ล้วนแต่เป็นมายาแทบทั้งสิ้น ซึ่งมีความแตกต่างจากสีของป่าและสียงจากป่ามากทีเดียว เพราะป่านั้นอะไรๆ มันก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเกิดที่ป่า ตรัสรู้ที่ป่า ประกาศธรรมครั้งแรกก็ที่ป่า และปรินิพพานที่ป่า ป่าจึงเป็นดินแดนแห่งความสงบ เรียกว่าได้กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก
    สมัยนี้คนเราชอบคิดและเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้ว มรรคผลพ้นสมัยเสียแล้ว ทำไปปฏิบัติไปก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย ความจริงแล้ว พุทธภาวะคือพระพุทธเจ้าที่เป็นธาตุแท้นั้นตายไม่เป็น ยังอยู่ตลอดเวลา จะปรินิพพานไปเฉพาะท่านผู้บำเพ็ญตนจนเข้าภาวะอันนั้นเท่านั้น ส่วนพระธรรมคำสอนของพระองค์ก็ยังมีอยู่ ย่อมให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติที่ถูกต้องเสมอ (อกาลิโก) ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา คนโง่เท่านั้นที่เข้าใจว่ามรรคผลพ้นสมัยเสียแล้ว แต่คนฉลาดเขาจะไม่พูดไม่เข้าใจอย่างนั้น พูดง่ายๆ ก็เหมือนเราขุดบ่อเพื่อหาน้ำ สมัยพุทธกาลเขาก็ขุดเพื่อต้องการน้ำ โกยดินเจอรากไม้เอารากไม้ออก เจอหินเอาหินออก ขุดได้ที่ดีแล้ว ย่อมได้น้ำ น้ำมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างไปแต่งน้ำอีก แต่งแต่บ่อเพื่อให้พบน้ำเท่านั้น
    สมัยนี้เราก็ขุดดินให้เป็นบ่อ เพื่อได้น้ำเช่นเดียวกัน เมื่อขุดได้ที่ดีแล้วย่อมได้น้ำ โดยไม่ต้องแต่งไม่ต้องเนรมิตอะไรทั้งนั้น คนโง่ที่อวดว่าตนฉลาดเท่านั้น จึงกล้าปฏิเสธว่าในดินไม่มีน้ำ และเขากล้ายืนยันว่าสมัยนี้ขุดบ่อแล้ว ต้องแต่งน้ำ ต้องเนรมิตน้ำอีก ยังมีคนเป็นจำนวนมากที่ยังเข้าใจว่า เมื่อเรายืนอยู่บนพื้นดินมองไม่เห็นน้ำ ต้องปฏิเสธทันทีว่าในพื้นดินไม่มีน้ำ พ้นสมัยเสียแล้วที่จะขุดบ่อ ทั้งๆที่ตนเองก็ได้อาศัยน้ำจากบ่อที่คนอื่นขุดไว้ จึงพอได้ดื่มได้ใช้อยู่ทุกวัน คิดดูแล้วน่าสงสารคนประเภทนี้จริงๆ ซ้ำร้ายยังเที่ยวพูดดูถูกดูหมิ่นคนที่เขากำลังพยายามขุดบ่อหาน้ำเสียอีก จึงขอฝากท่านทั้งหลายไว้พิจารณา
    การศึกษาปริยัติธรรมนั้น เป็นของดีมีประโยชน์ ทำให้มีความรู้ความฉลาดขึ้น รู้ที่ผิด ที่ถูก ที่ควร และไม่ควร ซึ่งถือว่าเป็นบันไดขั้นแรก แต่จะหยุดอยู่เพียงแค่นั้นยังไม่พอ ควรจะสนใจปฏิบัติดูบ้าง บางทีย่อมจะได้รับความรู้ ความฉลาดที่ลึกซึ้งแปลกกว่าที่เคยเรียนมา จึงขอฝากท่านทั้งหลายไว้เป็นข้อคิด หากท่านผู้ใดสนใจการปฏิบัติธรรม ถึงหน้าแล้งว่างจากการเรียนจะมาปฏิบัติก็ขอนิมนต์ได้เลย บัดนี้ได้เวลาพอสมควรแล้ว จึงขอนิมนต์เดินชมวัดวาอาราม ตามสะดวกสบาย...
    มรรคผลพ้นสมัยนั้น ใครขาน
    คนพูดโฉดเขลาพาล แน่แท้
    ธรรมะบ่ล่วงกาล ยังอยู่ เสมอนา
    ปฏิบัติบรรลุแล้ว ย่อมรู้รสธรรม...


    จบแล้วครับ หนึ่งเดือนในป่าพง หวังว่าผู้อ่านคงจะได้ข้อคิดบ้าง ไม่มากก็น้อย ..ขอบคุณครับ

หน้าที่ 2 จากทั้งหมด 2 หน้า หน้าแรกหน้าแรก 12

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •