น้ำคือชีวิต



วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันน้ำโลก”
(World Water Day) องค์การโลกให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการบริโภคและ
เพื่อการเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดบริโภคและน้ำเพื่อ
การใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอสำหรับประชากรทั่วโลก บางแห่ง
ขาดแคลนน้ำอย่างแสนสาหัส แต่บางแห่งมีน้ำใช้เหลือเฟือ
เพราะการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศของโลกกับการเพิ่มขึ้น
ของประชากรโลก ในอนาคตอีกไม่นานเราอาจมีปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค

มีใครรู้บ้างว่าบนโลกใบนี้มีน้ำอยู่ที่ไหนบ้าง สถิติบอกว่าบนโลกใบนี้ส่วนใหญ่
เป็นน้ำ โดยร้อยละ 97.5 เป็นน้ำเค็มในมหาสมุทรและทะเลต่างๆ
ที่เหลืออีกร้อยละ 2.5 เป็นน้ำจืด ร้อยละ 70 ของน้ำจืดเป็นน้ำแข็ง
หรือเป็นหิมะปกคลุมบนภูเขา และที่อยู่ในมหาสมุทรแอนตาร์กติก
และอาร์ติกที่มนุษย์นำมาใช้ไม่ได้
ยกเว้นในฤดูร้อนเมื่อหิมะละลายกลายเป็นน้ำไหลลงมาตาม
แม่น้ำลำธาร ทะเลสาบ อีกร้อยละ 29.7
เป็นน้ำจืดใต้ดิน ซึ่งอาจอยู่ลึกที่สุดถึง 2,000 เมตร
รวมทั้งความชื้นบนผิวดิน น้ำในทุ่งหญ้า
อีกร้อยละ 0.3 เป็นน้ำจืดในทะเลสาบและแม่น้ำลำคลอง
โลกมีลุ่มน้ำและทะเลสาบที่ข้ามพรมแดนประเทศ
263 แห่ง ครอบคลุม 145 ประเทศ และคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผิวโลก


ประชากรโลกซึ่งมีอยู่ประมาณ 6,500 ล้านคนนั้น ร้อยละ 54 เข้าถึงแหล่งน้ำจืด
ในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ น้ำใต้ดิน แยกเป็นการนำน้ำมาใช้
เพื่อการชลประทานร้อยละ 70 เพื่อการอุตสาหกรรมร้อยละ 22
และใช้ในบ้านเรือนอีกร้อยละ 8 ช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
มีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว มีคนกว่า 1,400 ล้านคนทั่วโลก
ที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำ ซึ่งการใช้น้ำมีสูงกว่ามาตรฐานกลาง
ร้อยละ 60 ของเมืองในยุโรปที่มีประชากรมากกว่า 100,000 คน ใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นสูงกว่า ในอัตราเฉลี่ยทั่วไป นอกจากนั้นคาดกันว่าในปี 2568
ประชากรโลก 1,800 ล้านคนมีโอกาสขาดแคลนน้ำ
และอีกสองในสามของประชากรโลกอยู่ภายใต้สภาวะกดดันที่อาจมีน้ำไม่พอใช้

คนหนึ่งคนจะดื่มน้ำ 2-4 ลิตรต่อวัน แต่ต้องใช้น้ำ 2,000-5,000 ลิตร
สำหรับผลิตอาหาร (เกษตรและปศุสัตว์) ประจำวันสำหรับ 1 คน
คาดกันว่าในปี 2550 มีประชากรโลกที่บริโภคอาหารไม่เพียงพอ
ต่อความต้องการของร่างกายถึง 923 ล้านคน ระบบชลประทานในโลกนี้
มีประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ปลูกพืช โดยผลิตอาหารให้โลกร้อยละ 40
ของปริมาณอาหารทั่วโลก ที่เหลืออีกร้อยละ 80 ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก
จากภาวะโลกร้อนทำให้หิมะบนภูเขาหิมาลัยซึ่งเป็นแหล่งน้ำ
สำหรับการเกษตรในเอเชียอาจลดลงร้อยละ 20 ในปี 2573 ดังนั้น
โลกต้องเพิ่มระบบชลประทานอีก 1-4 เท่าตัว


มนุษย์ก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ โดยทิ้งสิ่งของลงในแม่น้ำลำคลอง
ถึง 2 ล้านตันต่อวัน ในประเทศกำลังพัฒนา มีการปล่อยน้ำเสีย
จากโรงงานอุตสาหกรรมลงในแม่น้ำลำคลองถึงร้อยละ 70 ของจำนวนของเสีย
ที่ทิ้งในแม่น้ำทั้งหมด นอกจากนั้นการใช้ปุ๋ย สารเคมีในไร่นา
พอฝนตกลงมาอาจทำให้สารเคมีเหล่านี้ไหล
ลงแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำเสีย ปลาตายได้ ทำลายสภาพแวดล้อมชายฝั่ง


ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมามีข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับน้ำกว่า 200 ฉบับ
และมีการพิพาทระหว่าง รัฐว่าด้วยเรื่องน้ำ 37 คดีด้วยกัน
ทำอย่างไรประเทศที่เกี่ยวข้องจะสามารถตกลงบริหารน้ำเพื่อนำมา
ใช้ประโยชน์ร่วมกัน


สหประชาชาติมีคำขวัญว่า “ไม่ว่าเราจะอยู่ต้นน้ำหรือปลายน้ำ
เราก็อยู่ในเรือลำเดียวกัน” สหประชาชาติมีแผนปฏิบัติการ
ระหว่างปี 2548-2558 เรียกว่า “น้ำเพื่อชีวิต” ยิ่งประชากรโลกเพิ่มขึ้นทุกปี
นั่นหมายถึงว่าคนต้องแย่งกันกิน แย่งกันใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
มากขึ้นทุกที พื้นที่ใดที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ก็ไม่มีปัญหา
แต่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ สงครามแย่งชิงน้ำทั้งขนาดเล็กและ
ขนาดใหญ่ย่อมเกิดขึ้นได้


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดขณะนี้คือ อิสราเอลกับเลบานอน
หรือดาฟัวร์ ประเทศซูดาน เป็นต้น
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด