สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

พระนางเรือล่ม




สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เสด็จพระราชสมภพ ณ วันเสาร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๐๓ ตรงกับวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก ณ พระบรมมหาราชวัง พระองค์ท่านเป็นธิดาลำดับที่ ๕๐ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา) พระองค์ทรงมีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ
พระชนมายุ ๑๕-๑๖ พรรษา ก็ได้เป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จไปพักผ่อนและเปลี่ยนอิริยาบถในฤดูร้อน ที่พระราชวังบางปะอิน
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เองไม่สู้ปรารถนาที่จะตามเสด็จพระราชวังบางปะอินครั้งนี้เท่าไหร่นัก เพราะก่อนหน้าที่จะได้รับหมายกำหนดการ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ได้ทรงพระสุบินก่อนวันเสด็จสักสองเพลา
ในพระสุบินนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ได้ทรงมีพระราชปรารภกับ พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ เป็นทำนองขอให้ทรงแก้ฝัน
" ในพระสุบินนิมิตนั้น มีเรื่องเล่าว่า พระองค์ฯพร้อมกับลูกน้อยเจ้าฟ้าหญิงฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท ข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ได้พลัดตกลงไปจากสะพานนั้น ลงไปในน้ำ พระองค์ได้ทรงฉุดด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองขึ้นมาได้ครั้งหนึ่ง ด้วยความตระหนักพระทัย แต่แล้วพระเจ้าลูกยาเธอฯ ก็กลับหลุดพระหัตถ์ตกไปในน้ำอีกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็คว้าพระหัตถ์จะฉุดเจ้าฟ้าหญิงอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้พระองค์เสียหลัก เลยพลัดตกลงไปในน้ำนั้น พร้อมกับเจ้าฟ้าหญิงราชธิดา "ทำให้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ไม่อยากเสด็จไปไหน แต่ก็ขัดพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จึงได้แต่ทรงอธิษฐานขอบารมีของพระบรมราชสามีคุ้มครอง

เช้าวันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๒๓ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒
พอได้ฤกษ์เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปล่อยขบวนเรือ พระประเทียบทั้งหลาย เคลื่อนออกจาก ท่าราชวรดิตถ์
เมื่อเรือกลไฟราชสีห์ ซึ่งเป็นเรือลำหน้ากำลังผ่านวัด ๆ หนึ่ง ( ต่อมาได้ชื่อว่า " วัดกู้ " ) ก็เบนหัวเรือเล่นเข้าไปเลียบฝั่งตะวันออก เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับในเรือได้ทอดพระเนตรทิวทัศน์ริ่มฝั่ง ส่วนเรือยอร์ชก็แล่นเทียบขึ้นมาขนานกับเรือราชสีห์ เป็นทำนองแข่งความเร็วกันอยู่
เรือปานมารุต ที่เป็นเรือจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้น นายท้ายเรือ คือ " นายอิน " พยายามเร่งฝีจักรให้ทันเรือราชสีห์ และเรือยอร์ช และแล้วความพยายามเบนหัวเรือแทรกขึ้นไปในระหว่างกลาง ด้วยความรีบร้อน จึงไม่ได้กังวลถึงเรือกลไฟโสรขจร ซึ่งแล่นตามหลังเรือราชสีห์มาอย่างกระชั้นชิด และอยู่เป็นลำในกว่าเรือปานมารุต
แต่ทันใดนั้นเอง ผู้ถือท้ายเรือโสรขจรก็รู้สึกว่าได้แล่นผิดร่องน้ำ เสียงพรืดพราดหลายครั้ง ๆ แสดงว่าใบจักรเรือได้พัดเอาทรายเข้าแล้ว และเรือโสรขจรก็ทำท่าว่าจะติดทราย ด้วยสัญชาติญาณของนายท้ายเรือ จึงเบนหัวเรือออกเพื่อหลบการเกยตื้น หักหลบการเกยตื้นเช่นนั้น เรือปานมารุตซึ่งกำลังเร่งเพื่อเข้าแทรกระหว่างกลางของเรือราชสีห์ และเรือยอร์ชก็ต้องเบนหลบตามออกไปทันที การเบนหัวเรือกลไฟหลบออกกันเป็นฉากๆนั้น ถ้าเป็นเรือกลไฟที่ไม่ได้ลากจูงจะสู้ไม่เป็นอันตรายมากนัก หากแต่ว่าเรือกลไฟปานมารุตจูงเรือพระประเทียบ และการลากจูงนั้นก็ปรากฏว่าได้ทิ้งระยะเชือกที่ลากจูงยาวกว่าลำอื่น เนื่องด้วยในเรือพระประเทียบนั้นมีพระราชธิดาซึ่งยังอ่อนพระชันษาอยู่ เกรงว่าควันไฟและลูกไฟจากปล่องเรือจะมารบกวนพระอนามัย
นายท้ายเรืออิน เมื่อเบนหัวเรือหนีแล้วก็ยังมิได้ชะลอความเร็ว เพื่อให้เรือพระประเทียบที่พ่วงมาตั้งลำก่อน แต่กลับเร่งความเร็วเพิ่งขึ้น เพื่อจะหนีหัวเรือของเรือโสรขจรที่พุ่งออกมา หักเป็นมุม ๔๕ องศา

ทันใดนั้นก็มีเสียง โครมมม... เนื่องด้วยเรือโสรขจรได้ปะทะเข้ากับเรือปานมารุตแล้ว เสียงหวีดร้องดังขึ้นทั้งลำเรือ พอเรือโสรขจรหักหัวเรือให้ตั้งลำอีกครั้งหนึ่ง ก็พอดีกับเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่กำลังถูกลากจูงยังมิสามารถตั้งลำได้ ลูกคลื่นอันเกิดจากเรือโสรขจรกระท้อนเข้าหาเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เรือพระที่นั่งเริ่มโคลงซ้าย โคลงขวา ลูกคลื่นลูกใหญ่ซัดประดังเข้ามากดหัวเรือพระที่นั่งให้โยนขึ้นลง เอียงไปมาอย่างน่าประหวั่นพรั่นพรึง
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงตกพระทัย เรือพระที่นั่งยิ่งโคลงใหญ่ เพราะลูกคลื่นได้ซัดเข้ามาไม่หยุด ด้วยพระสัญชาติญาณแห่งความเป็น " แม่ " สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงอุ้มพระราชธิดาเข้ามาไว้ในอ้อมประอุระ ทรงผวาและตื่นเต้นกับจังหวะของเรือที่โยนขึ้นลง และแล้วน้ำก็พรั่งพรูเข้ามาทางหัวเรือซู่ใหญ่ พระพี่เลี้ยงแก้วร้องไห้ด้วยความตกใจและตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก ชั่วระยะเวลาไม่ถึง ๕ นาทีเสียงอื้ออึงก็ดังก้องท้องน้ำ
" เรือพระนางล่ม "
อนิจจา ! เรือพระนางล่มคว่ำลงไปทันที เรือปานมารุตหยุดเครื่อง และเรือกลไฟลำอื่น ๆ ก็หยุดตามทันที
สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ นั้น ไม่สามารถจะหาทางออกจากเก๋งเรือที่ครอบอยู่ได้เพราะทรงมีพระอาการไม่ปกติอยู่แล้ว เนื่องด้วยทรงพระครรภ์และทรงห่วงพระราชธิดา และเป็นที่ปรากฏว่าขณะที่เรือล่มครอบนั้น เจ้าฟ้าหญิงฯได้หลุดออกจากพระหัตถ์หายไปในทันทีด้วย การที่ไม่เสด็จออกจากเก๋งเรือ จึงอาจจะเป็นด้วยห่วงพระราชธิดา และทำการค้นหาอยู่ภายใต้ท้องน้ำ และภายในเก๋งเรือ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ก็เป็นได้
พระยามหามนตรี ( อ่ำ ) สมุหราชองครักษ์ได้ออกคำสั่งโดยฉับพลันทันทีไม่ให้คนหนึ่งคนใดลงไปช่วยเนื่องด้วยขัดกับกฏมณเฑียรบาล แม้แต่ชาวบ้านสามัญที่ไม่รู้เรื่องว่ากฏมณเฑียรบาลคืออะไรที่หักหาญเข้ามาช่วยเหลือก็ช่วยได้แต่เพียงนางข้าหลวง สำหรับเรือพระที่นั่งแล้วพระยา มหามนตรีออกคำสั่งเด็ดขาดไม่ให้เข้าใกล้แตะต้อง ถึงกับมีผู้กล่าวว่าตัวพระยามหามนตรีเองชักดาบยืนตะโกนออกคำสั่งสำทับอยู่ที่หัวเรือ ทำให้พวกชาวบ้านงงงวยนัก และเพียงแต่ช่วยพวกข้าหลวงให้ขึ้นเรือที่พายออกไปช่วยแล้วนำส่งขึ้นเรือใหญ่ ส่วนพวกที่ว่ายน้ำไม่เป็นก็จมหายไปนั้น ก็ได้งมช่วยขึ้นมาทันท่วงที และแก้ไขให้พ้นอันตรายเป็นจำนวนมาก
กฏมณเฑียรบาล ซึ่งมิใช่จะประหารชีวิตผู้ทำความช่วยเหลือทั้งนั้น แต่เป็นการประหารล้างโคตร จึงอาจจะกล่าวได้ทีเดียวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ไปเพราะกฏมณเฑียรบาล กฏหมายอันมีมาแต่โบราณกาล กฏมณเฑียรบาลตอนนี้ มีความว่า

" ถ้าเรือประเทียบล่ม ให้ชาวเรือว่ายน้ำหนี ถ้าอยู่กับเรือโทษถึงตาย ภูดาษแลชาวเรือยื่นเสร้า แลซัดหมากพร้าวให้เกาะ ตามแต่จะเกาะได้ ถ้ามิได้อย่ายืด ถ้ายืดขึ่นให้รอด โทษถึงตาย ถ้าซัดหมากพร้าวให้รอด รางวัลเงินสิบตำลึง ขันทองหนึ่ง ถ้าเรือประเทียบล่ม มีผู้อื่นเห็น แลซัดหมากพร้าวเอาขึ้นให้รอด โทษทวีคูณตายทั้งโคตร
"อนึ่งเรือประเทียบล่ม แลซัดหมากพร้าวเข้าไปริมฝั่ง โทษฟันคอริบเรือน
"อนึ่ง ตัดเรือประเทียบโทษถึงตาย ข้ามเรือจวนประเทียบ โทษถึงตาย
"อนึ่งถ้าเสด็จไล่เรือ แลเรือลูกขุนผู้ใด ไปโดยทางลัดเลี้ยว มิมาให้ทัน พระที่นั่ง โทษฟันคอริบเรือน
"อนึ่ง ท้าวพระยามนตรีมุขลูกขุน หัวหมื่นหัวพันทั้งปวง ฝ่ายประเทียบก็ดี ตัดประเทียบชั่วลำเรือก็ดี โทษฟันคอริบเรือน
"อนึ่ง ผู้ใดตีด่ากัน เข้ามาตัดหน้านางเทพี โทษเท่าฝ่าประเทียบ"
เป็นคราวเคราะห์และมหาวิบัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์โดยแท้ เพราะชั่วเวลาที่เรือพระที่นั่งล่ม เวลาแห่งการช่วงเหลือ ที่พวกชาวบ้านจะเข้ามาได้นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเรียกได้ว่าช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะเพียงแต่ว่าช่วยหงายเรือพระที่นั่งขึ้นก่อน ที่จะคำนึงถึงกฏมณเฑียรบาล สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ก็คงจะไม่มีอันตรายถึงแก่สิ้นพระชนม์ หานึกไม่ว่ามนุษยธรรมนั้นย่อมอยู่เหนือกฏใดๆ
ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จึงต้องสูญเสียพระชนม์ พร้อมลูกน้อยในพระครรภ์ นอกจากนั้นยังมีเจ้าฟ้าหญิงพระราชธิดาฯ อันเป็นดังดวงหฤทัย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกพระองค์หนึ่งด้วย ขณะนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงมีพระชนม์ ได้ ๑๙ ปี ๖เดือน ๒๒ วัน ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๒๓ ทรงพระครรภ์อยู่ได้ ๕ เดือนเต็ม พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ พระชนม์ อายุได้ ๑ ปี ๙ เดือน ๒๐ วัน

เมื่อออกคำสั่งให้คนทั้งหลายหงายเรือเก๋งพระที่นั่งขึ้นมาก็ปรากฏว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์เสียแล้ว พร้อมด้วยพระพี่เลี้ยงแก้ว ส่วนพระราชธิดาเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ไม่ปรากฏว่าติดค้างอยู่ในเก๋งเรือ เหตุที่พระราชธิดาเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ได้หายไปเช่นนั้น ต่างคนต่างดำหากันเป็นเจ้าละหวั่น พระยามหามนตรีเองไม่ได้สนใจอะไร มากไปกว่าได้ออกคำสั่งให้หงายเรือพระประเทียบ
ในขบวนเรือเสด็จนั้นมีหนุ่มคนหนึ่งชำนาญในการว่ายน้ำดำน้ำมาด้วยคนหนึ่งชื่อว่า " เถอะ " เป็นข้าส่วนพระองค์ของพระองค์เจ้าชายเทวัญอุทัยวงศ์ เรียกกันในขณะนั้นว่า " ไอ้เถอะ " และไอ้เถอะนี้เองได้แสดงความสามารถ ในการดำน้ำหาพระศพของพระราชธิดาเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ได้ ซึ่งพระยามหามนตรีเท็จทูลเอาความชอบใส่ตัวเองว่า ตนเองเป็นผู้ดำควานลงไปพบพระศพ ความจริงข้อนี้กระจ่างภายหลัง ด้วยประจักษ์พยานหลายปาก เป็นผลให้ไอ้เถอะได้รับเหรียญตรา แต่พระยามหามนตรีกลับได้ตรวนไปแทน

พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงอยู่ในพระอิริยบถอันแน่นิ่งราวกับเพิ่งบรรทมหลับ ไม่มีริ้วรอยแห่งความหมายว่า ได้สิ้นพระอัสสาสะแต่ประการใด เคียงข้างกับพระศพของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ ก็ได้ประทับอยู่ข้างพระราชมารดา
พิธีอันเชิญพระศพของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ขึ้นไปบนเรือเวสาตรีนั้นเป็นไปอย่างเรียบร้อย เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ได้เป็นธุระในการรับเสด็จพระศพ โดยถูกกำหนดให้ร่วมไปในเรือพระที่นั่งเวสาตรีพร้อมกันหมด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นแม่งานด้วย
ตามพระราชประเพณีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะต้องเป็นผู้สรงน้ำพระศพของพระมเหสี และพระราชธิดาเป็นพระองค์แรก แต่ด้วยความโศกเศร้า ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จเข้าไปเห็นพระพักตร์ของพระปิยมเหสี และพระราชธิดา เกรงว่าจะระงับพระราชหฤทัยไว้ไม่อยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เชิญพระสุคนธ์ มาสรงน้ำพระปิยมเหสีและพระราชธิดา แทนพระองค์ ส่วนพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ตำหนักแพ มิได้เสด็จขึ้นพระบรมมหาราชวัง หรือเสด็จเคลื่อนพระองค์ไปจากที่ประทับนั้นเลย และไม่ปรากฏว่าตลอดเวลาทั้งคืนจะเสด็จเข้าที่บรรทม แม้แต่เอนพระวรกาย สักนิดเดียว
การสรงน้ำพระศพได้เรียบร้อยทุกคนถ้วนหน้า เมื่อเวลาใกล้สองโมงเช้า ก็ได้มีพระราชพิธีอัญเชิญพระยรมศพลงพระโกศ ตลอดจนกำหนดเวลาที่จะอัญเชิญพระโกศ ขึ้นจากเรือพระที่นั่ง เวสาตรี สู่พระบรมมหาราชวัง





ข้อมูลอ้างอิง
- " พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ( พระนางเรือล่ม ) " คุณอดุลย์ บางลำภูการพิมพ์
- " สวนสุนันทาในอดีต " หนังสือในงานเฉลิมฉลองวันสถาปนาวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ครบรอบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙
- " สวนสุนันทา ใต้ร่มพระบารมี ๗๐ ปี สวนสุนันทา " หนังสือบันทึกพระราชประวัติและความเป็นมาของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
- " พระราชพิธีถวายพระเพลิงศพ_พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์.jpg (432 ? 288 pixel, file size: 11 KB, MIME type: image/jpeg) จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- กองทัพเรือ " http://www.navy.mi.th/nrdo/Chakri/king9.htm "
ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลต่างๆ ขอขอบพระคุณทุกท่าน ทุกหน่วย ฯลฯ อย่างสูง ทั้งผู้มีรายนามและไม่มีรายนาม