กำลังแสดงผล 1 ถึง 4 จากทั้งหมด 4

หัวข้อ: พาไปดู....ภูมิปัญญาท้องถิ่น....บุญเบี้ยกุดชุม

  1. #1
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ บ่าวกุดชุม
    วันที่สมัคร
    Sep 2008
    ที่อยู่
    กุดชุม
    กระทู้
    584
    บล็อก
    3

    พาไปดู....ภูมิปัญญาท้องถิ่น....บุญเบี้ยกุดชุม

    พาไปดู....ภูมิปัญญาท้องถิ่น....บุญเบี้ยกุดชุม

    ค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลง 35 บาท 36 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ต่างกุมขมับ กังวลใจกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกวันแต่เสียงของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ห่างไกลกรุงเทพฯออกไป 600 กว่ากิโลเมตร พวกเขาไม่ได้พูดเรื่องค่าบาท หรือดัชนีในตลาดหุ้น

    "เบี้ยใบนี้มันเอาไปซื้อของข้างนอกไม่ได้นะลูก" หญิงวัยเกือบ 60 ปี ที่กำลังงกๆ เงิ่นๆ อยู่กับเตาขนมเปล่งสำเนียงอีสานเบาๆ แล้วยิ้ม พลางยื่นธนบัตรกึ่งคูปองรูปลักษณ์เรียบง่ายให้ดู
    "เบี้ยกุดชุม" หรือที่ทางแบงก์ชาติ ระงับห้ามไม่ให้ชาวบ้านใน อ.กุดชุม จ.ยโสธร ใช้อย่างเด็ดขาด ด้วยเห็นว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย เมื่อปี 2542 กว่าที่แบงก์ชาติจะเข้าใจว่าเจตนาของชาวบ้านเป็นอย่างไรก็กลับบังคับให้ชาวบ้านเปลี่ยนคำว่า "เบี้ย" มาเป็น "บุญ" แล้วจึงผ่อนผันแบบค้างๆ คาๆ ความรู้สึกของชาวบ้านอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

    บ้านโสกขุมปูน ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างสลับซับซ้อนในชนบท นางชุธิมา ม่วงมั่น ผู้จัดการโรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงที่ถูกระงับใช้ อ.อภิชัย พันธะเสน จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาทำวิจัย เรื่องเบี้ยกุดชุม โดยนำไปเป็นตัวอย่างการใช้ ของแลกของ หรือคูปองให้กับชุมชนอื่นๆ ในหลายๆ จังหวัด ซึ่งปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นโครงกรวิจัยและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง

    "หมู่บ้านสันติสุข ถือว่าเป็นศูนย์กลางหลักที่ยังมีการใช้บุญกุดชุม และมีตลาดนัดตอนเช้าวันอาทิตย์ โดยให้คนที่เป็นสมาชิกและไม่ใช่สมาชิกได้ออกมาจับจ่ายแลกเปลี่ยนบุญกันด้วย คือ เอาทั้ง 2 ระบบมาใช้ได้" นางชุธิมากล่าวและว่าหลังจากที่ถูกระงับใช้ ทำให้ทุกวันนี้บุญกุดชุมยังเข้าไม่ถึงชาวบ้านจริงๆ แม้ว่าระบบแลกเปลี่ยนของกับของ หรือสินค้ากับสินค้า จะทำให้ชาวบ้านได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้น แต่การใช้เบี้ยยังไม่ขยาย กิจกรรมที่ชาวบ้านจะทำร่วมกันก็ยังไม่มากพอ อีกทั้งทุกวันนี้ก็ไม่ได้พิมพ์บุญกุดชุมเพิ่มแล้ว

    นางปราณี ศรีมันตะ ผู้ดูแลบุญกุดชุมในหมู่บ้านสันติสุข หยิบเบี้ยกุดชุมออกมาปึกใหญ่ มีทั้ง 1 เบี้ย 5 เบี้ย 10 เบี้ย 20 เบี้ยและ 50 เบี้ย "ส่วนใหญ่เขาก็ใช้กันแค่ 1 เบี้ย 5 เบี้ย เท่านั้น เพราะมันใช้ง่ายดี"

    กลอนบนเบี้ยกุดชุม ราคา 1 เบี้ยนั้น พิมพ์ด้วยตัวหนังสือเล็กๆ ว่า "เฮามาพากันส่างชุมชนแบบใหม่ ซ่อยกันเก็บออมไว้ภายหน้าสิซำบาย สวนครัวเฮ็ดไว้ผักมีให้มีหลาย เหลือกินเฮาจั่งขายภายในชุมชน" ส่วนราคา 5 เบี้ย เขียนไว้ว่า "เฮาเอาเบี้ยไปแลกเปลี่ยนสิ่งของ ทรัพยากรเงินทองบ่รั่วไหลออกไปนอก คือจั่งเอาล่อมคอกงัวควายให้มันอยู่ ซ่อยกันสู่เรื่องส่งอยู่เฮ็ดกิน" แม่ปราณีบอกว่า การมีบุญกุดชุมนั้น ดีกับชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและทำให้คนในชุมชนขยัน นอกจากนี้ยังได้รู้จักกับชุมชนอื่นที่เข้า มาศึกษา เอื้อเฟื้อความรู้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญคือ ในหมู่บ้านสันติสุขแห่งนี้ ไม่มีขโมย ไม่มีคนติดยาเสพย์ติด ซึ่งถือว่าการที่คนในชุมชนดูแลกันเองสามารถสร้างเกราะป้องกันอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี

    แม่ปราณีเล่าว่า ในหมู่บ้านสันติสุขมีทั้งหมด 33 ครัวเรือน แรกๆ มีสมาชิก 120 คน แต่ตอนนี้เหลือสมาชิกแค่ 20 ครัวเรือน "แม่ใช้มาตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2543 จนถึงวันนี้ เดี๋ยวนี้เรามีกฎว่า ให้บุญไปใช้ครัวเรือนละ 200 บุญ ยืมไป 200 บุญต้องเอามาคืนภายใน 1 ปี ไม่มีดอก ถ้าใครเอามาคืนไม่ครบ สมมติว่าเอามาคืน 150 บุญ เราก็จะให้ยืม 150 บุญ จนกว่าจะครบที่ยืมไป" เรื่องการเป็นหนี้ แม่ปราณียอมรับว่า บางคนในชุมชนก็เป็นหนี้ "ที่ยืมไปแล้วเป็นหนี้ก็เพราะว่า บางทีถึงฤดูที่ไม่ค่อยมีของมาขายหรือไม่ขยันที่จะนำพืชผักในบ้านมาขาย บางคนก็ไม่สนใจที่จะเป็นสมาชิกเพราะปลูกผักกินเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาซื้อมาแลก เขาอยากได้เงินบาทมากกว่า" แม่ปราณีกล่าวอีกว่า แม้จะไม่มีโครงการวิจัยเข้ามา แต่เบี้ยกุดชุมก็จะใช้ต่อไป ใช้ไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อมีเบี้ยกุดชุม ทำให้คนในชุมชนมีกลุ่ม มีรายได้ มีงานทำ เช่นกลุ่มขนม กลุ่มถั่วเหลือง "อย่างแม่ก็เอามะม่วงไปขาย มะขามที่เห็นอยู่ตรงนี้ ถ้าแกะฝักไปขายเป็นมะขามเปียกแม่ขายกิโลละ 5 บาท ถ้าแกะเม็ดก็กิโลละ 12 บาท บางคนมีมะพร้าว กลุ่มที่เขาทำขนมก็จะมาซื้อ

    "แม่สอน" นางบัวสอน เสาทอง อายุ 52 ปี กรรมการบุญกุดชุม สมทบว่า สาเหตุที่ทางแบงก์ชาติไม่ให้ใช้อาจจะเป็นเพราะคำว่า "เบี้ย" ซึ่งอาจนำไปตีความว่าเป็นดอกเบี้ย "แม่ว่าน่าจะมาจากคำว่าเบี้ย ที่ทางแบงก์ชาติเข้าใจว่าเราคงจะเก็บดอกเบี้ยไป เขาคงคิดว่าเราจะแข่งกับเงินบาท ไม่ใช่ จริงๆ แล้วเราไปแข่งอะไรไม่ได้เพราะเราใช้แลกเปลี่ยนกันในชุมชนเราเอง ซื้อผัก ซื้อปลา ก็เอาเบี้ยไปซื้อกินกันในหมู่บ้าน เราไม่ได้บอกว่าเบี้ย 10 มีค่าเท่ากับ 10 บาท แต่มันมีค่าในตัวมันเอง" แม่สอนกล่าวและว่า "คนบ้านนอก 20 บาทบางคนก็ไม่มี ไม่ได้พูดเล่นนะ บางทีมี 2 บุญ 3 บุญ 5 บุญ ก็สามารถเอาไปบวกกับเงินบาทซื้อของมากินได้

    ไม่เฉพาะระบบการเงินแบบบุญกุดชุมเท่านั้นที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาเพื่อพึ่งพาตนเอง ป้องกันไม่ให้เงินรั่วไหลออกสู่นอกชุมชน ยังมีโครงการอย่าง "ออมวันละบาท" ให้แก่เด็กๆ ในหมู่บ้านได้มาฝากเงิน ซึ่งบางครั้งผู้ใหญ่เองก็มาใช้บริการโครงการนี้ หุ้นสหกรณ์ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ต้องการให้คนในชุมชนมาเป็นหุ้นของสหกรณ์หมู่บ้าน เนื่องจากให้ดอกเบี้ยมากกว่าการนำเงินออกไปในเมืองเพื่อฝากธนาคาร ซึ่งให้ดอกเบี้ยน้อยกว่า เวลาที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงกันทั้งโลกสามารถพลิกผันได้ทุกวินาที ประเทศไทยต้องฝากอนาคตค่าเงินอยู่กับประเทศสหรัฐอเมริกา วัตถุนิยมกับบริโภคนิยมเข้าครอบงำชีวิตตั้งแต่ลืมตาดูโลก
    แต่ที่หมู่บ้านสันติสุข เงินไม่ใช่พระเจ้า

  2. #2
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา สัญลักษณ์ของ sompoi
    วันที่สมัคร
    Mar 2007
    ที่อยู่
    japan
    กระทู้
    5,708
    บล็อก
    23

    Re: พาไปดู....ภูมิปัญญาท้องถิ่น....บุญเบี้ยกุดชุม

    ยอดเยี่ยมเลย. มักสังคมแบบนี้ล่ะจ้า..อบอุ่น ดูแลกันเอง.. ดีๆ..อิ่มใจจั่งได๋บู๋เข้ามากะทู้นิแม๋ะ..
    มองต่าง..อย่างปลง

  3. #3
    ฝ่ายเทคนิคและโปรแกรม สัญลักษณ์ของ บ่าวโจ่โล่
    วันที่สมัคร
    Dec 2006
    กระทู้
    1,433

    Re: พาไปดู....ภูมิปัญญาท้องถิ่น....บุญเบี้ยกุดชุม


    ผมบ่แน่ใจว่า เบี้ยกุดชุมหนิ มีมาดนซ่ำได๋ แต่ผมได้เห็นจากข่าวในโทรทัศน์
    จัก 3 ปี ขึ้นไปหนิหล่ะ ว่ามีการแลกเปลี่ยนซื้อขายแบบนี้หล่ะ

    ผมเห็นแล้วผมประทับใจครับ เรื่องที่ชุมชน ดูแลกันเอง ทั้งภาคเศฐกิจ
    และภาคการบริหารภายในชุมชน

    ด้วยความศัทธาครับผม

    อย่าคิดนะว่าเธออยู่ในโลกนี้คนเดียว หนทางไม่เปลี่ยวขนาดนั้น ยิ้ม ๆ ไว้ซิก็อุปสรรคต้องฝ่าฟัน ยังไงเธอก็จะมีฉันคอยห่วงใย

    สื่อบันเทิงที่นำมาให้รับชม รับฟังเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น หากท่านชื่นชอบ สื่อใด โปรดซื้อสินค้าลิขสิทธิ์

  4. #4
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ pcalibration
    วันที่สมัคร
    Nov 2008
    ที่อยู่
    เมืองฉะเชิงเทรา(แปดริ้ว)
    กระทู้
    1,883
    บล็อก
    1

    Re: พาไปดู....ภูมิปัญญาท้องถิ่น....บุญเบี้ยกุดชุม

    ผมไม่แน่ใจว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น..บุญเบี้ยกุดชุม..เกิดขึ้นมาแต่ตอนไหน
    หรือว่าเป็นผลิตผลจากแนวความคิดเดิมที่ส่งผ่านการประยุกต์ออกมาสู่สังคม
    เพราะห้วงเวลาที่ข้ามพ้นมาดินแดนแถบนี้ถือว่าเป็นพื้นที่สีชมภูเป็นรอยต่อ
    ระหว่างป่ากับเมืองในเรื่องแนวคิดของลัทธิการเมืองการปกครองสมัยนั้น
    มีนักคิดหัวก้าวหน้าหรือจะเรียกว่าปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านโดนเพ่งเล็ง
    จากทางการในกระทู้ต้นฉบับยังมีกล่าวถึงนามสกุล นั่นแหละผมถือว่าเป็น
    สิ่งที่มันหล่นหายไปจากสังคมชุมชนท้องถิ่นตอนนี้กำลัังจะกลับมาพร้อมกับ
    การเมืองภาคประชาชนเริ่มจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาของชุมชนมากขึ้น
    :g:g:g:g:g

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •