ทหารพรานหญิง... ดอกไม้เหล็กของชาติ

ทหารพรานหญิง... ดอกไม้เหล็กของชาติ

มีการรับสมัครอาสาสมัครทหารพรานหญิง (อส.ทพ.หญิง)
เพื่อลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จชต. ในสถานการณ์ความรุนแรงที่เป็นอยู่
จะมีใครที่หาญกล้าสมัครเข้าไปทำหน้าที่เหล่านี้
ในขณะที่ยังคงมีเหตุร้ายที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ
โดยเฉพาะต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร หรือจนท.ของรัฐที่มีเกิดขึ้นทุกวันกระจายไปทั่วทุกพื้นที่

ทหารพรานหญิง... ดอกไม้เหล็กของชาติ

แต่พวกเธอเหล่านี้กลับขันอาสาเป็นผู้กล้าลงไป
โดยมีหน้าที่พิเศษในการสลายการชุมนุมประท้วงหรือเดินขบวนของกลุ่มสตรีและเด็ก
เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลงหรือจบสิ้นไปและร่วมในกิจกรรมอื่น
โดยมีกฏเหล็กต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งกำลังพลส่วนนี้ได้ลงมาปฏิบัติงาน
ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนแล้ว



ภายในวัดท่าประดู่ ต.ท่าประดู่ อ.นาทวี จ.สงขลา เป็นฐานที่ตั้งของ กรมทหารพรานที่ 42
ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ผลนานาชนิดกำลังออกดอกออกผล


ทหารพรานหญิง... ดอกไม้เหล็กของชาติ

"เรามาทำหน้าที่ด้วยใจรักและชอบ” เป็นคำตอบแรกของหญิงสาวในชุดเครื่องแบบทหารพรานทั้งห้า
เมื่อถามถึงสาเหตุของการเลือกเข้ามาสู่อาชีพนี้

ชบา หญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้มจากนครศรีธรรมราช เมาะ พี่ใหญ่ของน้องๆ จากยะลา
น้อง หน้าตาคมคายและใจสู้และยะ ตัวเล็กจากปัตตานี และยะ
หญิงสาวท่าทางทะมัดทะแมงจากนราธิวาส ร่วมเล่าเรื่องราว
ความเป็นมาเป็นไปของชีวิตทหารพรานหญิงที่พวกเธอเลือก

ยะ นราธิวาส “ได้เรียนรักษาดินแดนมา 3 ปี พอเขาเปิดรับสมัครก็เป็นโอกาสดี
สมัครที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง ผ่านการทดสอบทั้งปฏิบัติและข้อเขียน
ร่างกายเราสู้อยู่แล้ว หลังประกาศผล 13 วันเขาให้เตรียมตัวไปฝึกที่ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช
ฝึกหนักพอสมควร 45 วันและเป็นชุดแรกที่เข้ามาทำงานในพื้นที่”

เมาะ “ฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นทหาร เรียนจบรด. ปี 5 ทางบ้านก็ไม่ขัดข้อง
เวลากลับบ้านก็แต่งตัวธรรมดา ในหมู่บ้านก็รู้ว่าเราเป็นทหารพราน
กลับไปก็อยู่บ้านไม่ค่อยออกไปไหน”

ชบา “เรียนจบปวช.3 ที่นครศรีธรรมราชมา 2-3 ปี ชอบและอยากเป็นทหารหญิงมานานแล้ว
ครอบครัวก็ไม่ได้ว่าเพราะรู้ว่าเราอยากมาทำงานแม้จะมีสถานการณ์อย่างนี้
พอเขาเปิดรับก็สมัครและผ่านการฝึกมาทำงานสมกับที่ตั้งใจไว้”

ยะ ปัตตานี “ทำงานเป็นสัตวบาลอยู่ในพื้นที่ เห็นว่าทุกอาชีพมีความเสี่ยงเหมือนกัน
ข้าราชการหรือคนธรรมดาก็ยังโดนผลกระทบ
หากมีโอกาสอยากรับใช้ชาติช่วยเหลือบ้านเมืองบ้างที่บ้านก็ไม่ได้บังคับ
ว่าต้องทำงานแบบไหน อยู่อย่างนี้ไปได้เรื่อยๆ”

น้อง “ชอบทหารและตำรวจมาตั้งแต่เด็ก เคยสอบตำรวจมาหลายครั้งเหมือนกัน
จบปริญญาตรีเมื่อปี 49 ทางบ้านก็สนับสนุน เห็นลูกชอบก็ให้ทำ แม้มันจะเสี่ยง
เราข้ามารับใช้ชาติตรงนี้เป็นโอกาสดี เป็นเกียรติแก่ตัวเองและครอบครัวที่ได้รับใช้ชาติ
เกิดมาทั้งทีขอใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์”


พวกเธอเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2550
ที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา 1 เดือน รวมทั้งฝึกเพิ่มเติมที่วังพญา
ย้ายมาอยู่ที่วัดท่าประดู่เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2550

“ช่วงแรกก็ปรับตัวกันพอประมาณ ต่างคนต่างมา ไม่รู้จักกัน
มาอยู่ด้วยกันก็เรียนรู้กันไปตามประสาผู้หญิง อาหารก็ทำกินกันเอง และทำเลี้ยงบก.ด้วย
ลงพื้นที่ครั้งแรกเป็นม็อบเด็กและผู้หญิงที่บ้านตาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา

ตอนแรกเขาบอกว่าจะให้ไปช่วยแจกของชาวบ้านที่ยากจน
พอไปถึงผู้การรายงานว่ามีเหตุการณ์ผิดแผนเป็นการแย่งชิงตัวผู้การ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดและพลขับ ที่ชาวบ้านจับเป็นตัวประกันอยู่ ต้องเข้าไปสลายม็อบ
มีอาการตื่นเต้นกันตอนอยู่บนรถว่าเป็นครั้งแรกของพวกเราต้องทำให้ดีที่สุด

ทหารพรานหญิง... ดอกไม้เหล็กของชาติ

วงล้อมแบ่งเป็นสามชั้น ชั้นแรกเป็นเด็กและผู้หญิง
เดินไป 200 เมตรเป็นเด็กและผู้หญิงอีก จุดสุดท้ายหน้ามัสยิดล้อมรอบด้วยผู้หญิง
เขาจับตัวกันตั้งแต่เช้า ให้หมวดหญิงเข้าไปเจรจาก่อน
เขาเริ่มไว้วางใจ เราส่งสัญญาณกับผู้ที่ถูกจับเป็นการมองตากันแล้วพยักหน้า
ผู้การจะมีความรู้สึกที่ตรงกัน เหตุการณ์นั้นก็ผ่านไปได้
บางครั้งไปช่วยกับอำเภอเคลื่อนที่ สร้างสัมพันธ์กับชาวบ้าน”

“กลัวมั้ย” เป็นคำถามพื้นฐานของผู้ที่ทำงานในชายแดนใต้ที่ได้รับการถามไถ่อยู่เสมอ

“ถามว่ากลัวมั้ย มีความกลัวบ้าง เมื่อสมัครใจเข้ามาทำแล้วก็ต้องระวังตัวเอง
ความไม่ประมาทเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ตรงนี้เป็นการทำงานที่เราต้องทำให้ดีที่สุด
เมื่อเข้าไปทำงานเราไม่ได้พกพาอาวุธ มีแค่ปากและมือเปล่าเป็นอาวุธในการเข้าไปเจรจา
พูดคุยทำความเข้าใจ ถามความต้องการของเขา เอาน้ำเย็นเข้าลูบ ต้องใช้ไม้อ่อน
อย่างที่ตาซ่องเขาบอกว่ามีทหารพรานไปยิงชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ
อยากให้นำตัวทหารพรานมาดูหน้า เราต้องอธิบายความเป็นจริงให้เขาเข้าใจ
และมีทหารพรานชายช่วยคุ้มกันให้ หรือไปช่วยในการตรวจค้น

อย่างเวลาเข้าไปในบ้านที่มีผู้หญิงเมื่อเราเข้าไปผู้หญิงที่อยู่ในบ้าน
จะได้ลดความหวาดกลัวและพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น
กองกำลังที่นี่รับผิดชอบ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ นาทวี จะนะ สะบ้าย้อยและเทพา
รวมทั้ง บางส่วนของ จ.ยะลาหรือพื้นที่อื่นที่เขาขอกำลังเสริมและผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้ไป”

ทหารพรานหญิง... ดอกไม้เหล็กของชาติ

การปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชนที่มีการสื่อสารด้วยภาษายาวีเป็นสิ่งที่คนนอกพื้นที่มิอาจทำความเข้าใจได้
การมีล่ามหรือคนที่เข้าใจสามารถพูดคุยด้วยภาษาเดียวกันกับชาวบ้าน
จะทำให้สถานการณ์นั้นคลี่คลายและลดความหวาดระแวงลงไปได้

“ในหนึ่งชุดจะมีมุสลิมที่พูดและเข้าใจภาษายาวีอยู่ด้วย เพื่อช่วยเป็นคนกลาง
ในการสื่อสารที่ลึกให้เข้าใจได้อีกทางหนึ่ง
อย่างชุดของเรามีมุสลิมอยู่ 4 คน เราต้องใจเย็นที่สุด ใช้รอยยิ้มให้เป็นประโยชน์
ทนต่อแรงกดดันให้ได้ ไม่ชักสีหน้า
คุณสมบัติของผู้หญิงทำให้เขาใจเย็นลงได้ เราสามารถอธิบายให้เขายอมรับได้
ต้องดูเรื่องความไว้วางใจเมื่อได้พูดคุยก็จะรู้จักกันมากขึ้น


ทหารพรานหญิง... ดอกไม้เหล็กของชาติ

ชีวิตความเป็นอยู่ในฐานทหารของพวกเธอเป็นไปอย่างเรียบง่าย
บ้านพักเรือนไม้สองหลังสุดท้ายในวัดท่าประดู่เป็นที่พักพิงของพวกเธอทั้งยี่สิบหกคน
เหมือนเป็นหอพักหญิงที่รวมหญิงสาวจากหลายแหล่งมาอยู่ด้วยกันเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในเป้าหมายเดียวกัน

“ที่นี่มีอส.ทพ.หญิง 26 คน มีผู้หมู่ 2 คน เราแบ่งเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 13 คน
ทำงาน 24 วันได้พัก 8 วัน เป็นผลัดกัน พักครั้งละ 5 คน
วันเสาร์-อาทิตย์มีคนไปเรียนต่ออีก 5 คน มีคละกันเรื่องการศึกษาตั้งแต่ ม.3 ถึงป.ตรี
ค่าตอบแทนก็อยู่ในขั้นที่น่าพอใจ สามารถส่งเงินกลับไปให้ทางบ้านได้
จ่ายค่าประกอบเลี้ยงเดือนละ 700 กว่าบาท เป็นค่าอาหารวันละ 2 มื้อ
เป็นทหารต้องกินเพื่ออยู่
มุสลิมก็ปฏิบัติศาสนกิจได้สะดวก เวลาออกไปจากฐานก็ไปในชุดธรรมดา
ต้องขออนุญาตทหารเวรก่อน มีทหารพรานชายช่วยคุ้มกันเวลาออกไป
เราอยู่กันแบบพี่น้อง สนิทกันทุกคน
ผู้บังคับบัญชาเหมือนพ่อที่คุยได้ทุกเรื่อง ไม่เครียด เคารพระบบอาวุโส


มีกฎเหล็กที่ทุกคนต้องทราบ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดของทหารพรานทั้งชายและหญิงคือ

“หากมองถูกขัง 7 วัน คิดจะเด็ด ขัง 15 วัน หากพรากต้องปลดออก”

ต้องทำงานหนึ่งปีก่อนจึงจะมีครอบครัวได้แต่ห้ามจดทะเบียนสมรส
ส่วนคนที่มีแฟนก็คบหากันได้ ต้องใช้ความเข้าใจต่อกันเป็นอย่างมาก
สถานการณ์อย่างนี้ความเข้าใจกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

“เรื่องราวที่เป็นอยู่คงคลี่คลายยากเพราะไม่รู้ว่าใครเป็นโจร
แต่เขารู้ว่าเราเป็นทหาร มีคำสั่งหลายขั้นตอนและการลงมือในปัจจุบัน
หลายเหตุการณ์ทหารไม่ได้ทำแต่ถูกโยนความผิด
อยากให้สังคมมองเห็นข้อเท็จจริงและสื่อนำเสนอความจริงนั้น
เราทุกคนอยากให้บ้านเมืองสงบเหมือนกัน
ขอเป็นอีกส่วนที่ช่วยทำให้สังคมกลับสู่ภาวะร่มเย็นเหมือนก่อน”


สำหรับวัดประทุมวารี ม.1 ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
เป็นอีกฐานของกองกำลังกรมทหารพรานที่ 44 ที่นี่มีอส.ทพ.หญิงจำนวน 26 คนเช่นกัน


ยะ นุช อิ๋ว และตา ร่วมบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอในการเข้ามาทำหน้าที่รับใช้ชาติ
หลายคนที่มีหน้าที่การงานมั่นคงก่อนตัดสินใจสมัครเข้ารับการฝึกที่หนักเกินกว่าผู้หญิงธรรมดาจะทนได้
แต่เป็นภารกิจที่พวกเธอตั้งใจและทำได้

“กลัวมั้ย มองให้เป็นเรื่องปกติเหมือนกินข้าวทุกวัน รู้สึกว่าเหตุการณ์รุนแรงขึ้นทุกวัน
เรามีกองร้อยอยู่ทั่ว บางทีก็ไปสนับสนุนที่อื่นตามที่มีหนังสือขอมา

ในการออกพื้นที่แต่ละครั้งจะประชุมแบ่งหน้าที่กัน
นั่งบนรถก็แบ่งกันช่วยดูสองข้างทาง ต้องหมั่นสังเกต ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทาง
ห้ามหลับ ห้ามคุยโทรศัพท์ มีการซักซ้อมก่อนลงพื้นที่ เตรียมตัวรับเหตุการณ์
เมื่อถึงพื้นที่ต้องสังเกตทุกอย่างทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย ดูว่าใครเป็นแกนนำ
ให้สัญญาณว่าต้องชาร์จตัว เอาตัวมาสอบสวนว่าถูกหรือผิด
ซึ่งตอนนี้พอมีม็อบผู้หญิงแล้วรู้ว่าเราต้องไปบางทีมีการสลายม็อบกันก่อนที่เราจะไปถึง


ในการเข้าไปสลายม็อบจะให้มุสลิมเข้าไปเจรจาต่อรองก่อน
อย่างการลงไปในพื้นที่พยายามอธิบาย วันแรกๆ เขาก็ต่อต้าน
ช่วงหลังดีขึ้น มีท่าทีเป็นมิตรมากขึ้น

ทหารพรานหญิงไทยพุทธจะพกปืนช่วยคุ้มกันเพราะมุสลิมไม่พกปืน
"วันแรกที่ลงไปก็นั่งนิ่งสู้กับตัวเองว่าเราจะทำได้มั้ย ก็ผ่านไปได้ด้วยดี”

ยะเล่าประสบการณ์ที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์เรื่องราวการชุมนุมที่เกิดขึ้นใกล้บ้าน
“ตอนมีเรื่องราวว่าทหารยิงเด็กเสียชีวิตที่บ้านบานา
ตรงกับผลัดที่กลับบ้านพอดี
เข้าไปสังเกตการณ์และพูดคุยจึงรู้ว่ากลุ่มที่มาชุมนุมไม่ใช่คนในพื้นที่
มีคนจัดตั้งมีแกนนำพามาจากหลายพื้นที่
มีการซักซ้อมในเต็นท์ว่าถ้าตำรวจหรือทหารมาจะทำอย่างไร ต้องไม่ยอมท่าเดียว
ตั้งแต่มีทหารพรานหญิงลงมาในพื้นที่
ก็ไม่เคยมีม็อบที่รุนแรงเป็นเพียงการปะทะคารมกันมากกว่า

“ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก ต้องยิ้มไว้ก่อน ห้ามด่า ถ้าไม่พูดได้ก็จะดี
เวลาเขาด่าเป็นภาษายาวีก็เจ็บเหมือนกัน
แต่เพื่อนพุทธเขาไม่รู้เรื่องก็ยิ้มสู้ไว้ก่อน
เวลาทำงานบอกเพื่อนว่าห้ามถามจะแปลให้ฟังทีหลัง กลัวเพื่อนมีอารมณ์ตอบโต้
เมื่อแปลให้ฟังอารมณ์เขาก็เย็นลงแล้ว
ทหารพรานหญิงสัมผัสได้ทั้งชายและหญิง
เหมือนเป็นของแปลกที่เขาอยากรู้และมีคำถามเสมอว่าปืนที่ถืออยู่ใช้ได้จริงหรือ
เขาเข้าใจว่าเรามาเป็นนางบำเรอ
อยากให้รู้ว่าเราฝึกมาหนักแค่ไหน
เขาฝึกให้ทำทุกอย่าง ปฐมพยาบาล ทำคลอดฉุกเฉิน สามารถใช้ได้ในสถานการณ์จริง


“ช่วงนี้มีกระแสกดดันเยอะ มีข่าวว่าจะฆ่าตัดคอทหารพรานหญิงให้ได้
มีการฆ่าแล้วเผาน้องสาวของทหารพรานหญิงที่ยะลาไปแล้ว
เราก็เป็นห่วงญาติพี่น้องเหมือนกัน เวลากลับไปในชุมชนก็อยู่แต่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหน
หากชีวิตถึงฆาตจริงคงไม่มีใครห้ามได้” ทุกคนพยักหน้าเห็นด้วยในเรื่องราวที่ยะบอก

กิจวัตรประจำวันของกรม ทพ.44 ตั้งแต่ตื่นเช้ามาฝึกทบทวนท่าอาวุธ
ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลาหากมีเหตุจะได้ไปทันที
หากไม่มีเหตุอะไรพวกเธอจะช่วยงานในบก.ด้านเอกสาร ช่วยต้อนรับแขกที่มาเยี่ยม

ลูกผู้หญิงกับการทำหน้าที่นี้มิใช่เป็นเรื่องปกติทั่วไป
หากไม่มีใจรักหรือเหตุผลจากตัวเองคงไม่มีใครมาอาสามาทำหน้าที่นี้
ครอบครัวสนับสนุนพวกเธอเหล่านี้หรือไม่ ลองดูคำตอบ
“ทางบ้านบอกให้กลับเกือบทุกวัน เขากลัวเราจะเป็นอันตราย
บอกเขาว่าเป็นงานที่รักและชอบ ขอใช้เวลากับหน้าที่ตรงนี้สักพักแล้วจะกลับเอง
แต่คงอยู่ไปจนกว่าจะหมดรัก ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็ยังอยู่ในอาชีพนี้ต่อ
เขากำหนดอายุไว้ที่ 45 ปี” คำตอบจากใจของอิ๋ว หญิงสาวตัวเล็กจากนครศรีธรรมราช

ตา จากปัตตานีบอกว่า “เราฝึกหนักมาก ต้องมีใจรักจริงจึงจะอยู่ได้
ช่วงฝึกก็ลาออกไปหลายคน มีมุสลิมสมัครเยอะเหมือนกัน
แต่ถูกโจมตีด้วยใบปลิวว่าถ้ามาเป็นทหารพรานหญิงจะทำร้ายทางบ้านหรือจะฆ่า
แต่พวกเรายังไม่โดน ผู้บังคับบัญชาดูแลดีมาก ซื้อของมาฝากเป็นประจำ
ใช้ชีวิตเหมือนอยู่บ้านเพียงแต่ความสะดวกสบายอาจลดน้อยลงซึ่งไม่ใช่อุปสรรค
ตอนนี้เขากำลังรับสมัครเพิ่มอยู่ เราไม่ได้มาเพื่อสู้รบ แต่ต้องการให้สงบ”

ยะ หญิงสาวคนนี้บอกด้วยน้ำเสียงเข้มแข็ง

“ทางบ้านสนับสนุน พ่อบอกว่าเกิดมาครั้งเดียว ตายครั้งเดียว
พ่อยังไปส่งตอนฝึกที่นครศรีฯ พี่ชายก็บอกว่าไม่ต้องกลัวให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
เวลานั่งรถผ่านชุมชนไทยพุทธ เขาโบกมือให้ ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้น
ในฐานะเหมือนเป็นตัวแทนของมุสลิม อยากให้ทุกสังคมอยู่ด้วยกันได้ดี
เวลาเกิดเหตุการณ์ไม่อยากให้มองว่าเป็นฝีมือของมุสลิมอย่างเดียว
ทั้งที่คนทำจริงไม่รู้ว่าเป็นคนศาสนาไหนแต่มุสลิมถูกเหมารวมว่าเป็นผู้กระทำ
ขอให้มองแต่ละคนแต่ละเหตุการณ์มากกว่า”


นุช บอกว่า “ครอบครัวไม่ได้ว่าอะไรแต่ก็มีห่วงบ้าง
รู้ว่าเรารักอาชีพนี้ เรายิ้มสู้อย่างเดียว อยากให้พื้นที่สงบในเร็ววัน แต่รู้สึกจะรุนแรงมากขึ้น
ทหารพรานหญิงหรือใครกลุ่มไหนกลุ่มเดียวคงไม่สามารถทำให้เรื่องร้ายทั้งหลายหายไปได้
ต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน ปรับความคิดกันใหม่ว่าสาเหตุแท้จริงมาจากอะไร
ต้องมีผู้บงการเรื่องราวทั้งหมดนี้แต่ผู้ที่รับกรรมคือพวกเราทุกคน”

เป้าหมายชีวิตของแต่ละคนในอนาคตเป็นสิ่งที่พวกเธอคิดไว้เช่นกัน

นุชบอกว่า หากมีครอบครัวคงเลิกอาชีพนี้
แต่ในตอนนี้ขอทำหน้าที่นี้ก่อน ส่วนอื่นที่เป็นเป้าหมายค่อยให้เป็นไปตามเวลา
อาจไปสอบตำรวจหรือรับใช้ชาติในอาชีพอื่น ส่วนยะอยากอยู่ในอาชีพนี้ไปเรื่อยๆ
ยังไม่คิดมีครอบครัว ถ้าเขาให้โอกาสทำถึง 60 ปีก็จะดี
ส่วนตาและอิ๋วตั้งใจอยู่จนกว่าจะหมดรัก

ทหารพรานหญิง... ดอกไม้เหล็กของชาติ

ด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ของพวกเธอในการรับใช้ชาติครั้งนี้
บอกให้สังคมได้รับรู้ว่ายังมีผู้หญิงอีกส่วนหนึ่งที่มีพลังและกำลังใจที่เข้มแข็ง
แน่วแน่ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติให้กลับคืนสู่ชายแดนใต้
พวกเธอพร้อมรับใช้บ้านเมืองในทุกยาม
แม้ไฟใต้จะมอดดับชีวิตของพวกเธอยังคงโลดแล่นไปตามเส้นทางชีวิตที่เลือกแล้ว


(ข้อมูลจากเว็บไซท์ ศูนย์ข่าวอิศรา
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
26 พฤษภาคม 2550)
www.arunsawat.com
ภาพประกอบทางอินเทอร์เนต