หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 2 หน้า 12 หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย
กำลังแสดงผล 1 ถึง 10 จากทั้งหมด 14

หัวข้อ: หนึ่งเดือนในป่าพง

  1. #1
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    หนึ่งเดือนในป่าพง

    หนึ่งเดือนในป่าพง
    หนึ่งเืดือนในป่าพงนี้ เป็นหนังสือธรรมะที่
    หลวงพ่อพระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตฺโต) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
    ท่านได้เขียนขึ้น ครั้งเมื่อได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท ขอเชิญท่าน
    ผู้สนใจศึกษาธรรมจากประวัติครูบาอาจารย์ เชิญสดับได้แล้วครับ

    หนึ่งเดือนในป่าพง
    ลิงค์สำหรับโหลดไฟล์หนึ่งเดือนในป่าพง(DOC)
    http://www.uploadtoday.com/download/?223778&A=193855
    ให้แก้ชื่อไฟล์เป็นหยังกะได้ละเปิดใน Word ครับ

    หนึ่งเดือนในป่าพง
    หลวงพ่อชาถ่ายภาพกับหลวงพ่ออมร และลูกศิษย์

    พระกรรมฐานมีดีอะไร
    สมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นครูสอนปริยัติธรรมอยู่ เมื่อพักจากการสอนแล้ว บางวันตอนเย็นๆ ก็นึกถึงพระที่ท่านอยู่ป่า เกิดความสงสัยว่า “พระกรรมฐาน ท่านมีอะไรดีหรือ ทั้งๆ ที่ท่านไม่ค่อยได้ศึกษาปริยัติธรรม ท่านชอบอาศัยอยู่ในป่า ก็ยังมีญาติโยมอุตส่าห์เดินทางไปหาเป็นจำนวนมาก เขาพากันไปด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ท่านคงมีอะไรดีอยู่กระมัง”
    ความสงสัยนี้ มันเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ข้าพเจ้ายังหาคำตอบไม่ได้ นับเป็นเวลาหลายปี บางทีความสงสัยชนิดนี้ อาจจะเกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ผู้ยังไม่เคยเข้าไปสัมผัสอีกเป็นจำนวนมาก ท่านมีผู้อ่านหาคำตอบที่ถูกต้องได้แล้วหรือยังเล่า
    ดูเหมือนยังมีบรรพชิต ผู้เป็นนักแสดงธรรม ยังพูดแรงไปกว่านั้นอีกว่า “พระกรรมฐานจะมีดีอะไร มัวแต่นั่งหลับตาอยู่ในป่าไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะจะไปรู้อะไร ดูแต่อาตมาสิ...ขนาดเปิดพระไตรปิฎกอ่านอยู่ทุกวันก็ยังลืมเลย...”
    ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย กับคำพูดของท่านรูปนั้น มันเป็นการหมิ่นเหม่ต่ออันตราย ดูจะเป็นการประมาทต่อการปฏิบัติธรรมของเหล่าพระอริยสาวกไป ข้าพเจ้าคิดว่า “อาหารใด ที่เรายังไม่ได้ลิ้มชิมรส เราจะไปปฏิเสธว่าอาหารนั้นไม่ดี ไม่มีประโยชน์ เหมือนกับอาหารที่เราได้รับประทานอยู่เป็นประจำ หาเป็นการสมควรไม่...”
    บางครั้งเคยนึกถึงคำขอบรรพชา ที่เคยกล่าวต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ ก่อนที่ท่านจะให้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งพอจะแปลได้ว่า “ท่านขอรับ กรุณาบวชให้กระผมด้วย เพื่อกระผมจะได้ทำการสลัดออกจากความทุกข์ทั้งมวล และเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน...” จึงได้ปรารภกับตนเองว่า “เอ...นี่...เราจะเอายังไงดี บวชมาก็หลายปี จะไม่เป็นการโกหกตัวเอง โกหดพระอุปัชฌาย์ไปหรือ...”
    ดังนั้นเมื่อถึงหน้าแล้ง ปี พ.ศ.๒๕๑๐ ข้าพเจ้าจึงได้เดินทางไปอบรมวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดปรินายก และวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ รู้สึกว่าได้รับหลักการปฏิบัติ จากครูบาอาจารย์ซึ่งมี หลวงพ่อเจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนี* เป็นประธาน โดยได้รับความเมตตาจากท่านเป็นอย่างดี และก็ได้ตั้งใจไว้ว่า เรามีที่พักผ่อนทางจิตใจในยามว่างจากการสอนแห่งหนึ่งแล้ว หน้าแล้งจะมาปฏิบัติอีก
    แต่ก็ยังมีอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเราเคยตั้งใจไว้ว่า จะเข้าไปศึกษาหาประสบการณ์ ที่นั่นคือ วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ไม่ไกลไปมาพอสะดวก ได้ทราบว่าเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในป่า ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามาก เราควรจะเข้าไปทดลองดู
    เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าจึงออกเดินทาง มุ่งสู่หนองป่าพง ความจริงแล้วข้าพเจ้ายังมิได้ตั้งใจว่าจะไปอยู่ที่นั่นแน่นอน เป็นเพียงจะไปทดลองดูเพราะยังไม่แน่ใจเลยว่าอาหารที่นั่น จะมีรสถูกปากถูกใจเราหรือเปล่า เรายังไม่เคยชิมดู
    เมื่อเดินทางมาถึงประตูหน้าวัดเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น พอจะย่างเข้าสู่เขตวัดก็เจอป้ายแผ่นใหญ่ เขียนไว้ว่า แดนเคารพ พุทธศาสนิกชน ทุกเพศ ทุกชั้น เพื่อหายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ และเรียงลำดับเป็นข้อๆ ลงไป จากข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๙ ซึ่งท่านผู้เคยไปเยี่ยมวัดหนองป่าพง คงได้อ่านกันมาแล้ว...เมื่ออ่านป้ายจบแล้ว ก่อนจะก้าวเข้าเขตวัด คิดไว้ว่าพระวัดป่าท่านถือวินัยเคร่ง ท่านไม่รับเงินทอง ไม่เก็บไว้เป็นของส่วนตน เรามีติดย่ามมาด้วย จะทำอย่างไรดี จึงตัดสินใจว่า “เอาไว้ในย่ามไม่เหมาะ เพราะเราใช้ย่ามทุกวัน ไปปะปนกับท่านดูไม่เหมาะ สู้เก็บไว้ในกระเป๋าดีกว่า”
    ข้าพเจ้าจึงบอกสามเณรที่ถือกระเป๋ามาส่ง ให้วางการะเป๋าลง แล้วจึงหยิบซองปัจจัย ๔-๕ ซอง ออกจากย่าม ไขกุญแจเปิดกระเป๋าเอาซุกลงไว้ก้นกระเป๋า รูดซิปล็อคกุญแจเรียบร้อยแล้ว เดินเข้าวัดไป ได้รับความแปลกตาแปลกใจ เห็นภายในวัด ลานวัดสะอาด มีร่มไม้ป่าไม้มาก เย็นสบายดี ความรู้สึกบอกว่าเหมือนเราได้เข้ามาสู่แดนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน มองเห็นพระสงฆ์สามเณรหลายรูป กำลังทำกิจวัตร ด้วยอาการสำรวมสังวร ไม่ได้ยินเสียงพูดคุยกัน ทุกรูปทรงผ้าสีแก่นขนุน ดูช่างเข้ากับธรรมชาติเหลือเกิน
    ข้าพเจ้าเดินเข้าสู่ศาลาโรงธรรม ให้สามเณรวางกระเป๋าไว้บนเตียงด้านขวามือ กราบพระประธาน มองดูพระพักตร์พระประธาน คล้ายได้รายงานตัวว่า “กระผมเป็นอาคันตุกะ เพิ่งมาสู่ถิ่นนี้เป็นครั้งแรก ขอแสดงคารวะ พึ่งร่มพุทธธรรม...”
    มีภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้ามาในศาลา จึงถามท่านว่า “ท่านอาจารย์อยู่ไหม” ได้รับตอบว่า “ท่านเพิ่งกลับจากกิจนิมนต์ข้างนอก นิมนต์ไปพบท่านที่กุฏิ”
    ข้าพเจ้าจึงออกจากศาลา เดินชมต้นไม้ ป่าไม้ไปเรื่อยๆ มองเห็นไก่ป่า ๕-๖ ตัว กำลังคุ้ยเขี่ยกินอาหาร พอมันเห็นข้าพเจ้าเดินผ่านไป ทุกตัวเตรียมพร้อมที่จะบินหนี มันคงคิดว่า “ท่านผู้นี้ไม่ใช่เจ้าถิ่น ดูสีผ้าต่างจากที่เคยเห็น ไว้ใจไม่ได้ อาจจะมีอันตราย”
    ข้าพเจ้ามองดูมันพลางเดินพลาง พร้อมกับนึกในใจว่า “หากินไปเถิดเจ้าไก่ป่าเอ๋ย ถึงสีผ้าของข้าจะต่างจากที่เจ้าเคยเห็นก็จริง แต่ข้ามาอย่างมิตร ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่พวกเจ้าหรอก” เพราะเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นไก่ป่า มันมีอยู่เป็นจำนวนมากเสียด้วย มันพากันอยู่กับธรรมชาติ อยู่อย่างอิสระไม่มีพันธะใดๆ อาศัยยอดไม้เป็นเรือนนอน
    เมื่อข้าพเจ้าไปถึงใต้ถุนกุฏิหลวงพ่อ เห็นท่านนั่งอยู่ จึงเข้าไปกราบท่าน ท่านจึงถามว่า “เอ...ใคร...มาจากไหน” ท่านคงจำไม่ได้ เพราะเคยพบท่านครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงเรียนให้ท่านทราบ
    “อ้อ...ท่านมหารึ มาธุระอะไรล่ะ” ท่านถาม
    “กระผมตั้งใจมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ขอรับ” ข้าพเจ้ากราบเรียนท่าน
    “มาอยู่กับผมก็ได้...แต่อย่ามีลับลมคมใน” ท่านพูดช้าๆ ฟังเย็นๆ พอได้ฟังคำพูดของท่าน ข้าพเจ้าถึงกับสะดุ้ง มีความรู้สึกหวั่นในใจ เพราะรู้ตัวดีว่า เอาของผิดวินัยเข้ามา แต่ก็ข่มใจ เรียนท่านไปว่า “ขอรับ...ถ้ากระผมทำอะไร บกพร่อง ผิดพลาด นิมนต์ขนาบได้เต็มที่”
    “เอาอะไรมาบ้างล่ะ” ท่านถาม
    “ไม่ได้เอาบาตรมารึ...” หลวงพ่อถามพร้อมกับมองหน้า
    “อ้าว...ทำไมล่ะ เป็นมหา สอนไปสอนมา ทิ้งบาตรแล้วหรือ...”
    “กระผมยังไม่ทราบกฎระเบียบของทางนี้ ขอรับ” ข้าพเจ้าตอบ
    หลวงพ่อท่านพ่อต่อไปว่า “บาตรเป็นบริขารชิ้นแรก ที่พระอุปัชฌาย์แนะนำให้รู้จักและมอบให้ สำหรับใช้ใส่บริขารแทนกระเป๋าในคราวเดินทาง (เดินธุดงค์) ใช้เป็นภาชนะใส่อาหารเวลาฉัน ใช้เป็นภาชนะตักน้ำใช้ในคราวออกธุดงค์”
    ข้าพเจ้าสงบใจฟังท่านพูด แต่ก็นึกค้านในใจว่า “ที่ท่านพูดก็ถูกของท่าน สำหรับพระกรรมฐานเท่านั้นหรอก แต่สำหรับพระนักเรียนใครจะไปเอา มักเกะกะเก้งก้าง ไม่สะดวก ไม่ทันสมัย...แต่เอ...นี่เรากลายเป็นคนลืมบริขารชิ้นแรก ที่พระอุปัชฌาย์มอบให้เสียแล้ว จึงถูกท่านติงเอา”
    “เคยฉันในบาตรไหม...”
    “ไม่เคย ขอรับ”
    “เคยฉันหนเดียวไหม”
    “ไม่เคย ขอรับ”
    “ที่นี้ เมื่อเรียนมามาก สอนมามากแล้ว ลองมาทำตามพระพุทธเจ้าดูก่อนนะ” หลวงพ่อพูดต่อ “เราเคยเรียนธรรมะในกระดาษ รู้ธรรมะตามกระดาษ สอบความรู้ในกระดาษ และท่านก็รับรองความรู้ด้วยกระดาษ ซึ่งเราเคยผ่านมาแล้ว เมื่อเรามาปฏิบัติ ก็จะทราบได้เองว่า ธรรมะที่เกิดจากสัญญา (เรียน จำได้) กับธรรมะที่เกิดจากการภาวนา มันต่างกันมากอยู่ มันมีความหยาบละเอียดต่างกัน...”
    มันเหมือนกับคนหนึ่งมีรูปม้าหลายๆแผ่น อีกคนหนึ่งมีม้าตัวเดียว ถึงคราวออกเดินทาง คนที่มีม้าตัวเดียวยังดีกว่าคนมารูปม้าหลายแผ่น เพราะอันหนึ่งมันใช้ได้ อันหนึ่งใช้ไม่ได้ เรื่องนี้ผู้มาประพฤติปฏิบัติย่อมรู้ได้เอง ไม่ใช่เรื่องบอกกัน”
    ข้าพเจ้าตั้งใจฟังหลวงพ่อท่านให้โอวาท ด้วยความซาบซึ้ง มันเป็นคำพูดที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ประกอบกับเสียงของท่านฟังชัดถ้อยชัดคำ ช้าๆ นุ่มนวล เยือกเย็น หลั่งออกมาจากใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา
    หลวงพ่อจึงหันไปสั่งสามเณร ให้ไปเอากระเป๋าที่ศาลามาให้ ขณะที่หลวงพ่อปรารภเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกไม่นาน สามเณรก็หิ้วกระเป๋าเดินเข้ามาถึงชานกุฎิ และแล้วสิ่งที่ไม่นึกคิดก็ปรากฏขึ้น ข้าพเจ้ามองไปดูที่กระเป๋าเห็นซิปแตกออกหมด ใจหายวาบ...น่าแปลกใจ น่าอัศจรรย์ใจอะไรเช่นนี้...ซิปกระเป๋าเรารูดเปิด ล็อคกุญแจเรียบร้อย ก่อนจะหิ้วผ่านเข้ามาในเขตวัด มันแตกออกได้อย่างไรกัน ทั้งๆที่กุญแจก็ยังล็อคอยู่ หรือว่าซิปแตกตั้งแต่หลวงพ่อพูดว่า “อย่ามีลับลมคมใน” เป็นไปได้หรือนี่ แต่ว่ามันเป็นไปแล้ว เอ...นี่เราคงโดนท่านลองดีเข้าแล้ว
    ข้าพเจ้าเริ่มหัวใจสั่น...เริ่มมีความเคารพเลื่อมใสหลวงพ่อมากขึ้น นึกละอายใจ ไม่กล้ามองหน้าท่านเพราะเข้าใจว่า ท่านคงทราบแล้วว่าเราของผิดวินัยเข้ามา
    ท่านทิ้งช่วงแห่งคำพูดไว้ชั่วระยะหนึ่ง ดูเหมือนหลวงพ่อจะทราบว่า ภายในจิตใจของข้าพเจ้ากำลังวุ่นวายสับสนสะดุ้งหวั่นไหว
    แล้วท่านก็พูดต่อ “การเป็นอยู่ที่นี่ เราอยู่กับธรรมชาติ อยู่อย่างสบาย ไม่มีอะไรหรอก เมื่อมาอยู่ด้วยกัน ก็อย่าแบกพัดแบกยศ แบกคัมภีร์มา เอาทิ้งไว้นอกวัดเสียก่อนโน่น เพราะถ้าบ่ามันหนักอยู่แล้ว จะรับของใหม่ไม่ได้อีก จะดูอะไรต้องดูให้นานๆ นะ ดูเพียงเดี๋ยวเดียวก็จะไม่เห็น
    เมื่อท่านให้ข้อคิดพอสมควรแล้ว ท่านจึงสั่งให้ไปพักที่กุฎิสร้างใหม่ อยู่ทางทิศตะวัน นับจากกุฏิของท่านไปเป็นหลังที่สาม เมื่อขึ้นไปบนกุฏิแล้ว ข้าพเจ้ารีบเปลื้องจีวรออก ก้มลงตรวจดูซิปล้วงเอากุญแจในย่ามมาไข รูดซิปไปมา ก็เข้ามาที่ดีเหมือนเดิม มันน่าแปลกใจอะไรเช่นนี้ มากราบหลวงพ่อยังไม่ถึงชั่วโมง ก็โดนท่านปรามเสียแล้ว
    ท่านผู้อ่านอาจจะค้านว่า ซิปเก่าชำรุดมันจึงเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ยังใหม่แน่ เพราะเพิ่งซื้อมายังไม่ถึงเดือน เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่วัดหนองป่าพง ก็เริ่มได้รับความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากการฉันวันละสองมื้อมาเป็นวันละมื้อ เพราะก่อนมาอยู่เคยคิดไว้ว่า เราคงไม่ไหวแน่เพราะร่างกายเราอ่อนแอ
    หลวงพ่อท่านได้เมตตาข้าพเจ้าเป็นพิเศษอยู่หลายอย่าง เช่น บาตรเก่าของท่าน ท่านใช้มาเป็นเวลาสิบปี เพิ่งเปลี่ยนใหม่ เมื่อปี ๒๕๑๐ ท่านเก็บไว้ในตู้ พอข้าพเจ้าไปอยู่ ท่านก็สั่งให้เอามาให้ข้าพเจ้าใช้ บาตรลูกนี้มีอายุเกือบเท่าอายุของข้าพเจ้า และท่านสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ติดตามท่านเวลาออกบิณฑบาตเป็นประจำ ซึ่งผู้เป็นอาคันตุกะน้อยรูปนักที่จะได้รับอนุญาตเช่นนั้น
    ตอนเย็นหลังจากทำวัตรเสร็จแล้ว ศิษย์ ผู้ใคร่ต่อการฟังโอวาท ก็ทยอยกันไปหาท่านที่กุฏิซึ่งหลวงพ่อนั่งรออยู่เกือบจะกล่าวได้ว่าแทบทุกวัน พวกเราจึงได้ฟังธรรมนอกธรรมาสน์กันเป็นส่วนมาก รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม ขจัดความสงสัยทีเกิดขึ้นได้ โดยที่เราไม่ต้องเรียนถาม ท่านพูดๆไป ก็ไปตรงกับเรื่องของเราเอง
    เวลาออกบิณฑบาตเดินตามหลังท่านไป ก็ได้ฟังธรรมะไปด้วย ล้วนแต่เป็นคติเป็นแนวทางส่งเสริมการปฏิบัติธรรมได้ดี จะเรียกว่าฟังธรรมเคลื่อนที่ก็เห็นจะถูก เมื่ออยู่กับท่านหลายวันเข้าความพอใจ ชอบใจ ในการรับฟังและในข้อวัตรปฏิบัติก็มีมากขึ้น เรื่องบางเรื่องที่เราเคยเรียนมาไม่เข้าใจ กลับได้รับความเข้าใจ แม้แต่พระวินัยบางข้อที่เคยสงสัย ก็ได้รับความเข้าใจดีขึ้น

    วันต่อไปผมจะเพิ่มตอนที่ 2 ครับ

  2. #2
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    ******หลวงพ่อชา หลวงพ่ออมร หลวงพ่อสุเมโธ *********
    ตกหลุมพราง
    พอเจอคำว่า ตกหลุมพราง บางท่านอาจจะตกใจไปว่า “เอ๊...ที่วัดป่าพงมีการขุดหลุมพรางคอยดักคนเข้าไปชมด้วยหรือ เปล่าหรอก...ที่ว่าหลุมพรางน่ะ มิได้หมายความว่า เป็นหลุมพรางทางภาคพื้นดิน แต่มันเป็นหลุมพรางทางอากาศ (ทางคำพูด) ต่างหาก ติดตามไปคงเข้าใจได้เอง
    เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้าติดตามหลวงพ่อเข้าไปบิณฑบาต พอไปถึงทางเลี้ยวซ้าย หลวงพ่อเดินชะลอเหมือนคอนจังหวะให้ข้าพเจ้าไปถึง พอเดินไปทัน ท่านเหลียวไปดูบ้านหลังหนึ่งซึ่งชำรุดเก่าคร่ำคร่าเป็นบ้านช่างไม้รับจ้างปลูกเรือน ข้าพเจ้ามองตามท่าน ทันใดนั้นก็ได้ยินท่านพูดว่า “เอ...บ้านช่างไม้นี่เก่าชำรุดเสียจริงนะ” ข้าพเจ้าจึงคล้อยตามเสริมขึ้นว่า “เป็นช่างไม้มีฝีมือมีคนมาจ้างบ่อย คงจะยังไม่มีเวลาทำของตนเอง”
    หลวงพ่อหันมามองข้าพเจ้าพร้อมกับพูดว่า “เราก็เหมือนกันนั่นแหละ มัวแต่สอนเขา”
    เอาเข้าไหมล่ะ เราเผลอไป จึงตกหลุมพรางของท่านเข้า...ข้าพเจ้าได้ยินท่านพูดถึงกับสะอึกรู้สึกกินใจถึงใจ แทบจะวางบาตรนั่งลงกราบรับรองว่าจริงตามที่ท่านพูด เพราะคาดไม่ถึงไม่นึกว่าจะโดนท่านสอนธรรมะแบบเคลื่อนที่อย่างนี้ แต่ก็ดีแล้วทำให้ได้ข้อคิดจากที่ท่านเตือนสติ ความเงียบเกิดขึ้นชั่วขณะ เดินตามหลังท่านไป ใจก็หวนระลึกถึงเรื่องๆหนึ่งซึ่งมีอยู่ในหนังสือธรรมบทว่า
    มีภิกษุ ๒ รูป เป็นเพื่อนกัน ออกบวชพร้อมกัน ตั้งใจบวชถวายชีวิตในพระศาสนา ได้อยู่ศึกษาข้อวัตรต่างๆ อันนักบวชจะพึงรู้พึงทำให้ถูกต้องตามแบบสมณะที่ดีพึงทำ อยู่จำพรรษาในสำนักอุปัชฌาย์ อาจารย์ จนมีพรรษากาลพอควรที่จะปกครองตนเองได้แล้ว
    รูปหนึ่งคิดว่า ตนมีอายุเข้าเขตวัยกลางคนแล้ว ยากที่จะศึกษาปริยัติธรรมให้จบสมบูรณ์แบบได้ จึงได้ศึกษาแนวทางแห่งการปฏิบัติจนเป็นที่เข้าใจแล้ว กราบทูลลาพระพุทธองค์มุ่งสู่ป่าเพื่อปฏิบัติธรรม
    อีกรูปหนึ่ง คิดว่าตนพอมีกำลังจะศึกษาปริยัติธรรมได้จึงตั้งใจศึกษา จดจำพระสูตรต่างๆ จนจบพระไตรปิฎก เที่ยวบอกธรรมสอนธรรมในที่ต่างๆ จนมีลูกศิษย์นับเป็นจำนวนร้อยๆ เมื่อมีคนรู้จักมาก ลาภสักการะต่างๆ เกิดขึ้นเป็นผลพลอยได้ติดตามมามากขึ้นๆ ท่านพอใจ อิ่มใจ และภาคภูมิใจในความมีลาภสักการะและลูกศิษย์ลูกหามากเช่นนั้น เมื่อนึกถึงกิตติศัพท์และเสียงเยินยอที่ตนได้รับ ก็ทำให้ท่านสบายใจ เป็นการเพียงพอแล้ว สำหรับสิ่งที่ตนได้รับ เมื่อได้เข้ามาบวชในพระศาสนา
    ส่วนภิกษุที่เข้าไปอยู่ในป่า ตั้งใจบำเพ็ญภาวนา เดินจงกรมนั่งสมาธิ พิจารณาธรรมะให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง ทนได้ยาก มิได้อยู่ในอำนาจของตน มีแล้วหาไม่ เกิดแล้วดับไป บางโอกาสก็สาธยายอาการ ๓๒ พิจารณาตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา ตั้งแต่ปลายผมลงไปจรดปลายเท้า แยกแยะออกเป็นส่วนๆ ตั้งแต่ขน ผม เล็บ ฟัง ไปจนถึงเยื่อมันสมองในกะโหลกศีรษะ ให้เห็นเป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจ ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ซึ่งมีอยู่ในกายตนและกายของคนอื่น เมื่อมันยังเคลื่อนไหวไปมาได้ก็ยังพอน่าดูน่าชม แต่พอสิ้นลมเมื่อไรก็เป็นของไม่น่าปรารถนา ถึงแม้จะมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ ก็มีการเกิดดับอยู่เป็นประจำไม่จีรังยั่งยืน
    วันคืนผ่านไป ท่านบำเพ็ญเพียรด้วยความบากบั่นไปเรื่อยๆ โดยอาศัยขันติธรรมเป็นที่ตั้ง ยึดเอาหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเส้นทางเดิน จนความยึดมั่นถือมั่นจางคลายหายไปหมดสิ้น จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะอย่างสิ้นเชิง จนท่านเปลี่ยนภาวะจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคล ในชั้นอรหันต์ขีณาสพไปแล้ว
    จึงนับว่าพระอรหันต์สาวกของพระพุทธองค์ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอีก ๑ รูป ท่านอยู่ในลักษณะสำรวม กาย วาจา ใจ พักผ่อนอิริยาบถ ดื่มรสแห่งวิมุตติสุขอยู่ในราวป่าเป็นเวลาพอสมควรแก่สันติสุขที่เกิดขึ้นนั้นๆ
    ได้มีภิกษุจำนวนหลายรูป และหลายครั้ง ได้ทูลลาพระพุทธองค์มุ่งหน้าสู่ป่า อันเป็นสำนักของพระขีนาสพเถระ เข้าฝากตัวเป็นศิษย์อยู่ประพฤติปฏิบัติธรรมะ ตั้งอยู่ในโอวาท ไม่ประมาท มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอย ถือเอาข้อวัตรปฏิบัติที่พระอาจารย์ดำเนินมาเป็นแนวทาง เดินตามบาทแห่งพระอรหันต์ ไม่นานวันท่านเหล่านั้นก็ได้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรม กลายเป็นพระอรหันต์ไปหมดทุกรูป
    เมื่อพระสาวกเหล่านั้น ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ดังที่ตนตั้งปณิธาน จึงกราบพระเถระผู้เฒ่าซึ่งเป็นอาจารย์คืนสู่เชตวัน
    พระเถระได้แนะนำวิธีการเข้ากราบบังคมทูลพระศาสดาและการเข้านมัสการพระเถระผู้ใหญ่ในเชตะวัน พร้อมทั้งฝากนมัสการไปยังพระเถระสหายด้วย
    เหล่าพระอริยสาวก เมื่อเดินทางถึงวัดเชตวัน ก็ได้ปฏิบัติตามที่พระอาจารย์แนะนำไว้ ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้ว ก็ไปกราบนมัสการพระเถระผู้ใหญ่ จึงไปนมัสการพระเถระผู้สหายของพระอาจารย์
    นับเป็นเวลาหลายครั้งที่พระเถระเจ้าถิ่น ผู้หยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นพหูสูต ลำพองใจใจความมีลาภสักการะ สรรเสริญ สุข อยู่ในท่ามกลางสานุศิษย์ นับจำนวนร้อยๆ จิตใจของท่านนับวันแต่จะพองขึ้น ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิมานะที่พอกเอาไว้ประดุจดังลูกโป่งที่ถูกอัดด้วยลม
    พอมีพระภิกษุที่มาจากป่า มากราบนมัสการและเรียนท่านว่า “พระอาจารย์ของพวกผมขอฝากนมัสการใต้เท้า ขอรับ”
    “ใครกันนะ...ที่เป็นอาจารย์ของพวกคุณ” พระเถระถามด้วยท่าทางผึ่งผาย
    “พระอาจารย์ที่เป็นสหายคู่นาคของใต้เท้า...ขอรับ” พระสาวกเหล่านั้นตอบ
    “ก็อะไรเล่า...ที่พวกคุณได้เรียนจากภิกษุรูปนั้น ธรรมะบทหนึ่ง หมวดหนึ่ง หรือว่าปิฎกไหนบ้าง ในพระไตรปิฎก” พระเถระถามเป็นเชิงข่มด้วยภูมิปริยัติ และท่านได้คิดเลยเถิดไปอีกว่า “เพื่อนของเรา บวชพร้อมกัน อยู่ด้วยกันไม่กี่ปีก็หนีเข้าป่า ไม่ได้ศึกษาปริยัติรรมเหมือนเรา เห็นจะไม่รู้แม้แต่พระคาถาบทหนึ่งของธรรม ก็ยังอุตส่าห์มีลูกศิษย์หลายรูป เอาเถอะ...มาเยี่ยมเมื่อไร ก็จะไล่ให้จนเสียที...”
    ความเข้าใจของท่านผู้คงแก่เรียนในสมัยพุทธกาล ก็ยังมีถึงเพียงนี้ ไฉนเล่า ในสมัยปัจจุบันจะไม่พึงเกิดมีขึ้นอีก นี่หรือ...คือความมืดในแสงสว่าง ท่านผู้รู้โปรดพิจารณา หาความเป็นจริงกันเถิด
    ครั้นต่อมา ท่านพระเถระผู้ขีณาสพ จึงออกจากป่าเพื่อไปเฝ้าพระพุทธองค์ พอมาถึงวัดเชตวัน เก็บบาตรและบริขารอื่นไว้ ในสำนักของพระเถระผู้สหาย ไปถวายบังคมพระศาสดาและนมัสการพระเถระผู้ใหญ่ที่อยู่ในเชตะวัน เสร็จแล้วจึงกลับมายังที่อยู่ของพระเถระเจ้าถิ่น หลังจากได้ทำปฏิสันถารด้วยอาคันตุกะวัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
    พระเถระเจ้าถิ่น จึงนั่ง ณ อาสนะเสมอกันข้างๆ พระเถระที่มาจากป่า ขณะนั้นจึงคิดว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ถามปัญหาธรรมะ เพื่อเป็นการวัดภูมิดูให้รู้แน่ว่า ใครจะเด่นดังกว่าใครอยู่ในท่ามกลางสานุศิษย์ทั้งสองฝ่ายในวันนี้”
    พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระหฤทัยว่า “ภิกษุรูปนี้จะก้าวร้าวลูกของเรา ผู้ซึ่งมีคุณธรรมสูง เธอจะตกนรกเสียเปล่า” ด้วยทรงมีพระเมตตาต่อพระเถระ พระองค์จึงทรงทำเป็นดำเนินผ่านมา จนถึงที่สังฆสันนิบาตแห่งนั้น ทรงประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว ยังมิทันที่พระเถระจะถามปัญหา พระองค์ก็ตรัสถามเสียเอง
    ครั้งแรกที่ทรงถามปัญหาธรรม ในขั้นปฐมฌานกับพระเถระเจ้าถิ่น เมื่อท่านทูลตอบไม่ได้จึงทรงตรัสถามในขั้นรูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ เป็นลำดับขึ้นไป พระเถระก็ทูลตอบไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว
    พระพุทธองค์จึงทรงผินพระพักตร์ไปถามพระเถระผู้ขีณาสพที่มาจากป่า พระเถระก็ทูลตอบได้หมด จนเป็นที่พอพระทัย
    ทีนั้นพระองค์จึงทรงตรัสถามในขั้นโสดาปัตติมรรค พระเจ้าถิ่นทูลตอบไม่ได้ ถามพระเถระผู้ขีณาสพ ทูลตอบได้
    พระพุทธองค์จึงทรงประทานสาธุการว่า สาธุ...
    พระองค์จึงทรงตรัสถาม ในเรื่องมรรคผลสูงขึ้นเป็นลำดับ
    พระเถระเจ้าถิ่น ก็จนปัญญามิสามารถทูลตอบได้
    ส่วนพระเถระผู้ขีณาสพ ทูลตอบได้ทุกข้อ
    พระองค์ทรงพอพระทัย จึงทรงประทานสาธุการอีก ๓ ครั้งว่า สาธุ...สาธุ...สาธุ...
    บรรดาเหล่าเทพยดาฟ้าดินจนถึงพรหมโลก รวมทั้งนาค ครุฑ คนธรรพ์ ได้ฟังพระสุรเสียงสาธุการของพระพุทธองค์ ต่างก็ชื่นชมยินดี ได้เปล่งสาธุการดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งจักรวาล
    บรรดาลูกศิษย์ของพระเถระเจ้าถิ่น พอได้ยินและได้เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น แทนที่จะอนุโมทนาสาธุการด้วย แต่กลับเข้าใจผิดด้วยอกุศลจิต จึงพากันซุบซิบนินทาว่า
    “อะไรกันนี่ พระพุทธองค์ทรงทำอย่างไรกัน แค่พระหลวงตาแก่อยู่ในป่า เพิ่งกลับมาไม่ได้ศึกษาปริยัติธรรมอะไรเพียงตอบปัญหาได้ ๔-๕ ข้อ ก็ประทานสาธุการเสียยกใหญ่ ส่วนอาจารย์ของพวกเราได้ศึกษาปริยัติธรรมมามาก จนจบพระไตรปิฎก เที่ยวสอนธรรม สวดธรรมมานาน จนมีลูกศิษย์ลูกหานับเป็นร้อยๆ คำน้อยหนึ่งที่พระองค์จะทรงสรรเสริญก็ไม่มี”
    พระองค์ทรงทราบวาระจิตอันเป็นอกุศลของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงตรัสเตือนด้วยพระเมตตา “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ของพวกเธอนั้น เปรียบเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโครักษาโคเพื่อผู้อื่น เพียงเพื่อค่าจ้างประจำวัน ส่วน(มะมะปุตโต) ลูกของพ่อ (ทรงหมายถึงพระเถระผู้ขีณาสพ) เป็นเช่นเดียวกับเจ้าของโค ย่อมมีสิทธิในตัวโค และได้ดื่มน้ำนมโคตามใจชอบ”
    พระองค์ทรงตรัสเพิ่มเติมอีก พอสรุปได้ว่า “ผู้ใดได้เรียนพระพุทธพจน์ที่มีประโยชน์ไว้มาก แล้วนำพระพุทธพจน์นั้นไปสั่งสอนผู้อื่น แม้จะได้ลาภ สักการะและเสียงเยินยอมากก็ตาม เมื่อเขายังประมาทอยู่ไม่ประพฤติตามพุทธพจน์นั้น ผู้นั้นย่อมไม่ได้รับสันติสุขที่แท้จริง
    ส่วนผู้ใด ถึงจะไม่ได้เรียนพุทธพจน์มาก ไม่ได้สอนมาก แต่หากประพฤติปฏิบัติตามพุทธพจน์นั้นจนได้รู้แจ้งชัด ละสนิมในใจคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกไหนๆ ผู้นั้นย่อมได้รับสันติสุขที่แท้จริง”
    จากพระดำรัสที่ตรัสสอนมานี้ พระพุทธองค์มุ่งส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน ได้เรียนรู้ธรรมแล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดผลขึ้นมา มิใช่เรียนรู้ไว้เพียงเพื่ออวดอ้าง หรือประดับบารมีตนเท่านั้น เพราะคุณธรรมจะไม่ปรากฏผลเท่าที่ควร เปรียบเหมือนคนเตรียมเดินทาง ได้ศึกษาเส้นทางจากแผนที่แล้ว ก็ต้องออกเดินทางโดยอาศัยแผนที่นั้นเป็นหลัก มิใช่ว่าเรียนรู้แล้วนอนกอดแผนที่หรือเอาแผนที่ออกอวดอ้างกันอยู่ไม่ยอมออกเดินทาง ประโยชน์ย่อมมีน้อยเต็มที่
    อนึ่งผู้เขียนแผนที่ภูมิประเทศนั้น ไม่มีใครสามารถเขียนบอกละเอียดถึงเส้นทางว่าเท่านั้นวา เท่านั้นเส้น มีสิ่งนั้นๆ อยู่ จะบอกได้แต่จุดสำคัญ ๆ พอเป็นแนวทาง ผู้ออกเดินทางเท่านั้นย่อมรู้เห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างทางได้ละเอียดดี และจดจำได้ติดตา เพราะประสบพบเห็นมาด้วยตนเอง (ปัจจัตตัง) ดีกว่าดูในแผนที่หลายร้อยเท่านัก การรู้ธรรมดาตามหนังสือกับการรู้ธรรมด้วยการภาวนา ย่อมมีค่าต่างกันเช่นนั้น เพราะเหตุนี้เองพระพุทธองค์จึงทรงตรัสเปรียบเทียบพระเถระ ๒ รูปนั้นไว้ว่า รูปหนึ่งเหมือนลูกจ้างรับเลี้ยงโค อีกรูปหนึ่งเหมือนเจ้าของโค
    เป็นอันว่าคำพูดของหลวงพ่อ เพียงประโยคสั้นๆ ว่า “เราก็เหมือนกันนั่นแหละ มัวแต่สอนเขา” มันเข้าไปสั่นสะเทือนอยู่ในจิต จนต้องคิดทบทวนถึงอดีตที่ผ่านมา บางวันแม้จะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่หรือแม้แต่ทำกิจวัตรอย่างอื่นอยู่ จิตมันก็วิ่งไปรับเอาคำว่า “ลูกจ้าง” กับ “ลูกของพ่อ” มาพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งคิดไปว่า “เราบวชเพื่ออะไร เพื่อพ้นทุกข์ หรือเพื่อเพิ่มทุกข์”
    ความห่วงหน้าห่วงหลังก็เกิดขึ้น มันเกิดสู้รบกันอยู่ในจิตผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เราต้องการพบบ่อน้ำ ก็พบแล้ว เราต้องการพบบ่อเพชรบ่อพลอย ก็พบแล้ว ลงมือตัก ลงมือขุดหรือยัง... อยากได้ของใหม่ แต่ไม่อยากวางของเก่า ห่วงวัดก็ห่วง ห่วงโยมก็ห่วง ถ้าเราจากไปกลัวสำนักเรียนจะร้าง กลัวญาติโยมจะเสียใจ...
    เย็นวันหนึ่ง หลังจากทำกิจวัตรร่วมกับเพื่อนบรรพชิตเสร็จแล้ จึงได้พากันมาที่ใต้ถุนกุฏิหลวงพ่อเช่นเคย ฟังหลวงพ่อพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นคติเตือนใจไปพอสมควรแล้ว ท่านจึงชำเลืองดูข้าพเจ้าและถามขึ้นว่า “ยังมีความกังวลอะไรอยู่หรือ” ข้าพเจ้าคิดว่า ท่านคงทราบความห่วงหน้าห่วงหลังของเราแล้ว สู้บอกท่านไปตามตรงดีกว่า จึงประณมมือเรียนท่านว่า
    “กระผมยังห่วงสำนักเรียน ห่วงญาติโยม กลัวเขาจะเสียใจ...”
    “ญาติโยมน่ะ เขากลัวแต่วัดเขาจะร้าง เขาไม่กลัวเราจะร้างหรอก” หลวงพ่อพูดต่อไปอีก
    “ดูแต่เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองเทวะทหะ เมืองพ่อเมืองแม่ของพระพุทธเจ้า ก็ยังกลายเป็นป่ามิใช่หรือ..”
    ข้าพเจ้าประณมมือรับคำท่านโดยมิได้พูด เพราะความจริงก็เป็นเช่นนั้น ดูเหมือนจะได้ยินเสียงกระซิบตามสายลมดังว่ามาเตือน
    “คุณเอ๋ย...อย่าห่วงบ้าน ห่วงวัดอยู่นักเลย
    จงห่วงชีวิต คิดแสวงหาสัจจธรรม
    ก่อนที่ชีวิตนี้ จะแตกดับ”
    ความเงียบเกิดขึ้นชั่วขณะ ข้าพเจ้าได้รับฟังโอวาทที่ซึ้งใจพอใจมาก ได้ยินหลวงพ่อพูดสัพยอกว่า “จะอดทนได้หรือเปล่าหนอ...พอมองเห็นสำรับกับข้าวที่เคยฉันตั้งอยู่ข้างหน้า จะอด (ไม่ฉัน) ได้หรือเปล่า”
    ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายในคำพูดของท่าน จึงประณมมือเรียนตอบไปว่า “ถ้าเป็นอาหารที่เคยผ่านมาแล้วอดทนได้ขอรับ”
    โล่งอกไปที สำหรับความกังวล ที่มันเกิดขึ้นรบกวนเราอยู่บ่อยๆ ข้าพเจ้าตัดสินใจแน่นอนแล้ว เราพร้อมแล้วทุกอย่างที่จะเข้ามาอยู่เพื่อปฏิบัติธรรม แต่จะต้องเข้ามาชนิดที่ตัดบัวให้เหลือใย...
    ธรรมะเกิดที่จิต
    เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ยังใหม่ต่อข้อวัตรปฏิบัติ ใหม่ต่อธรรมชาติ ใหม่ต่อการรับฟังโอวาทแบบพระป่า ย่อมพาให้เกิดมีอะไรที่บกพร่องอยู่บ้าง ถือว่าเป็นของธรรมดาแต่ก็จะพยายาม
    สองอาทิตย์ผ่านไป วันนั้นดูจะเป็นวันเพ็ญเดือนห้า ตามปกติแล้วในวันพระเช่นนั้น พระภิกษุสามเณรรวมทั้งอุบาสกอุบาสิกา พากันถือเนสัชชิก ถวายการนอนแก่พระพุทธเจ้าเป็นพุทธบูชาตลอดทั้งคืน
    คืนนั้นหลวงพ่อขึ้นธรรมมาสน์ ท่านนั่งหลับตาเทศน์ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๓ ทุ่มครึ่ง จนกระทั่งถึงตีหนึ่ง ข้าพเจ้านั่งฟังด้วยความสบายใจ เพราะความเป็นผู้ใหม่ รู้สึกปวดหลัง ปวดเอวและปวดปัสสาวะ จึงต้องกราบพระประธาน เดินออกจากศาลาไปทำธุระเสร็จแล้ว เดินมายืนอยู่ข้างๆศาลา ยืนพิงผนังศาลา ฟังหลวงพ่อเทศน์ไปด้วย วันนั้นหลวงพ่อเทศน์เป็นที่จับใจมาก ตอนนั้นท่านเทศน์ว่า
    “การปฏิบัติธรรมนั้น บางทีโยมแก่ๆ อาจจะสงสัย เกิดความหนักใจ ไม่สบายใจเพราะคิดว่าตนเองท่องจำไม่ได้ สวดไม่ได้ แก่แล้วคำวามจำไม่ดีหลงๆ ลืมๆ อันที่จริงแล้วเมื่อเรายังหายใจอยู่เคลื่อนไหวได้อยู่ ยังรู้จักเผ็ด-เค็ม รู้จักร้อน-หนาวอยู่ ก็ปฏิบัติธรรมได้ มันเป็นธรรมทั้งนั้น ข้อสำคัญทำใจให้มันเกิดตัว “พอ” ขึ้นมา ธรรมะคือความพอดี เช่นจะกินอาหารทำคำข้าวให้มันพอดีเคี้ยวได้สะดวก มันก็เป็นธรรม แต่ถ้าทำคำข้าวให้เล็กเท่าเม็ดพุทรา หรือโตเท่าไข่ไก่นั่นมันไม่พอดี มันก็ไม่เป็นธรรมะ จะตัดเสื้อ-กางเกงก็เหมือนกัน ให้มันพอดีกับคนที่จะใช้ คนโตตัดตัวเล็ก มันก็นุ่งไม่ได้ คนเล็กตัดตัวโตมันก็นุ่งรุ่มร่ามไม่เข้าท่า แม้แต่นุ่งเสื้อผ้าที่ไม่เหมาะสมกับเพศวัยของตนมันก็ไม่น่าดู มันผิดธรรมะ เสื้อผ้าที่เรานุ่งมาวัด เมื่อมันไม่ขาดไม่สกปรกก็ใช้ได้ ในเมื่อเรามันจน จะไปหาของราคาแพงๆ เกินฐานะของตนมาใช้มันก็ลำบาก ยิ่งไปเที่ยวลักขโมย ปล้นจี้เอาของเขามาเป็นของเรา ยิ่งสร้างความเดือดร้อนใหญ่ มันเลยไม่เป็นธรรมะ
    การพูดจากก็เหมือนกัน ให้มันพอดีกับเพศกับวัยของตน ระวังคำพูด พูดความจริง พูดสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่กระโชกโฮกฮาก ไม่หยาบคาย รู้ตัวว่า เรากำลังพูด พูดเรื่องอะไร พูดกับใคร ให้เหมาะแก่ผู้ฟัง ๆแล้วก็สบายใจ ผู้พูดก็สบายใจ
    ส่วนเรื่องใจ เราก็ระวังไม่ให้เกิดความต้องการเกินพอดี เกินฐานะ เกินสิทธิที่เราจะได้รับ เมื่อต้องการก็แสวงหาในทางที่ถูกที่ควร ได้มาก็ไม่ได้ดีใจจนเกินไป ของเสียไปก็ไม่เสียใจจนเกินไป ไม่ปล่อยใจให้หลงระเริงไปตาม รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส จนกระทั่งรู้ว่า อะไรมันเข้ามาในใจ ทำใจให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง วุ่นวาย ก็รีบไล่สิ่งเหล่านั้นให้มันออกไปจากใจให้ได้ เท่านี้มันก็ถูกธรรมแล้วได้ปฏิบัติธรรมแล้ว ใจทางเรานี้สำคัญมาก มันเป็นนายของกาย มันเป็นนายของทุกสิ่งทุกอย่าง จะทำดี พูดดี ก็อยู่ที่ใจ ทำร้าย พูดร้าย ก็อยู่ที่ใจ ฉะนั้นเราจึงต้องฝึกมันด้วยการนั่งสมาธิ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการพิจารณา”
    ข้าพเจ้ายืนพิงผนังศาลาฟังท่านเทศน์มาแค่นี้ ก็เกิดความคิดว่า “วันนี้หลวงพ่อเทศน์ฟังเข้าใจง่ายดี ยกเอาธรรมะที่ลึกล้ำมาทำให้เราฟังง่าย เข้าใจง่าย เราจำเอาไปเทศน์ให้โยมทางบ้านฟัง เห็นจะดี”
    เวลาผ่านไปยังไม่ถึงนาที ก็ได้ยินหลวงพ่อท่านบรรยายไปว่า “การฟังเทศน์นั้น เรื่องจะจำเอาของผู้อื่นไปพูดให้คนอื่นฟังนั้น อย่างเลย...ธรรมะของเป็นเอง เกิดขึ้นทางจิต ที่จิต พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทางจิต บรรลุธรรมทางจิต ด้วยการฝึกจิต ธรรมะต้องเกิดจากการภาวนาจึงจะมีประโยชน์ ส่วนธรรมะที่จำเขามา อันเกิดจากสัญญามีค่าน้อย...”
    เจอเข้าอีกแล้วไหมล่ะ หลวงพ่อนั่งหลับตาเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ เราก็ยืนพิงผนังฟัง คิดของเราอยู่ข้างนอก แต่ทำไมโดนท่านจี้เข้าให้ คล้ายกับท่านคอยไล่ต้อนจิตของเราอยู่ทุกขณะ ทั้งๆที่ท่านก็ทำของท่านอยู่อย่างหนึ่ง แต่ท่านก็ทราบเรื่องของเราที่คิดอีกเรื่องหนึ่งจนได้ ข้าพเจ้าจึงเกิดความเกรงกลัวท่าน จะนึกคิดอะไร ต้องระวัง...ทั้งเกิดความเคารพในท่านเพิ่มมากขึ้น...
    คิดดูอีกที พลังจิตของหลวงพ่อก็เหมือนกับเรดาร์ คอยเที่ยวสอดส่ายตรวจตราดูจิตของข้าพเจ้าอยู่เสมอ แม้แต่จะคิดอะไรก่อนจำวัตร พอรุ่งเช้าก็โดนท่านพูดต้อนเอา จนต้องหยุดคิดในเรื่องนั้น...แม้ว่าท่านจะมิได้บอกตรงๆ แต่พอท่านพูดไปๆ ก็มาลงเอากับเรื่องที่เราคิดและได้แก้ไขทันท่วงที เพราะพลังจิตอันสูงส่งประกอบด้วยเมตตา ย่อมหลั่งธรรมธาราสู่มวลศิษย์ ซึ่งกำลังตกอยู่ในห้วงเหวแห่งความกังวลเสมอ บางครั้งท่านเคยพูดสัพยอกว่า...
    “มหา...ม้าพยศนี่ ถ้าเราฝึกได้ มันวิ่งดีน๊ะ”
    ข้าพเจ้าฟังแล้ว ก็ทำตาปริบๆ ไม่ได้พูดอะไร...ซึ่งระยะเวลาประมาณครึ่งเดือน ก็ทำให้ความสงสัยว่า “พระกรรมฐานท่านมีดีอะไร” ได้หายไปจากจิตของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอยุติ “หนึ่งเดือนในป่าพง” ไว้เพียงเท่านี้ก่อน โอกาสหน้าคงจะได้บันทึกต่อขอฝากคติธรรมไว้ว่า
    ดู, ฟัง, ดม, ลิ้ม ชิมรส
    ปรากฏ ถูกต้อ ง หมองจิต
    ปล่อยว่าง วางละ อย่าคิด
    หมดพิษ ใจเย็น เห็นธรรม
    สุขสงบ พบเห็น เด่นชัด
    ปฏิบัติ ตามธรรม นำส่ง
    เย็นกาย เย็นใจ มั่นคง
    อาจอง สดชื่น รื่นฤทัย...

  3. #3
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    คารวะธรรม
    คืนนั้นที่ข้าพเจ้าได้รับข้อคิดจากหลวงพ่อ ขณะยืนพิงผนังศาลาอยู่ ว่า “การฟังเทศน์นั้น...เรื่องจะจำเอาของคนอื่นไปพูดให้คนอื่นฟังนั้น อย่าเลย...ธรรมะของเป็นเอง เกิดขึ้นทางจิต ที่จิต พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทางจิต...ฯลฯ ธรรมะต้องเกิดจากการภาวนา จึงจะมีประโยชน์ ส่วนธรรมะที่จำเขามาอันเกิดจากสัญญา (ตำรา) มีค่าน้อย...”
    ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกสะดุ้ง คิดว่า เอ...ขนาดเราคิดแค่นี้ ก็ยังโดนหลวงพ่อจี้เข้าแล้ว ขืนยืนฟังอย่างนี้ถือว่าประมาทต่อธรรมะอยู่ เข้าไปข้างในดีกว่า...จึงเดินเข้าสู่ศาลาการเปรียญ กราบพระประธาน นั่ง ณ ที่เดิมฟังเทศน์ท่านต่อไป...
    พูดถึงเรื่องการกราบไหว้ หลวงพ่อเคยสอนไว้ว่า “การกราบไหว้นี้ บางคนเห็นว่าไม่สำคัญอะไร หารู้ไม่ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งในส่วนแสดงคารวะธรรม ด้วยความนอบน้อมถ่อมตน เป็นการสร้างนิสัยมิให้กระด้างกระเดื่อง ไม่เป็นคนขี้เกียจมักง่าย เป็นการฝึกให้มีสติอยู่เป็นประจำ ถือว่าเป็นมงคลประเภทหนึ่งด้วย จะเข้ามาในศาลาก็กราบเสียก่อน จึงทำอย่างอื่น จะออกจากศาลาก็กราบเสียก่อน จะลงจากกุฏิก็กราบ ถ้าหากเผลอไปลืมกราบ จนลงมาจากกุฏิแล้วก็ตาม ต้องบังคับตนให้ขึ้นไปกราบเสียก่อน ทำอย่างนี้ไม่ใช่ทำเล่นนะ นั่นแหละเป็นการปฏิบัติธรรม...ถ้าเรื่องง่ายแค่นี้ยังทำไม่ได้ เรื่องที่ยากกว่านี้จะทำได้อย่างไร ขนาดดุ้นฟืนยังถือไปไม่ได้ ท่อนไม้ที่หนักกว่านี้จะสู้ไหวหรือ? นักปฏิบัติธรรมจะต้องไม่ประมาท...”
    คืนนั้นการฟังเทศน์หลวงพ่อชายามดึก รู้สึกว่าจิตของเราไม่ค่อยยอมรับ แต่กลับเอาคำพูดของท่านที่ว่า “ธรรมะเกิดขึ้นที่จิต...ด้วยการฝึกจิต...” ดังก้องอยู่ในส่วนลึกของจิต ข้าพเจ้าจึงคู้ขาเข้านั่งสมาธิต่อไป แต่มันแปลกแม้แต่เสียงนาฬิกาข้างฝาผนังดังติ๊กๆ ...ก็ยังกำหนดฟังไปคล้ายเป็นเสียงดังว่า ธรรมะเกิดที่จิต ด้วยการฝึกจิต...
    หลวงพ่อเทศน์อยู่จนกระทั่งตี ๓ เศษๆ จึงลงจากธรรมาสน์ได้เวลา ๐๓.๐๐ น.เสียงระฆังดังกังวานไปทั่วป่า ฟังแล้ววิเวกวังเวง สลับกับเสียงไก่ขันเป็นระยะๆ สัตว์ปีกแข็งบางชนิดกรีดร้องเสียงแหลม รู้สึกวิเวกหวิว...เสียงเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วก็ลดจางเลือนหายไปในความมืด...ความมืดจะกลืนกินหมดทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวมันเอง แสงริบหรี่แห่งเปลวเทียนหน้าพระประธาน พอจะส่องแสงให้มองเห็นภิกษุ สามเณร และอุบาสกอุบาสิกา ภายในศาลาอย่างเลือนราง ทุกๆท่านต่างมุ่งมั่นบำเพ็ญภาวนาด้วยความสำรวมระมัดระวัง ดังหนึ่งสิ่งไร้ชีวิตประดิษฐ์อยู่ฉะนั้น...
    ในราตรีนั้น บรรดาเพื่อนร่วมปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จะมีใครบ้างเกิดความรู้สึกนึกคิดโดนหลวงพ่อขูด-ถาก-เหลาเอา อย่างข้าพเจ้าบ้างก็สุดจะหยั่งทราบได้ แต่เท่าที่สังเกตก็เห็นว่าทุกๆท่านแสดงความพึงพอใจ โยมผู้อยู่ในวัยสูงอายุ ไม่เห็นใครแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ยังกระปรี้กระเปร่าดี เห็นจะเป็นเพราะได้ดื่มรสพระสัทธรรม เป็นผลให้เกิดความสงบสุขตามฐานะภาวะของตน ดังภาษิตอีสานที่ว่า “คนหมดบ้านกินน้ำส่างเดียว เทียวทางเดียวบ่เหยียบฮอยกัน” หมายความว่า คนทั้งหมู่บ้านมาดื่มมาใช้น้ำเดียวกันแต่ต่างคนต่างอิ่ม เดินทางเส้นเดียวกันแต่ต่างคนต่างก้าวเดินไม่ทับรอยเท้ากัน ทุกคนย่อมมุ่งสู่จุดหมาย ใครจะถึงไวถึงช้าก็แล้วแต่กำลังตน
    เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสอยู่ใกล้ชิดหลวงพ่อนานวันเข้า ยิ่งทำให้เกิดความประทับใจ เพิ่มความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น ได้เห็นจริยาวัตรอันงาม วาจาที่นุ่มนวลชวนฟังที่หลั่งอออกมาด้วยพลังแห่งเมตตา สรรหาเอาธรรมะที่ก่อเกิดประโยชน์สุขมาสอนให้ซาบซึ้งถึงใจ เปรียบเหมือนสายธารอันกว้างใหญ่ พร้อมที่จะยื่นความสดชื่นชุ่มฉ่ำแก่อาคันตุกะผู้มาสู่ได้ทุกเวลา พาให้เขาเหล่านั้นได้รับประโยชน์อันคุ้มค่า ที่อุตส่าห์เดินทางมานมัสการ ข้าพเจ้ารำพึงว่าเหมาะสมแล้ว ที่หลวงพ่อเตือนตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่มากราบท่านว่า “จะดูอะไรต้องดูให้นานๆ นะมหา หากดูเพียงประเดี๋ยวเดียวแล้วจะไม่เห็น”
    ทำไมหรือ? หลวงพ่อจึงเตือนอย่างนั้น เห็นจะเป็นเพราะว่าก่อนที่เราจะมาหาท่านเป็นเวลาหลายเดือนและหลายปี เรามักจะมีความสงสัยอยู่เสมอว่า “หลวงพ่อชาท่านมีอะไรดี? ความรู้ก็เพียงนักธรรมเอก (บ้านนอก) เท่านั้น แต่ทำไมเล่าจึงมีคนไปหาท่านจำนวนมากทั้งชาววัดและชาวบ้าน และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ...”
    คงจะเป็นเพราะหลวงพ่อชาทราบความสงสัยอันเกิดในจิตของเรามานานแล้วนี่เอง ที่ข้าพเจ้าหาคำตอบไม่ได้มีแต่สงสัยร่ำไปจะไม่ให้สงสัยอย่างไรได้ เพราะข้าพเจ้าภูมิใจหลงใหลในรูปม้ามานาน ทั้งยังตั้งสถานที่แจกรูปม้ามานานเป็นเวลาตั้ง ๑๒ ปี แต่ก็นึกดีใจอยู่บ้าง ที่เราได้เดินผ่านบันไดขั้นต้นๆ มาแล้ว เป็นผลผลักดันให้ใช้ความพยายามก้าวต่อไป...แต่จะก้าวไปได้มากเพียงใดแค่ไหนนั้น ก็ขอจงปล่อยให้เป็นเรื่องเฉพาะตนเถิด...

  4. #4
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    หลวงตาสอนมวย
    ในระยะเดือนแรก ที่ข้าพเจ้ามาพักอยู่ที่วัดหนองป่าพง ชนิดแบบกรรมฐานชิมลอง กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังนั่นเอง เช้าวันหนึ่ง จวนจะถึงเวลาออกบิณฑบาตตามปกติ หลวงพ่อจะอนุญาตให้ติดตามท่านไปทุกวัน วันนั้นมีหลวงตารูปหนึ่ง นามว่าหลวงตามา แต่หลวงพ่อชอบเรียกว่า (หลวงตาลาด) พ่อลาด เพราะพื้นเพแกอยู่บ้านกุดลาด พระเณรส่วนมากจึงจำชื่อได้ว่า “พ่อลาด” และเรียกอย่างนั้นเรื่อยมา
    ตามที่หลวงพ่อเคยพูดให้ฟัง หลวงตารูปนี้มีประวัติที่น่าศึกษามากทีเดียว แกเป็นชาวนาที่ขยันหมั่นเพียรในการงาน สร้างชีวิตสร้างครอบครัวให้มีฐานะดี มีเงินทองมากพอสมควรคนหนึ่งในหมู่บ้าน ต่อมาภรรยาแกเริ่มป่วย แกก็ยังพูดด้วยความเชื่อมั่นว่าให้มันป่วยลง เงินกูมีพอที่จะรักษา มีหมอดีๆ ที่ไหน กูจะไปเชิญมารักษาให้หายให้จงได้...
    แต่แล้วใดๆในโลกล้วนอนิจจัง หลวงพ่อเคยพูดว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามความคิด แต่มันจะเป็นไปตามทางที่มันจะเป็น...” ภรรยาพ่อลาดป่วยมานาน มองดูอาการนับวันแต่จะรุนแรงยิ่งขึ้นไม่มีวันจะหายได้ ทั้งเงินทองที่มีอยู่เอามาใช้จ่ายพยาบาลรักษา ก็นับวันจะลดน้อยถอยลง ภรรยาก็ถึงแก่กรรมจากไปเสียแล้ว
    พ่อลาดรู้สึกว่า ได้รับความกระทบกระเทือนในอย่างหนัก โศกเศร้าเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ มีความทุกข์ทรมานมาก เมื่อนึกถึงอดีตที่เคยก่อร่างสร้างตัวมากับภรรยา ยิ่งทำให้มีความทุกข์ยิ่งขึ้น พ่อลาดปรารภกับตัวเองว่า...ไม่น่าเลย ทำไมด่วนจากไปเร็วนัก...แต่หารู้ไม่ว่ากฎธรรมชาติธรรมดาได้สอนธรรมะที่แท้ให้แล้ว...แต่เขายังไม่รู้เรื่องเท่านั้น แกจึงปรารภกับตนเอง...เมื่อก่อนนี้เราเข้าใจว่าเมียเรา เงินทองของเรา เรือกสวนไร่นาของเรา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันห้ามตายไม่ได้...ไม่รู้จะทำไปทำไมอีก อายุเราก็ปูนนี้แล้ว ถ้ามัวแต่โศกเศร้าเสียใจอยู่อย่างนี้ เห็นว่าชีวิตของเราจะสั้นแน่ๆ เพราะความทุกข์ทรมานมันเล่นงานเราแทบจะทนไม่ไหว...เราควรหาทางแก้ไข...
    ต่อมาได้ทราบข่าวหลวงพ่อชา ผู้เป็นพระฝ่ายปฏิบัติอยู่ที่วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ ท่านมีคุณธรรมสูง คงจะเป็นที่พึ่งในยามทุกข์ทรมานอย่างนี้ได้ แกจึงมุ่งหน้าสู่วัดหนองป่าพง และได้เข้ากราบนมัสการ ได้รับความอบอุ่นทางใจ โดยท่านให้โอวาทตอนหนึ่งว่า “โลกมันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว เราจะมาเถียงมาบังคับให้น้ำมูลมันไหลกลับไปเมืองโคราชจะเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้ ให้รับรู้มันเสีย ว่านี้แหละคือ ธรรมดาของมัน มันจะต้องเป็นอย่างนี้ จงภาวนาให้ดีๆ อย่าหลงอย่าเผลอไปเที่ยวยึดเอาของที่ไม่จริงไม่จังว่ามันจริงมันจัง มันก็ทุกข์เท่านั้นแหละ...”
    เมื่อพ่อลาดได้รับฟังโอวาทจากหลวงพ่อพอสมควร รู้สึกว่าถูกใจ ถึงใจ มีกำลังใจขึ้นมา สามารถบรรเทาความทุกข์เศร้าลงได้บ้างแล้ว จึงขออยู่รับใช้ปฏิบัติธรรมจำศีลกับหลวงพ่อ ครั้นต่อมาได้บวชเป็นพระได้อยู่จำพรรษาที่วัดหนองป่าพง ๒ พรรษา ขณะที่ข้าพเจ้าบันทึกนี้พ่อลาดยังมีชีวิตอยู่ที่วัดหนองป่าพงอายุ ๘๐ ปี พรรษา ๒๐ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นก่อนได้รับอนุญาต
    วันนั้นข้าพเจ้ากับพ่อลาด ครองผ้าเสร็จแล้วจึงพากันตะพายบาตร เดินมายืนคอยหลวงพ่ออยู่ในระหว่างต้นมะม่วงอกร่อง มีลูกดกกำลังน่าดูห้อยระย้าอยู่เกือบเต็มต้น ขณะที่กำลังยืนรอหลวงพ่อ...เพราะความคะนองมือไม่สำรวมระวัง (หรือเรียกว่า เพราะยังโง่ก็ยอมรับ) จึงเอื้อมมือไปลูบคลำมะม่วงเล่น ทันใดนั้นเหลือบไปเห็นพ่อลาดทำหน้าบึ้ง...จ้องมายังข้าพเจ้าพร้อมกับถามว่า “อาจารย์ไปจับมะม่วงทำไม...หือ...จับทำไม?” ข้าพเจ้าจึงหดมือกลับมาด้วยความสงสัย จึงตอบไปอย่าไม่ลดมานะว่า “มันจะเป็นไรไปเล่าพ่อลาด จับแค่นี้...” ความจริงแล้วเจตนาเราอยากจะหยั่งเสียงหาความรู้จากเขา แต่แทนที่พ่อลาดจะตอบโดยดี แกกลับพูดแบบตัดหางยัดปากว่า “ไม่รู้หรือ? อาจารย์เรียนมามากกว่าผมนี่...” ว่าแล้วแกก็ถอยห่างออกไปยืนอยู่...
    ท่านผู้อ่านทั้งหลาย...ท่านคงไม่ทราบหรอกว่า ความรู้สึกภายใจจิตใจของข้าพเจ้าในเวลานั้นเป็นอย่างไร...เพราะข้าพเจ้าถูกสอนมวย (สอนวินัย) ให้อย่างจัง ถูกลบลายที่ตนเองนึกว่าเป็นเสือเหลือไว้แต่ลายแมว...แล้วจะรู้สึกอย่างไร ลูกโป่งที่ข้าพเจ้าอุตส่าห์อัดไว้ด้วยแรงลมแห่งทิฏฐิมานะมานมนาน ถูกหลวงตาเอาเข็มทิ่มเข้าไปเพียงนิดๆ ก็เกิดเป็นพิษทำให้แฟบลง...นึกปลงสังเวชตัวเองแท้ๆ...ไม่น่ามาเสียท่าหลวงตา...ความจริงแล้วพ่อลาดพึ่งบวชได้เพียง ๒ พรรษา เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา ได้ถูกอบรมมาโดยตลอด จึงสามารถไขลมลูกโป่งของมหาเปรียญ ๖ ประโยค มีพรรษา ๑๗ ได้อย่างสบาย...คิดอีกทีก็น่าสงสารมากอยู่หรอก...
    บางทีท่านผู้อ่านอาจจะนึกสงสัยว่าสถานที่หลวงตาสอนมวยให้มหาอยู่ตรงไหน? ก็ขอบอกไว้ที่นี่เสียเลย ที่ตรงนั้นต่อมาปี ๒๕๑๘ โยมแม่ชีพิมพ์ซึ่งเป็นมารดาของหลวงพ่อหลังจากถึงแก่กรรมแล้ว หลวงพ่อได้ปรับปรุงเป็นเมรุพิเศษทำพิธีประชุมเพลิงศพโยมแม่ของท่าน และต่อมาก็ให้ถมเป็นเนินดินสูงๆ แล้วท่านก็ให้สร้างเป็นโบสถ์วัดหนองป่าพงปัจจุบันนั่นเอง
    ข้าพเจ้าเพียงแต่นึกถึงโบสถ์ หรือได้มาเห็นโบสถ์เมื่อใด จิตของข้าพเจ้าก็ประหวัดไปถึงเรื่องเก่ารำพึงในใจว่า พ่อลาด นะพ่อลาด...สอนมวยให้ผมได้...ขอขอบคุณอาจารย์(พ่อลาด) ไว้ตรงนี้อีกครั้งเถอะ ตอนหลังๆ เมื่อพบพ่อลาด พอเอ่ยถึงเรื่องนี้ทีไร พ่อลาดถึงกับยกมือเหนือเศียร “ผมขอโทษเถอะขอรับ ขออย่าให้เป็นบาปเป็นกรรมแก่ผมเลย...” พ่อลาดพูดด้วยความเคารพนอบน้อม ข้าพเจ้าจึงพูดว่า “ไม่หรอก...ผมไม่ได้พูดด้วยเจตนาพยาบาท แต่พูดในลักษณะขอขอบคุณที่พ่อลาดสามารถแคะไค้สนิมใจ ไขลมลูกโป่งของผมได้ ทำให้เบาสบายขึ้นตั้งเยอะ ที่ตรงนั้นต่อมา กลายเป็นที่สำคัญเสียด้วยสิ...”
    คิดอีกทีก็ดีหน่อยตรงที่เหตุการณ์เกิดขึ้นวันนั้น ไม่มีใครทราบเรื่อง มีคู่กรณี ๒ รูปเท่านั้น ถ้าหากมีอยู่ด้วยกันได้ยินไปหลายรูป ก็ไม่แน่นักว่าข่าวพ่อลาดไขลมพิษของมหาจะไม่กระจายไปทั่ววัด เพราะอาจจะมีลูกศิษย์หลวงพ่อนึกเขม่นข้าพเจ้าอยู่บ้าง เพราะอะไรหรือ? ก็เพราะว่ากิริยามารยาทตลอดทั้งคำพูดจาของข้าพเจ้านั้น ยังมีสภาพเป็นพระนักเรียนนักสอนอยู่ ยังไม่เข้ามารยาทของผู้ปฏิบัติธรรม เรื่องนี้พูดไปแล้วถ้าหากใครยังไม่เคยเข้ามาสัมผัสนานๆ อาจจะยังไม่เข้าใจเพราะเป็นปัจจัตตังชนิดหนึ่ง อีกอย่างดูผ้าที่ใช้ก็สีเหลืองต่างจากเพื่อนบรรพชิตในวัดทั้งหมด ดูแต่วันแรกที่ข้าพเจ้าเข้ามาเยี่ยม ไก่ป่ามันยังระแวงสงสัยทำท่าหลอกแหลก คิดอีกทีก็เหมือนมีกาตัวหนึ่ง หลงพลัดเข้ามาอยู่กับฝูงหงส์ฉะนั้น
    เมื่อหลวงตาไม่ยอมบอกก็ไม่เป็นไร เราก็เกิดมานะขึ้นมาว่า เราก็ศิษย์มีครู อยากรู้เราต้องพยายามช่วยตัวเองดีกว่า ทำให้ระลึกถึงพระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ว่า “เราอาจอาศัยอาหารเพื่อละอาหาร อาศัยตัณหาเพื่อละตัณหา อาศัยมานะเพื่อละมานะได้ แต่เมถุนให้ชักสะพานเสีย (อาศัยเพื่อละไม่ได้)...” ตั้งแต่วันนั้นมา ข้าพเจ้าคิดถึงเช้าวันนั้นเมื่อใด เหมือนมีใครมากระซิบบอกข้างๆ หูว่า
    เจ็บแล้วจำ ทำผิด แล้วรีบแก้
    ตรองให้แน่ คิดให้ถูก รีบปลูกฝัง
    สร้างความดี พูนทวี มีพลัง
    ชีพเรายัง ต้องขวนขวาย ช่วยตนเอง...
    หลังจากทำวัตรเย็นแล้ว หลวงพ่อจะมีระเบียบให้ภิกษุรูปหนึ่งขึ้นธรรมาสน์ อ่านหนังสือบุพพสิกขาวรรณนาวินัยกถา ให้พวกเราฟัง เพื่อจะได้จดจำนำไปทำตาม เป็นตอนๆไป ถ้ารูปใดสงสัยก็สอบถามหรือบางคืนหลวงพ่อจะอบรมเรื่องวินัยที่จำเป็นแก่การปฏิบัติธรรม หนังสือเล่มนี้(บุพพสิกขาวรรณนาวินัยกถา) ปรากฏว่าสมัยเป็นนักเรียน เป็นครูสอนปริยัติอยู่ ไม่เคยได้เรียนหรือได้อ่านผ่านสายตาเลย และเป็นตำราที่เมื่อคราวหลวงพ่อชาออกปฏิบัติครั้งแรก ได้พบพระอาจารย์ ๒ รูป ที่เป็นชาวเขมร ได้แนะนำไว้ว่า “ท่านอาจารย์ชา ตำราเกี่ยวกับระเบียบวินัยที่ควรศึกษา พอเหมาะแก่ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นแนวทาง ควรยึดถือหนังสือเล่มนี้เป็นหลัก ทางฝ่ายกัมพูชา พระเณรและเด็กวัด ก็ศึกษาหนังสือเล่มนี้...”
    หลวงพ่อได้ศึกษาระเบียบวินัยจากหนังสือเล่มนี้ และได้รับความรู้ความฉลาดพอสมควรแก่การปฏิบัติ เมื่อไปกราบฟังธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก็ยังซาบซึ้งในปฏิปทาที่น่าเลื่อมใส ที่อยู่ในเส้นทางแห่งธรรมวินัยของท่าน เป็นเครื่องยืนยันในการปฏิบัติที่พอเหมาะพอดี เมื่อหลวงพ่อได้มาอยู่วัดหนองป่าพง ก็ได้ให้พระเณรศึกษาวินัยจากหนังสือเล่มนี้ แม้แต่สาขาวัดหนองป่าพงทุกสาขาก็อยู่ในสภาพเดียวกัน ถ้าหากพระภิกษุสามเณร ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมท่านใด ยังสงสัยการรักษาระเบียบวินัยที่หลวงพ่อชาทำมาแล้ว และแนะนำลูกศิษย์ให้ทำตามนั้น ก็โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย ข้าพเจ้าขอฝากข้อคิดไว้ว่า ท่านผู้หวังความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ตลอดทั้งชาวบ้านผู้ใคร่รู้หลักการอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณรที่ถูกที่ควรแล้ว ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะหามาอ่าน เพื่อรู้แนวทางเอาไว้เป็นการดีที่สุด

  5. #5
    มิสบ้านมหา 2008 - 2009 สัญลักษณ์ของ หมูหวาน
    วันที่สมัคร
    Sep 2007
    กระทู้
    1,353
    บล็อก
    5

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    ขอบคุณ ธรรมะดีๆๆจ้า จะพยายามอ่านให้จบจ้า :g:g
    ขำบางโอกาส ฉลาดเป็นบางเวลา บ้าเป็นพักๆ แต่น่ารักตลอดกาล (^_^)

  6. #6
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ บ่าวหนองคาย
    วันที่สมัคร
    Jun 2008
    กระทู้
    364

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    ถ้าทุกคนมีธรรมะในใจบ้านเมืองเฮาคือสิบ่วุ่นวายจั่งซี้เน๊าะคับพี่น้อง

  7. #7
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา
    Mr.Reception
    สัญลักษณ์ของ คนตระการ...
    วันที่สมัคร
    Feb 2008
    กระทู้
    4,209

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    สุดยอดครับ....:g:g โพสแนวนี่กะเป็นคือกันตั๊วนี่::)

  8. #8
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    พบปะพูดคุย Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง กระทู้ต้นฉบับโดยคุณ คนตระการ... Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    สุดยอดครับ....:g:g โพสแนวนี่กะเป็นคือกันตั๊วนี่::)
    เป็นครับ..คนเฮามีทั้งขาว ทั้งดำในโตเจ้าของครับ..(แล้วแต่ว่า
    ผู้ใด๋ดำน้อย ดำหลาย ขาวน้อย ขาวหลายครับ..ดำล้วนกะมีเน๊าะ(ว่าแหม่นเล่นโบก)ผมนี้กะพอเหิ่มๆ นี้หล่ะ..เหอๆๆ
    ::)::)
    ..อ่านต่อครับ...

  9. #9
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงกราบนมัสการหลวงพ่อ ในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อชา
    ประคารมกับลูกศิษย์หลวงพ่อ

    บัณฑิตกล่าวว่า ความสำคัญว่าตนดี ตนฉลาด ตนเก่ง เลยกลายเป็น คนอวดดี อวดฉลาด อวดเก่ง เมื่อเอาอวดหมดแล้ว จึงไม่มีอะไร จึงเป็นคนหมดดี หมดฉลาด หมดความเก่งไป คนมีทรัพย์เขาไม่เอาทรัพย์ออกอวด แต่เขาจะรักษาทรัพย์ไว้ รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ไปในทางที่ถูกที่ควรฉันใด คนมีความดี ความฉลาด ความเก่ง เขาก็รู้จักรักษาไว้และใช้ทำประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ย่อมเป็นที่ชื่นชมยินดี น่าเคารพ น่ารัก น่านับถือ ของคนทั่วไปฉันนั้น
    เมื่อวันแรกที่ข้าพเจ้าตั้งใจมาทดลองปฏิบัติที่วัดหนองป่าพง ก็ยังโดนหลวงพ่อเตือนไว้ว่า “มาอยู่กับผมก็ดี แต่อย่าแบกพัด แบกยศ แบกคัมภีร์(ตำรา) เข้ามา เอาทิ้งไว้นอกวัดโน่น...” ถึงแม้จะโดนท่านขูดเกลาไขลมออกจากลูกโป่ง แต่ความหนักบางอย่างเราก็ยังแบกอยู่ ไม่ยอมวางลงง่ายๆ เพราะเรามีความเข้าใจผิดคิดดูหมิ่นพระเณรผู้อยู่ป่า ว่าไม่ค่อยได้ศึกษาทฤษฏีมามากเหมือนเรา หาว่าท่านเหล่านั้นไม่รู้เรื่องทางฝ่ายปริยัติธรรม จึงมีนักแสดงธรรมบางรูปกล้าประกาศบนธรรมาสน์ว่า “พระกรรมฐานจะมีดีอะไร มัวแต่นั่งหลับตาอยู่ในป่า...” จนทำให้คนฟังพลอยเห็นดี เออออไปตามนั้น คิดดูแล้วก็น่าเป็นห่วงมาก
    ถ้าจะพูดไปว่าไม่ได้ศึกษามากก็มีส่วนถูก แต่การศึกษานั้นมี ๒ ประเภท ประเภทแรกศึกษาธรรมวินัยตามตำรา ตามหลักสูตรที่ท่านผู้รู้แต่งไว้ มีความรู้ เข้าสอบวัดความรู้ จนกระทั่งได้รับการรับรองว่าสอบได้ (ด้วยใบประกาศ) เกิดความภูมิใจว่า เรารู้แล้ว เราได้แล้ว แต่การกระทำตามที่รู้นั้นเป็นอีกเรื่อง ประเภทที่สอง เป็นการศึกษาจากธรรมชาติ ศึกษาจากสิ่งแวดล้อมตัวเอง เรื่องภายในตัวเอง เพื่อปรับปรุงตัวเองให้เหมาะสมถูกต้องดีงาม โดยมีครูอาจารย์เป็นผู้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จะได้ศึกษาจากตำราบ้างก็พอประมาณ เป็นการศึกษามุ่งสู่การปฏิบัติธรรม หลายท่านจึงมิได้มุ่งเข้าสอบธรรมวัดความรู้ แต่สอบทานการกระทำ คำที่พูด ความนึกคิดของตนเองอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร ที่ท่านสมัครลงบัญชีสอบก็มีอยู่ สมัยนี้ตำรับตำราหาง่าย ไม่เห็นมีกฎระเบียบอะไรที่จะห้ามพระเณรผู้อยู่ป่า ไม่ให้เอาตำรับตำราไปอ่านไปศึกษา เมื่อท่านศึกษารู้แล้ว แม้จะมิได้ส่งชื่อเข้าสอบตามบัญชี ก็จะเป็นคนดีไปไม่ได้เชียวหรือ ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดมองกันด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมบ้างเถิด
    ครั้งหนึ่งมีการสอบธรรมประจำปี ได้มีพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนหลายร้อยรูปมาประชุมกัน ข้าพเจ้าได้ยินพระเถระผู้ฉลาดรูปหนึ่งได้ให้โอวาท ตอนหนึ่งท่านพูดเน้นว่า “การศึกษาเล่าเรียนนั้น เป็นการทำให้คนมีความรู้ความฉลาด สามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ส่วนการปฏิบัตินั้นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น...” ข้าพเจ้าได้ยินถึงกับงง เกิดความคิดถามตนเอง “ที่ท่านรูปนั้นประกาศอย่างนั้น ในสมาคมเช่นนี้ เพื่อเป็นการพูดให้กำลังใจแก่นักเรียนที่มาสอบ หรือว่าท่านพูดจากใจจริงตามความรู้ความเข้าใจของท่านจริงๆ...” ข้าพเจ้ายังสงสัย บางครั้งข้าพเจ้าก็เก็บเอาคำพูดวันนั้นมาคิด ตามประสาคนชอบคิด (แต่ไม่เป็นพิษจนเป็นประสาทหรอก) คิดหาเหตุหาผล ภาษาพระท่านเรียกว่า ภาวนาเหมือนกัน ท่านผู้อ่านลองภาวนา...
    ๑. การเดินทางไกล สมมติว่าเราต้องการเดินทางเข้าไปชมกรุงเทพฯ ก็ต้องศึกษาว่าจะเดินทางด้วยวิธีใด เดินทางด้วยรถไฟ รถยนต์ หรือเครื่องบิน พาหนะเหล่านั้นมีกี่ชนิด เราเอารูปมาดูให้เข้าใจ แล้วเอารูปสถานที่กรุงเทพฯ มาดู ศึกษาให้รู้ว่าอยู่ถนน ตรอก ซอยอะไร นั่งดูรูปอยู่ที่บ้าน ท่านผู้อ่านคิดว่าจะถึงกรุงเทพฯ ได้หรือยัง หรือต้องเดินทางอีกต่างหาก มีรูปอยู่ในมือจะถือว่ามีรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน หรือยัง?
    ๒. การกินอาหาร เราเป็นเพียงเรียนรู้จากตำรา อาหารในโลกมีกี่ประเภท กี่ชนิด เช่น อาหารไทย-จีน-ญี่ปุ่น-ฝรั่ง เป็นต้น รู้ด้วยว่าอาหารเหล่านั้นทำด้วยอะไร ทำอย่างไร เมื่อรู้เรื่องอาหารแล้วก็พอแล้ว ไม่ต้องหาอาหารมากิน ความรู้นั้นก็สามารถรักษาชีวิตไว้ได้แล้ว พอแล้ว...ถึงท่านผู้อ่านจะรับรองว่าพอแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่เล่นด้วย จำจะต้องแสวงหาอาหารมากิน กลัวจะไม่ได้เดินบนดินอย่างคนอื่นเขา
    ๓. การทำงาน เมื่อเราศึกษาดูว่า การงานมีทำนา ค้าขาย รับราชการ เป็นต้น เพื่อดำรงชีวิตอยู่ เช่น การทำนา รู้ว่าอุปกรณ์การทำนามีสิ่งต่างๆ เช่น มีควาย จอบ เสียม คราด ไถ มีพันธุ์ข้าว ผืนนา มีนาลุ่มนาดอน เรามองเห็นสิ่งเหล่านั้นตามรูปภาพเป็นตำรา เท่านี้ก็จะรักษานาไว้ได้ รักษาชีวิตไว้ได้ โดยไม่ต้องออกแรงทำงาน...เท่านี้พอหรือยัง?
    ๔. การเงิน เงินเป็นปัจจัยที่เราจะต้องอาศัยดำรงชีพอยู่ เราก็ศึกษาดูว่ามีกี่ประเภท ประเภทไหนบ้าง เช่น ของไทย ธนบัตรใบละห้าร้อย ใบละร้อย ใบละยี่สิบ ใบสิบ เหรียญห้าบาทหรือหนึ่งบาท เราเอารูปมันมาศึกษาจนจำได้ และรู้ว่าในธนาคารเหล่านั้นๆ มีร้อยล้าน พันล้าน เราศึกษาให้รู้ รู้แล้วก็พอ ไม่ต้องทำงานหาเงิน เพราะการรู้เรื่องของเงินก็สามารถรักษาชีวิตครอบครัววงศ์ตระกูลไว้ได้แล้ว ส่วนการไปทำงานได้เงินไม่สำคัญอะไร เป็นเพียงผลพลอยได้นิดๆ หน่อยๆเท่านั้น ท่านผู้อ่านพอจะเชื่อได้ไหมว่า เป็นแต่เพียงเรียนรู้แล้วก็พอ ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้นั้นไปสร้างสรรค์อะไรชีวิตก็ดำรงอยู่ได้...พูดเรื่องอื่นมานาน หันเข้ามาพูดเรื่องปะทะคารมกับลูกศิษย์ท่านดีกว่า
    บ่ายวันหนึ่ง เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นคนชอบสงสัย ทั้งเข้าใจว่าความเห็นของตนถูกต้องเสมอ...ขณะที่พักอยู่ใต้ต้นไม้กลางลานวัด มีลูกศิษย์หลวงพ่อนั่งอยู่ด้วยกัน อายุพรรษาก็ไล่เลี่ยกันกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้พูดปรารภขึ้นว่า “นี่แนะท่าน ผมขอถามหน่อยเถอะ กฎกติกาที่หลวงพ่อตั้งไว้มีอยู่หลายข้อ แต่ข้อที่ว่าห้ามรับเงินและทองและห้ามเก็บไว้เป็นของเพื่อตน ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน ผมว่ามันหนักข้อไปหน่อย ถึงคราวจำเป็นจะไม่ลำบากไปหรือ?”
    ลูกศิษย์หลวงพ่อ “ไม่หนักหรอกพอดี จำเป็นอะไร?”
    ข้าพเจ้า “เช่นเวลาเราต้องการจะไปเยี่ยมญาติ ก็ไม่มีค่ารถ”
    ลูกศิษย์หลวงพ่อ “ท่านบวชมาเพื่อเยี่ยมญาติหรือ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้คนบวชมาเพื่อเที่ยวไปเยี่ยมญาติคนนี้คนนั้น อย่างนั้นหรือ?”
    ข้าพเจ้า “ก็สมมติว่าญาติผู้มีพระคุณป่วย จะทำเป็นใจดำเฉย ไม่ไปเยี่ยม เป็นการสมควรหรือ?”
    ลูกศิษย์หลวงพ่อ “จะไปสมมติทำไม ในเมื่อเรื่องยังไม่เกิดมี ไม่ต้องสมมติ”
    ข้าพเจ้า “ถ้าเผื่อว่าเกิดขึ้นจริงๆ จะทำอย่างไร?”
    ลูกศิษย์หลวงพ่อ “ถ้าเกิดขึ้นจริงก็ไปปรึกษาหลวงพ่อ ท่านจะช่วยแก้ไขให้ ข้อสำคัญอย่าไปเที่ยวสมมติเรื่องให้ยุ่งใจเปล่าๆ”
    ข้าพเจ้า “ถ้าเราอยากฉันก๋วยเตี๋ยว จะเอาอะไรซื้อล่ะ?”
    ลูกศิษย์หลวงพ่อ “ก็เราบวชเข้ามาเพื่อฉันอาหารเท่านั้นหรือ?”
    ข้าพเจ้า “เวลาเราออกธุดงค์เหนื่อยมาไม่มีค่ารถ”
    ลูกศิษย์หลวงพ่อ “มีเท้าก็เดินไป เหนื่อยก็หาที่พักพอเหามะสม ไม่รู้จะรีบร้อนไปศึกสงครามที่ไหน?”
    ข้าพเจ้ายังไม่ยอมแพ้ยังยืนยันต่อไปว่า “ถึงยังไงก็เถอะ เรื่องเงินทองนี่ มันจำเป็นต้องใช้ ไม่น่าจะถือเคร่งครัดเกินไปนัก”
    ลูกศิษย์หลวงพ่อ “อ้อ สรุปแล้ว ท่านอยากจะรับเงินใช้ตามใจคิดสินะ จึงคอยอ้างโน่นอ้างนี่ไม่รู้จักจบ ท่านได้ศึกษาอาบัติโทษละเอียดดีแล้วหรือ?”
    “ก็ยังไม่ละเอียด ไหนลองบอกมา” ข้าพเจ้าอ่อนลง
    ลูกศิษย์หลวงพ่อ “ตามที่ผมได้รับการอบรมมาจากหลวงพ่อนั้น เรื่องปัจจัยเงินทองนี่ ถ้าพระรับไว้ก็เป็นอาบัติผิดศีลเพราะรับ เมื่อเก็บไว้เกิดความโลภอยากได้เพิ่มมากๆ ก็ผิดธรรม นำเงินไปซื้อก็ผิดศีลอีก ได้ของมาถ้าเป็นของใช้ก็เป็นอาบัติทุกครั้งที่ใช้ ถ้าเป็นอาหารก็เป็นอาบัติทุกคำที่กลืน นี่ท่านยังจะจงใจฝ่าฝืนพุทธบัญญัติอีก แสดงว่ายึดถือกิเลสตนเองเป็นที่พึ่ง มิได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งใช่ไหม?”
    “บ๊ะ! แล้วกัน ไงพูดอย่างนั้นล่ะ?” ข้าพเจ้าชักจนแต้ม...
    เรื่องก็ลงเอยกันแค่นั้น บ่ายมากแล้วกลัวจะไม่ทันทำกิจวัตร จึงแยกย้ายกับกลับกุฏิ สรุปแล้วข้าพเจ้าโดนลูกศิษย์หลวงพ่อสอนมวยให้ตั้ง ๒ ครั้งแล้ว จึงพอรู้รสชาติของศิษย์มีครู แม้จะอยู่ในป่า ก็อย่าคิดว่าท่านไม่รู้อะไร อย่าคิดว่าท่านโง่ จากประสบการณ์ ๒ ครั้งก็ยังตัดสินไม่ได้ว่า ใครโง่กว่าใคร?
    วันต่อมาจะเป็นเพราะหลวงพ่อทราบเอง หรือพระรูปนั้นไปแจ้งให้ท่านทราบ หลวงพ่อลงมาร่วมทำวัตรตอนเย็น ทำวัตรเสร็จแล้วท่านจึงให้โอวาทว่า “ตามที่ผมได้พิจารณาดูแล้ว การศึกษาธรรมะจากตำรานั้น มันเหมือนกับเราศึกษาประเทศไทยจากแผนที่..ประเทศไทยทั้งประเทศไม่รู้ว่ากว้างยาวกี่ร้อยกิโลเมตร แต่มาอยู่ในกระดาษแผ่นเดียว ท่านผู้ฉลาดทำเป็นจุดๆ ไว้ว่าจังหวัดนั้นๆ อำเภอนั้นๆ เส้นทางแม่น้ำสายนั้นๆ เป็นสิ่งที่ท่านสมมติเอาไว้แทนที่ของจริง แต่พื้นที่ หนทาง แม่น้ำ มันกว้างใหญ่อยู่ห่างไกลกันมาก ดูแต่ตัวจังหวัดอุบลฯ กับจังหวัดนครพนม ในแผนที่อยู่ห่างกันเพียง ๓-๔ นิ้ว พื้นที่จังหวัดทั้งสองอยู่ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร เดินธุดงค์กว่าจะถึงต้องใช้เวลาตั้งหลายวันหลายคืน เพราะแผนที่กับพื้นที่นั้นมันต่างกันมากอยู่
    การปฏิบัติธรรมต้องเริ่มต้นจากศีลก่อน ศีลเป็นความงามในเบื้องต้น เมื่อเดินองค์มรรคคือศีลแล้วสมาธิและปัญญาก็หนุนเนื่องกันมา แม้แต่พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ท่านสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยครั้งแรก ท่านก็ยกเรื่องศีลขึ้นมาพิจารณาก่อน ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมอย่าได้ประมาท อย่าทำอย่าพูดไปตามความคิดมันจะผิด จะต้องพินิจพิจารณาหาเหตุหาผลให้ดี เพราะทำตามความคิด มักจะผิดไปข้างหน้า ทำตามปัญญามีความถูกต้องไปข้างหน้า คิดดูเถอะอาบัติเล็กๆน้อยๆ อย่าว่าไม่สำคัญ เช่นเดียวกับผงเข้าตาจนน้ำตาไหลมองอะไรก็ไม่เห็น มันขัดเคืองนัยน์ตา เมื่อเราเอาออกแล้วเล็กนิดเดียว งูเห่าตัวเล็กก็อย่านึกว่าไม่มีพิษ พระราชามีอายุยังน้อยก็ย่อมมีอำนาจ ถ้าประมาทอาจเป็นอันตรายได้ ดูแต่มดแดงตัวน้อยๆ อยู่ตามต้นไม้ เขาไปแหย่เอาไข่มันมากิน ประมาทไม่ได้ เวลามันรุมกัดเยี่ยวใส่ด้วย ต้องรีบลงจากต้นไม้สู้มันไม่ได้...
    ให้สังเกตดูต้นไม้ในวัดหนองป่าพง มีแต่ต้นเล็กๆ เป็นส่วนมาก ต้นใหญ่มีน้อย ต้นไม้เล็กๆ นี่แหละมีหลายๆ ต้นรวมกันก็เป็นป่า เวลาลมพัดมา ต้นนี้บังต้นนั้น ต้นนั้นบังต้นโน้น ช่วยกันต้านทานแรงลมช่วยต้นไม้ใหญ่ได้ ถ้าไม่มีต้นไม้เล็กๆช่วย ต้นไม้ใหญ่ก็อยู่ไม่ได้
    ฉะนั้นอาบัติใหญ่ๆ จะยังอยู่ก็เพราะมีอาบัติเล็กๆน้อยๆ คอยช่วยรักษาต้านทานเอาไว้ เข่นเดียวกันหมู่ต้นไม้ในวัดนี้ ทุกรูปอย่าประมาทให้ตั้งใจบำเพ็ญภาวนา รักษาระเบียบวินัย ทำวัตรสวดมนต์อย่าได้ขาดก็จะสามารถเป็นผู้เจริญงอกงามในธรรมวินัยของพระพุทธองค์ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสไว้นานแล้ว”
    ถูกร้องเรียน
    เห็นจะเป็นเพราะข้าพเจ้าชอบพูด ชอบคุย ชอบถาม ชอบสงสัยกระมัง จึงทำให้หมู่บรรพชิตเกิดรำคาญหรือหมั่นไส้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ได้มีพระภิกษุไปเรียนหลวงพ่อว่า “พระมหารูปนี้ชอบพูด ชอบคุยดีนัก...” หลวงพ่อจึงพูดว่า “ปล่อยเขา...เขาเคยเป็นครู...ฟองสบู่โป่งขึ้นเดี๋ยวก็ยุบ...” เมื่อหลวงพ่อทราบเรื่องแทนที่หลวงพ่อจะเรียกข้าพเจ้าไปปราม ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมในหทัยของท่าน ท่านจึงปล่อยไว้ก่อน รอวันเวลาให้ผลไม้แก่พอบ่มได้ ท่านคงจะสอยลงบ่มทีหลัง พูดมาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงพระหัวดื้อในครั้งพุทธกาล มีเรื่องเล่าว่า...
    พระฉันนะ เมื่อบวชแล้วก็ได้อยู่อาศัยในวัดเชตวัน อันเป็นอารามเดียวกับพระพุทธองค์และอริยสงฆ์ทั้งหลาย เพราะมีทิฐิมานะ หัวดื้อถือดี ถือตัวว่าได้ตามเสด็จออกบรรพชาครั้งแรก จึงวางท่าทำหยิ่ง ทำใหญ่อยู่ในวัดเชตวันเพียงรูปเดียว เดี๋ยวพูดแขวะรูปนั้น เดี๋ยวพูดแขวะรูปนี้ วันทั้งวันคงไม่ทำอะไร เรื่องการบำเพ็ญภาวนาไม่ต้องถามถึง จนพระอานนท์ต้องเตือนด้วยความหวังดีว่า “ท่านฉันนะ ภาวะของบรรพชิต ยังมีระเบียบหลายอย่างที่ต้องทำ ต้องปฏิบัติอีกมาก...ควรจะพยายาม...” “อาจารย์อานนท์...ท่านจะเอาตำแหน่งพระพุทธอุปัฏฐากมาข่มผมหรือขอรับ นี่มันเรื่องทีหลัง ผมของถามหน่อยเถอะเมื่อคราวเสด็จออกบวชคราวนั้น ใคร่เล่าขอรับเสนอหน้ามาติดตามไป ไม่ใช่ผมหรือขอรับ” พระฉันนะถามขึ้น เล่นเอาพระอานนท์อึ้งไป ท่านจึงไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “อานนท์...ฉันนะมีคุณแก่ตถาคตมากนะ...”
    ต่อมาท่านพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา เห็นท่าไม่ค่อยงามของพระฉันนะ จึงเตือน “ท่านฉันนะ สมณะย่อมเป็นผู้ใฝ่สงบ มีความสำรวมระวังในเรื่องมารยาท ควรพยายามนะ” “ท่านอาจารย์สารีบุตร จะเอาตำแหน่งอัครสาวกนี่หรือมาขู่ผม เมื่อสมเด็จพ่อออกบวช ใครเล่าขอรับตามเสด็จ มิใช่ผมหรือ?” ท่านพระสารีบุตรก็ต้องพลอยเงียบไป
    อยู่ต่อมา ท่านพระโมคคัลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย เห็นเหตุการณ์ไม่เหมาะไม่ควรที่พระฉันนะประพฤติ จึงเตือนด้วยความปรารถนาดี... “ท่านฉันนะ ชีวิตของบรรพชิตมีการกระทำ มีคำพูด มีระเบียบข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษาอีกมาก ผู้สำรวมด้วยดีย่อมเป็นที่เคารพรักนับถือของสาธุชนทั่วไป จงพยายาม...” พระฉันนะตอบทันควัน “อ้อ ท่านอาจารย์โมคคัลลานะ ท่านคงถือว่าตำแหน่งอัครสาวกที่ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพ่อย่อมเพียงพอที่จะข่มผู้อื่นอย่างนั้นหรือ? เมื่อคราวสมเด็จพ่อออกบวช มีใครบ้างขอรับตามเสด็จ มิใช่ผมหรือขอรับ?” ท่านพระโมคคัลลานะ จำเป็นต้องใช้อุเบกขาธรรมต่อไป
    พระพุทธองค์จึงทรงตรัสหาพระฉันนะ และทรงตักเตือนว่า “ฉันนะ พระอัครสาวกทั้งสองเป็นนักปราชญ์ มีคุณธรรม เป็นกัลยาณมิตรของเธอ...” พระฉันนะได้ฟังพระดำรัส ก็ไม่ทูลตอบอะไร นิ่งเฉยอยู่เพราะความดื้อรั้นมันฝังใน เฉพาะพระพักตร์ทำเป็นเฉย แต่พอเลยเวลานั้นไปก็มีเรื่องวุ่นวายตามเคย
    นับเป็นเวลาหลายวันหลายเดือนต่อมา ได้มีพระสงฆ์สามเณรหลายรูปมีความกังวลใจ ด้วยความปรารถนาดี กลัวว่าจะเป็นการเสื่อมศักดิ์ศรี เสียชื่อเสียงของเหล่าสมณะศากยะบุตร จึงพากันเข้ามาหาพระอานนท์ ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐาก ปรารภขึ้นว่า “ท่านอาจารย์อานนท์ ท่านคงทราบแล้วใช่ไหมว่า พระฉันนะประพฤติตนอย่างไร ทำไมไม่เตือน หรือกราบทูลสมเด็จพ่อให้ทรงทราบ เฉยอยู่ทำไม? ไม่เคารพรัก บูชาสมเด็จพ่อหรือ?” พระอานนท์ตกที่นั่งลำบากใจ ไม่รู้จะทำฉันใด จึงพูดว่า “เรื่องเคารพรัก เทิดทูนบูชาสมเด็จพ่อนั้นพวกท่านไม่ต้องเป็นห่วงผมยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต เรื่องพระฉันนะผมก็เคยกราบทูลแล้ว แต่สมเด็จพ่อตรัสว่า “อานนท์ ฉันนะมีคุณแก่ตถาคตมากนะ” แล้วจะให้ผมทำอย่างไร มันเป็นปัญหาอยู่”
    ความหัวดื้อถือรั้นของพระฉันนะ เป็นภาระที่ยังแก้ไม่ตก ได้โอกาสก็จะเที่ยวเกะกะระรานอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งพระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกหาอีกแล้วทรงตักเตือน “ฉันนะ พระอัครสาวกทั้งสองเป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้มีคุณธรรมสูง เธอควรคบหากัลยาณมิตรเช่นนั้น บุคคลไม่ควรคบมิตรชั่ว ไม่ควรคบคนต่ำช้า ควรคบกัลยาณมิตร ควรคบผู้มีคุณธรรมสูง เพราะมิตรชั่วเสียหายเป็นอันตรายแก่ตนเองและส่วนรวม จึงไม่ควรคบ ไม่ควรนั่งใกล้ ส่วนผู้เป็นกัลยาณมิตร เป็นคนดีมีคุณธรรม ย่อมชักนำไปในทางที่ดี มีประโยชน์สุข จึงเป็นผู้ที่ควรคบ ควรนั่งใกล้”
    เมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนจบลง ได้มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าถึงสัจจธรรม เกิดความปลื้มพอใจในรสพระธรรม แต่พระฉันนะก็ยังเหมือนเดิม...เมื่อเฉพาะพระพักตร์เป็นอย่างหนึ่ง พอห่างพระพักตร์เป็นอีกอย่างหนึ่ง จนกระทั่งพระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่พวกเธอจักไม่อาจทำให้ฉันนะสำนึกได้ ต่อเมื่อเราปรินิพพานแล้ว พวกเธอจึงจักอาจทำได้...” แสดงว่าพระฉันนะอยู่ในภาวะเป็นผลไม้ยังบ่มไม่ได้ ขืนเอาไปบ่มคงจะเน่า ต้องคอยกาลเวลาที่จะมาถึง บรรดาพระภิกษุสามเณรที่ไม่ค่อยพอใจในพฤติกรรมของพระฉันนะจะต้องภาวนาว่า คอยหนอ...คอยหนอ...ต่อไป...
    สังคมใดมีคนหัวดื้อถือรั้นอวดดีอยู่หลายคน ย่อมก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ขัดข้อง ไม่มีความสงบ ดูแต่พระฉันนะดื้อรั้นเพียงรูปเดียว ก็ยังเที่ยวเกะกะระราน สร้างความรำคาญไปเกือบทั่วอาราม จึงขอฝากท่านผู้อ่านไว้พิจารณา หากว่าโลกนี้ยังมี...
    ลูกที่ดื้อรั้น อะไรจะเกิดกับผู้บังเกิดเกล้า
    น้องที่ดื้อรั้น อะไรจะเกิดแก่พี่ๆ
    หลานที่ดื้อรั้น อะไรจะเกิดแก่ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา
    ลูกน้องที่ดื้อรั้น อะไรจะเกิดแก่หัวหน้าและหน่วยงาน
    นักบวชที่ดื้อรั้น อะไรจะเกิดแก่พระศาสนาและอุปัชฌาย์อาจารย์
    เมื่อพระพุทธองค์จวนจะปรินิพพาน พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก จึงทูลถามว่า “บรรดาข้าพระองค์ทั้งหลาย จะพึงปฏิบัติอย่างไรต่อพระฉันนะ” พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า “ดูก่อนอานนท์ พวกเธอพึงลงพรหมทัณฑ์ (การทำโทษแบบผู้ใหญ่หรือแบบพรหม) แก่ฉันนะเถิด...”
    หลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน การปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระ ตลอดถึงการถวายพระเพลิงก็เป็นไปตามที่ทรงแนะไว้ ตลอดทั้งการแจกพระสารีริกธาตุก็ผ่านพ้นไป คงยังอยู่แต่ความเศร้าโศก อาลัยอาวรณ์สำหรับสามัญชน คงเหลืออยู่แต่ธรรมสังเวชที่ปรากฏในหทัยของเหล่าพระอริยสาวก ที่พอจะหยิบยกเอาพระ ๓ องค์ขึ้นพิจารณา คือ พระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา ให้รู้ซึ้งตามความเป็นจริง
    ครั้นต่อมา เมื่อมีการประชุมสงฆ์ พระอานนท์เถระ จึงยกเอาเรื่องพระฉันนะเที่ยวทำความวุ่นวายมานาน เสนอต่อที่ประชุมพระเถราจารย์เพื่อพิจารณา โดยอ้างถึงบัญชาของสมเด็จพระศาสดาเป็นหลักฐาน พระสงฆ์ทั้งหลายนั้นมีความเห็นพร้อมกันให้ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ โดยประกาศให้ทราบทั่วกัน พอสรุปได้ว่า พระฉันนะเป็นคนหัวดื้อ ถือรั้น อวดดี ไม่เชื่อฟังคำเตือน สำคัญตนว่าเก่งกล้าสามารถ ชอบอ้างเอาการตามเสด็จสมเด็จออกบวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมาในคราวนั้น ไม่มีใครอื่นตามเสด็จ ส่วนพระเถรานุเถระอื่นๆ เป็นเรื่องทีหลัง บัดนี้เป็นการยกย่องคนเก่งให้เก่งต่อไป...จึงห้ามพระภิกษุสามเณรทุกรูป ไม่ให้อยู่ร่วม ฉันร่วม ห้ามร่วมสนทนาปราศรัย ห้ามทำกิจใดๆ ทุกอย่างร่วมกับท่านฉันนะอีก จงเปิดโอกาสให้ท่านอยู่อย่างสบายตามอัธยาศัย ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใคร...
    พระฉันนะคนเก่ง ขืนเก่งอยู่รูปเดียวจะไปได้สักกี่น้ำ เมื่อถูกสงฆ์ประกาศลงพรหมทัณฑ์ ลูกโป่งที่ท่านอัดลมไว้ป่างได้เต็มที่และป่างมานานก็ถึงกาลต้องแฟบลงๆ หันหน้าไปหาใครก็ไม่มีภิกษุสามเณรรูปใดสนใจพูดด้วย ไม่มีใครเอื้อเฟื้อเหมือนเมื่อก่อน จะอยู่ จะฉัน จะจำวัตร ก็มีเพียงตนคนเดียว ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เหมือนโลกทั้งโลกมีเพียงฉันนะรูปเดียวเท่านั้น
    ไม่นานวันพระฉันนะเกิดสำนึกผิด รู้ว่าตนดำเนินชีวิตผิดพลาดแล้ว ความอวดเก่งดื้อรั้นถือดีที่เคยทำล้วนแต่นำความไม่สงบมาสู่หมู่บรรพชิต มันไม่เป็นประโยชน์อะไร กลับเพิ่มทุกข์โทษแก่ตนเองและส่วนรวม ยิ่งคิดก็ยิ่งเสียใจ โลกหนอทำไมถึงเป็นเช่นนี้...ตามประวัติเล่าว่า พระฉันนะถึงกับเป็นลมสลบตั้ง ๓ ครั้ง พอคิดได้ว่าเราทำผิด คิดผิด พูดผิดมาแล้ว ต้องกลับตัวเสียใหม่ เริ่มต้นใหม่ดีกว่า จึงนุ่งสบง ทรงจีวร ทาบสังฆาฏิ มีเครื่องสักการะในมือ เข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์ขออโหสิกรรม ประณมมือกล่าวว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ได้โปรดเถิด...ขอท่านทั้งหลายได้โปรดเมตตา อย่าได้ทำลายกระผมให้พินาศจากสมณะเพศ พินาศจากคุณธรรมที่ดีงามเลย กระผมยอมรับผิด สำนึกผิดทุกๆกรณี ที่ประพฤติล่วงเกินมาแล้วนั้น เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของกระผมเอง ขอท่านพระเถรานุเถระทั้งหลาย ได้โปรดเมตตากระผมเหมือนเดิมเถิด กระผมพร้อมที่จะปฏิบัติตามทุกอย่างตามแต่จะบัญชา...”
    บัณฑิตท่านสอนว่า “คนทำผิดสำนึกผิดแล้วอย่าฆ่า คนเป็นบ้ารู้ว่าบ้าอย่าถือ” เมื่อพระสงฆ์เห็นกิริยาอาการนอบน้อมแสดงคารวะมาขอขมาต่อสงฆ์ สงฆ์ทั้งหลายที่มีเมตตาอยู่แล้วก็จึงได้ประกาศให้อภัยแก่ฉันนะภิกษุ รับเข้าหมู่คณะเหมือนเดิม พระฉันนะเมื่อขอขมาต่อสงฆ์แล้ว ก็มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะต่อเพื่อนบรรพชิตในอาราม มุ่งมั่นต่อการสร้างชีวิตใหม่ เดินจงกรม นั่งสมาธิ มีสติกำหนดรู้อยู่ทุกอิริยาบถ พิจารณาเห็นสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร บางครั้งก็สาธยายอาการสามสิบสอง มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ยกขันธ์ ๕ ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เจริญรอยตามบาทพระอรหันต์ ไม่นานวันก็ได้บรรลุอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ เป็นผู้กล้าหาญในหมู่พระอริยสาวกของพระศาสดา เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ชีวิตของท่านพอจะกล่าวได้ว่า เป็นนักบวชประเภท “ต้นคดปลายตรง” ที่น่าศึกษา ข้าพเจ้าจึงกราบคารวะพระคุณของพระฉันนะอรหันต์ไว้ ณ ที่นี้ และเสริมคุณความดีของท่านว่า...
    ต้นคดนัก ชักไม่งาม ความดีหาย
    แต่ตอนปลาย ท่ามกลาง ยังตรงอยู่
    ก็ยังมี คุณค่า น่าเอ็นดู
    เมื่อท่านรู้ กลับตัวใหม่ ได้ดีเอย...
    เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่วัดหนองป่าพง จะว่าข้าพเจ้าเป็นคนดื้อรั้นก็หาไม่ แต่เรื่องอวดดีนั้นก็พอมีอวดอยู่บ้าง เพราะข้าพเจ้าเป็นคนชอบคิดชอบสงสัย มันสงสัยมานานแล้ว ก่อนจะมาอยู่วัดหนองป่าพงเสียอีก มาอยู่ได้ยังไม่ถึงเดือน จะไม่ให้สงสัยได้อย่างไรกัน เมื่อตั้งปัญหาก็ต้องหาคำตอบ กำลังค้นหา กำลังพิจารณาหาคำตอบ ซึ่งอยู่ในระหว่างสังเกตการณ์ จะให้ทำใจเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ได้อย่างไรกัน คนเชื่อง่ายเกินไปก็ไม่ดี คนปฏิเสธไม่ยอมฟังไม่ยอมเชื่อเลยก็ไม่ดี ส่วนผู้ที่รับฟัง ตรองดูอย่างมีเหตุผลแล้วจึงเชื่อ บรรพชิตทั้งหลายก็สรรเสริญมิใช่หรือ?
    เมื่อข้าพเจ้าชอบพูดคุย ขอบซักถาม จึงถูกลูกศิษย์ของหลวงพ่อสินให้สำนึก ให้มีความระมัดระวังกว่าเก่า หลังจากหลวงพ่ออนุญาตให้เปลี่ยนบริขารให้ข้าพเจ้าแล้ว จึงมีลูกศิษย์ท่านพูดให้ฟังว่า ตอนที่ทำตนเป็นคนพูดมาก สงสัยนั่น สงสัยนี่ ได้มีพระไปเรียนให้หลวงพ่อทราบ คงจะต้องการให้ท่านปรามข้าพเจ้า แต่หลวงพ่อท่านเมตตากรุณา เป็นเพียงพูดว่า “ปล่อยเขา เขาเคยเป็นครู...ฟองสบู่โป่งขึ้นเดี๋ยวเดียวก็ยุบ...” เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังถึงกับสะดุ้ง จึงนึกตำหนิตนเองว่า เรานี่ก็เกินไปแล้วแหละ มาอยู่กับท่านก็ทำอะไรไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่น่าก่อความรำคาญแก่ท่านผู้ปฏิบัติ ดีนะนี่ที่หลวงพ่อไม่เรียกไปตำหนิเสียตอนนั้นให้อยู่มือ ท่านอุตส่าห์ปล่อยไว้ให้กาลเวลาสอนข้าพเจ้าเอง และก็ได้ผลเสียด้วยซี...
    เมื่อข้าพเจ้าตัดสินใจจะอยู่กับท่านแน่นอน หลวงพ่อจึงสั่งให้ตัดเย็บไตรจีวร และบริขารอื่นๆ เตรียมไว้ เมื่อครบ ๑ เดือน ท่านจึงจะเปลี่ยนให้ ผ้าสบงมี ๕ ขันธ์ จีวรและสังฆาฏิมี ๗ ขันธ์ ตัดเย็บให้มีในอาวาส มิได้ใช้ของตามตลาด จะมีบ้างก็เป็นบริขารเสริมเท่านั้น

  10. #10
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jobloi
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    กระทู้
    182

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง

    Re: หนึ่งเดือนในป่าพง
    ความหยาก


    “แม่น้ำ (ที่กว้างใหญ่) เสมอด้วยตัณหาย่อมไม่มี” พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้นานแล้ว ยังไม่มีใครกล้ากล่าวคัดค้านท่านได้เลย
    วันแห่งการรอคอยช่างเนิ่นนานเสียจริงๆ “ต้นข้าวคอยฝน คนคอยคนรักจะมา คนไข้คอยหมอ เรารอวันเปลี่ยนบริขาร แหม มันช่างนานแท้ๆ” บางวันชำเลืองดูท้องฟ้า อยากจะขอร้องดวงอาทิตย์ ดวงกันจันทร์ให้แข่งกันหมุนเร็วเข้าหน่อย ข้าน้อยอยากเปลี่ยนผ้า...พูดถึงเรื่องเวลา คน ๒ พวก มีความคิดเห็นต่างกัน พวกเจ้าหนี้คิดอยากให้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หมุนเร็วๆ จะได้สิ้นเดือนเก็บดอกเงิน ถ้าเดือนใดไม่จ่ายจะได้คิดดอกทบต้นเข้าไว้ ส่วยฝ่ายลูกหนี้ก็อยากขอร้องให้หมุนช้าๆหน่อย อยากให้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หมุนช้าลงสัก ๑๐๐ เท่า เพื่อจะได้หายใจสะดวก...นี่อะไรหายใจเพียงเฮือก สองเฮือก จะสิ้นเดือนอีกแล้ว หายใจตีบตันเพราะวันจ่ายดอกเบี้ยใกล้เข้ามาอีกแล้ว...แต่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ก็ทำงานตามหน้าที่ปกติ ไม่เอนเอียงไปฝ่ายใด จะมีใครรักหรือชัง จะสรรเสริญหรือนินทา ข้าไม่ว่า ถ้าทำตามใจมนุษย์ย่อมถึงจุดพินาศเร็ววันเข้าทุกที ฉันมีอิสระเฉพาะตัวของฉันเอง...มนุษย์ไม่เกี่ยว...
    ดูแต่ข้าพเจ้า จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม จะสวดมนต์ทำวัตรหรือทำกิจใดๆ จิตใจมันคิด...คิด...คิดอยากจะเปลี่ยนบริขารเมื่อใดหนอหลวงพ่อจะอนุญาตให้เปลี่ยนผ้า จะได้ใช้ผ้าสีเดียวกับเพื่อนร่วมวัดทั้งหลาย บางวันฉันข้าวอยู่ดีๆ จิตมันวับ...ไปเก็บเอาเรื่องอยากเปลี่ยนผ้ามาปรุงแต่งอีกแล้ว พูดมาถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงพระอรหันต์รูปหนึ่งทูลตอบพระราชาว่า “โลกคือหมู่สัตว์พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา” นึกสงสัยตัวเอง...เอ๊ะ! เราก็ตกเป็นทาสของตัณหาเหมือนกันหรือนี่?
    หลวงพ่อชาคงทราบเรียบร้อยแล้ว...ว่า ความอยากเป็นมารมันเล่นงานข้าพเจ้าอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไม่เป็นอันบำเพ็ญธรรมเท่าใดนัก วันหนึ่งท่านจึงถามว่า “ไตรจีวรตัดเย็บย้อมเรียบร้อยดีแล้วหรือ?” ด้วยความดีใจ นึกว่าท่านจะสั่งให้เปลี่ยน จึงตอบท่านว่า “เรียบร้อยดีแล้วขอรับ...” คิดในใจว่าหลวงพ่อคงสั่งให้เปลี่ยนแน่ๆ แต่...พระอนิจจังทำงาน...ได้ยินท่านพูดว่า “เอ้อ! เอาไว้นั่นแหละ กลับมา (ครั้งใหม่) จึงค่อยเปลี่ยน” ข้าพเจ้าถึงกับอุทานในใจว่า “อ๋อย! หมดหวังแล้วหลวงพ่อ”
    พอได้ยินหลวงพ่อพูดเช่นนั้น ความหวังพังทลาย พร้อมกับความอยากก็หลบหน้าหายไปด้วย ความทุกข์ชนิดเป็นพิษหน่อยๆ ก็พลอยดับลง ข้าพเจ้าปลงใจว่า หลวงพ่อไม่ให้เปลี่ยนก็ดีแล้ว เพราะรักษาของๆ ท่านไม่ดีพอ อาจจะมีผลเสียกลับมาอีกครั้งท่านคงเปลี่ยนแน่
    ข้าพเจ้าได้กราบเรียนให้หลวงพ่อทราบในเมื่อเปลี่ยนบริขารแล้ว จะต้องขออนุญาตกลับวัดเก่า เพื่อจัดการการศึกษาปริยัติธรรมให้เข้ารูปเข้ารอยเสียก่อน ใช้เวลาประมาณ ๒ เดือน ดังนั้นระยะกลับถิ่นเดิมนั้นอาจจะทำบริขารของท่านสกปรก(ทางวินัย) ก็อาจเป็นได้...คิดว่าท่านไม่เปลี่ยนให้ก็แล้วแต่ท่าน...แต่ความจริงนั้น ท่านต้องการปราบมารที่มันผจญข้าพเจ้าเท่านั้นเอง
    บ่ายวันหนึ่งประมาณ ๕ โมงเย็น ข้าพเจ้ามาเดินจงกรมอยู่บนทางเท้ารอบศาลาเล็ก ที่ใช้เป็นโรงอุโบสถสวด-ฟังปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน ขณะที่กำลังเดินจงกรมจิตสงบเบาสบาย ปรากฏว่าได้ยินเสียงธรรมะในส่วนลึกของจิตว่า... “อย่าจริงจังอะไรกับชีวิต อย่าจริงจังอะไรกันสิ่งทั้งปวง...” เป็นเสียงที่ฟังชัดเจนและจำติดใจอยู่เสมอมาไม่ลืม ทำให้นึกถึงพระพุทธพจน์ที่ตรัสย่อพระไตรปิฏกเหลือเพียงบรรทัดเดียวว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ แปลว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” ข้าพเจ้าพิจารณาดูแล้วรู้สึกพอเข้ากันได้ หรือท่านผู้อ่านจะมีความเห็นอย่างไร?
    เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่วัดหนองป่าพงครบหนึ่งเดือน วันนั้นเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ กำหนดวันเวลาที่อยู่วัดหนองป่าพงจบลงแค่นี้ก่อน จะต้องกลับวัดเดิม ปรับปรุงการเรียนการสอนครบ ๒ เดือนแล้วจึงจะกลับมา เรื่องการเปลี่ยนผ้าก็ไม่มีความหมายเท่าไร เมื่อใดก็ได้ พรุ่งนี้เราจะต้องกราบลาหลวงพ่อกลับแล้ว...แต่พระอนิจจงก็ทำงานของท่าน...หลวงพ่อสั่งให้ข้าพเจ้านำบริขารที่เตรียมไว้เข้าสู่โรงอุโบสถ และเปลี่ยนให้เรียบร้อยแล้ว จึงได้ฟังสวดปาฏิโมกข์ร่วมกับคณะสงฆ์ ได้เป็นพระปฏิบัติตามรูปแบบที่ท่านเป็นอยู่ วันนั้นตรงกับวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑
    เป็นอันกล่าวได้ว่า ความอยากเปลี่ยนบริขาร ก็ได้สมใจอยากในวันนี้ แต่มันแปลกเมื่ออยากได้กลับไม่ได้ พอทอดอาลัยว่าหมดหวังช่างหัวมันไม่อยากได้ แต่กลับได้ รู้สึกว่าในระยะต่อมากลายเป็นกฎเกือบจะพูดได้ว่าตายตัว ถ้าหากข้าพเจ้าต้องการสิ่งใดแล้วมักจะยังไม่ได้ แต่พอทอดอาลัยปลงเสียเถอะพ่อคุณไม่ได้ก็ช่างมัน ไม่นานวันกลับได้สิ่งนั้นตามที่เราต้องการ คล้ายๆกับหลวงพ่อได้ประทานกฎอันนี้ไว้สำหรับชีวิตของเรา หรือท่านจะสอนว่า
    “อยากมาก ทุกข์มาก อยากน้อย ทุกข์น้อย
    หมดอยาก หมดทุกข์ ยิ่งยึดยิ่งทุกข์ หยุดยึดก็หยุดทุกข์”
    ข้าพเจ้าใคร่จะบันทึกวิธีการเปลี่ยนบริขาร ที่หลวงพ่อทำมาเป็นประจำเมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ร่วมวัด เพื่อป้องกันความเข้าใจสับสน เพราะมีคนเขาเล่าว่า “ใครจะไปอยู่กับหลวงพ่อชานั้น ยากลำบากมาก จะต้องบวชใหม่ หรือไม่ก็ลดพรรษา มีปัญหาหลายอย่าง...” ฟังเขาว่าไม่เข้าท่าสู้เข้าไปศึกษาสัมผัสด้วยตนเองจะดีกว่า จะต้องเข้าไปฟังด้วยหู ดูด้วยตา พิจารณาด้วยใจ จึงจะมีประโยชน์รู้ความเป็นจริง เพราะผู้ใหญ่เตือนไว้ว่า “เขาว่าเอาห้าหาร” หลวงพ่อขาท่านก็เคยสอน “เขาว่า...เขาว่านี้นะ ต้องพิจารณาให้ดี เพราะเขาเกิดทีหลังหู บางทีก็หลุดร่วงได้เช่นเขากวาง...”
    เมื่อมีพระภิกษุต้องการจะเข้าไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ปฏิบัติธรรม ก็จะต้องไปเป็นอาคันตุกะไปก่อน สังเกตพิจารณาดูระเบียบข้อวัตรปฏิบัติ เป็นที่พอใจดีแล้ว ใคร่ต่อการปฏิบัติธรรมจริงๆ จึงแจ้งความประสงค์ของตนให้ท่านทราบ เมื่อหลวงพ่อพิจารณาดูโดยถามจากศิษย์ของท่าน ที่คอยดูแลแทนท่าน ทราบว่าเป็นผู้มีความสำรวมเอื้อเฟื้อต่อข้อวัตรปฏิบัติพอสมควร และอยู่เป็นอาคันตุกะได้อย่างน้อยหนึ่งเดือนขึ้นไป หลวงพ่อจึงจะสั่งให้เปลี่ยนบริขารได้ แต่ถ้าหากเป็นผู้มาอยู่เพียงทดลอง มารยาทไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่เอื้อเฟื้อต่อข้อวัตรปฏิบัติ แม้จะมาอยู่ ๒-๓ เดือน หลวงพ่อก็ไม่รับเข้าเป็นลูกศิษย์ บางรูปก็กลับไปเอง
    เมื่อได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนบริขาร พระอาคันตุกะรูปนั้น จะต้องนำผ้าและของใช้ต่างๆ ที่นำมาจากวัดเดิม เข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์ เพื่อสอบถามว่าได้มาอย่างไร ถูกต้องตามวินัยหรือไม่ ถ้าเป็นผ้าทำพินทุอธิษฐานหรือไม่ มีอะไรที่ไม่เหมาะ หรือมีความสงสัยเกี่ยวกับบริขาร เช่นซื้อมา หรือขอมาจากคนไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่คนปวารณา จะต้องกล่าวคำเสียสละทิ้งไป รับเอาบริขารใหม่ที่ท่านจัดให้ ครองผ้าให้ถูกต้องดีแล้วปลงอาบัติ ชำระความผิดทางวินัยให้เรียบร้อย จึงจะถือว่าบริสุทธิ์ตามวินัย และท่านจะไม่อนุญาตให้กลับวัดเดิม
    หลวงพ่อท่านเน้นเสมอว่า การขอของนั้นต้องระวังให้มาก อย่าให้อำนาจของความอยากครอบงำจะทำให้เกินงาม คำว่าญาติหมายถึง ญาติสายโลหิตทั้งฝ่ายบิดาและมารดา ส่วนคำว่าคนปวารณาหมายถึง คนที่มิใช่ญาติ เมื่อเขาเกิดความเคารพเลื่อมใสนับถือ เขาต้องการถวายของใช้ เขาจะพูดว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อท่าน ถ้าท่านต้องการสิ่งใดอันควรแก่สมณะบริโภคแล้ว นิมนต์เรียกร้องได้...” คนที่พูดกับพระอย่างนี้พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า คนปวารณา ไม่ใช่ปวารณาออกพรรษา มันคนละเรื่องกัน
    วันนั้น (๒๖ เม.ย. ๒๕๑๑) ข้าพเจ้านำผ้าและของใช้ พร้อมทั้งกระเป๋าและซองเงินที่เอามาจากวัดเดิม เข้าสู่โรงอุโบสถ เมื่อหลวงพ่อสอบถึงการได้บริขารมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ให้กล่าวคำเสียสละ ส่วนเงินนั้น ท่านให้กล่าวคำเสียสละแล้วโยนไปทางด้านหลัง ไม่ให้กำหนดที่ตก นอกนั้นก็มีร่มผ้าแบบพับได้ ปากกา ไฟฉายเล็กๆ และนาฬิกา โดยเฉพาะไฟฉายเล็กหายากและนาฬิกาข้อมือ ขณะที่กล่าวคำเสียสละรู้สึกเสียดาย คิดว่าเมื่อหลวงพ่ออนุญาตพิเศษให้กลับไปปรับปรุงการศึกษาเป็นเวลา ๒ เดือน เราจะได้อะไรหนอดูเวลาเมื่อทำการสอน แต่ก็น่าแปลกใจมาก หลวงพ่อท่านนั่งดูในท่ามกลางสงฆ์ ได้ยินท่านพูดว่า “อ้อ เสียสละนาฬิกาด้วยหรือนี่?” ท่านล้วงเอานาฬิกาออกจากย่ามยื่นให้ข้าพเจ้า พร้อมกับพูดว่า “เอาของผมนี่...แล้วก็นี่ไฟฉาย...” ข้าพเจ้านอบรับด้วยความคารวะแสดงอาการขอบพระคุณท่าน เมื่อเราสละไปท่านก็สละของท่านให้เรา เขาเรียกว่า “ของเก่าไหลไป ของใหม่ไหลมา” ข้าพเจ้าคิดว่าท่านคงทราบวาระจิตของข้าพเจ้าแน่นอน ท่านจึงให้ในทันทีทันใด ถือว่าท่านเมตตาช่วยปลอบใจและให้กำลังใจข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก
    ของเก่าที่หลวงพ่อให้ข้าพเจ้าในวันนั้น ยังเหลืออยู่ทุกวันนี้ก็มีบาตรและนาฬิกา นาฬิกาแม้จะชำรุดไปบ้างแต่ก็ยังพอซ่อมได้และอีกอันหนึ่งคือไม้เท้า รู้สึกว่าจะเป็นไม้เท้าอันแรกที่หลวงพ่อถือเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก (ปี พ.ศ. ๒๕๒๐) เมื่อข้าพเจ้าอาพาธหนักพักรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดอุบลฯ ปี ๒๕๒๒ นั้น หลวงพ่อกลับจากต่างประเทศครั้งที่สอง ท่านไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล เห็นการเดินทรงตัวของข้าพเจ้าไม่ดี ท่านจึงอนุญาตให้เอามาใช้ ขณะนี้ข้าพเจ้าก็ยังเก็บรักษาไว้อยู่ที่วัดป่าวิเวก
    ข้าพเจ้าใคร่จะชี้แจง วัตถุของใช้และผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ (ของที่ผิดวินัข จะพ้นผิดต้องนำมากล่าวคำเสียสละและปลงอาบัติ จึงจะพ้นผิด) ไว้ให้พระบวชใหม่ได้เข้าใจ พอเป็นข้อคิดบ้าง คือ
    ๑. ของหรือผ้าใดที่ภิกษุขอหรือพูดเลียบเคียงได้มาจากคนไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา
    ๒. ของหรือผ้าที่ภิกษุรับเงินไว้ ซื้อเอาเองหรือใช้ให้ผู้อื่นเอาไปซื้อให้
    ๓. ผ้าไตรจีวรที่ภิกษุนุ่งห่มวันทำพิธีอุปสมบท ปล่อยปละละเลย อยู่ปราศจากการดูแล ไม่รักษาจนอรุณขึ้น ยังมิได้ทำพิธีเสียสละตามวินัย
    ๔. ผ้าที่ได้มาใหม่ ใช้โดยมิได้ทำพินทุอธิษฐาน หรือผ้าที่ภิกษุเก็บไว้นานเกินกำหนดพุทธบัญญัติ ถ้าผ้าหรือของเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุเอามาใช้อย่างเดียวก็เป็นอาบัติทุกกฎตัวเดียว ถ้าใช้พร้อมกัน ๕ อย่างก็เป็นอาบัติครั้งละ ๕ ตัว พูดถึงเรื่องเงินทองนั้นมีอาบัติโทษหลายอย่างเช่น ภิกษุรับเงินหรือทองเป็นอาบัติเพราะรับ เรียกว่าผิดศีลเพราะรับ เอาไปเก็บไว้เกิดความอยากได้อีก อยากได้มากกว่าเดิม จิตเศร้าหมองก็ผิดธรรม ถ้าเอาเงินไปซื้อของก็ผิดศีลเพราะซื้อ เอามาใช้ก็ผิดศีล (เป็นอาบัติ) ทุกๆ ครั้งที่ใช้ หากท่านผู้ใดต้องการความละเอียดพึงตรวจดูจากหนังสือบุพพสิกขาวรรณนาวนัยกถานั้นเถิด

หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 2 หน้า 12 หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •