พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินทริโย)
เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในสายกรรมฐานที่มีปฏิปทาและวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ท่านเป็นลูกศิษย์ของทั้งหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยพำนักและร่วมบุกเบิกถ้ำขามกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

หลวงตาพวง สุขินทริโย ถือกำเนิดที่บ้านศรีฐาน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเดิมคือ ต.กระจาย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.อุบลราชธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ปีเถาะ มีนามเดิมว่า พวง ลุล่วง
ต้นตระกูลเดิมของหลวงตาพวง สุขินทริโย เป็นชาวนา นับถือศาสนาพุทธมาแต่ดั้งเดิม โยมบิดา มารดามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตรหรือถวายภัตตาหารเป็นประจำทุกวันไม่ได้ขาด ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีมาโดยตลอด มีบุตรชายก็ต้องให้บวชพระเสียก่อนทุกคน ทั้งหลวงตาและน้องชายคือหลวงปู่สรวง สิริปุญโญ หลังจากบวชตามประเพณีแล้วได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงครองสมณเพศมาจนถึงปัจจุบัน
บิดามารดาของท่านมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเพลทุกวันมิได้ขาด ในวัยเด็กของหลวงตาพวง สุขินทริโย ติดตามบิดามารดาเข้าวัดเป็นประจำ ทำบุญตักบาตรทุกเช้า หรือไม่ก็นำอาหารไปถวายพระที่วัดแทนบิดามารดา ชีวิตมีความผูกพันกับวัดมาตั้งแต่เล็กๆ ได้เห็นการดำรงสมณเพศของภิกษุสามเณรในวัดที่มีความสงบ สำรวม จริยาวัตรที่งดงาม จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์

เมื่อ ด.ช.พวง ลุล่วง อายุครบเกณฑ์ บิดามารดาก็ส่งเข้าเรียนชั้นปฐมศึกษาภาคบังคับที่โรงเรียนประชาบาลในหมู่ บ้านศรีฐานนั่นเอง ช่วงเวลาที่ว่างจากการเรียน และช่วยเหลือกิจการงานของครอบครัว ด.ช.พวง มักจะไปเที่ยวเล่นในวัดใกล้ๆ กับโรงเรียน ผิดวิสัยกับเด็กทั่วไป ช่วยพระเณร ปัดกวาดเช็ดถู กุฏิศาลา หรือช่วยกิจการงานต่างๆ เช่น ล้างถ้วย ล้างชาม ในวัดศรีฐานใน เป็นประจำ ด้วยอุปนิสัยใจคอของ ด.ช.พวง ลุล่วง ที่มีนิสัยขยันขันแข็ง ไม่เกียจคร้าน ว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาทของบิดามารดา ครูอาจารย์ จึงเป็นที่รักและเอ็นดูของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และพระเณรในวัดเป็นอย่างมาก
ด้วยวัยเพียง 14 ปีของ ด.ช.พวง ลุล่วง ที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น แต่ได้มีความแตกต่างจากเด็กชายวัยเดียวกัน มีความสนใจและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยว ทรหด อดทน ซึ่งได้แสดงให้เห็นตั้งแต่การออกติดตามพระอาจารย์สอ และคณะของหลวงปู่เสาร์ไปนครจำปาศักดิ์ ซึ่งต้องเผชิญความยากลำบากและอันตรายนานัปการ ก็มิได้ย่อท้อแม้แต่น้อย ตลอดเวลาเกือบ 1 ปีที่ได้ติดตามพระอาจารย์สอ ด.ช.พวง ลุล่วง ได้รับใช้ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ ด้วยการล้างเท้า เช็ดบาตร กรองน้ำ ต้มน้ำ เย็บจีวร สังฆาฏิ ตลอดจนได้รับการอบรมข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ และการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

พระอาจารย์สอได้พิจารณาเห็นว่า ด.ช.พวง ลุล่วงเป็นผู้ที่มีจิตใจแน่วแน่มั่นคงในพระพุทธศาสนา ได้ผ่านการฝึกอบรมมาพอสมควรแล้ว จึงได้จัดการบรรพชาให้เป็นสามเณรที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นเพียงวัดเดียวบริเวณนั้นที่มีพระอุปัชฌาย์อยู่ ในเดือนมีนาคม 2484

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “ตอนที่จะบวชเป็นเณร ไม่ได้คิดอะไร แล้วแต่พระอาจารย์สอจะพิจารณา ท่านพาทำอะไรก็ทำ เพราะได้มอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์แล้ว ให้บวชก็บวช พาไปที่ไหนก็ไป โยมบิดามารดาก็ได้อนุญาตให้แต่เบื้องแรกก่อนที่จะติดตามพระอาจารย์สออยู่ แล้ว”

หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรพวง ลุล่วงได้จำวัดอยู่ที่วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ และปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์สอ สุมังคโลเป็นเวลากว่า 2 เดือน หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังวัดบูรพาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อกราบคารวะศพหลวงปู่เสาร์

นับได้ว่าเป็นบุญบารมีของสามเณรพวง ลุล่วงที่ได้สะสมมาแต่ชาติปางก่อน ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดพระพุทธศาสนาตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนที่จะได้บวชเข้าสู่ร่วมพระกาสาวพัสตร์ก็ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะ หลวงปู่เสาร์ในช่วงชีวิตสุดท้ายของท่าน ได้เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่นั้นมา

ชีวิตในเพศ บรรพชิต

พรรษาที่ 1 (พ.ศ. 2491) อุปสมบท ณ โบสถ์น้ำ วัดป่าบ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นอนุสาวนาจารย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว ไปจำพรรษาที่วัดป่าท่าสองคอน ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

พรรษาที่ 2 (พ.ศ. 2492) ย้ายไปจำพรรษาร่วมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พรรษาที่ 3 (พ.ศ. 2493) หลังจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มรณภาพ และเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่มั่นแล้ว ไปจำพรรษากับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร

พรรษาที่ 4-5 (พ.ศ. 2594-2495) จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร ร่วมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

พรรษาที่ 6 (พ.ศ. 2496) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เกิดนิมิตระหว่างนั่งสมาธิในกลางพรรษาว่าเห็นถ้ำที่สว่างไสว เหมาะแก่การปฏิบัติ จึงได้ไปค้นหาจนพบถ้ำขาม แล้วได้บุกเบิกจนเป็นวัดถ้ำขาม อ.พรรณานิคม จ.สกลนครในปัจจุบัน ในพรรษานั้น หลวงตาพวง สุขินทริโยได้ไปบุกเบิกถ้ำขามและจำพรรษาที่นั่น

พรรษาที่ 7-8 (พ.ศ. 2497-2498) กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร

พรรษาที่ 9 (พ.ศ. 2499) กลับบ้านศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิด เพราะโยมบิดาเสียชีวิต ประกอบกับพระอาจารย์บุญช่วย ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานในใน ที่เคยเป็นพระอาจารย์สมัยบวชเป็นเณร เกิดอาพาธ จึงอยู่ดูแลรับใช้ปรนนิบัติ

พรรษาที่ 10 (พ.ศ. 2500) พระอาจารย์บุญช่วย ธัมวโร เจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.อุบลราชธานี มรณภาพ ไม่มีพระภิกษุดูแลวัด ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีฐานในใน เพื่อดูแลวัด

พรรษาที่ 11 (พ.ศ. 2501) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานในในอย่างเป็นทางการ

พรรษาที่ 12-18 (พ.ศ. 2502-2508) จำพรรษาที่วัดศรีฐานใน บูรณะปฏิสังขรณ์วัดศรีฐานในจนมีความเจริญรุ่งเรือง

พรรษาที่ 19 (พ.ศ. 2509) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรม ในราชทินนามที่ พระครูใบฎีกา พวง สุขินทริโย

พรรษาที่ 20 (พ.ศ. 2510) จำพรรษาที่วัดศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.อุบลราชธานี

พรรษาที่ 21 (พ.ศ. 2511) เนื่องจากวัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลาชธานี ไม่มีเจ้าอาวาส เจ้าคณะจังหวัดและชาวบ้านไปนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส จึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี

พรรษาที่ 22 (พ.ศ. 2512) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลในเมือง อ.ยโสธร

พรรษาที่ 23 (พ.ศ. 2513) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูอมรวิสุทธิ์

พรรษาที่ 24 (พ.ศ. 2514) พัฒนาวัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี

พรรษาที่ 25 (พ.ศ. 2515) อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี ยกฐานะเป็นจังหวัด ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดยโสธร (โดยไม่ได้เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน)

พรรษาที่ 26 (พ.ศ. 2516) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระสุนทรธรรมภาณ และได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดยโสธรอย่างเป็นทางการ

พรรษาที่ 27-33 (พ.ศ. 2516-2523) จำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร

พรรษาที่ 34 (พ.ศ. 2524) หลังจากบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร เสร็จเรียบร้อย ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัด กม.3 ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร

พรรษาที่ 35-46 (พ.ศ. 2525-2536) กลับมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร โดยตลอด พัฒนาวัดศรีธรรมารามจนเจริญก้าวหน้าและได้รับจนได้รับยกย่องให้เป็นวัดพัฒนา ตัวอย่างในปี พ.ศ. 2528 และยกระดับเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 2532

พรรษาที่ 47 (พ.ศ. 2537) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชธรรมสุธี และได้รับพระราชทานธรรมจักรทองคำจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี พ.ศ. 2537

พรรษาที่ 51 (พ.ศ. 2541) ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต)

พรรษาที่ 54 (พ.ศ. 2544) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพสังวรญาณ

พรรษาที่ 52 (พ.ศ. 2542) สร้างวัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม บ้านนิคม ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร และจำพรรษาอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน

พรรษาที่ 62 (พ.ศ. 2552 ) หลวงตามรณภาพ พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2553

เป็น “สุขินทริโยภิกขุ”

ช่วงที่พำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านท่าสองคอน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปีที่ 2 สามเณรพวง ลุล่วง มีอายุครบ 20 ปีพอดี ได้เวลาที่จะบวชเป็นภิกษุ ประกอบกับมีสามเณรที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 3 รูป ก็จะเข้าอุปสมบทด้วย แต่สำนักสงฆ์ที่พำนัก และบริเวณใกล้เคียงไม่มีพระอุโบสถ อันเป็นสถานที่ประกอบพิธีในการอุปสมบท เพราะสำนักปฏิบัติธรรมของสายพระอาจารย์มั่นไม่เน้นที่จะสร้างถาวรวัตถุ หากแต่เน้นการปฏิบัติจริงในการเข้าถึงธรรม ซึ่งเป็นแก่นที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ศิษย์ของหลวงปู่มั่นจึงได้จัดหาสถานที่สำหรับอุปสมบท โดยเลือกที่สำนักสงฆ์บ้านหนองโดก ตอนหลังได้ยกฐานะเป็นวัดป่าหนองโดก อยู่ในตำบลช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนครเป็นสถานที่สำหรับอุปสมบท

การจัดเตรียมการอุปสมบทในครั้งนั้นได้จัดบนพระอุโบสถกลางลำน้ำ โดยนำเรือพายที่อยู่บริเวณนั้นมาจอดเรียงรายชิดติดกันหลายๆ ลำ แล้วได้นำแผ่นกระดานไม้มาปูเรียงบนลำเรือติดกันจนเป็นแพขนาดใหญ่ที่พอจะ ประกอบพิธีกรรมในการอุปสมบทได้

การอุปสมบทของสามเณรพวงครั้งนี้ มีพระเดชพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระภิกษุสงฆ์ที่เข้าร่วมพิธีในการอุปสมบทในครั้งนี้ นับว่าเป็นพระอริยสงฆ์ที่ทรงภูมิปัญญาทางธรรมเป็นอย่างยิ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีศีลธรรมจริยาวัตรที่งดงาม และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนาในด้านวิปัสสนากรรมฐานของสายหลวงปู่ มั่น ในเวลาต่อมา สามเณรพวง ลุล่วง ได้รับฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่า “สุขินทริโย” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีความสุขเป็นใหญ่”

เป็นศิษย์ หลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นเป็นพระอาจารย์สายกรรมฐานที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีวัตรปฏิบัติที่เข้มงวด เหล่าบรรดาภิกษุสามเณรทั่วทุกสารทิศต่างปรารถนาที่จะเป็นลูกศิษย์ของท่าน แต่การที่จะเข้ามาเป็นลูกศิษย์ของท่านได้นั้นต้องผ่านการพิจารณาจากหลวงปู่ มั่นและต้องเข้าคิวกันยาวมาก หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “ได้มีโอกาสมาปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่มั่นด้วยความบังเอิญจริงๆ เพราะโดยปกติแล้ว พระภิกษุที่จะได้เข้ามาอยู่กับหลวงปู่มั่นนั้นจะต้องจองคิวกันยาวมาก และจะต้องได้รับอนุญาตจากหลวงปู่มั่นก่อนด้วย พระภิกษุบางรูปที่วัตรปฏิบัติไม่เรียบร้อยบางครั้งก็ไม่มีโอกาสได้จำวัดที่ วัดป่าบ้านหนองผือ”

ด้วยบุญญาบารมีของพระพวงที่จะได้มีโอกาสมาปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่มั่น ในช่วงนั้นกำลังจะมีการสร้างถานหรือส้วมให้หลวงปู่มั่นใหม่ไว้บนกุฏิ เนื่องจากท่านสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จึงได้หาพระหนุ่มๆ ที่มีกำลังวังชาดีๆ ในละแวกนั้น มาช่วยในการก่อสร้าง พระพวงในวัยหนุ่มจึงมีโอกาสได้มาช่วยในการสร้างถานในครั้งนั้น กับพระภิกษุโสม โกกนัทโฒ ทั้งสองรูปจึงได้เข้ามาอยู่ในวัดป่าบ้านหนองผือโดยอาศัยศาลาวัดเป็นที่พัก อาศัย

ด้วยเหตุบังเอิญขณะนั้นมีการสร้างวัดใหม่ห่างจากวัดป่าบ้านหนองผือประมาณ 100-200 เส้น แต่มีพระจำพรรษาเพียงรูปเดียว ชาวบ้านจึงได้มานิมนต์พระภิกษุในสำนักของพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาด้วย หลวงปู่มั่นจึงได้ให้พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร (ปัจจุบันอยู่ จ.อุดรธานี) ซึ่งจำพรรษากับหลวงปู่มั่นและมีพรรษามากแล้ว ไปจำพรรษาที่วัดแห่งนั้น อาจารย์อ่อนสาขัดไม่ได้ จึงทำให้มีกุฏิว่างลง 1 แห่งพอดี แต่เนื่องจากพระพวงได้มาพร้อมกับพระอาจารย์โสม โกกนทโฒ จึงต้องรอกุฏิอีก 1 หลัง ประจวบเหมาะกับมีพระอาพาธด้วยโรคท้องร่วงอีก 1 รูปมีอาการค่อนข้างมาก หลวงปู่มั่นได้ให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทำให้กุฏิว่างอีก 1 หลัง

หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “ตอนเย็นวันนั้น ขึ้นไปกราบหลวงปู่มั่น ท่านได้ให้ไปอยู่กุฏิที่ว่าง ถ้าหากพระทั้งสองรูปยังอยู่ก็คงไม่ได้กุฏิอยู่ บังเอิญโชคดี จึงได้อยู่รับใช้ท่าน ถ้าหากพระสองรูปไม่ได้ออกจากวัด ก็คงจะไม่ได้อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่มั่น”

ด้วยบุญญาบารมีโดยแท้ พระภิกษุพวงจึงได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่มั่นและฝากตัวเป็นศิษย์ ซึ่งเป็นพรรษาครั้งสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ตลอดพรรษา ท่านได้ให้โอวาท สั่งสอน อบรม ข้อวัตร ปฏิบัติต่างๆ จนเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน

นั่งสมาธิ จนตัวลอย

หลังจากที่ได้รับการชี้แนะแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงปู่มั่น สามเณรพวงได้ลองนั่งวิปัสสนากรรมฐานตามคำแนะนำของหลวงปู่มั่น ผลของการนั่งสมาธิครั้งนั้น ปรากฏในจิตว่าตัวเบาเป็นปุยนุ่น ลอยไปในอากาศ จนกระทั่งถอนจิตออกจึงทราบว่าจิตลอยขึ้นไป เป็นผลจากการที่จิตรวมเป็นหนึ่ง เกิดสมาธิระดับอุปปาจารสมาธิ และคงจะเป็นอานิสงส์มาแต่ครั้งก่อนที่เคยมีบุญบารมีได้ฝึกปฏิบัติมา จึงสามารถรวมจิตเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว

ด้วยผลการปฏิบัติจากการได้รับคำชี้แนะจากหลวงปู่มั่นในครั้งนั้น หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “รู้สึกซาบซึ้ง ดื่มด่ำในรสพระธรรมเป็นอย่างมาก และตั้งใจว่าจะไปกราบเรียนหลวงปู่มั่นว่าจะขอบวชตลอดชีวิต แต่เปลี่ยนใจไม่ไปกราบเรียนท่านเพราะคิดว่าถ้าหากทำไม่ได้คงไม่ดี แต่ในจิตใจก็แน่วแน่มั่นคง มุ่งมั่น ในการฝึกวิปัสสนากรรมฐานให้แตกฉานต่อไป นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา”

“ช่วงที่ปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น การปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอุปสรรคอะไร แต่ก็มีบ้างที่มีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องผู้หญิง ด้วยความเป็นพระหนุ่มๆ ก็มีความต้องการเช่นเดียวกับชายหนุ่มกับหญิงสาวทั่วๆ ไปทุกคน คือ ราคะ โทสะ โมหะ ศัตรูที่เกิดขึ้นก็เป็นที่จิตใจ ซึ่งก็เป็นธรรมดาในการปฏิบัติ ปัจจุบันก็ผ่านมาหมดแล้ว ก็ได้อาศัยธรรมของครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ อสุภกรรมฐานให้ฟังทุกวัน แล้วก็พิจารณาทำใจให้เข้มแข็ง เข้าใจความจริง สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้” หลวงตาพวงเล่าให้ฟังด้วยความเมตตา

หลวงปู่ มั่นมรณภาพ

ในพรรษาสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ท่านมีอาการไข้ไอเรื้อรังมาตลอด ท่านได้บอกให้ศิษย์ทั้งหลายให้ทราบว่า การเจ็บป่วยของท่านครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงแต่ลมหายใจที่จะรอวันตายไปเท่านั้น เช่นเดียวกับไม้ที่ตายยืนต้น แม้จะรดน้ำพรวนดินเพื่อให้ผลิดอกออกใบ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ รออยู่พอถึงวันโค่นล้มลงจมดินเท่านั้น

ข่าวการอาพาธของท่านได้แพร่กระจายออกไป ใครทราบข่าวไม่ว่าพระภิกษุสามเณรหรือฆราวาส ก็หลั่งไหลพากันมาเยี่ยมมิได้ขาดสาย

อาการอาพาธของหลวงปู่มั่นเริ่มหนักขึ้นเป็นลำดับ พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาไม่ได้พากันนิ่งนอนใจ จึงได้จัดเวรคอยดูแลหลวงปู่มั่นบนกุฏิของท่าน 2 รูป และใต้ถุนกุฏิ 2 รูปมิได้ขาด ในช่วงนี้เองพระพวงก็ได้สลับผลัดเปลี่ยนกับพระภิกษุรูปอื่นๆ คอยปรนนิบัติหลวงปู่มั่นโดยตลอด

พอออกพรรษา ครูบาอาจารย์พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในที่ต่างๆ ก็ทยอยมาเยี่ยมท่านมากขึ้นเป็นลำดับ อาการของท่านก็หนักเข้าไปทุกวัน ศิษยานุศิษย์รุ่นอาวุโสอาทิ หลวงตามหาบัว หลวงปู่กงมา หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทศน์ หลวงปู่อ่อน ได้เรียกประชุมบรรดาศิษย์ทั้งหลาย เพื่อเตือนให้ทราบถึงอาการของท่าน และแจ้งให้ทราบว่าหลวงปู่มั่น ท่านได้ดำริที่จะให้นำตัวท่านไปที่สกลนคร ไม่อยากมรณภาพที่นี่ เพราะจะทำให้บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายที่นี่ต้องตายไปด้วย เนื่องจากจะต้องมีคนจำนวนมากมาร่วมงาน จะต้องฆ่าสัตว์เป็นอาหาร

เดิมทีเดียวบรรดาญาติโยมบ้านหนองผือมีความประสงค์ว่าจะให้ท่านมรณภาพที่นี่ พวกเขาจะเป็นผู้จัดการศพเอง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยากจนเพียงไรก็ตาม แต่ด้วยความเคารพในหลวงปู่มั่นจึงได้ปฏิบัติตามคำสั่งของหลวงปู่มั่นแต่โดย ดี

บรรดาญาติโยมก็ได้ช่วยกันเตรียมแคร่เพื่อหามท่านจากวัดป่าบ้านหนองผือไป สกลนคร โดยได้แวะพักระหว่างทางที่วัดป่าดงภู่ เป็นเวลา 9 วัน บรรดาญาติโยมในจังหวัดสกลนคร อาราธนานิมนต์ท่านเดินทางต่อ ก่อนเดินทางได้นำแพทย์ไปฉีดยาให้หลวงปู่มั่นเพื่อระงับเวทนา เมื่อฉีดยาเสร็จก็นำท่านขึ้นรถไปต่อยังวัดป่าสุทธาวาส อ.เมืองสกลนคร ระหว่างการเดินทางท่านไม่รู้สึกตัวเลย จนกระทั่งเวลาประมาณ เที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง (ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492) ในคืนนั้นท่านก็มรณภาพอย่างสงบ ยังความโศกเศร้าเสียใจของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายทั้งพระและฆราวาส นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชนไทย

พระพวงติดตามคณะไปด้วย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับพระรูปอื่นๆในการดูแลหลวงปู่มั่น ตลอดการเดินทางจวบจนวาระสุดท้ายของหลวงปู่ นับเป็นอีกครั้งในชีวิตของพระพวงที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์สำคัญของพระ เถรานุเถระที่ยิ่งใหญ่อีกหนึ่งองค์

ไปอยู่กับ หลวงปู่ฝั้น

หลังจากเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่มั่นแล้ว บรรดาพระเณรในสายของท่านก็มีความระส่ำระสาย ขาดที่พึ่งทางใจ ขาดเสาหลักอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เปรียบเสมือนขาดร่มโพธิร่มไทรให้พึ่งพิง พระพวงก็เช่นเดียวกัน หลังจากที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ ได้ตัดสินใจไปอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ด้วยเหตุที่ท่านเป็นพระอนุสาวนาจารย์ บวชให้ อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างดี

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “หลวงปู่ฝั้นท่านมีปฏิปทาเหมือนหลวงปู่มั่น แต่ท่านไม่เคร่งเหมือนกับหลวงปู่มั่น มีพระเณรไปอยู่กับหลวงปู่ฝั้นอยู่มาก ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันก็เช่น พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย อ.เมือง จ.บุรีรัมย์, พระอาจารย์แปลง สุนทโร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และหลวงพ่อคำดี ปัญโญภาโส วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร อดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร นอกจากนั้นจำชื่อไม่ได้ บางองค์ก็มรณภาพไปแล้ว”

ตอนแรกก็ไปอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ บ้านธาตุนาเวง ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งแต่เดิมเป็นที่พักสงฆ์ซึ่งหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ วัดประสิทธิธรรม (วัดบ้านดงเย็น) อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ไปสร้างไว้ มีผู้พยายามจะแย่งกรรมสิทธิ์ไป พระอาจารย์ฝั้นต้องต่อสู้ด้วยธรรมอันยอดเยี่ยมของท่าน จึงสามารถรักษาวัดนี้ไว้ได้ ท่านได้ตั้งชื่อวัดว่าวัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะระลึกถึงความช่วยเหลือของตำรวจภูธรในสมัยนั้น

ปฏิปทาและข้อวัตรปฏิบัติเมื่ออยู่กับหลวงปู่ฝั้นนั้น หลวงตาพวงบอกว่า “ปฏิปทาต่างๆ ก็เหมือนอยู่กับหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่ฝั้นท่านเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้นท่านก็เอาปฏิปทาของหลวงปู่มั่นมาปฏิบัติ”

“การปฏิบัติในช่วงนั้น หลวงปู่ฝั้นท่านเทศนาอบรมธรรมวินัย พาภาวนาปฏิบัติธรรม ในวันพระก็จะทำความเพียรนั่งสมาธิตลอดคืน”

พระพวงได้จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ฝั้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์แห่งนี้ถึง 6 พรรษาได้สั่งสมประสบการณ์ทั้งในข้อวัตรปฏิบัติ การเจริญภาวนา ตลอดจนการดูแลปกครองคณะสงฆ์ ได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ในปัจจุบัน

บุกเบิกถ้ำ ขามกับหลวงปู่ฝั้น

ในปี พ.ศ. 2496 ขณะที่พระพวง สุขินทริโย มีพรรษาได้ 8 พรรษา ขณะอยู่กับหลวงปู่ฝั้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ หลวงปู่ฝั้นได้เล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่ท่านนั่งสมาธิท่านได้นิมิตเห็นสถานที่แห่งหนึ่งเป็นถ้ำ อยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาภูพาน ในถ้ำมี แสงสว่างไปทั่วทั้งถ้ำ มีลมพัดเย็นสบาย อากาศดี สงบวิเวกเหมาะกับการเจริญสมาธิเป็นยิ่งนัก

เมื่อออกพรรษา หลวงปู่ฝั้นพร้อมด้วยพระพวง สุขินทริโย พระสุพล และสามเณรสุวงค์ ได้เดินทางไปค้นหาถ้ำดังกล่าวตามนิมิตของหลวงปู่ฝั้น โดยทางไปปักกลดอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านเชิงเขาภูพานประมาณครึ่งเดือนเพื่อสอบถามญาติโยมเกี่ยวกับถ้ำที่มี ลักษณะดังกล่าว หลังจากการสอบถามก็พบว่ามีถ้ำที่มีลักษณะดังกล่าวอยู่บนเทือกเขาภูพาน ท่ามกลางป่ารกชัฏปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ หนทางไปสู่ถ้ำก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

เมื่อทราบตำแหน่งของถ้ำแล้วหลวงปู่ฝั้นได้ชักชวนชาวบ้านขึ้นไปบุกเบิก ซึ่งต้องเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อไปหุงหาและเตรียมค้างคืนในป่า เพราะระยะทางค่อนข้างไกล เวลาพลบค่ำชาวบ้านไม่กล้าเดินทางกลับกลัวเสือจะมาคาบไปกินระหว่างทาง

บริเวณปากถ้ำมีต้นมะขามใหญ่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำขาม” หลวงตาพวงเล่าให้ฟังถึงการไปบุกเบิกถ้ำขามในช่วงแรกนั้นว่า “ตอนไปบุกเบิกครั้งแรกมีพระเณรไปด้วยกัน 4 รูป บริเวณนั้นเป็นบริเวณที่ทุรกันดารมาก มีหมู่บ้านห่างจากถ้ำประมาณ 5-6 กิโลเมตร ช่วงแรกๆ ก็ต้องอาศัยน้ำจากบ่อของชาวบ้านที่มาทำไร่พริกบนเขา ห่างจากถ้ำขามประมาณ 1 กิโลเมตร ต้องตัดกระบอกไม้ไผ่แล้วทะลุปล้อง ยาว 2-3 ปล้องทำเป็นกระบอกน้ำ สะพายหลังปีนลงเขาไปตักน้ำทุกวัน ใช้กระป๋องน้ำไม่ได้เพราะน้ำจะหกหมด เวลาสรงน้ำก็ต้องลงเขาไปที่บ่อน้ำดังกล่าว เวลาบิณฑบาตก็ต้องลงไปบิณฑบาตถึงเชิงเขา ต้องบุกป่าฝ่าดงลงไป ชาวบ้านจะส่งตัวแทนผลัดกันมาใส่บาตรบริเวณเชิงเขา ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่พริก แต่ชาวบ้านมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนายิ่งนัก ในวันพระ ชาวบ้านจะขึ้นไปที่ถ้ำขามเพื่อทำอาหารถวายและปฏิบัติธรรมอยู่บนถ้ำ”

หลวงตาเล่าให้ฟังต่อว่า “เมื่อไปถึงครั้งแรก ก็ไปสร้างกุฏิชั่วคราวขึ้น โดยใช้ไม้ไผ่ ไม้ไร่แถวๆ นั้น มาทำเป็นแคร่ บางส่วนก็ทำเป็นฝากันฝน ในช่วงหน้าแล้งถัดมาก็ได้ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันสร้างศาลาและเสนาสนะต่างๆ ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น ต่อมาก็สะกัดหินเป็นบ่อเก็บน้ำ ทำถังปูนไว้เก็บน้ำฝน ความเป็นอยู่ต่างๆ ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ”

ศาลาใหญ่ที่สร้างขึ้นที่ถ้ำขามแห่งนี้ นับได้ว่าเป็นของที่พิสดารอย่างหนึ่ง ทั้งในแง่สถาปัตยกรรมและความศรัทธา กล่าวคือ ศาลาแห่งนี้กว้าง 10 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร ตั้งอยู่บนไหล่เขาซึ่งมีโขดหินสูงบ้างต่ำบ้างต่างระดับกันไป เสาและต้นไม้ต่างๆ หลวงปู่ฝั้นเป็นผู้กะความยาวให้ตัด เสาแต่ละต้นมีขนาดความยาวไม่เท่ากัน พอทุกอย่างพร้อมแล้วก็ยกเสาขึ้นตั้งโดยไม่ได้ฝังเสาลงไปในดินหรือก้อนหินเลย เมื่อเอาคานติดเข้าไปโครงสร้างก็ไม่คลอนแคลน ไม้ต่างๆ ที่เตรียมไว้ก็เหมาะลงตัว ไม่จำเป็นต้องตัดแต่งอีกเลย เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

ศาลาทั้งหลังทำเสร็จด้วยความรวดเร็ว ศาลาหลังนี้ได้ใช้งานอยู่จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 หลวงปู่ฝั้นได้เปลี่ยนให้เป็นศาลาคอนกรีตทั้งหลัง สร้างเสร็จเรียบร้อยรวดเร็วด้วยความศรัทธาของญาติโยม

การบุกเบิกถ้ำขามครั้งนั้น พระพวง สุขินทริโย เป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากหลวงปู่ฝั้นให้ช่วยพัฒนาสถานที่แห่งนี้จนสวย งาม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่สัปปายะสำหรับผู้ที่แสวงหาความสงบในการปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน

ไปอยู่วัด ศรีธรรมาราม

ในพรรษาที่ 21 ของท่าน ประมาณปี พ.ศ. 2511 เนื่องจากวัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี (ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสองค์เดิมมรณภาพลง ไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่ง คณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยฆราวาสชาวอำเภอยโสธรนำโดยพระเทพกวี (นัด เสนโก) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น ได้ไปอารธนานิมนต์พระอาจารย์พวงมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม พระอาจารย์พวงท่านได้พิจารณาเห็นว่าวัดศรีธรรมารามเป็นวัดสำคัญของอำเภอ ยโสธร จำเป็นต้องมีพระผู้ใหญ่เป็นหลักให้กับพระเณรและญาติโยมจึงได้ย้ายมาจำพรรษา ที่วัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลยโสธรดูแลคระสงฆ์อีกตำแหน่งหนึ่ง

วัดศรีธรรมารามตามคำจารึกจากแผ่นทองคำที่ขุดได้มีชื่อว่า วัดธรรมหายโศรก บ้างก็เรียก วัดท่าชี, วัดท่าแขก, วัดนอก, วัดสร่างโศรก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2461 โดยพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองขณะนั้นเป็นผู้สร้าง ได้เปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้ง จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีธรรมาราม จนกระทั่งปัจจุบัน

หลังจากที่ได้รับนิมนต์ไปอยู่ที่วัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “เมื่อไปถึงทีแรกชาวเมืองยโสธรใส่บาตรพระเณรเพียงแต่ข้าวเปล่าๆ ประมาณสองปั้นหรือสองกำมือ หลวงตาได้พิจารณาเห็นว่าเป็นเพราะเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่ไม่ได้บิณฑบาต ชาวบ้านจึงขาดศรัทธา จึงมีผู้สนใจในการทำบุญน้อย หลวงตาจึงออกบิณฑบาตด้วยตนเอง มิได้ขาด ถึงแม้ฝนจะตกก็ออกบิณฑบาตเป็นปกติ แม้ในวันพระ วัดต่างๆ ไม่ออกบิณฑบาต หลวงตาก็ยังคงพาพระเณรออกบิณฑบาตโปรดญาติโยมเป็นปกติ โดยไม่เลือกว่าเป็นวัดใด ถึงฝนจะตกแดดจะออกหลวงตาก็ยังไป จวบถึงวันนี้แม้อายุของท่านจะล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 75 ท่านก็ยังออกบิณฑบาตทุกวันมิได้ขาด ชาวเมืองยโสธรจะเห็นภาพที่คุ้นเคยของหลวงตาออกบิณฑบาตทุกๆ เช้าเป็นประจำทุกๆ วัน มิได้ขาด ชาวเมืองยโสธรก็มีศรัทธาใส่บาตรมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันวันหนึ่งๆ ต้องเทบาตรออกถึง 4 ถึง 5 ครั้ง

ด้วยอานิสงค์ของการบิณฑบาตมิได้ขาด เมื่อได้อาหารมาก็นำมาเลี้ยงพระ เลี้ยงเณร เด็กเล็ก ตลอดจนชาวบ้านที่มีความลำบากก็ได้อานิสงค์จากข้าวก้นบาตรของหลวงตากันถ้วน หน้า หลวงตาพวงท่านเปรียบเทียบการให้ผู้อื่น หรือการให้ทานก็เหมือนกันสายน้ำที่มีไหลออกไปตลอดเวลา หล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินให้ชุ่มเย็น เมื่อมีน้ำไหลออกก็ย่อมมีน้ำไหลเข้าเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับการให้ทานยิ่งให้ก็ยิ่งได้ เฉกเช่นกับหลวงตาที่บิณฑบาตทุกวันก็สามารถเผื่อแผ่ถึงพระเณร ญาติโยม หากไม่รู้จักให้หรือทำทานก็เปรียบได้กับน้ำบ่อที่มีจำนวนจำกัด มีแต่จะแห้งขอดและเน่าเสียต่อไปในไม่ช้า หลวงตาได้ถือปฏิบัติการบิณฑบาตตลอดมาตั้งแต่อยู่ปฏิบัติกับพ่อแม่ครูบา อาจารย์จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

นอกจากนั้น หลวงตาพวงยังมีอุบายพัฒนาจิตใจชาวเมืองยโสธร เพื่อให้เกิดความเลื่อมในศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยหากวัดทางสายปฏิบัติของหลวงปู่มั่น เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ชอบ ที่ใดจัดงาน หลวงตาก็จะชวนญาติโยมไปร่วมงานไม่ว่าไกลหรือใกล้ก็จะไป ด้วยเหตุดังกล่าวชาวเมืองยโสธรจึงเกิดความเลื่อมในศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านก็เข้าวัดทำบุญมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นในจังหวัดยโสธร นี่เป็นกุศโลบายการพัฒนาจิตใจที่แยบยลยิ่งนัก หลวงตาพวงมีความวิริยะอุสาหะอย่างในการพัฒนาจิตใจ จนได้รับรางวัลผู้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา คือ ธรรมจักรทองคำ ในด้านเผยแผ่พระศาสนาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี พ.ศ. 2537

อีกทั้งหลวงตาพวงยังได้นำความเจริญมาสู่ศรีธรรมาราม จากเดิมมีที่ดินเพียง 3 ไร่ ปัจจุบันมีที่ดินกว่า 100 ไร่ ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ มากมาย อาทิ สร้างหอไตร กุฏิพระสงฆ์จำนวน 33 หลัง ถนนคอนกรีตภายในวัด บูรณะพระอุโบสถ บูรณะศาลาการเปรียญ บูรณะหอไตร เป็นต้น จนได้รับยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ. 2528 และยกฐานะเป็นวัดอารามหลวงในปี พ.ศ. 2532

สร้างวัด ป่าใหม่นิคมพัฒนาราม

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542 หลวงตาพวงได้กลับมาบ้านศรีฐาน บ้านเกิดของท่าน ได้ดำริที่จะสร้างวัดที่บ้านนิคม ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้พึ่งพิง

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนารามแห่งนี้ จากเดิมมีที่เพียงป่าช้าบ้านนิคมที่รกร้างมานานเพียง 10 ไร่ ปัจจุบันสามารถขยายออกไปได้กว่า 80 ไร่ ด้วยบารมีของท่าน ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย ก็ติดตามมาที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนารามเพื่อช่วยท่านพัฒนาวัดแห่งนี้ ได้เงินเพื่อใช้ในการสร้างวัดกว่า 7 ล้านบาท ท่านพาชาวบ้านตัดถนน ต่อไฟฟ้า นำความเจริญมาสู่มาตภูมิของท่านเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังพาชาวบ้านเข้าวัดทำบุญ ปฏิบัติธรรม พัฒนาจิตใจให้มีความสงบร่มเย็น เป็นที่พึ่งของชาวบ้านแถบนั้น

ถึงแม้ว่าท่านจะดำรงสมณศักดิ์ถึงระดับท่านเจ้าคุณพระราชธรรมสุธี รองเจ้าคณะภาค 10 (ธ) อายุของท่านกว่า 75 ปีแล้ว ท่านก็ยังพาพระเณรในวัดบิณฑบาตทุกเช้าเป็นประจำทุกวัน อีกทั้งยังดูแลความเรียบร้อยภายในวัด ดูแลการก่อสร้างต่างๆ ด้วยตัวของท่านเองมิได้ขาด ท่านเป็นพระเถรานุเถระผู้ใหญ่ที่ทำงานหนักโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เป็นแบบอย่างที่ดีกับพระเณรรุ่นต่อๆ มาเป็นอย่างดี

ฝ้ายเจ็ดสี และวัตถุมงคล

นอกจากปฏิปทาและจริยวัตรอันงดงามของหลวงตาพวงและการถือปฏิบัติตามแนวทางสาย พระป่าของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น อันที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปแล้ว ยังมีฝ้ายเจ็ดสีและวัตถุมงคลของหลวงตาอีกอย่าง ที่เป็นที่ศรัทธาและรู้จักของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป มิใช่เพียงแต่ชาวยโสธรเท่านั้น ชื่อเสียงของฝ้ายเจ็ดสีและวัตถุมงคลของหลวงตาขจรกระจายไปทั่วทุกสารทิศ มีญาติโยมหลั่งไหลมามิได้ขาด

ความเป็นมาของฝ้าย 7 สีซึ่งคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้นมีความเป็นมาตั้งแต่ 6-7 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านใน ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร ประกอบด้วยหมู่บ้านสิงห์ หมู่บ้านหนองขอน หมู่บ้านหนองเยอ หมู่บ้านนาสีนวล มีผีปอบ (หมายถึงบุคคลที่มีวิชาคาถาอาคม แต่ไม่ปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรม แล้วเกิดร้อนวิชา) มารังควาน ชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง จึงพากันมาหาหลวงตาพวง โดยชาวบ้านไปซื้อด้ายสายสิญจน์ จากตัวเมืองยโสธรเพื่อให้หลวงตาแผ่เมตตาให้ แล้วนำไปผูกข้อมือบ้าง ผูกคอบ้าง ผูกตามบ้านเรือนบ้าง ชาวบ้านชุดแรกๆ ที่ได้ไป ร่ำลือกันว่าสามารถป้องกันผีปอบได้ ต่อมาเมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไปก็มีญาติโยมมาขอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ไม่นานนักชาวบ้านในตำบลสิงห์ เกือบทุกบ้านได้สายสิญจน์จากหลวงตาไป ผลที่สุดคนที่ถูกหาว่าเป็นปอบก็เสียชีวิต หลังจากนั้นมาก็ไม่มีผีปอบมารบกวนชาวบ้านอีกเลย เมื่อข่าวสะพัดออกไปอีก ชาวบ้านหมู่บ้านและตำบลอื่นๆ ก็เริ่มหลั่งไหลมาขอฝ้ายเจ็ดสีกันมิได้ขาด บางคนก็ขอให้ผูกข้อมือให้ ซึ่งการผูกข้อมือแต่ละคนต้องเสียเวลามาก ถ้าหากมีญาติมาพร้อมกันมากๆ ก็ยิ่งเสียเวลานาน เพราะหากคนหนึ่งได้รับการผูกข้อมือจากหลวงตาแล้ว คนอื่นๆ ก็อยากได้บ้าง ด้วยเหตุนี้ลูกศิษย์ของท่านจึงเห็นว่าการผูกด้ายสายสิญจน์เสียเวลานาน จึงได้นำเชือกไนลอนที่มีเจ็ดสีมาถวาย เพราะไนลอนเจ็ดสีนั้นสามารถทำเป็นวงๆ สำเร็จรูปไว้ก่อน เมื่อญาติโยมมาขอก็แจกได้เลยโดยไม่เสียเวลา

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ฝ้ายเจ็ดสีเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก็ เพราะเหตุว่ามีชาวบ้านคนหนึ่งป่วยหนัก เป็นมะเร็งในระยะสุดท้าย ใกล้จะเสียชีวิตเต็มที ญาติได้มาขอฝ้ายเจ็ดสีจากหลวงตาไปผูกข้อมือเพื่อเป็นสิริมงคล แต่หลังจากนั้นอีก 3-4 วันคนป่วยคนนั้นก็เสียชีวิต ญาติจึงได้นำศพไปบำเพ็ญกุศล และนำไปเผา ปรากฏว่าศพไม่ไหม้ แม้ว่าจะใช้เวลาเผานานพอสมควรโดยใช้ถ่านถึงสองกระสอบแล้ว ศพก็เพียงแต่ดำเป็นตอตะโก ญาติของผู้ตายไม่ทราบจะทำอย่างไร นึกได้ว่าก่อนเผา ลืมถอดฝ้ายเจ็ดสีจากข้อมือศพ จึงได้มานิมนต์ หลวงตาพวงไปเผา หลวงตาก็รับนิมนต์ไปเผาให้ และให้นำถ่านมาอีกหนึ่งกระสอบ หลวงตาบอกว่า “ถ้าเผาไม่ไหม้เมื่อถ่านหมดกระสอบนี้แล้ว ก็ให้นำศพไปลอยแม่น้ำชีให้ปลากิน” แต่ทว่าในที่สุดศพก็ไหม้เป็นที่เรียบร้อย

ญาติของผู้ตายเลยนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ ว่าฝ้ายเจ็ดสีของหลวงตาพวงยิงไม่เข้า เผาไม่ไหม้ เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไปก็มีญาติโยมมาขอฝ้ายเจ็ดสีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีปัจจัยเพียงพอในการซื้อฝ้ายเจ็ดสีมาแจก

ในที่สุดบรรดาลูกศิษย์จึงต้องขออนุญาตหลวงตานำฝ้ายเจ็ดสีไปจำหน่ายเพราะต้อง การทุนมาทำต่อไปให้เกิดการหมุนเวียน จวบจนปัจจุบันฝ้ายเจ็ดสีที่ได้แจกจ่ายไปมีเป็นจำนวนมากเทียบได้กับจำนวน บรรทุกของรถสิบล้อ 2-3 คันในช่วงเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ผู้ได้รับฝ้ายเจ็ดสีประสบด้วยตนเองจนร่ำลือต่อๆ กันไปแต่มิได้บันทึกไว้ ณ ที่นี้

ในส่วนของวัตถุมงคลอื่นๆ นั้น ก็มีเหรียญรุ่นแรกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 ในวาระโอกาสฉลองพัดยศ ในครั้งนั้นท่านรับแต่งตั้งเป็นพระครูอมรวิสุทธิ์ ซึ่งมีประมาณ สองพันเหรียญเท่านั้น ส่วนเหรียญรุ่นที่สองสร้างในช่วงที่หลวงตาพวงกำลังบูรณะวัดศรีธรรมาราม ซึ่งต้องใช้ปัจจัยเป็นจำนวนมากในการว่าจ้างรถดินมาถมที่ลุ่มน้ำท่วมขังภายใน วัด ส่วนรุ่นอื่นๆ หลวงตาก็พิจารณาสร้างตามความจำเป็นเท่านั้น และทุกๆ ครั้งที่พยายามสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องวัตถุมงคลหลวงตามักไม่ให้ความสำคัญ และเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่นเสมอๆ ในส่วนประวัติการสร้างวัตถุมงคลรุ่นอื่นๆ ขณะนี้ลูกศิษย์ของท่านกำลังรวบรวมจัดพิมพ์อยู่ซึ่งแต่ละรุ่นที่สร้างก็มีที่ มาและเหตุผลต่างๆ กันไปตามเหตุและปัจจัย

ผู้เขียนทราบอยู่เพียงรุ่นเดียวที่ท่านดำริให้ทำเอง คือเหรียญรูปไข่รุ่นที่ทำไปแจกญาติโยมในพิธีพุทธาภิเษกพระประธาน วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 จำนวนห้าพันเหรียญ ซึ่งแจกให้กับผู้ร่วมพิธีหมดในวันนั้นนั่นเอง

หลวงพ่อคูณ กล่าวถึงหลวงตาพวง

ชื่อเสียงของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยทั่วประเทศเพราะด้วยปฏิปทาที่เรียบง่าย สมถะและเมตตาแก่ทุกๆ คนที่ไปหา มิใช่แต่ชาวจังหวัดนครราชสีมาที่เลื่อมใสและศรัทธาท่าน ชาวยโสธรเองก็เช่นเดียวกันที่เลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติ และพากันไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณ เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งขอวัตถุมงคลเพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆ มิได้ขาด

แต่ทุกๆ ครั้งที่ชาวยโสธรไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณนั้น หากท่านทราบว่าเป็นชาวยโสธรแล้วท่านจะไม่ยอมให้วัตถุมงคล และบอกว่าให้กลับไปเอาที่ยโสธร ท่านมักจะพูดว่า “ที่ยโสธรมีคนเก่งกว่ากูอีก ผมหงอกๆ ขาวๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำชีนั่นแหละ”

เมื่อสัมภาษณ์หลวงตาพวงถึงเรื่องนี้ ท่านก็เล่าให้ฟังว่า “ก็เคยได้ยินมาจากญาติโยมหลายสิบคนแล้ว ที่เล่าให้ฟังเหมือนกันว่าเมื่อชาวยโสธรไปกราบหลวงพ่อคูณ ท่านมักจะไล่กลับมาหาหลวงตา”

“หลวงตาเองก็ไม่เคยได้พูดคุยกับหลวงพ่อคูณสักครั้งเดียว หลวงตาก็เคยไปวัดบ้านไร่มาสองครั้ง แต่ไม่เคยมีโอกาสพูดคุยกับท่านเพราะมีญาติโยมเป็นจำนวนมากจึงไม่มีโอกาสพูด คุยกัน หลวงพ่อคูณจะทราบได้อย่างไรก็ไม่ทราบหรืออาจเป็นเพราะมีลูกศิษย์เล่าให้ฟัง ถึงประวัติหลวงตากระมัง”

เดินข้ามแม่น้ำชี

มีเรื่องเล่าขานกันในหมู่ชาวบ้านแถบลำน้ำชีอันเป็นที่ตั้งของ วัดศรีธรรมารามซึ่งหลวงตาพวงเคยจำพรรษาอยู่ ฝั่งตรงข้ามของวันศรีธรรมารามเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตของอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ชาวบ้านเล่ากันว่ามีคนออกไปเก็บกับดักหนูที่ดักไว้ในช่วงเช้ามืดได้เห็นหลวง ตาพวงออกเดินบิณฑบาตโดยเดินบนแม่น้ำชีจากวัดศรีธรรมารามไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ฝั่งอำเภอพนมไพร

คุณสมจันทร์ โพธิศรี อยู่บ้านเลขที่ 68 บ้านกุดกุง (คุ้มหนองแสง) ต.เขื่อนคำ อ.เมือง จ.ยโสธร เล่าให้ฟังเป็นภาษาอิสานว่า “เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538-2539 เช้าวันหนึ่งข่อยไปดักหนูป่าแมะ ได้เห็นหลวงตาพวงเพิ่นเดินข้ามแม่น้ำชีไปแมะ ข่อยนี้แหละเป็นผู้เห็นท่านเองเลย” (คัดจากหนังสือโลกทิพย์)

เมื่อถามเรื่องนี้กับหลวงตา หลวงตาก็ตอบว่า “เป็นเรื่องของเขาเห็นปรากฏในสายตา หลวงตาไม่ค้าน ไม่ได้ปฏิเสธ เขาคงเห็นด้วยสายตาของเขา จะเล่าลืออย่างไร หลวงตาไม่ได้พูด ไม่ได้อวดอะไร” แล้วหลวงตาก็เปลี่ยนเรื่องพูดถึงเรื่องหมู่บ้านในฝั่งอำเภอพนมไพรว่า "หลวงตาก็รับนิมนต์ไปสวดหรือไม่ก็ฉันที่หมู่บ้านฝั่งนี้เป็นประจำทุกวันออก พรรษาชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน ก็พากันมามอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์ มากราบขอพรเพราะพวกเขาไม่มีที่พึ่งในหมู่บ้าน เขาจึงมาพึ่งหลวงตา เมื่อมีการงานอะไรพวกเขาก็มาช่วยเสมอๆ แม้แต่มาอยู่ที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม พวกเขาก็ยังมา”

เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2552 หลวงตาได้มรณะภาพลง เป็นที่เศร้าโศกเสียใจของบรรดาลูกศิษย์ทั้งที่เป็นบรรพชิตและฆราวาส และได้ประกอบพระราชทานเพลิงศพไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2553 นี่เอง