ปฏิรูปการศึกษา ทศวรรษ 2




หลังจบศึกซักฟอกการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน
ลงแล้ว บรรยากาศของการปฏิรูปการศึกษาก็พลอยมีชีวิตชีวาคึกคัก
ตามไปด้วยเช่นกัน โดยสถานการณ์ล่าสุดได้เห็นกระทรวงศึกษาธิการ
เริ่มเดินเครื่องปฏิรูปการศึกษาแล้ว ว่ากันว่าคราวนี้ทำท่าเอาจริง ถึงขนาด
มีการรวมองค์กร 14 กรมเข้าไว้ด้วยกัน และกำหนดทิศทาง 9 ประเด็นหลัก
ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนไทยเป็นสำคัญ โดยมอบหมาย
ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเจ้าภาพใหญ่


เหตุผลหลักๆนั้นว่ากันว่ามาจากการพบข้อมูลที่น่าสนใจในงานสัมมนา
“ปฏิรูปประเทศไทยว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ย้ำให้เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษ 2
พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษา
ไทยพัฒนาก้าวไกล ทัดเทียมนานาประเทศ และคาดว่าจะกำหนดกรอบทิศทาง
การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ได้ชัดขึ้นภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้



สำหรับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 นี้ เบื้องต้นทาง สกศ.
กำหนดแนวทาง 9 หลักคือ

1.การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและผู้เรียน
2.การผลิตและพัฒนาครูอาจารย์
3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษาและการมีส่วนร่วม
4.การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
5.การผลิตและพัฒนากำลังคน
6.การเงินเพื่อการศึกษา
7.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
8.กฎหมายเพื่อการศึกษา และ
9.การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษานอกระบบ และตามอัธยาศัย


เป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้ง 9 ข้อจะทำได้สำเร็จหรือไม่
อีกไม่นานคงได้เห็นกันว่า สกศ. จะมีฝีมือจริงหรือไม่
ไม่น่าเกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ แม้จะเกรงกันว่าการปฏิรูปรอบ 2
อาจไปไม่รอด โดยเฉพาะหากปฏิรูปการศึกษาแบบดาวกระจาย
คือทำทุกเรื่อง ซึ่งทำให้จับประเด็นหลักของปัญหาการศึกษาไม่เจอ
หรือแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด แม้หลายฝ่ายกังวลข้อนี้
แต่ก็ยังตอบไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิดในช่วงแรกของการปฏิรูปรอบ 2
แต่การรับข้อคิดเห็นไว้ก็เป็นข้อมูลที่ดีที่ให้ สกศ.
ได้ทบทวนข้อเด่นข้อด้อยแต่ละปัญหาได้

อ้างอิง : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้