หนึ่งเดือนในป่าพง
หนึ่งเืดือนในป่าพงนี้ เป็นหนังสือธรรมะที่
หลวงพ่อพระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตฺโต) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
ท่านได้เขียนขึ้น ครั้งเมื่อได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท ขอเชิญท่าน
ผู้สนใจศึกษาธรรมจากประวัติครูบาอาจารย์ เชิญสดับได้แล้วครับ

หนึ่งเดือนในป่าพง
ลิงค์สำหรับโหลดไฟล์หนึ่งเดือนในป่าพง(DOC)
http://www.uploadtoday.com/download/?223778&A=193855
ให้แก้ชื่อไฟล์เป็นหยังกะได้ละเปิดใน Word ครับ

หนึ่งเดือนในป่าพง
หลวงพ่อชาถ่ายภาพกับหลวงพ่ออมร และลูกศิษย์

พระกรรมฐานมีดีอะไร
สมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นครูสอนปริยัติธรรมอยู่ เมื่อพักจากการสอนแล้ว บางวันตอนเย็นๆ ก็นึกถึงพระที่ท่านอยู่ป่า เกิดความสงสัยว่า “พระกรรมฐาน ท่านมีอะไรดีหรือ ทั้งๆ ที่ท่านไม่ค่อยได้ศึกษาปริยัติธรรม ท่านชอบอาศัยอยู่ในป่า ก็ยังมีญาติโยมอุตส่าห์เดินทางไปหาเป็นจำนวนมาก เขาพากันไปด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ท่านคงมีอะไรดีอยู่กระมัง”
ความสงสัยนี้ มันเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ข้าพเจ้ายังหาคำตอบไม่ได้ นับเป็นเวลาหลายปี บางทีความสงสัยชนิดนี้ อาจจะเกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ผู้ยังไม่เคยเข้าไปสัมผัสอีกเป็นจำนวนมาก ท่านมีผู้อ่านหาคำตอบที่ถูกต้องได้แล้วหรือยังเล่า
ดูเหมือนยังมีบรรพชิต ผู้เป็นนักแสดงธรรม ยังพูดแรงไปกว่านั้นอีกว่า “พระกรรมฐานจะมีดีอะไร มัวแต่นั่งหลับตาอยู่ในป่าไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะจะไปรู้อะไร ดูแต่อาตมาสิ...ขนาดเปิดพระไตรปิฎกอ่านอยู่ทุกวันก็ยังลืมเลย...”
ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย กับคำพูดของท่านรูปนั้น มันเป็นการหมิ่นเหม่ต่ออันตราย ดูจะเป็นการประมาทต่อการปฏิบัติธรรมของเหล่าพระอริยสาวกไป ข้าพเจ้าคิดว่า “อาหารใด ที่เรายังไม่ได้ลิ้มชิมรส เราจะไปปฏิเสธว่าอาหารนั้นไม่ดี ไม่มีประโยชน์ เหมือนกับอาหารที่เราได้รับประทานอยู่เป็นประจำ หาเป็นการสมควรไม่...”
บางครั้งเคยนึกถึงคำขอบรรพชา ที่เคยกล่าวต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ ก่อนที่ท่านจะให้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งพอจะแปลได้ว่า “ท่านขอรับ กรุณาบวชให้กระผมด้วย เพื่อกระผมจะได้ทำการสลัดออกจากความทุกข์ทั้งมวล และเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน...” จึงได้ปรารภกับตนเองว่า “เอ...นี่...เราจะเอายังไงดี บวชมาก็หลายปี จะไม่เป็นการโกหกตัวเอง โกหดพระอุปัชฌาย์ไปหรือ...”
ดังนั้นเมื่อถึงหน้าแล้ง ปี พ.ศ.๒๕๑๐ ข้าพเจ้าจึงได้เดินทางไปอบรมวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดปรินายก และวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ รู้สึกว่าได้รับหลักการปฏิบัติ จากครูบาอาจารย์ซึ่งมี หลวงพ่อเจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนี* เป็นประธาน โดยได้รับความเมตตาจากท่านเป็นอย่างดี และก็ได้ตั้งใจไว้ว่า เรามีที่พักผ่อนทางจิตใจในยามว่างจากการสอนแห่งหนึ่งแล้ว หน้าแล้งจะมาปฏิบัติอีก
แต่ก็ยังมีอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเราเคยตั้งใจไว้ว่า จะเข้าไปศึกษาหาประสบการณ์ ที่นั่นคือ วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ไม่ไกลไปมาพอสะดวก ได้ทราบว่าเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในป่า ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามาก เราควรจะเข้าไปทดลองดู
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าจึงออกเดินทาง มุ่งสู่หนองป่าพง ความจริงแล้วข้าพเจ้ายังมิได้ตั้งใจว่าจะไปอยู่ที่นั่นแน่นอน เป็นเพียงจะไปทดลองดูเพราะยังไม่แน่ใจเลยว่าอาหารที่นั่น จะมีรสถูกปากถูกใจเราหรือเปล่า เรายังไม่เคยชิมดู
เมื่อเดินทางมาถึงประตูหน้าวัดเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น พอจะย่างเข้าสู่เขตวัดก็เจอป้ายแผ่นใหญ่ เขียนไว้ว่า แดนเคารพ พุทธศาสนิกชน ทุกเพศ ทุกชั้น เพื่อหายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ และเรียงลำดับเป็นข้อๆ ลงไป จากข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๙ ซึ่งท่านผู้เคยไปเยี่ยมวัดหนองป่าพง คงได้อ่านกันมาแล้ว...เมื่ออ่านป้ายจบแล้ว ก่อนจะก้าวเข้าเขตวัด คิดไว้ว่าพระวัดป่าท่านถือวินัยเคร่ง ท่านไม่รับเงินทอง ไม่เก็บไว้เป็นของส่วนตน เรามีติดย่ามมาด้วย จะทำอย่างไรดี จึงตัดสินใจว่า “เอาไว้ในย่ามไม่เหมาะ เพราะเราใช้ย่ามทุกวัน ไปปะปนกับท่านดูไม่เหมาะ สู้เก็บไว้ในกระเป๋าดีกว่า”
ข้าพเจ้าจึงบอกสามเณรที่ถือกระเป๋ามาส่ง ให้วางการะเป๋าลง แล้วจึงหยิบซองปัจจัย ๔-๕ ซอง ออกจากย่าม ไขกุญแจเปิดกระเป๋าเอาซุกลงไว้ก้นกระเป๋า รูดซิปล็อคกุญแจเรียบร้อยแล้ว เดินเข้าวัดไป ได้รับความแปลกตาแปลกใจ เห็นภายในวัด ลานวัดสะอาด มีร่มไม้ป่าไม้มาก เย็นสบายดี ความรู้สึกบอกว่าเหมือนเราได้เข้ามาสู่แดนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน มองเห็นพระสงฆ์สามเณรหลายรูป กำลังทำกิจวัตร ด้วยอาการสำรวมสังวร ไม่ได้ยินเสียงพูดคุยกัน ทุกรูปทรงผ้าสีแก่นขนุน ดูช่างเข้ากับธรรมชาติเหลือเกิน
ข้าพเจ้าเดินเข้าสู่ศาลาโรงธรรม ให้สามเณรวางกระเป๋าไว้บนเตียงด้านขวามือ กราบพระประธาน มองดูพระพักตร์พระประธาน คล้ายได้รายงานตัวว่า “กระผมเป็นอาคันตุกะ เพิ่งมาสู่ถิ่นนี้เป็นครั้งแรก ขอแสดงคารวะ พึ่งร่มพุทธธรรม...”
มีภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้ามาในศาลา จึงถามท่านว่า “ท่านอาจารย์อยู่ไหม” ได้รับตอบว่า “ท่านเพิ่งกลับจากกิจนิมนต์ข้างนอก นิมนต์ไปพบท่านที่กุฏิ”
ข้าพเจ้าจึงออกจากศาลา เดินชมต้นไม้ ป่าไม้ไปเรื่อยๆ มองเห็นไก่ป่า ๕-๖ ตัว กำลังคุ้ยเขี่ยกินอาหาร พอมันเห็นข้าพเจ้าเดินผ่านไป ทุกตัวเตรียมพร้อมที่จะบินหนี มันคงคิดว่า “ท่านผู้นี้ไม่ใช่เจ้าถิ่น ดูสีผ้าต่างจากที่เคยเห็น ไว้ใจไม่ได้ อาจจะมีอันตราย”
ข้าพเจ้ามองดูมันพลางเดินพลาง พร้อมกับนึกในใจว่า “หากินไปเถิดเจ้าไก่ป่าเอ๋ย ถึงสีผ้าของข้าจะต่างจากที่เจ้าเคยเห็นก็จริง แต่ข้ามาอย่างมิตร ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่พวกเจ้าหรอก” เพราะเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นไก่ป่า มันมีอยู่เป็นจำนวนมากเสียด้วย มันพากันอยู่กับธรรมชาติ อยู่อย่างอิสระไม่มีพันธะใดๆ อาศัยยอดไม้เป็นเรือนนอน
เมื่อข้าพเจ้าไปถึงใต้ถุนกุฏิหลวงพ่อ เห็นท่านนั่งอยู่ จึงเข้าไปกราบท่าน ท่านจึงถามว่า “เอ...ใคร...มาจากไหน” ท่านคงจำไม่ได้ เพราะเคยพบท่านครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงเรียนให้ท่านทราบ
“อ้อ...ท่านมหารึ มาธุระอะไรล่ะ” ท่านถาม
“กระผมตั้งใจมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ขอรับ” ข้าพเจ้ากราบเรียนท่าน
“มาอยู่กับผมก็ได้...แต่อย่ามีลับลมคมใน” ท่านพูดช้าๆ ฟังเย็นๆ พอได้ฟังคำพูดของท่าน ข้าพเจ้าถึงกับสะดุ้ง มีความรู้สึกหวั่นในใจ เพราะรู้ตัวดีว่า เอาของผิดวินัยเข้ามา แต่ก็ข่มใจ เรียนท่านไปว่า “ขอรับ...ถ้ากระผมทำอะไร บกพร่อง ผิดพลาด นิมนต์ขนาบได้เต็มที่”
“เอาอะไรมาบ้างล่ะ” ท่านถาม
“ไม่ได้เอาบาตรมารึ...” หลวงพ่อถามพร้อมกับมองหน้า
“อ้าว...ทำไมล่ะ เป็นมหา สอนไปสอนมา ทิ้งบาตรแล้วหรือ...”
“กระผมยังไม่ทราบกฎระเบียบของทางนี้ ขอรับ” ข้าพเจ้าตอบ
หลวงพ่อท่านพ่อต่อไปว่า “บาตรเป็นบริขารชิ้นแรก ที่พระอุปัชฌาย์แนะนำให้รู้จักและมอบให้ สำหรับใช้ใส่บริขารแทนกระเป๋าในคราวเดินทาง (เดินธุดงค์) ใช้เป็นภาชนะใส่อาหารเวลาฉัน ใช้เป็นภาชนะตักน้ำใช้ในคราวออกธุดงค์”
ข้าพเจ้าสงบใจฟังท่านพูด แต่ก็นึกค้านในใจว่า “ที่ท่านพูดก็ถูกของท่าน สำหรับพระกรรมฐานเท่านั้นหรอก แต่สำหรับพระนักเรียนใครจะไปเอา มักเกะกะเก้งก้าง ไม่สะดวก ไม่ทันสมัย...แต่เอ...นี่เรากลายเป็นคนลืมบริขารชิ้นแรก ที่พระอุปัชฌาย์มอบให้เสียแล้ว จึงถูกท่านติงเอา”
“เคยฉันในบาตรไหม...”
“ไม่เคย ขอรับ”
“เคยฉันหนเดียวไหม”
“ไม่เคย ขอรับ”
“ที่นี้ เมื่อเรียนมามาก สอนมามากแล้ว ลองมาทำตามพระพุทธเจ้าดูก่อนนะ” หลวงพ่อพูดต่อ “เราเคยเรียนธรรมะในกระดาษ รู้ธรรมะตามกระดาษ สอบความรู้ในกระดาษ และท่านก็รับรองความรู้ด้วยกระดาษ ซึ่งเราเคยผ่านมาแล้ว เมื่อเรามาปฏิบัติ ก็จะทราบได้เองว่า ธรรมะที่เกิดจากสัญญา (เรียน จำได้) กับธรรมะที่เกิดจากการภาวนา มันต่างกันมากอยู่ มันมีความหยาบละเอียดต่างกัน...”
มันเหมือนกับคนหนึ่งมีรูปม้าหลายๆแผ่น อีกคนหนึ่งมีม้าตัวเดียว ถึงคราวออกเดินทาง คนที่มีม้าตัวเดียวยังดีกว่าคนมารูปม้าหลายแผ่น เพราะอันหนึ่งมันใช้ได้ อันหนึ่งใช้ไม่ได้ เรื่องนี้ผู้มาประพฤติปฏิบัติย่อมรู้ได้เอง ไม่ใช่เรื่องบอกกัน”
ข้าพเจ้าตั้งใจฟังหลวงพ่อท่านให้โอวาท ด้วยความซาบซึ้ง มันเป็นคำพูดที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ประกอบกับเสียงของท่านฟังชัดถ้อยชัดคำ ช้าๆ นุ่มนวล เยือกเย็น หลั่งออกมาจากใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา
หลวงพ่อจึงหันไปสั่งสามเณร ให้ไปเอากระเป๋าที่ศาลามาให้ ขณะที่หลวงพ่อปรารภเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกไม่นาน สามเณรก็หิ้วกระเป๋าเดินเข้ามาถึงชานกุฎิ และแล้วสิ่งที่ไม่นึกคิดก็ปรากฏขึ้น ข้าพเจ้ามองไปดูที่กระเป๋าเห็นซิปแตกออกหมด ใจหายวาบ...น่าแปลกใจ น่าอัศจรรย์ใจอะไรเช่นนี้...ซิปกระเป๋าเรารูดเปิด ล็อคกุญแจเรียบร้อย ก่อนจะหิ้วผ่านเข้ามาในเขตวัด มันแตกออกได้อย่างไรกัน ทั้งๆที่กุญแจก็ยังล็อคอยู่ หรือว่าซิปแตกตั้งแต่หลวงพ่อพูดว่า “อย่ามีลับลมคมใน” เป็นไปได้หรือนี่ แต่ว่ามันเป็นไปแล้ว เอ...นี่เราคงโดนท่านลองดีเข้าแล้ว
ข้าพเจ้าเริ่มหัวใจสั่น...เริ่มมีความเคารพเลื่อมใสหลวงพ่อมากขึ้น นึกละอายใจ ไม่กล้ามองหน้าท่านเพราะเข้าใจว่า ท่านคงทราบแล้วว่าเราของผิดวินัยเข้ามา
ท่านทิ้งช่วงแห่งคำพูดไว้ชั่วระยะหนึ่ง ดูเหมือนหลวงพ่อจะทราบว่า ภายในจิตใจของข้าพเจ้ากำลังวุ่นวายสับสนสะดุ้งหวั่นไหว
แล้วท่านก็พูดต่อ “การเป็นอยู่ที่นี่ เราอยู่กับธรรมชาติ อยู่อย่างสบาย ไม่มีอะไรหรอก เมื่อมาอยู่ด้วยกัน ก็อย่าแบกพัดแบกยศ แบกคัมภีร์มา เอาทิ้งไว้นอกวัดเสียก่อนโน่น เพราะถ้าบ่ามันหนักอยู่แล้ว จะรับของใหม่ไม่ได้อีก จะดูอะไรต้องดูให้นานๆ นะ ดูเพียงเดี๋ยวเดียวก็จะไม่เห็น
เมื่อท่านให้ข้อคิดพอสมควรแล้ว ท่านจึงสั่งให้ไปพักที่กุฎิสร้างใหม่ อยู่ทางทิศตะวัน นับจากกุฏิของท่านไปเป็นหลังที่สาม เมื่อขึ้นไปบนกุฏิแล้ว ข้าพเจ้ารีบเปลื้องจีวรออก ก้มลงตรวจดูซิปล้วงเอากุญแจในย่ามมาไข รูดซิปไปมา ก็เข้ามาที่ดีเหมือนเดิม มันน่าแปลกใจอะไรเช่นนี้ มากราบหลวงพ่อยังไม่ถึงชั่วโมง ก็โดนท่านปรามเสียแล้ว
ท่านผู้อ่านอาจจะค้านว่า ซิปเก่าชำรุดมันจึงเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ยังใหม่แน่ เพราะเพิ่งซื้อมายังไม่ถึงเดือน เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่วัดหนองป่าพง ก็เริ่มได้รับความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากการฉันวันละสองมื้อมาเป็นวันละมื้อ เพราะก่อนมาอยู่เคยคิดไว้ว่า เราคงไม่ไหวแน่เพราะร่างกายเราอ่อนแอ
หลวงพ่อท่านได้เมตตาข้าพเจ้าเป็นพิเศษอยู่หลายอย่าง เช่น บาตรเก่าของท่าน ท่านใช้มาเป็นเวลาสิบปี เพิ่งเปลี่ยนใหม่ เมื่อปี ๒๕๑๐ ท่านเก็บไว้ในตู้ พอข้าพเจ้าไปอยู่ ท่านก็สั่งให้เอามาให้ข้าพเจ้าใช้ บาตรลูกนี้มีอายุเกือบเท่าอายุของข้าพเจ้า และท่านสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ติดตามท่านเวลาออกบิณฑบาตเป็นประจำ ซึ่งผู้เป็นอาคันตุกะน้อยรูปนักที่จะได้รับอนุญาตเช่นนั้น
ตอนเย็นหลังจากทำวัตรเสร็จแล้ว ศิษย์ ผู้ใคร่ต่อการฟังโอวาท ก็ทยอยกันไปหาท่านที่กุฏิซึ่งหลวงพ่อนั่งรออยู่เกือบจะกล่าวได้ว่าแทบทุกวัน พวกเราจึงได้ฟังธรรมนอกธรรมาสน์กันเป็นส่วนมาก รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม ขจัดความสงสัยทีเกิดขึ้นได้ โดยที่เราไม่ต้องเรียนถาม ท่านพูดๆไป ก็ไปตรงกับเรื่องของเราเอง
เวลาออกบิณฑบาตเดินตามหลังท่านไป ก็ได้ฟังธรรมะไปด้วย ล้วนแต่เป็นคติเป็นแนวทางส่งเสริมการปฏิบัติธรรมได้ดี จะเรียกว่าฟังธรรมเคลื่อนที่ก็เห็นจะถูก เมื่ออยู่กับท่านหลายวันเข้าความพอใจ ชอบใจ ในการรับฟังและในข้อวัตรปฏิบัติก็มีมากขึ้น เรื่องบางเรื่องที่เราเคยเรียนมาไม่เข้าใจ กลับได้รับความเข้าใจ แม้แต่พระวินัยบางข้อที่เคยสงสัย ก็ได้รับความเข้าใจดีขึ้น

วันต่อไปผมจะเพิ่มตอนที่ 2 ครับ