ภัยเครื่องสำอาง




ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเครื่องใช้ส่วนตัวเป็นสิ่งที่แทบจะแยก
ไม่ออกจากชีวิตประจำวันของคนเรา แต่หากมองลึกๆแล้วมีสาร
ที่เป็นอันตรายแอบแฝงอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบหลายอย่าง
นับตั้งแต่ปัญหาเรื่องเป็นหมันหรือความสามารถในการมีบุตร
ปัญหาภูมิแพ้ ไปจนถึง “มะเร็ง” ที่ผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆต้องระมัดระวัง


ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและเครื่องสำอาง เช่น โฟมล้างหน้า แชมพู
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม อายแชโดว์
ผลิตภัณฑ์หรือน้ำหอมระงับกลิ่นกาย เป็นต้น นับเป็นอุตสาหกรรม
ที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ เฉพาะในอังกฤษอุตสาหกรรมด้านนี้
มีมูลค่าสูงกว่า 6,500 ล้านปอนด์ต่อปี แต่ขณะเดียวกันการผลิตสินค้า
ประเภทนี้มีการนำเคมีสังเคราะห์ที่เป็นอันตรายหลายอย่างมาใช้
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะทำให้เครื่องสำอางภายในกระเป๋าของคุณผู้หญิง
ทั้งหลายเป็นเสมือนแหล่ง “รวมมิตรเคมี” และทำให้คุณผู้หญิงจำนวนมาก
ต้องกลายเป็น “คนสวยอาบยาพิษ” ไปอย่างไม่รู้ตัว


มาดูกันว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในเครื่องสำอางและเครื่องใช้ใกล้ตัวอื่นๆบ้าง



สาร PPD

สารตัวแรกที่อาจทำให้คุณผู้หญิงสมัยนี้ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้แก่ สารชื่อว่า
paraphenylenediamine (PPD) ซึ่งมีอยู่ในผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม
ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน สารตัวนี้สามารถทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้ผิวหนังได้
เช่น ทำให้เกิดผื่นแพ้หรือผิวหนังอักเสบ

แม้ว่า PPD ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สัมผัสกับผิวหนังตรงๆ แต่ในขณะทำสีผม
น้ำยาตัวนี้จะไปสัมผัสกับผิวหนังบริเวณกะโหลกศีรษะ หน้าผาก หรือใบหู
คนที่แพ้จึงสามารถเกิดแผลอักเสบตามมาได้

จากการสำรวจของคลินิกรักษาโรคผิวหนังอักเสบแห่งหนึ่งในลอนดอน
ซึ่งทดสอบผู้ป่วยเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนองต่อสาร PPD พบว่า ป
ฏิกิริยาภูมิแพ้สารตัวนี้เพิ่มขึ้นจาก 4.2% ในปี 1999 มาเป็น 7.1%
ในเดือนธันวาคม 2004 ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากมีผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมเพิ่มขึ้น
และมีการทำสีผมในวัยที่มีอายุน้อยขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่อีกการศึกษาหนึ่งพบว่า อาสาสมัคร 55 คนมีปฏิกิริยาตอบสนอง
ต่อผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ทำให้มีความเห็นว่าสาร PPD มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ของประชาชน แต่ยังคงได้รับอนุญาตให้ใช้ในหลายประเทศ รวมถึง
สหภาพยุโรป (อียู.) ที่กำหนดความเข้มข้นไว้ไม่เกิน 6%
ส่วนในสหรัฐไม่เกิน 4% แต่มีหลายประเทศห้ามใช้สารตัวนี้ในผลิตภัณฑ์
เปลี่ยนสีผม เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดน เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ



สาร SLS

สารที่ต้องระวังอีกตัวมีชื่อว่า Sodium lauryl sulphate (SLS)
ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ เช่น ครีมหรือโฟมล้างหน้า,
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น, แชมพู, ครีมอาบน้ำ, ยาสีฟัน
และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้านหลายอย่าง

เคยมีรายงานบ่อยครั้งว่าผลกระทบจากสาร SLS ที่พบบ่อยคือทำให้
เกิดอาการระคายเคืองตาจากการใช้แชมพู นอกจากนี้ยังสามารถ
ทำลายผิวหนังชั้นนอกได้ด้วย ซึ่งเคยมีงานวิจัยพบว่ามันสามารถแทรกซึม
ลงไปในชั้นผิวหนังได้ลึกถึง 5-6 มิลลิเมตร ทำให้เกิดอาการคัน
และยังสามารถลงไปในชั้นผิวหนังที่ลึกกว่านั้นได้โดยผ่านระบบต่างๆของร่างกาย

SLS ยังถูกนำไปใช้ทดสอบยาหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆโดยใช้กับมนุษย์และสัตว์
เพื่อทำให้เกิดอาการคันก่อนนำยาใหม่มาทดสอบ อีกทั้งยังนำสาร SLS
มาใช้ในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดส่วนบุคคล
อาจทำให้สารพิษตัวอื่นๆทะลุเข้าไปในผิวหนัง และนำมาใช้ทดสอบเพื่อช่วย
ให้สารตัวอื่นแทรกซึมลงไปในผิวหนังได้ดีขึ้น และสิ่งนี้เองที่น่ากลัว
เพราะมีการนำสารตัวนี้มาใช้ในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์
ทำความสะอาดส่วนตัวด้วย ซึ่งจะทำให้สารเป็นพิษตัวอื่นๆสามารถซึม
เข้าไปในผิวหนังได้ง่าย

สำหรับยาสีฟันนำสารตัวนี้มาใช้เพื่อช่วยทำความสะอาดฟันและภายในช่องปาก
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เคยมีรายงานว่าสารดังกล่าวทำให้
เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุในช่องปาก และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่
ทำให้เกิดแผลอักเสบภายในปากบ่อยครั้ง

ส่วนการอาบน้ำในลักษณะนอนแช่อยู่ในน้ำก็อันตราย เพราะทำให้ผิวหนัง
ระบบปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์ ได้รับสารตัวนี้หรือสารอื่นๆที่ใช้ในผลิตภัณฑ์
ทำความสะอาดเข้าไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้
โดยเด็กและทารกเป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น



น้ำยาดองศพ

สารเคมีอีกตัวได้แก่ ฟอร์มาล์ดีไฮด์ (Formaldehyde)
หรือที่คุ้นเคยกันดีในชื่อว่าฟอร์มาลิน ที่ใช้กันในวงการแพทย์
เป็นสารละลายสำหรับใช้ฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องฟอกเลือด
(เครื่องล้างไต) และใช้แช่เพื่อคงสภาพของเนื้อเยื่อไม่ให้เสีย
ดังที่นำมาใช้ดองศพนั่นเอง และมีข่าวว่ามีการนำไปใช้กับสินค้าประเภทผัก
และอาหารทะเลสด ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในเครื่องสำอาง เช่น น้ำยาทาเล็บ สบู่ และเครื่องสำอางอื่นๆอีกหลายอย่าง
รวมถึงเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น น้ำยาขัดเฟอร์นิเจอร์ก็มีสารฟอร์มาล์ดีไฮด์
อยู่ด้วยเหมือนกัน

ฟอร์มาล์ดีไฮด์เป็นสารที่เชื่อว่าสามารถทำให้เกิดมะเร็งและอาการระคายเคืองตา
และผิวหนังได้ ซึ่งสำนักงานวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) หน่วยงานในสังกัด
ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า มีหลักฐานที่พบว่าฟอร์มาล์ดีไฮด์
เป็นสาเหตุของมะเร็งคอหอย ซึ่งในกรณีที่ได้รับในปริมาณต่ำร่างกายจะสามารถ
กำจัดออกไปได้ แต่หากได้รับในปริมาณที่สูงหรือเข้มข้นมากขึ้น ฟอร์มาลิน
จะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิค (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายการทำงาน
ของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์ตายได้ ถ้าถูกตาจะเคืองตามาก
ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้หลอดลมบวม และหากถูกผิวหนังก็จะเป็นผื่นแดง
เหมือนลมพิษได้

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA)
อนุญาตให้ใช้สารตัวนี้ได้ในปริมาณจำกัด ส่วนในอียูจำเป็นต้องมีฉลากบอก
หากมีฟอร์มาล์ดีไฮด์ในปริมาณเข้มข้นกว่าเกณฑ์ 0.05%



ผงแร่ทัลคัม

แป้งฝุ่นโรยตัวจากทัลคัม (talcum power) เป็นแป้งที่มีส่วนประกอบ
ของผงแร่ทัลคัม (talcum) อยู่มากกว่า 90% แร่ชนิดนี้ถูกนำไปใช้ใน
เครื่องสำอางหลายอย่าง เช่น อายแชโดว์ แป้งเด็ก และผลิตภัณฑ์
ทำความสะอาดของผู้หญิง โดยมีคุณสมบัติช่วยให้เครื่องสำอาง
เกาะติดอยู่กับผิวได้ดีและโปร่งแสง

เอฟดีเอในสหรัฐมองว่าผงแร่ทัลคัมที่ใช้ในเครื่องสำอางปลอดภัย
แต่ในปี 1993 โครงการพิษวิทยาแห่งชาติ (NTP) ในอังกฤษพบว่า
หนูที่ได้รับสารดังกล่าวโดยสูดหายใจเข้าไปมีอาการอักเสบผิดปรกติในปอด
รวมถึงเป็นมะเร็งในปอดและมะเร็งที่ต่อมหมวกไต

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงเสี่ยงต่อการ
เกิดมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นประมาณ 30-60% หากใช้แป้งโรยตัวที่มีส่วนประกอบ
ของแร่ทัลคัมบริเวณจุดซ่อนเร้น ขณะที่ IARC ถึงกับลงความเห็นว่า
หากใช้แป้งโรยตัวจากทัลคัมทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งดังกล่าวขึ้นได้



สาร Parabens

สาร Parabens เป็นสารที่ใช้ในอาหารและเครื่องสำอางหลายอย่าง
เช่น น้ำยาระงับกลิ่นกายและกลิ่นใต้วงแขน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสารเคมี
กลุ่มนี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เพราะจากการศึกษาในสัตว์และเซลล์
พบว่ามันสามารถส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน (oestrogen)
ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ทราบกันดีว่าเกี่ยวพันกับการเกิดและก้าวหน้าของมะเร็ง

ดร.ฟิลิปปา ดาร์เบร อาจารย์แห่งภาควิชาเนื้องอกวิทยา มหาวิทยาลัยรีดดิง
ของอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษาในปี 2004 ว่า สาร parabens
สามารถตรวจพบได้ในเนื้อเยื่อเต้านมมนุษย์ ขณะที่การศึกษา
ในเดนมาร์กพบว่าอาสาสมัครชาย 26 คนที่ใช้ครีมที่มี
ส่วนผสมของ parabens ตรวจพบสารดังกล่าวอยู่ในกระแสเลือดภายใน 1 ชั่วโมง

Parabens ยังใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคอีกหลายอย่าง
แต่ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นใต้วงแขนและกลิ่นกายเป็นสิ่งที่ต้องใช้กันเป็นประจำ
จึงพบว่ามีความเกี่ยวพันกับการเกิดมะเร็งเต้านม เพราะจุดที่ใช้อยู่ใกล้เต้านม
จึงอาจส่งผลดัดแปลง DNA และเกิดพัฒนาการของเซลล์ที่ถูกทำลาย

ยิ่งใช้ผลิตภัณฑ์สัมผัสผิวหนังใต้วงแขนที่โกนขนรักแร้ ซึ่งเป็นเหมือ
นเครื่องปกป้องผิวหนังอย่างหนึ่งออกไปแล้วยิ่งมีความเสี่ยงสูง
เพราะทำให้เคมีตัวนี้เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น



สาร aluminium salts

สารอีกตัวที่ต้องระวังได้แก่ เกลือ (aluminium salts)
เพราะใช้กันมากในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นใต้วงแขน
ซึ่งบางครั้งพบเป็นระดับสูงถึง 25%

มีการวิจัยพบว่าสารตัวนี้สามารถเข้าไปยึดติดกับตัวรับ
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (oestrogen receptors) ในเต้านม
และทำให้เกิดผลกระทบคล้ายฮอร์โมนดังกล่าวด้วย
ขณะที่มีอีกการศึกษาหนึ่งซึ่งสำรวจผู้หญิง 437 คนที่แพทย์วินิจฉัย
ว่าเป็นมะเร็งเต้านมพบว่า ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย
ทาหลังโกนขนรักแร้ตั้งแต่อายุยังน้อย มักจะเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุยังน้อยด้วย

ตัวอย่างสารเคมีที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าเครื่องสำอาง
และของใช้ใกล้ตัวเรามีสารเคมีอันตรายและหลีกเลี่ยงได้ยาก
เพราะเป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม
หากเป็นไปได้ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่ได้มาตรฐาน
และน่าเชื่อถือเท่านั้น รวมถึงตรวจฉลากของผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ก่อนใช้ว่ามีสารอันตรายหรือไม่

หรือหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารจากธรรมชาติน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เ
ช่น เลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเปลี่ยนสีผมจากพืชผักและสมุนไพร
เช่น ดอกหญ้าฝรั่นแซฟรอน (saffron) ที่ให้สีเหลืองอมส้ม,
ใช้ผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวและช่วยให้ผิวขาวที่มีสารจากสมุนไพรคาโมมายล์
หรือใช้แป้งฝุ่นอนามัยจากแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด ที่ไม่มีผงแร่ทัลคัมแทน
และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันในบ้านเราก็สนับสนุนให้นำสารจากพืชและสมุนไพรมาใช้

คงต้องรู้จักเลือกใช้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง
และอาจรวมถึงชีวิตน้อยๆในครอบครัวของคุณด้วย