ป่าพงดงธรรม

ป่าพงดงธรรม เป็นหนังสือธรรมะที่
หลวงพ่อพระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตฺโต) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
ท่านได้เขียนขึ้น ในช่วงเข้าไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับหลวงพ่อชา พอให้ท่านผู้สนใจ
ใฝ่ในธรรมะ ได้อ่าน ได้ศึกษา เพื่อนำไปใช้ให้เกิดความร่มเย็นในชีวิตต่อไปครับ


ป่าพงดงธรรม

ใบพยอม

บ่ายวันหนึ่ง หลังจากข้าพเจ้าเดนจงกรมนานพอสมควรแล้ว คิดว่าจะนั่งสมาธิ ธรรมชาติก็ได้บอกธรรมะให้รู้สึกว่าแดดส่องร้อนกาย จึงกระเถิบเข้าไปใต้ต้นพยอมต้นหนึ่งพอหลบแดด เกิดความคิดว่า ทำไมนะใบพยอมเพียงใบเล็กๆแค่นี้ ก็ยังสามารถบังแดดได้ คำตอบก็ตามมา...เพราะใบพะยอมแต่ละใบ มันทำตามหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ ใบแต่ละใบยังยึดกิ่งเล็กกิ่งน้อย คอยทำหน้าที่ไม่บกพร่อง เรามองดหูเห็นใบนี้บังใบนั้น ใบนั้นบังใบโน้น ติดต่อกันไป ก็สามารถบังแดดให้เราได้
คนเรานั้น ถ้าหากทุกๆคนทำตารมหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ด้วยความรักสามัคคีปรารถนาดีต่อกัน มีความเสียสละให้อภัย ไม่เบียดเบียนใครๆ ดังเช่นใบไม้เหล่านี้ ย่อมสามารถดับร้อนผ่อนทุกข์ลง พอมีทางสร้างโลกให้เกิดสันติสุขได้บ้าง ข้าพเจ้าเริ่มสำรวจดูใบพะยอมต้นนั้น เพื่อให้รูแน่ว่าจะมีใบที่บริสุทธิ์ไม่เว้าแหว่ง หรือเป็นปมปูดประมาณเท่าใด... รู้สึกว่ามีน้อยมากเพราะโดยมากล้วนแต่เป็นใบมีปูดปม เว้สาแหว่ง มีช่องทะลุกลางหรือไม่ก็มีขอบใบแห้งกรอบขรุขระ ไม่ค่อยราบเรียบ ทั้งๆ ที่ใบของมันมีความผิดปกติอยู่มาก หากแต่ว่ามันอาศัยร่วมกันในต้นเดียวกัน ช่วยกันรักษาหน้าที่ของตนไม่เกี่ยงงอนกัน ใบของมันจึงสามารถบังแดดให้เราได้ดี
คนเรานั้น ถึงแม้จะยังไม่เป็นคนดี มีความบริสุทธิ์เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าหากรู้จักระวังตัวเอง ตั้งใจทำตามหน้าที่ให้ถูกต้องคงเส้นคงวา เมื่อผู้ใดผิดพลาดไปก็สำนึกตนกลับตัว กลับใจ มีการให้อภัยแก่กัน ตั้งความปรารถนาดี มีเมตตา หาโอกาสสร้างความดี หลีกหนีความชั่วเสียหาย อันเป็นอันตรายต่อตนและสังคม สั่งสมคุณธรรมให้เกิดในดวงใจ ย่อมทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีชีวิตก้าวหน้าได้ชื่อว่าช่วยกันรักษามรดกของไทยไว้ ให้ดำรงอยู่สืบต่อไป
ขณะที่เรากำลังพิจารณาธรรมจากใบไม้อยู่นั้น มียุงตัวหนึ่งบินมาเกาะที่แขน ดูดเลือดตั้งแต่เมทื่อไรไม่ทราบ รู้สึกเจ็บๆ คันๆ จึงเหลียวไปดู เห็นมันดูดเอาเลือดของเราเข้าไปเกือบครึ่งท้องแล้ว ทีแรกคิดว่าจะไล่มันไปเพราะเสียดายเลือด พลางคิดว่า นี่ถ้าเป็นโยมน่ะ แกจะต้องหมดสภาพเป็นยุงแล้ว...ช่างหัวมันเถอะ ไหนๆมันก็ได้กินไปแล้ว ปล่อยให้มันกิน อิ่มแล้วมันก็ต้องหยุด มันไม่มีขวดนมมีแก้วมาใส่อีกหรอก เราก็เคยกินเขามามากต่อมาก ตั้งแต่เล็กจนโต คราวนี้เป็นทีของเขามั่ง
ยุงกินเลือดเราเสียจนอิ่มท้อง มันคงนึกว่า “แหม...วันนี้โชคดีเหลือหลาย ได้กินเลือดสัตว์ใหญ่ อร่อยอย่าบอกใคร สาธุ...วันหน้าขอให้เจออย่างนี้อีก...”
มันคงไม่รู้หรอกว่า ขณะที่มันได้กินอย่างอร่อยจนอิ่มท้อง แต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียของหวงแหนไปจนได้รับทุกข์ เรียกว่า หาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น มนุษย์ประเภทนี้ยังจะพอมีอยู่ในโลกสักมากน้อยเพียงใด แค่ไหนเล่านี่กระมังที่เขาพูดกันว่า “โตข้างเดียว” ไม่ดีเลย มีแต่เป็นพิษเป็นภัยต่อส่วนรวม
ยุงกินเลือดอิ่มจนท้องป่อง มองดูคล้ายลูกหว้าสุก ข้าพเจ้ากระดิกแขนเพื่อเตือนหมันบิน แต่มันยังบินไม่ได้ มองดูขามันกระดิกไปมาอยู่ เหนื่อยเพราะหนักท้อง บินลำบาก เลยได้ข้อคิดว่า
“อิ่มน้อยพอสบาย อิ่มมากหนักเหนื่อยกาย”
ข้าพเจ้ากระดิกแขนเป็นครั้งที่สอง ยุงบรู้สึกเริ่มบินแต่บินช้า บินต่ำ จึงบินติดตาข่ายที่แมงมุมขึงไว้ เจ้าแมงมุมไม่รอช้า วิ่งมาตามใย รีบขม้ำยุงเป็นอาหาร อีกแประเดี๋ยวเดียวกิ้งก่าน้อยกระโดมาจากไหนไม่ทราบ มางับเอาแมงมุมกินแลบลิ้นแปร๊บๆ ทำตาปริบๆ สักครู่แมงหมาร่า (แมงหยอด) บินหวิวมาจะจับเอากิ้งก่า แต่กิ้งก่ารู้ทันกระโดดหลบลงโคนไม้ จึงรอดพ้นไปได้ แหม...เล่นเอาเราใจหายใจคว่ำ เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วเหลือเกิน เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว เราได้แต่ปลงสังเวช “อนิจจา วะตะ สังขารา”
นี่หรือ? สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร ต้องดิ้นรนหามาประทังชีวิต ใครอื่นจะเดือดร้อนหรือตายไปไม่ได้คิด “สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก สัตว์เล็กกินสัตว์ตัวนิดๆ สัตว์ตัวนิดๆ ไม่มีอะไรกินก็กินตะใคร่น้ำ” มันคงกินกันและกันไปอีกนานเท่านาน เรื่องเมตตาสงสารกันเขาคงไม่รู้เรื่อง เพราะเป็นพวก อภัพสัตว์ ไม่ควรแก่การเข้าใจธรรมะใดๆ ทั้งสิ้น เราอุตส่าห์ให้ยุงกินจนอิ่ม แต่แล้วไปเพิ่มความอิ่มกันเรื่อยๆ ดีหน่อยที่กิ้งก่าไหวตัวทันจึงไม่ตกไปเป็นเหนื่อยแมงหมาร่า เพราะกิ้งก่ายังไม่อิ่ม จึงมีความคล่องตัวหลบอันตรายได้เร็ว
ส่วนหมู่มนุษย์นั้น เป็นสัตว์เมือง อยู่กันเป็นหมู่เหล่ามีจิตใจที่สามารถพัฒนาได้ อบรมให้เข้าใจในธรรมะได้ดี มีธรรมะเป็นอาหารใจ แก้โรคทางใจ พระพุทธองค์และอริยะสงฆ์สาวก ก็ผ่านการอบรมจิตใจให้เกิดธรรมะจนสามารถเปลี่ยนภาวะจากจิตธรรมดาให้สูงขึ้น จนได้รับความสะอาด สว่าง สงบมาแล้ว
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” นั้น คงมิได้หมายเฉพาะโรคทางกายอย่างเดียว คงหมายถึงโรคทางใจด้วย เพราะโรคทางใจมีมากสลับซับซ้อน ละเอียดจนไม่สามารถใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจสอบดูได้ เห็นจะต้องใช้กล้องธรรมทรรศน์ (ข้าพเจ้าตั้งชื่อเอาเอง) จึงเห็นชนิดของเชื้อโรคต่างๆ และหาทางรักษาให้หายได้ พระพุทธองค์ทรงใช้เวลารสร่างกล้องและตัวยารักษาโรค โดยใช้ความพยายามอยู่ 6 พรรษา จึงสำเร็จลงได้และกลายเป็นพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ต่อมาพระองค์ก็เสด็จไปในสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งมีสาวก (นายแพทย์) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยๆ เป็นพันๆ
พระองค์ตรัสสอนไว้ว่า “พึงตั้งตนไว้ในคุณธรรมอันดีเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นทีหลัง จึงจะไม่กลายเป็นบัณฑิตสกปรก”
เราเองก็เคยโดนหลวงพ่อจี้มาแล้วว่า “เธอเองก็เหมือนกันแหละ มัวแต่สอนคอื่น” เราเองเคยผ่านการหัดเขียนรูปม้ามานาน ทั้งยังเคยเป็นอาจารย์สอนคนอื่นให้เขียนรูปม้ามาแล้ว ซ้ำยังเคยปลื้มใจดีใจว่า เรามีม้า(ม้ากระดาษ) แล้ว
บัดนี้เรามีโอกาสมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา พยายามหาม้าขี่สักตัว เพื่อช่วยผ่อนแรงในคราวออกเดินทาง คงจะสร้างความสงบสุขให้บ้างตามสมควร ไม่จำเป็นต้องแสวงหาครูบาอาจารย์อื่นอีก เพราะทุนไม่มี เวลาก็น้อย หลวงพ่อท่านสอนว่า “ดูใบไม้ (ใบพยอม)ใยเดียวให้เข้าใจชัด มันก็เหมือนกั้นหมดทั้งต้น” การเที่ยวนมัสการครูบาอาจารย์ให้มาก ไม่ต่างอะไรกับเที่ยวไปชมสมบัติเศรษฐี ยกย่องว่ามีสมบัตินานาชนิด ชมเศรษฐีนี้แล้วไปเศรษฐีนั้น ไปหาเศรษฐีโน้น ตราบใดที่เรายังจนอยู่ มันก็จนเรื่อยไป สู้เราไปชมสักคนสองคน แล้วเรียนเอาตำราวิชาที่ทำตนเป็นเศรษฐีดีกว่า เมื่อเราเป็นเศรษฐีแล้ว ก็ไม่ต้องวิ่งวุ่นวายเที่ยวชมอีกต่อไปให้เสียเวลา นี่เราพูดแบบปลอบใจตัวเอง แต่สำหรับท่านผู้มีปัจจัยเดินทางและมีเวลาก็ขอเชิญท่านมุ่งหน้าต่อไปตามสบาย...
เสียงระฆังดังกังวานไปทั่วป่า บอกเวลาบ่าย 3 โมง ถึงเวลาทำกิจวัตร ข้าพเจ้าจึงลุกขึ้นเดินออกจากเงาร่มพยอมต้นนั้นไป...
ป่าพง ถิ่นส่งเสริม สร้างนิสัย
ดงธรรม นำฤทัย ให้สุขี
ป่าพง แดนสงบ พบดวงมณี
ดงธรรม นำชีวี ให้ร่มเย็น...

หลวงพ่อไห้ชั้นไหน?

ความสงสัย เป็นสนิมใจประเภทหนึ่ง ซึ่งบั่นทอนจิตใจทำให้เกิดความเศร้าหมองและอ่อนกำลังลง มีความงงงวยและลังเล เป็นกำแพงกั้นเราไม่ให้ได้รับความสำเร็จจากการงานต่างๆ
ครั้งหนึ่ง หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ยังไม่กลับกุฏิ พวกเราจึงสนทนากัน ตอนหนึ่งข้าพเจ้าถามขึ้นว่า “ผมขอถามหน่อย พวกเราอยากจะทราบไหมว่า หลวงพ่อได้บรรลุธรรมชั้นไหน?” เพื่อนที่ร่วมสนทนาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า .”อยากทราบ”ทั้งนั้น
“พวกเราไปเรียนถามหลวงพ่อดีไหม?” รูปหนึ่งเสนออีกรูปหนึ่งพูดว่า “ดีเหมือนกันแหละ แต่ใครล่ะจะกล้า”
“ผมคิดว่าท่านนั่นแหละเหมาะสม เพราะพูดเก่งอยู่แล้ว คงจะพอรู้จักทางหนีทีไล่บ้าง” ภิกษุรูปหนึ่งเสนอความคิด ข้าพเจ้าตอบว่า... “ผมก็ไม่กล้าเหมือนกันแหละ เพราะมาอยู่วัดป่าพงยังไม่นาน เมื่อครั้งมาอยู่ใหม่ๆ ยังโดนท่านปรามเอาเสียเกือบแย่ ตั้งแต่มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ชั่วโมงแรกแล้ว”
ได้สนทนาพอสมควร ต่างก็พากันกลับกุฏิ บรรดาเพื่อนร่วมสนทนาต่างก็ยังพกเอาคำถามนั้นไปเป็นการบ้านอยู่นั่นเอง แต่มิได้หมายความว่า พวกเราเป็นคนขี้สงสัย ไม่ทำอะไรเลย พวกเรายังต้องทำกิจวัตรต่างๆ เป็นประจำ ทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิมิได้ขาด พากันรักษาข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อไว้ตามเดิม
รุ่งขึ้นในวันต่อมา หลังจากพวกเราทำกิจวัตรตอนบ่ายเสร็จแล้ว ถ้าใครอยากกลับกุฏิเพื่อบำเพ็ญเพียรก็กลับ ใครใคร่ฟังโอวาทพิเศษก็พากันไปกราบหลวงพ่อที่ใต้ถุนกุฏิของท่าน วันนั้นคณะผู้สงสัย 4-5 รูป ก็พากันไปครบทีม แต่ดูเหมือนพวกเราวางความสงสัยไว้ก่อนแล้ว
เมื่อพวกเราประมาณ 10 รูปเศษ กราบท่านเรียบร้อยแล้ว ท่านปรารภเรื่องนั้นเรื่องนี้หนี่อยพอเป็นข้อคิดให้เราได้สติในการปฏิบัติธรรม ท่านชำเลืองดูไก่ป่า 2-3 ตัว ซึ่งออกมาคุ้ยเขี่ยกินอาหารอยู่ใกล้กุฏิ แล้วพูดว่า “ดูไก่ป่านั่นสิ มันเป็นสัตว์ที่มีความว่องไว คล่องตัว ระวังภัย กินไม่จุ ถ้ามันรู้ว่าจะมีอันตราย แม้จะกำลังกินอาหารอยู่มันจะรีบบินหนีทันที มันรู้จักระมัดระวังรักษาตัวดี บินได้สูง เวลานอนก็อาศัยกิ่งไม้ ยอดไม้เป็นที่นอน และแยกกันนอนต่างจากไก่บ้าน กินจุ ไม่คล่องตัว น้ำหนักก็มาก บินได้ไม่สูง ขาดความระมัดระวัง มีคนเขาเอามาปล่อยไว้ แต่ผลสุดท้ายก็ถูกหมากัดตายเพราะมันเคยอยู่กินสบาย มีคนเขาคอยเอาใจใส่ดูแลให้รู้จักเกิดความประมาท
ส่วนไก่ป่านั้น ระวังภัย และช่วยตัวเองทุกอย่างม มันทำงานตามหน้าที่ รักษาเวลาได้ดี ไม่ว่าแดดจะออกฝนจะตก หรือหนาวแสนหนาว ถึงคราวขัน มันก็ขันเป็นระยะๆ ตามเวลา เรายังได้อาศัยเสียงขันของมันเป็นนาฬิกาปลุกเสมอ มันทำงานของมันด้วยความสม่ำเสมอไม่เคยเรียกร้องค่าตอบแทนจากใครเลย มันอยู่อย่างสบายตามธรรมชาติ ดูเหมือนจะไม่ยึดหมายอะไร พิจารณาอีกทีคล้ายมันมีธรรมะของมันอยู่แล้ว มันคงไม่คิดมาก ไม่ซอกแซกขี้สงสัยหาเรื่องมายุ่งใจ
พวกเรามาปฏิบัติ ก็ควรจะดูไก่ป่า เอาไก่ป่าเป็นครู เป็นอาจารย์เสียมั่ง ไปสงสัยสนใจเรื่องไม่เป็นเรื่อง พิจารณาดูห่อข้าวของตัวเองนั่นปะไร ว่าจะมีกินหรือไม่มีกิน สนใจทำไมกับห่อข้าวของคนอื่น จะมีมากมีน้อย มันเรื่องของเขา”
พวกเราได้ฟังถึงกับสะดุ้งนิดๆ มองสบตากันอย่างรู้ความหมาย ไม่ต้องขยายความอีก ต่างก็คิดในใจว่า “เกือบแล้วไหมล่ะ ถ้ามาถามท่าน”...

มียาดีไหม?

ยาเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งต่อการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ ซึ่งบรรดาแพทย์ทั้งหลาย ได้พยายามคิดค้นหามาเพื่อบำบัดโรคทางกาย พอเป็นปัจจัยผ่อนคลายความทุกข์ ความเดือดร้อนขัดข้องได้บ้าง พระพุทธองค์ก็ทรงบัญญัติไว้ในปัจจัย 4 ที่บรรพชิตจะต้องอาศัยต้องใช้ต้องฉันในคราวอาพาธ แต่นั่นเป็นเพียงยาแก้โรคทางกาย สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลาย ก็ยังรู้จักแสวงหามากินตามประสาสัตว์
ส่วนยาอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่ายาใจ เป็นยาใช้ปราบโรคทางใจ รักษาใจให้เป็นปกติ ใจเป็นของละเอียดแทรกอยู่ได้ในทุกส่วนของร่างกาย เมื่อใจเป็นของละเอียด ยาใจใช้ปราบโรคใจก็ต้องละเอียดด้วย พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นนาย ผู้บังคับบัญชา ทุกอย่างย่อมสำเร็จมาแต่ใจ จะทำผิด ถูก ชั่ว ดี ก็ใจเป็นผู้สั่งงาน หลวงพ่อชาเคยสอนพวกเราว่า “เมื่อใจดีทุกอย่างจะดีหมด เมื่อใจเสียทุกอย่างจะเสียหมด เมื่อใจร้ายทุกอย่างจะร้ายหมด ฉะนั้นจึงควรฝึกหัดอบรมจิตใจให้ดี จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขสบายมาให้เราเอง”
ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อชาได้รับนิมนต์ให้ไปโปรดญาติโยมทางต่างอำเภอ เมื่อฉันอาหารบิณฑบาตเสร็จแล้ว หลวงพ่อชาได้ให้โอวาทพอสรุปได้ว่า “เรานับถือพุทธศาสนามานานจะต้องพิจารณาให้ดี จะทำบุญทำทาน อย่าให้เป็นทำบาป อย่าแอบอ้างเอาสิ่งที่มิใช่บุญมาทำ อย่าสักแต่ว่าทำไปตามคนอื่นพูด เราต้องพิจารณาให้ดี ให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ทำบุญอะไร ทำบุญอย่างไรจึงจะเหมาะสมถูกต้อง ถ้าเราทำไม่คิด มันทำผิดก็นึกว่าถูก ทำชั่วก็นึกว่าตัวทำดี หมั่นตรวจดูสิ่งที่เราทำ คำที่เราพูด เรื่องที่เราคิด ถ้าสิ่งใดเห็นว่าถูกต้องดีก็พึงพอใจ สิ่งใดบกพร่องผิดพลาดต้องรีบแก้ไข ก่อนนอนต้องสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิทำจิตให้สงบ กำหนดลมหายใจเข้าออก กำหนดว่า พุทโธ ที่ปลายจมูก เอาใจนึกเอาโดยไม่ต้องออกเสียง ให้มีความเมตตาอารี มีความสมานสามัคคีต่อกัน ให้รู้จักให้อภัยแก่กัน อย่าอาฆาตพยาบาทกัน ทำใจให้สบายๆ อย่าให้เศร้าหมองให้มองเห็นกันเป็นพี่เป็นน้อง เราจึงจะมีความสุขดี ฯลฯ”
เมื่อหลวงพ่อให้โอวาทจบลง หลวงตารูปหนึ่งเข้าไปกราบเรียนว่า “ท่านอาจารย์ครับ กระผมเป็นโรคปวดท้องมานาน ฉันยาโรงพยาบาลเป็นประจำแต่ไม่หาย ท่านอาจารย์มียาดีไหมครับ โปรดเมตตาผมด้วย”
“มีเหมือนกันแหละ แต่ไม่ได้เอามา มีอยู่ที่วัด ถ้าต้องการก็ให้ไปเอาเอง...” หลวงพ่อตอบเพราะท่านทราบแล้วว่า สภาพของผู้บวชเมื่อแก่ มีการกระทำ ความเป็นอยู่ มีความต้องการอย่างไร
“ถ้าฉันยาท่านอาจารย์แล้ว โรคผมจะหายไหมครับ” หลวงตาถามขึ้นด้วยความไม่แน่ใจ
“หายสิ ถ้าทำตามหมอบอก”
“งั้นกระผมจะตามไปวันหลัง วันนี้เตรียมตัวไม่ทัน” หลวงตามีสีหน้าสดชื่นขึ้น เพราะดีใจว่าจะหายจากโรคปวด
ท้องเสียที
วันต่อมา หลวงตาก็ตามไปที่วัดหนองป่าพง เพื่อจะได้ฉันยาดี เมื่อไปถึง หลวงพ่อบอกลูกศิษย์ให้จัดที่พักให้ตามสมควร แล้วบอกหลวงตาว่า “ก่อนจะฉันยานั้นจะต้องทำพิธีกรรมเบื้องต้นเสียก่อน เริ่มต้นด้วยการเดกินจงกรม นั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ อยู่กุฏิคนเดียว ไม่ไปคลุกคลีพูดคุยกับคนอื่น ฉันอาหารวันละครั้ง เวลาฉันต้องเคี้ยวให้ละเอียดแล้วจึงกลืน ขณะที่กำลังฉันให้พิจารณาว่า อาหารนี้มิใช่ของพ่อแม่พี่น้องของเรา เป็นของทายกทายิกา เขาให้มาด้วยความเลื่อมใส เขาเชื่อว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควร ถูกต้องตามพระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ ให้หลวงตาทำใจให้สบาย ไม่ต้องห่วงหน้าห่วงหลัง ให้ท่านทำอย่างนี้ต่อไปเมื่อครบ 7 วัน แล้ว ถึงมาบอกผมอีกที”
เมื่อหลวงตามาอยู่ได้ร่วมฉัน ร่วมปฏิบัติธรรม ทำตามพิธีกรรมที่หลวงพ่อแนะนำ อาการทางโรคกระเพาะก็ทุเลาลง สบายขึ้นเรื่อยๆ
เพราะเมื่อก่อนนั้น หลวงพ่อฉันอาหารวันละ 2 ครั้ง บางวันมีลูกหลานเอาอาหารมาถวาย ระหว่าง 9-10 โมง ก็ฉันอีก ตอนเย็นก็มีของฉันอีกด้วย เป็นเหตุให้ท้องไส้ทำงานหนัก ไม่ค่อยได้พัก จึงย่อยไม่หมด เหลือกากเหลือเดนตกค้างในกระเพาะมาก จึงทำให้ปวดท้อง แต่พอมาอยู่วัดหนองป่าพง ต้องเข้าพิธีกรรม ทำตามหลวงพ่อบอก จึงเกิดความสบาย เบากายเบาใจขึ้น เมื่อครบ 7 วันแล้ว หลวงตาก็ทวงฉันยาอีก
หลวงพ่อบอกว่า “เอาเถอะ ยาปรุงจวนจะได้ที่แล้ว ให้เข้าพิธีกรมทำไปเรื่อยๆ อีกสัก7 วัน ข้อสำคัญอย่าขี้เกียจมักง่าย ขยันทำพิธีกรรมทุกอย่าง ก่อนนอนก็ให้ทำวัตรประจำกุฏิ นั่งสมาธิด้วย เวลานอน นอนตะแคงขวา เอามือขวาคู้เข้ามาสอดไว้ใต้แก้ม มือซ้ายเหยียดไปตามลำตัว เท้าเหลื่อมเท้า คู้ขาซ้ายขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เพื่อเข่าจะไม่ทับกัน กำหนดลมหายใจที่ปลายจมูก ภาวนาพุทโธ ดูลมที่ปลายจมูกจนกว่าจะหลับ และเวลาตื่นก็ให้รู้ตัวว่าเราตื่นอยู่ในท่าไหน ทำต่อไปเรื่อยๆ อยู่อย่างนี้”
ครึ่งเดือนผ่านไป หลวงตามีอาการผ่องใส จิตใจปลอดโปร่งสบายทั้งกายและใจ แกมีความเคารพเลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติของทางวัดหนองป่าพงมาก โรคปวดท้องก็หายไปหมดแล้ว หลวงตาจึงปรารภกับตัวเองว่า เอ...เราเห็นจะไม่ต้องฉันยาท่านอาจารย์กระมัง โรคปวดท้องเราหายไปแล้ว สบายดีแล้ว ไปบอกท่านดีกว่า แกจึงไปพบหลวงพ่อที่กุฏิและได้กราบนมัสการว่า “ท่านอาจารย์ครับ ผมรู้สึกว่าเป็นปกติแล้ว เห็นจะไม่ต้องฉันยาหรอกครับ”
หลวงพ่อจึงพูดช้าๆ ฟังเย็นๆ ด้วยเมตตาว่า “ก็ผมให้ท่านฉันยา ตั้งแต่วันแรกที่มาแล้ว ท่านไม่รู้หรอกหรือ?”
ได้ยินเสียงหลวงตาอุทานว่า “อ้อ...ผมเข้าใจแล้วครับ”
...ยาดีของหลวงพ่อก็พอดีจบ...

อย่ารักษาศีล

เพียงได้อ่านหัวข้อเรื่อง “อย่ารักษาศีล” ก็อาจจะทำให้บางท่านขัดเคืองในจิต คงคิดว่า ผู้พูดเป็นคนไม่มีศาสนา หรือไม่ก็มิจฉาทิฎฐิไปก็เป็นได้ แต่นี่เป็นคำพูดของหลวงพ่อ ท่านเตือนสติเราให้ภาวนา คือคิดให้ดี พิจารณารอบคอบ ย่อมจักมีความฉลาด เกิดความเข้าใจถูกต้องขึ้นเรื่องมีอยู่ว่า
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2516 ในวันธรรมสวนะวันหนึ่ง หลวงพ่อท่านคงมุ่งหวังเตือนสติผู้ปฏิบัติธรรม ให้พิจารณาสิ่งที่ทำ คำที่พูดของตนเอง มิให้สักแต่พูด สักแต่ว่าทำ ท่านจึงถามโยมที่มาจำศีลอุโบสถว่า “โยม วันพระที่แล้ว ไปไหนกัน ไม่เห็นมา...” ญาติโยมทั้งหลายคงดีใจที่นึกว่าหลวงพ่อท่านเป็นห่วงเป็นใย จึงตอบว่า...”ข้าน้อยไปรักษาศีลวัดป่าน้อย” “ข้าน้อยไปรักษาศีลวัดไชย” อีกคนตอบว่า “ข้าน้อยไปรักษาศีลวัดสุปัฎฐ์”
ทันใดนั้น หลวงพ่อจึงเตือนสติว่า “อ้าว...ทำไมอวดเก่งนัก กล้าไปรักษาศีลวัดนั้นวัดนี้ ศีลไม่ใช่วัว ไม่ใช่ควาย จะไปรักษาทำไมกัน รักษากายวาจาของเราเองจะไม่ดีกว่าหรือ? อย่าไปรักษาศีลเลย รักษาตัวเองได้ก็เป็นศีลเท่านั้นแหละ”
หลวงพ่อพูดให้ข้อคิดเพิ่มเติมอีกว่า... “ภาษาไทยของเรานั้น บางทีข่อความยาว ท่านก็ตัดให้สั้นเข้าเพื่อจำได้ง่าย เช่นคำว่า รับศีล ฟังธรรม เป็นต้น คำว่ารับศีล ก็หมายถึง รับเอาคำบอกคำสอน ไปทำให้เป็นศีลขึ้นที่กายที่วาจาของเรานั่นเอง
คำว่า ฟังธรรม ก็เหมือนกัน คือเราฟังเอาคำบกคำสอนของท่านแล้วจำไว้ เอาไปทำให้กาย วาจา ใจเป็นธรรม มีธรรมขึ้นมา คำพูดบอกสอนนั้นยังมิใช่ธรรม เป็นเพียงชื่อของธรรมเท่านั้น ต่อเมื่อเราได้นำไปปฏิบัติตามเกิดผลเป็นความสุขความเจริญ ร่มเย็น จึงจะเป็นธรรมที่แท้
ดังนั้นคำว่า “รักษาศีล” ก็เช่นกัน เราควรจะภาวนาให้เข้าใจตามความเป็นจริง อย่าสักแต่ว่าพูด สักแต่ว่าฟัง จะเกิดประโยชน์น้อยไป ไม่คุ้มค่าที่เรามาอยู่วัด นักปฏิบัติต้องเป็นคนรอบคอบ อย่าประมาทมักง่าย จะเสียดายเวลาที่ผ่าไป”
ภิกษุสามเณรและญาติโยม ต่างก็ได้รับความรู้ความฉลาดเพิ่มขึ้น และมีความเห็นคล้อยตามที่หลวงพ่อเตือนสติวันนั้น

นกเขาขันดี

คนเราถ้าหากได้เห็น ได้ยินอะไรแล้ว ชอบพิจารณาหาเหตุผล ย่อมทำตนให้ฉลาด รุ้ความเป็นจริงเหมือนเรา รู้ว่าผลไม่ย่อมมาจากต้น จึงจะเป็นสิ่งที่มีเหตุผล มีความเชื่อในกฎแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โชค ลาภ วาสนา มาจากการกระทำของเราเอง โลกคงจะลดความวุ่นวายเร่าร้อนให้น้อยลงเป็นแน่
แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า โชค ลาภ วาสนามาจากสิ่งภายนอกดลบันดาลให้ จึงน้อมใจเชื่อ การดูหมดสะเดาะเคราะห์ ผูกดวง บนบานศาลกล่าว ฝากความหวังไว้ที่ต้นไม่ใหญ่ จอมปลวก ก้อนหิน หรือดาวบนท้องฟ้า บางคนได้ยินเสียงจิ้งจก ตุ๊กแกร้อง ก็ถือเป็นสิ่งบอกโชคลาภต่างๆ อันเป็นช่องทางให้บุคคลบางคนแสดงตนเป็นผู้วิเศษตบตาเราได้ และเขายึดเอาเป็นชีพหากินจากความเชื่อง่าย ไม่ฉลาดของเพื่อนมนุษย์
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อกลับจากถ้ำแสงเพชร เขานิมนต์ให้แวะบ้านโยมคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพค้าขาย เขาเลี้ยงนกเขาไว้ตัวหนึ่ง ขังไว้ในกรง ให้เหยื่อให้น้ำตามหน้าที่ อันธรรมดานกเขานั้นมันไม่ยอมเชื่อง่าย ถ้าออกจากกรงได้แล้ว มันจะบินเข้ารกเข้าป่าไปเลย
ข้าพเจ้าก็เคยคิดเหมือนกันว่า นกชนิดนี่ทำไมเราจึงได้ตั้งชื่อว่านกเขา ส่วนภาษาบาลีดูเหมือนมีชื่อว่ามัยหะสะกุณะ (นกของเรา) เห็นจะถือเอาเสียงที่มันร้องว่า กรูๆ นั่นเอง เลยตั้งชื่อมันว่า นกของกู...คนไทยเราเลย ตั้งชื่อจาก นกของเรา...นกเรา กลายมาเป็น นกเขา
โยมคนนั้น เมื่อมีครูบาอาจารย์มาโปรดถึงบ้าน ก็ถือว่าเป็นมงคลแก่ตนเองและครอบรัว เมื่อต้อนรับปฏิสันถารพอสมควร ตนมีอะไรที่คิดว่ามันดีก็อยากจะพูดให้แขกฟัง แกจึงพูดกับหลวงพ่อว่า “ผมเลี้ยงนกเขาตัวนี้ไว้ ถ้าวันไหนนกเขาขันดีๆ หน่อย วันนั้นจะขายของดีมีคนมาอุดหนุนมาก” เขาเล่าให้หลวงพ่อฟังด้วยความดีใจ ปลื้มใจ ตามความเชื่อของตนหรือตามคำบอกเล่าของใครไม่ทราบสอนแกอย่างนั้น แต่ถ้าไปถามนก หรือนกพูดได้ มันคงจะด่าเอาว่า “แกจะบ้าหรือไง แกขายของก็ขายไปไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับฉัน ไม่ทราบว่า ฉันโดนข้อหาอะไร จึงถูกจองจำกักขังไว้ หมดอิสระบินไปไหนก็ไม่ได้ กลุ้มใจเหลือหลาย เพื่อเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ ฉันก็ขันแก้กลุ้มไปเท่านั้นเอง ฉันขัน ฉันร้อง ไปตามประสา ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับคนขายของเลย”
ตอนหนึ่งแกถามหลวงพ่อว่า “เลี้ยงนกเขานี่ถือว่าเป็นโชคดีไหมหลวงพ่อ” หลวงพ่อนั่งฟังมานาน เพื่อเป็นการให้ข้อคิดแก่คนเลี้ยงนกเขา ท่านจึงพูดว่า “จะให้ดีจริงๆ ล่ะก็ อาตมาว่าปล่อยเขาไปเป็นดีสุด เอาเขามากักขังไว้ตามความคิดของเรา โดยที่เขาไม่มีความผิดอะไร ความจริงแล้วน่านะคิดเห็นอกเขาอกเราบ้าง ลองมองมุมกลับบ้างว่า สมมติมีใครมาจับเอาเราไปกักขังไว้ในกง โดยให้น้ำให้อาหาร เสื้อผ้าที่นอนอย่างดี ให้กินให้ถ่ายอยู่ในกรงอย่างนี้ เราจะดีใจ ชอบใจ กล่าวขอบคุณเขาได้ไหม? หรือจะมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง เรื่องนี้โยมพอจะนึกออกใช่ไหม
แต่ที่นกเขามันทนอยู่ ก็เพราะว่าเขาโง่กว่าเรา ไม่มีปัญญาหาทางเอาตัวรอด จึงจำใจอยู่ตามประสาสัตว์ทั้งๆ ที่ถูกทรมาน ถูกจำกัดเนื้อที่ ดีหน่อยแต่ว่า สัตว์มันพูดไม่ได้ มนุษย์จึงทำตามใจชอบ ทำตามความคิด ถ้าสัตว์พูดได้แล้ว มนุษย์เราจะโดนพวกสัตว์มันก่นด่าไม่มีชิ้นดี พากันยกพวกเดินขบวนไปยื่นฟ้องร้องถึงศาลไหนไม่ทราบหรอกนะ อย่างคนเราผู้ถูกใส่ความจนได้รับโทษทัณฑ์ทั้งๆ ที่ตัวเองมิได้ทำผิด อาจจะเนี่องมาจากเป็นเพราะเคยกักขังเขา ทรมานเขาอย่างนี้มาก่อนก็ได้”
เจ้าของนกเขา นั่งฟังหลวงพ่อให้ข้อคิด แทบจะไม่หายใจ ได้รู้ซึ้งถึงการกระทำตามเหตุผลที่หลวงพ่อแนะนำ ทำให้เกิดสติปัญญาหูตาสว่างขึ้น ทำให้คิดได้ว่าเราเดินทางผิด มีความเชื่อผิดๆ เหมือนตกอยู่ในความมืดมานาน พอมีพระมาโปรดยื่นสว่างส่องทางให้ ย่อมรู้จักทางเดินที่ถูกที่ควร ทำให้เกิดความดีใจ ปลื้มใจ แทนที่จะโกรธว่าพระมาตำหนิโทษที่ตนทำ เขากลับน้อมนำเอาโอวาทนั้น บันทึกไว้ในส่วนลึกของหัวใจ แกคงคิดว่า “พอแล้ว สำหรับนกเขาขันดี” และแล้วในวันต่อมานกเขาตัวนั้นก็ได้ถูกนำไปปล่อยในป่า มีอิสระแก่ตัวเอง เมื่อวันอิสรภาพมาถึง พอตัวหลุดออกจากกรง ถ้าพูดได้เหมือนมนุษย์ มันคงตะโกนก้องฟ้าว่า “เป็นอิสระแล้ว ขอบพระคุณขอรับหลวงพ่อชา ที่ทรงไว้ซึ่งความเตตาปราณี”
เรื่องนกเขาขันดีเห็นทีจะต้องเอวัง

ต่ออันธพาล

ตัวต่อเป้ฯสัตว์ปีกค่อนข้างเล็ก มีอาวุธป้องกันตนเองอยู่ที่ก้น มันจะต่อสู้ศัตรูด้วยอาวุธนี้ หน้าแล้งไม่ทราบว่ามันพากันไปอยู่แห่งหนตำบลใด แต่พอย่างเข้าหน้าฝน จึงเห็นตัวต่อมาทำรังอยู่ตามต้นไม้ในบริเวณวัด ทีแรกก็มีเพียง 2-3 ตัว มันช่วยกันทำรังสร้างบ้าน ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ที่รู้จักสร้างบ้านที่อยู่อาศัย มันพากันบินไปคาบเอาดินเหนียวกับขี้ควายมาก่อรัง โดยอาศัยน้ำลายของมันเป้ฯเชื้อประสาน
ภายในรัง มันจะทำห้องเล็กๆ ไว้เก็บลูกของมันห้องละ 1 ตัว ตอนยังเล็กแม่ต่อจะบินไปหาเยื่อมาป้อนเหมือนกับบิดามารดาเลี้ยงดูบุตรธิดาของตน พอลูกต่อเติบโตขึ้นแม่ต่อย่อมรู้ดีว่า ถึงเวลาที่ต้องปิดห้องไว้ให้ลูกอบตัวฟังตัวให้แข็งแรงเตรียมเป็นแม่ต่อพ่อต่อในโอกาสต่อไป มันคงสะสมอาหารไว้ให้ลูกในห้องเล็กๆ นั้นด้วย เมื่อลูกต่อแข็งแรงมันจะเจาะผนังห้องออกมาเอง พอแข็งแรงดีมีกำลัง มันก็จะช่วยพ่อแม่ของมันสร้างรังต่อไป เหมือนกับมนุษย์เรา ลูกที่ดีจะต้องเคารพเชื่อฟังทำการงานช่วยพ่อแม่ ตัวต่อที่.โต นอกจากจะทำรัง ก็ยังเตรียมเป็นแม่ต่อให้กำเนิดลูกต่อ ต่อไป จาก 2-3 ตัว เป็น 5-6 ตัว ขยายออกเป็นหลายสิบ หลายร้อยตัว ในระยะเวลาไม่นาน การทำรังก็ขยายใหญ่ออกไปตามจำนวนพลเมืองที่เพิ่มขึ้น
รังของต่อขนาดใหญ่วัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40-50 ซม. ภาในรังจะแบ่งเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีห้องเล็กๆนับไม่ถ้วน คิดดูเหมือนแฟลตหลายๆ ชั้นอันเอ็นที่อยู่ของมนุษย์ ภายในรังยังมีช่องว่างเป็นทางให้คณะบริหารต่อได้ออกเดินตรวจตราได้สะดวกทั่วถึง บางแห่งจะเป็นที่โล่ง คงเป็นห้องประชุม ห้องอาหารและเป็นสนามเด็กเล่น เป็นสวนหย่อมไว้ให้พักผ่อน ต่อหนึ่งรังจะมีทางเข้าช่องเดียวเท่านั้น เขาคงตั้งยามรักษาการไว้เสร็จ สะดวกกับการป้องกันอันตรายจากภายนอกจะเข้ามารบกวน รังขอต่อด้านนอก จากที่เคยเห็นมามีลวดลายน่าดูมาก มันคงมีศิลปะในการตกแต่งบ้านเหมือนกัน
ถ้ามีอะไรที่เป็นอันตรายมากระทบรังของมัน ต่อตัวที่เป็นยามรักษาการณ์จะรีบรายงานเข้าไปข้างในทันทีเหมือนกับทหารยามรักษาการณ์ เห็นอะไรผิดสังเกตก็รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เมื่อกรรมการรักษาความปลอดภัย ทราบรายงานจากยามแล้ว ก็จะพากันไต่ออกมาตรวจตราดูรอบรังของมัน เพื่อดูให้แน่ชัดว่ามีศัตรูจู่โจม ถ้าไม่มีอะไรก็จะพากันมาเกาะกลุ่มรวมกันอยู่ที่ปากทาง เพื่อรอดูเหตุการณ์ ถ้ามีอะไรผิดปกติอีกหน่วยกล้าตายก็จะบินออกจู่โจมทันทีโดยเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ
คนเราขนาดโดนต่อต่อยตัวสองตัวก็แทบแย่ ถ้าโดนมากตัวก็อาจจะถึงตายได้ เห็นผู้ใหญ่เล่าว่า ตัวต่อต่อยศีรษะจะทำให้ผมหงอกเร็ว จริงหรือไม่ข้าพเจ้าไม่รับรอง เมื่อปี พ.ศ. 2509 ที่หน้ากุฏิหลวงพ่อหลังเก่าซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของโบสถ์ในปัจจุบันนี้ มีต้นไม้หลายต้นหลวงพ่ออาศัยเป็นที่เดินจงกรมไปมาที่หน้ากุฏิ เผอิญมีต่อฝูงหนึ่งมาทำรังอยู่ที่โพรงไม้เตี้ยๆ ใกล้ๆ ที่เดินจงกรามนั่นเอง จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดไม่แจ้ง มีต่อ 2 ตัวมาต่อยศีรษะของหลวงพ่อ ขณะที่ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ ท่านคงเจ็บพอดู จึงหยุดเดิน กลับขึ้นกุฏิไป โดยมิได้ต่อว่าต่อขานต่อ ที่มาขัดขวางการเดินจงกรมของท่าน
แต่เป็นที่น่าประหลาดแท้ ในคืนนั้นจะเป็นด้วยสิ่งดลบันดาลหรือเปล่า เป็นเรื่องน่าคิด ปรากฏว่า มีมดลิ้นไป (มดตะนอย) ตัวดำฝูงใหญ่ อาศัยอยู่ในดิน มดพวกนี้เวลากัดแล้วเจ็บปวดทำให้พอง มีพิษสงพอกับตัวต่อนั่นแหละ มันพากันยกกองทัพเข้ามาห้ำหั่นฝูงต่อรังนั้น คอขาดตายเกลื่อนกลาดไปหมด ที่ตายอยู่ในรังก็มี ที่ตายอยู่นอกรังตามโคนไม้ก็มี ไม่ทราบว่ามันทำศึกกันหรือเปล่า ตอนเช้าหลวงพ่อลงมาจากกุฏิมาพบเข้า ท่านคงได้แต่ปลงสังเวชเพราะเหตุการณ์ทุกอย่างได้ผ่านพ้นไปหมดแล้ว ท่านได้พูดให้เณรฟังถึงเรื่องต่อ 2 ตัวต่อยศีรษะท่าน และเรื่องมดลิ้นไฟยกทัพมาปราบต่อตายเกลื่อนกลาดน่าอนาถใจ
บรรดาพระภิกษุสามเณรและญาติโยม เมื่อทราบข่าวต่างก็มาดูด้วยตาพากันแปลกใจว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนี้...ต่อ 2 ตัวต่อยหลวงพ่อ โดยมดก็ไม่รู้เรื่อง หรือมันโกรธเคืองพยาบาทกันมาก่อนแต่ปางบรรพ์ จึงมีการีทำร้ายกัน จนทำให้ต่อทั้งฝูงพลอยได้รับบาปไปด้วย หรือคณะบริหารต่อได้มีการประชุมลงมติกัน ตกลงให้ต่อ 2 ตัวออกมาจัดการกับภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งมาเดินเกะกะเส้นทางสายบินของพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่สะดวกในการออกบิน ถ้าอย่างนั้นก็เป็นการสมควรกับการกระทำของต่อฝูงนั้นอยู่หรอก
แล้วมดตะนอยล่ะ ใครไปการะซิบบอกมัน ให้ยกทัพมาจัดการต่อฝูงนั้นจนเรียบหมด ทำให้พวกเราครุ่นคิดไปหลายทาง และข้าพเจ้าก็พลันนึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ ตรัสไว้ในคัมภีร์ว่า อจินไตย 4 อย่าง คนธรรมดาไม่ควรเก็บมาคิดให้มาก ถ้าหากมัวแต่ครุ่นคิดร่ำไป เมื่อแก้ความสงสัยไม่ได้แล้ว ย่อมจะเป็นอุมมัตติกะภาคี คือมีส่วนแห่งความเป็นบ้า คือ เป็นโรคประสาทเปล่าๆ อจินไตย 4 อย่านั้น คือ
1. พุทธวิสัย คือ เรื่องที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทำได้เป็นไปได้ต่างๆ
2. อิสิวิสัย คือ เรื่องฤๅษี ชีไพร ทำแสดงได้
3. โลกวิสัย คือ สิ่งที่โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปต่างๆ
4. กรรมวิสัย คือ เรื่องผลของกรรมที่สัตว์ทำ จะแสดงผลออกมา
ฉะนั้น เรื่องต่อประสบความพินาศนั้น พอจะจัดเข้าในข้อไหน ก็ขอฝากไว้ในดุลยพินิจของนักอ่านนักคิดทั้งหลายจะตัดสินเองดีกว่า
บางครั้งทำให้ข้าพเจ้าเก็บเอาเรื่องนี้มาคิด มาพิจารณาในแง่ของธรรมะ ในการที่ผู้เขลาประทุษร้ายเบียดเบียนท่านผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิด ไม่มีเจตนาร้ายต่อผู้ใด บางทีวิบากกรรมย่อมตามเผาไหม้ ให้คนเขลาผู้นั้นได้รับผลกรรมในปัจจุบันตาเห็นก็ย่อมเป็นได้ ทำให้คิดถึงพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎกว่า
ผู้ใดประทุษร้าย หาเรื่องใส่ความ คนเขาผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิด จนต้องได้รับทุกข์ โทษทัณฑ์ ผู้นั้นจะต้องถึงความพินาศ 10 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมด คือ
1. เกิดทุกขเวทนาเร่าร้อน อย่างร้ายแรง
2. ถึงความตาย
3. เกิดอาพาธอย่างหนัก
4. เป็นโรคประสาท
5. ถูกผู้ใหญ่เพ่งโทษ ทำโทษ
6. ถูกใส่ความอย่างร้ายแรง
7. ญาติมิตรจะทอดทิ้งเขา
8. ทรัพย์สินที่มีอยู่ จะพินาศฉิบหาย
9. ไฟจะไหม้บ้านเรือนของขา
10. เมื่อเขาตาย ย่อมเข้าถึงนรก
เมื่อพระพุทธอง๕ตรัสยืนยันไว้อย่างนี้ มีหรือที่เราจะยกเหตุผลอะไรมาหักล้างคำสอนของพระองค์ได้ เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้นานแล้ว “สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามการกระทำของตนเอง”
ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอฝากท่านผู้อ่านไว้ให้คิด อาจจะเป็นเครื่องเตือนจิต ให้สำนึกในเรื่องกฎแห่งกรรม จะได้มุ่งมั่นในการทำความดี หลีกหนีความชั่ว ทำให้ผ่องใส ไม่ให้หมองมัว ด้วยการปฏิบัติธรรมต่อไป
เขมจิตฺตภิกขุ วัดป่าวิเวกฯ
4 มกราคม 2529


หลวงพ่อช่วยด้วย

เมื่อคนเราได้รับความผิดหวังหรือประสบเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ ทำให้มองหาที่พึ่ง ท่านผู้รู้กล่าวว่า คราวใดที่เรามีความเพลิดเพลิน กำลังหลงระเริงสนุกสนาน เมามัน ก็พากันประมาท ลืมคิดถึงพระ แต่พอได้ประสบเคราะห์กรรม เดือดร้อนกายใจ ก็จึงคิดถึงพระ... อยากไปหาพระขอความช่วยเหลือ แต่มิได้เดินทางตรง ชอบดูหมอ ผูกดวง สะเดาะเคราะห์ ซึ่งไม่ใช่ทางที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน
ไปหาพระ จะต้องไปหาพระสงฆ์ เพื่อมุ่งตรงต่อพระพุทธและพระธรรม โดยศึกษาธรรมะ นำมาเป็นอาหารใจ เป็นยาใจ เป็นที่พึ่งทางใจ พระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพาน ได้มอบความเป็นพุทธะที่แท้ไว้ที่พระธรรมว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา(พุทธ) ผู้ใดมีธรรมะ ผู้นั้นก็มีเรา ผู้ใดเป็นธรรม ผู้นั้นก็เป็นเรา ผู้ใดอยู่กับธรรม ผู้นั้นก็อยู่กับเรา
ฉะนั้น ควรสนใจแสวงหาธรรมะ ด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน การพิจารณา โดยเฉพาะก็คือ การปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม อบรมจิตใจ ให้ได้ธรรมะเอาไว้ เรียกว่าได้ อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ภายใน ไม่มีใครแย่งชิงเอาไปได้ ส่วนทรัพย์ภายนอกนั้น คนอื่นแย่งชิง ฉ้อโกง ข่มเหงเอาไปได้ ไม่คงทนถาวร เพราะคนเรายังไม่เข้าใจเรื่องนี้ จึงละเลย เพิกเฉย ไม่สนใจ ปล่อยกาลเวลาผ่านพ้นไป อย่างน่าเสียดาย
เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๒ บ่ายวันหนึ่งมีหญิงชาย ๓ คน มากราบหลวงพ่อชาที่กุฏิวัดป่าพง มีหน้าตาเศร้าหมอง น้ำตาคลอหน่วย บอกหลวงพ่อชาว่า มาจากร้อยเอ็ด มีความทุกข์มาก เพราะรถยนต์ซื้อมาใหม่ๆ เพียง ๔-๕ วัน ถูกขโมยไป มันเป็นทรัพย์ก้อนแรกที่เขาพากันเก็บหอมรอมริบไว้ ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานที่ได้มา ก็ถูกขโมยไป ทั้งเสียใจและเสียดาย...ตามหาก็ยังไม่พบเลย...
หลวงพ่อชานั่งฟังเจ้าทุกข์ มาปรับทุกข์อยู่อย่างสงบ... เวลาผ่านไปไม่นาน ได้มีชายคนหนึ่ง เดินเข้ามาหา พร้อมกับสะอึกสะอื้น ร้องไห้ น้ำตาไหล กราบลงพร้อมกับพูดว่า... “หลวงพ่อครับ เมต... ตา... ผม... ผมด้วย... น้ำตาพรั่งพรูออกมา ๓ คนนั่งอยู่ก่อน ได้ยินก็นึกแปลกใจว่า “เขาเป็นอะไรกันหนอ...” นั่งรอฟังอยู่
หลวงพ่อชา จึงถามว่า “เป็นอะไรไปเล่า”
ตอบ “เมียและลูกผมกินแกงเห็ด เบื่อเห็ดตาย ตั้ง ๓ คน เหลือผมกับลูกคนเล็กนี่...พร้อมทั้งชี้ไปยังลูกที่นั่งอยู่ใกล้ๆ นั่งเศร้าได้แต่เฝ้าอาลัยคิดถึงอยู่
ด้วยแรงแห่งเมตตากรุณาธรรม หลวงพ่อชา จึงพูดขึ้นช้าๆ นุ่มนวล ชวนฟังว่า “เรื่องเกิดแล้วตาย มันมีมานานแล้ว กำลังมีอยู่ และจะต้องมีต่อไป ตั้งใจให้ดีๆ ลูกเมียตายก็ยังดีกว่าเราตาย ถ้าเราตายด้วย ใครเล่าจะช่วยเก็บซากศพ
รถทุกคัน ถ้าน้ำมันหมด รถก็ต้องจอด น้ำมันหมดก็ยังพอแก้ไข นี่น้ำมันก็หมด เครื่องรถก็พัง ตัวถังก็ชำรุด จึงต้องจอดทิ้งแน่ๆ ลูกเมียของเจ้าก็เป็นเช่นกัน เมื่อน้ำมันคือบุญ เครื่องหล่อเลี้ยงหมดลง ก็ต้องจอด เครื่องและตัวถังพัง ใช้ไม่ได้ก็ต้องหาขับคันใหม่ ร่างกายเหมือนรถ จิตเหมือนคนขับ เมื่อรถพัง คนขับไม่หมอบอยู่กับซากรถหรอก เขาก็หนีไปหาคันใหม่ขับ แต่จะได้ขับดีกว่าเก่าหรือด้อยกว่าเก่านั้น ก็อยู่ที่ทรัพย์ซึ่งหาได้จากรถคันเก่าเป็นต้นทุน ถ้าหากมีทุนทรัพย์ย่อมได้ดีกว่าเก่าแน่ ถ้าทรัพย์น้อย ก็อย่างว่า... ถ้าทรัพย์ไม่มีก็ต้องหมดสภาพของคนขับ กลายเป็นคนธรรมดา มิใช่คนขับรถ
ดังนั้นท่านผู้รู้ จึงเตือนไว้ว่า อย่าประมาท อย่าหลงมัวเมาในสิ่งยั่วยวน ชวนให้ลืมตน ต้องพินิจพิจารณา แสวงหาคุณความดี สร้างสมบุญกุศลไว้ให้มากๆ เมื่อเราจากไป จึงจะมีปัจจัยเดินทาง มีทุนทรัพย์ได้อาศัย มีรถคันใหม่ที่ดีกว่าเก่าใช้งาน
การหาทรัพย์ ก็คือ การให้ทาน การรักษากาย วาจาให้เป็นศีล การทำวัตรสวดมนต์ บำเพ็ญภาวนา ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ อย่าปล่อยให้เวลาล่วงไปเปล่าๆ
๑. การให้ทาน คือ การเสียสละสิ่งของ บำรุงวัดวาอาราม บำรุงโรงเรียนและบำรุงโรงพยาบาล สงเคราะห์คนแก่ คนอนาถายากจน คนเจ็บป่วยคนพิการ ตามฐานะภาวะที่เราสามารถทำได้
๒. การรักษากาย วาจา ให้ถูกต้อง ดี มีประโยชน์ ไม่สร้างเวรสร้างภัย มีเมตตาปราณีต่อกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่อิจฉาริษยากัน
๓. การเจริญภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ พิจารณาธรรมะ อันจะเพิ่มค่า เพิ่มราคาให้สูงขึ้น จากคนจนได้เป็นมนุษย์
๔. มีความกตัญญู ต่อผู้มีพระคุณ สำนึกระลึกถึงบุญคุณที่ท่านสงเคราะห์ช่วยเหลือเรา หาทางตอบแทนพระคุณของท่าน แม้จะรวย จะสวย จะฉลาดมากเท่าใด ก็ไม่ลืมพระคุณที่เราได้อาศัยท่านมา พาให้เราเจริญ สรรเสริญถึงพระคุณท่าน ไม่เนรคุณ ลืมตน จะต้องเป็นคนที่กล่าวได้ว่า “ไม่เป็นศิษย์ลืมครู ลูกลืมพ่อแม่ กระแตลืมป่า หมาลืมเจ้าของ” ประคองชีวิตของตนไว้ สร้างบุญกุศล อันเป็นทรัพย์ภายในเอาไว้มากๆ จึงจะไม่เสียที ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา”
แล้วหลวงพ่อชา หันไปถาม ๓ คนที่มาตามหารถที่ถูกขโมยว่า “เป็นอย่างไร? สบายใจขึ้นบ้างหรือยัง เราเสียเพียงสิ่งของ พอหาทดแทนใหม่ได้ แต่พ่อลูกนี้ เสียคู่ชีวิต คิดหาทดแทนไม่ได้ เขาหนักกว่าเรา มิใช่หรือ?
ส่วนพ่อกับลูก ก็ทำใจให้ดี...ยอมรับทราบ คิดถึงเขาก็ทำบุญ ให้ทาน อุทิศส่วนบุญไปให้ ตามหน้าที่ สั่งสมคุณความดีไว้มากๆเถิด”
เป็นว่า “หลวงพ่อช่วยด้วย” ดังพอสมควรแก่เวลา บรรดาท่านผู้ที่มุ่งหน้ามาขอพึ่งบารมีธรรมหลวงพ่อชา ต่างก็พอใจ เย็นใจ สบายใจ ได้ธรรมะกลับไปด้วยความเบาใจ สมแล้วที่ได้เดินทางมาพึ่งท่าน จึงพากันกราบนมัสการหลวงพ่อแล้ว ต่างก็ขอลากลับไป
เขมจิตฺตภิกขุ
๒๑ ก.ย. ๕๑














ลิ้งค์สำหรับโหลดครับ(Doc)
http://www.uploadtoday.com/download/?223820&A=767202