พายุลูกเห็บ

ลูกเห็บ (hail) เป็นก้อนน้ำแข็งรูปร่างกลม (หรือรูปกรวย หรืออื่นๆ) ที่ตกมาจากเมฆพายุฟ้าคะนอง ที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า เมฆคิวมูโลนิมบัส หรือเมฆ Cb ลูกเห็บมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 5 ถึง 50 มิลลิเมตร หรือใหญ่กว่าก็พบได้บ้าง และถ้าผ่าดูจะประกอบด้วยน้ำแข็งเป็นชั้นๆ คล้ายหัวหอม ตามปกติมักจะเกิดในฤดูร้อน เนื่องจากอากาศมีความร้อนสูง จึงลอยตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและถ้าอากาศมีไอน้ำมาก ก็จะพาเอาไอน้ำลอยสูงขึ้นไป แต่เนื่องจาก “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ และเกิดเป็นเมฆ Cb ที่ก่อตัวในแนวตั้ง เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) มีชื่อเรียกแบบไทยๆ ว่า เมฆฝนฟ้าคะนอง เป็นเมฆก้อนใหญ่ หนาทึบ รูปร่างคล้ายภูเขาขนาดมหึมา ถ้าเห็นที่ไหนแสดงว่า อากาศไม่ดี เพราะอากาศแปรปรวนรุนแรง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนัก ตามด้วยฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และอาจมีลูกเห็บด้วย แต่ลักษณะแบบนี้จะเกิดเฉพาะท้องถิ่น ในช่วงเวลา ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เจ้าเมฆฝนฟ้าคะนองนี้เมื่อก่อตัวเต็มที่จะดูคล้ายทั่ง คือ ถ้ามองจากล่างขึ้นบนจะก่อตัวสูงขึ้นไป แต่ตรงปลายยอดจะแผ่ยื่นออกไปในทิศทางที่ลมที่ระดับสูงๆ พัดพาไป


ลูกเห็บเกิดจากเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่เท่านั้น เมื่อเมฆนี้อยู่ขั้นแก่ตัวจะมีกระแสลมพัดขึ้นตามแนวตั้งอยู่เรื่อยๆ โดยไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นเม็ดน้ำมากขึ้น เมื่อถึงระดับที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หยดน้ำก็จะแข็งตัว เมื่อกำลังลมอ่อนลง เม็ดน้ำแข็งก็จะตกลงมาและมีน้ำมาจับ โดยรอบ เมื่อลมในแนวดิ่งพัดขึ้นอีก เม็ดน้ำแข็งที่มีน้ำเกาะอยู่ก็จะลอยสูงขึ้นอีก น้ำที่เกาะอยู่ก็จะกลายเป็นน้ำแข็งชั้นใหม่ เม็ดน้ำแข็งนี้จะเวียนวนขึ้นลง ๆ ไปเรื่อยๆ สะสมน้ำแข็งเพิ่มเป็นชั้นๆ คล้ายหัวหอม เมื่อเม็ดน้ำแข็งนี้ใหญ่ขึ้น และหนักเกินกว่ากระแสลมจะพยุงไว้ได้ ก็จะตกลงมาเป็นลูกเห็บ แต่บางท่านก็บอกว่า เม็ดน้ำแข็งไม่จำเป็นต้องวนขึ้นลงๆ หลายครั้ง จนกลายเป็นลูกเห็บ! แค่ตกผ่านชั้นบรรยากาศลงมา แล้วไปชนกับหยดน้ำที่เย็นกว่าจุดเยือกแข็ง แต่ยังไม่แข็ง (supercooled water droplets) ก็เกิดลูกเห็บได้เหมือนกัน แต่ไม่ว่าลูกเห็บจะเกิดจริงๆ ยังไง เวลาหล่นตุ้บลงมาก็ทำให้หลังคาสังกะสีทะลุ ต้นไม้หักเสียหาย หรือคนหัวร้างข้างแตกได้สบายๆ ในประเทศไทยลูกเห็บมักเกิดขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สถิติของลูกเห็บที่หนักที่สุดในโลกนั้น ตกที่ เมืองคอฟฟีย์วิลล์ (Coffeyville) รัฐแคนซัส ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2513 โดยหนักถึง 770 กรัม (หรือ 1.7 ปอนด์) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 14.5 เซนติเมตร (5.7 นิ้ว) ส่วนลูกเห็บที่ขนาดใหญ่ที่สุดนั้นตกที่ ออโรรา (Aurora) รัฐเนบราสกา ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 17.8 เซนติเมตร(7 นิ้ว) แต่มีน้ำหนักน้อยกว่า อาจเนื่องมาจากมีบางส่วนแตกหลุดไปในระหว่างตกกระทบบ้าน

การตกลงมาของน้ำแข็งอีกประเภทที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกเห็บเรียกว่า megacryometeors

ที่มา : http://techno.obec.go.th/news@classr...rows=98&page=1 http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%...B9%87%E0%B8%9A


บ่าวโนนตาล