โรคที่มากับฤดูร้อน

โรคที่มากับฤดูร้อน



ฤดูร้อนได้มาเยือนเราแล้ว เราต้องเตรียมตัวอะไรบ้างทางด้านสุขภาพ ประเด็นแรกคือต้องพยายามดื่มน้ำให้มากๆ เพราะร่างกายจะเสียเหงื่อมากในช่วงหน้าร้อน ถ้าร่างกายขาดน้ำ สมรรถภาพของร่างกายจะเสียไป จะออกกำลังกายได้ไม่ดีเท่ากับถ้าไม่ขาดน้ำ ทั้งๆ ที่อาจจะยังไม่รู้สึกหิวน้ำ

ปกติสุภาพสตรีจะมีโอกาสเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะ ไต อักเสบได้ง่ายอยู่แล้ว เนื่องมาจากกายวิภาคของสุภาพสตรีที่ไม่เหมือนสุภาพบุรุษนั้น เอื้ออำนวยต่อการที่จะมีท่อทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่าย ฉะนั้นในหน้าร้อนสุภาพสตรียิ่งควรที่จะดื่มน้ำมากๆ ตลอดเวลา จนปัสสาวะมีสีใสตลอด และต้องไม่กลั้นปัสสาวะ

ช่วงหน้าร้อนนี้ต้องป้องกันตาด้วยการใส่แว่นตากันแดด (ควรใส่แว่นตากันแดดเวลาแดดจัดตลอดทั้งปี) ถ้าไม่ระวังสายตาตอนยังเป็นหนุ่มสาว เมื่อมีอายุสูงขึ้นจะมีโอกาสเป็นโรคต้อกระจกได้ง่าย นอกจากนั้นยังควรทาครีมกันแดด ถ้าต้องออกไปอยู่กลางแดดนานๆ เช่น ตีกอล์ฟ ฯลฯ มิฉะนั้นผิวหนังที่ถูกแดดที่ร้อนจัดอาจจะแก่เร็วยิ่งขึ้น ผิวเหี่ยว มีการอักเสบง่าย และถ้าเป็นคนชาวผิวขาวอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งของผิวหนังมากยิ่งขึ้น

โรคที่มากับความร้อนมีมากมาย เช่น โรคที่มากับยุง แมลงวัน หรือมากับความชื้น เช่น โรคผิวหนัง สำหรับการป้องกันโรคผิวหนัง อยากให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นระยะ โดยเฉพาะกางเกงชั้นใน ถุงเท้า เวลาอาบน้ำควรเช็ดตัวให้แห้ง โดยเฉพาะที่ขาหนีบ รักแร้ ซอกนิ้วเท้าและมือ และอาจจะใช้แป้งด้วย เพื่อให้ผิวหนังแห้ง จะได้ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อรา

นอกจากนั้นคงต้องคอยดูแลกำจัดยุงและแมลงวัน สำหรับยุงขอเรียนย้ำไว้ว่าไข้เลือดออกนั้นเป็นได้ทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น เป็นได้ทั้งกรุงเทพและชนบท เป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สมัยก่อนพบว่าเป็นในเด็กเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้พบได้ในผู้ใหญ่มากขึ้น ทุกๆ คน ทุกๆ บ้าน จึงต้องพยายามกำจัดยุง อย่าให้มีอ่างน้ำหรือภาชนะอะไรก็แล้วแต่ในบ้าน (นอกบ้าน) ของตนเองที่เก็บน้ำไว้ได้ เพราะจะเป็นแหล่งน้ำที่เพาะยุง!

ถ้าผู้ใหญ่เป็นโรคไข้เลือดออกการวินิจฉัยอาจจะยากกว่าในเด็ก และอาจจะวินิจฉัยได้ช้ากว่า โดยหลักทั่วๆ ไปถ้ามีไข้โดยไม่มีสาเหตุ เช่น เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย ปัสสาวะอักเสบ (คือมีอาการปัสสาวะแสบ ขุ่นเป็นเลือด ฯลฯ) ฯลฯ ต้องรีบปรึกษาแพทย์ การวินิจฉัยมักขึ้นอยู่กับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดดูเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด สำหรับโรคไข้เลือดออก ช่วงเวลาที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ช่วงที่ไข้เพิ่งลง ถ้าไข้ลงและผู้ป่วยสบายดีไม่น่าที่จะมีปัญหา แต่ถ้า ไข้ลงแต่ผู้ป่วยกระสับกระส่าย ต้องระวังสภาวะช็อก!

แมลงวันอาจทำให้อาหารมีเชื้อโรคซึ่งจะทำให้ท้องเสียได้ เราต้องระวังอาหารที่หุงต้มแล้วมาอุ่นรับประทานภายหลัง เพราะระหว่างที่ทำเสร็จแล้วอาจมีเชื้อโรคเข้ามาปนได้ และถ้าเอาอาหารนี้ไปรับประทานโดยไม่อุ่นอีกเลย เช่น พวกพาย หรือแกงต่างๆ หรืออุ่นแต่ไม่ร้อนพอ หรือร้อนนานพอที่จะฆ่าเชื้อโรค อาจจะทำให้อาหารเป็นพิษได้ จะทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ ได้

สำหรับอาหารทะเลโดยปกติมักมีความเสี่ยงของการมีเชื้อโรคอยู่แล้ว แต่มักจะมีโอกาสเป็นมากขึ้นในหน้าร้อน เพราะอาหารทะเลจะ เสียง่าย อาหารทะเลที่มักทำให้เกิดโรคได้ คือ หอย เช่น หอยนางรม หอยแครง หอยแมลงภู่ และปู ฯลฯ ไม่ควรรับประทานดิบๆ ควรจะต้ม เผา นึ่ง ทอด ฯลฯ ให้สุกเสียก่อน ถ้าจะรับประทานดิบจริงๆ ต้องเลือกอาหารที่สดจริงๆ อาหารทะเลประเภทนี้อาจทำให้เกิดโรคไทฟอยด์ โรคท้องร่วงได้ รวมทั้งอหิวาต์ด้วย และโรคที่สำคัญ อีกโรคหนึ่งคือ โรคตับอักเสบชนิดเอ (และอี) ที่พบได้ในหอยต่างๆ

ถ้าคุณมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ควรดูว่ามีไข้หรือไม่ ถ้าถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด มีความรู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่ค่อยสุด ควรไปพบแพทย์ ระหว่างที่กำลังไปหาแพทย์ ควรดื่มน้ำมากๆ ถ้าถ่ายท้องมาก เพลีย ควรดื่มน้ำเปล่าจนปัสสาวะใส หรืออาจดื่มน้ำสุก 1 แก้ว ต่อน้ำตาล 1 ช้อนชา และเกลือหยิบมือ หรือถ้ามีซองเกลือแร่ อาจใส่ 1 ซองต่อน้ำ 1 แก้ว ส่วนอาหารไม่ควรรับประทานอะไร ถ้ายังไม่หิว ถ้าหิวควรรับประทานข้าวต้ม ปลา ไข่ต้ม ฯลฯ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีมันมาก หรือมีกากมาก ที่สำคัญที่สุดที่ต้องรับประทานในช่วงนี้ คือ น้ำ ไม่ใช่อาหาร สาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคอหิวา คือการขาดน้ำ ถ้าให้น้ำเกลือเพียงพอผู้ที่เป็นโรคอหิวา ก็จะไม่เสียชีวิต

สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และอี ในประเทศไทยมีแต่โรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (ส่วนชนิดบี และ ซี ก็มีด้วย แต่เชื้อชนิดบี หรือ ซี ติดต่อจากเลือด และผลิตภัณฑ์เลือด ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในวันนี้) เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ พบได้ในหอยทะเล หรือในอาหารทั่วๆ ไป การติดต่อมักเป็นจากอุจจาระและเข้าทางปาก โดยสรุปถ้าอาหารทุกชนิดที่เข้าปากสะอาดก็จะไม่เป็นโรคนี้ การล้างมือให้สะอาดจึงเป็นการป้องกันที่สำคัญรวมไปถึงอาหารที่สะอาดด้วย

แต่การป้องกันตนเองด้วยการรับประทานอาหารที่สุก สะอาด อาจกระทำได้ยาก ในกรณีที่เราออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะถ้าไปเที่ยว ทำงานในประเทศ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ฯลฯ ดังนั้นคุณอาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ซึ่งการฉีดนั้นต้องฉีด 2 เข็มเท่านั้น

โรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ มักมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เพลีย เบื่อบุหรี่ เบื่อเหล้า มีไข้ รู้สึกตึงๆ เจ็บๆ ที่บริเวณตับ (ชายโครงขวา) อาจเป็นอยู่ 2-3 วัน แล้วจึงจะมีอาการดีซ่านซึ่งก็คือตัวเหลือง และตาสีขาวกลายเป็นสีเหลือง เมื่อมีดีซ่านอาการไข้จะหายไป ช่วงนี้การตรวจเลือดดูการทำงานของตับจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ดี ที่สุด ถ้าเป็นโรคนี้แต่ยังรับประทานอาหารได้ดีอาจพักรักษาตัวได้ที่บ้าน

ถ้ารับประทานอาหาร น้ำ ไม่ได้ควรได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลไปก่อน ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายอยู่ประมาณ 1 เดือนแล้วจึงหาย แต่บางรายอาจใช้เวลาถึง 3 เดือน โรคนี้ส่วนใหญ่จะหาย มีน้อยรายมากที่จะเสียชีวิต และเมื่อหายจะหายขาด ไม่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง จนถึงโรคตับแข็ง หรือกลายเป็นมะเร็งของตับ ไม่เหมือนกับโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี ที่อาจจะกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งของตับได้

ถ้าคุณต้องเดินทางไปประเทศที่กำลังพัฒนา ควรพยายามดื่มน้ำจากน้ำขวดที่มีฝาปิด หรือเครื่องดื่มกระป๋อง อาจจะต้องพิจารณาใช้ น้ำขวดล้างหน้า แปรงฟันด้วย พยายามหลีกเลี่ยงอาหารนอกโรงแรม รับประทานอาหารที่ร้อน หลีกเลี่ยงสลัด ผลไม้ที่ปอกแล้ว ถ้าจะ รับประทานผลไม้ควรรับประทานผลไม้ที่ปอกเองได้ เช่น กล้วย ส้ม ฯลฯ

หน้าร้อนนี้ขอให้คุณทุกคนดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี
ด้วยความปรารถนาดี

ที่มา : นิตยสาร Health Today