ร่องรอย ตำนาน ประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง 1

ตอนตำนานน้ำเต้าปุง กวาดล้างคนบาป




ความเป็นเครือญาติกันมองคนในลุ่มน้ำโขง หรืออาจรวมเรียกอุษาคเนย์อย่างไม่บิดพลิ้ว ผ่านตำนานอันน่าทึ่งภาษาจารึก ที่ซ่อนนัยความหมายแปลก ลึกซึ้ง

บทความนี้ปรับปรุงจากร่างแนวการอภิปรายบนเวทีสัมมนา “ร่องรอยเวลา : ศรีโคตรบูร วรรณกรรมสองฝั่งโขงพหุลักษณ์ทางสังคม” ณ โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย อ.เมือง นครพนม วันที่ ๒๑-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ บนพื้นฐานให้เข้าใจร่วมกันว่า ผู้ร่วมสัมมนาได้อ่านบทความ ข้อเขียน ในสูจิบัตรพอสมควรแล้วเพื่อกระชับเนื้อหาไม่ซ้ำซ้อน เยิ่นเย้อ


สิ่งที่กล่าวหรือบันทึกใน ตำนาน พงศาวดาร เช่น ตำนานอุรังคธาตุ อุรังคธาตุนิทาน
และพงศาวดารศรีโคตรบูร ย่อมมีเค้าความจริงเป็นพื้นฐาน ผ่านการบอกเล่าสืบเนื่องกันมานานหลาย ๆ ชั่วอายุคนแม้จะเพิ่งบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในพุทธศตวรรษที่ ๒๐


ส่วนความพิสดาร อัศจรรย์ เหลือเชื่อ โดยเฉพาะในนิทานปรัมปรา เสมือนตอบคำถามตามแบบฉบับชาวบ้าน ๆถึงกำเนิดโคตรบรรพบุรุษด้วยทางลัด แต่ทั้ง นิทาน ตำนาน พงศาวดาร แม้แต่ประวัติศาสตร์เขียนใหม่ไม่เกิน ๑๐๐ ปีมานี้ เมื่อรับรู้แล้ว ยิ่งต้องสกัดกระพี้ เพื่อหาแก่น


๑. ตำนานน้ำเต้าปุง กวาดล้างคนบาป

ตำนานน้ำเต้าปุง รู้จักกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มชนชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง ซึ่งปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในพงศาวดารล้านช้าง และพงศาวดารเมืองแถน

ตำนานน้ำเต้าปุง ได้สะท้อนความเชื่อคล้ายกันแทบทั้งโลก คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้น้ำท่วมโลก ทำลายล้างคนบาป ซึ่งสอดคล้องกับคัมภีร์ศาสนายิว คริสต์ อิสลาม รวมถึงตำนานกำเนิดอาณาจักรขอมโบราณ

นอกจากนี้ ยังมีกลอนลำเล่าตำนานน้ำเต้าปุงอย่างน้อยอีกชุดหนึ่ง ซึ่งล้ำเลยไปถึงกำเนิดคนทั้งโลก กล่าวคือรวมกำเนิดฝรั่งมังค่าเอาไว้ด้วย เป็นลักษณะแต่งเติมเสริมสีสันลงไปอย่างมาก ยกตัวอย่าง กลอนลำของ หมอลำทองลา สายแวว บ้านหัวเรือ อ.เมือง อุบลราชธานี


ก.ชื่อเรียกในตำนาน กับชื่อปัจจุบัน
ประเทศในภูมิภาคอินโดจีนคงไม่รังเกียจจะเป็นเจ้าของสถานที่ในตำนาน
ซึ่งหลายแห่งค่อนข้างจะยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เช่น เมืองแถน(ฝรั่งเศสออกเสียง แถง) อีกนัยหนึ่ง “นาน้อยอ้อยหนู” เชื่อว่า คือ เมืองเดียนเบียนฟู ในเวียดนาม

ขณะที่ มหาสิลา วีระวง (พ.ศ.๒๔๔๘ - ๒๕๓๐) ปราชญ์สองฝั่งโขง เกิดร้อยเอ็ดเติบโตในเมืองไทย ไปรับใช้แผ่นดินลาวและเสียชีวิตที่นั่น ระบุถึง เมืองแถน ๒ ในความหมาย

หนึ่ง
หมายถึง อาณาจักรหนองแสเดิม (เพงาย หรือปากอ้าย คนธรรมดาเรียกแถน) ถูกจีนบุกทำลาย เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น เมืองยี่เจ้า(สองเจ้า) เพราะแตกเป็น ๒ ส่วน หนึ่ง นครเพงาย(เรียก อ้ายลาว) สอง พวกอยู่ทางใต้ เรียกว่า งายลาว

สอง
หมายถึง หนองแส(น่านเจ้า) มีขุนบรมราชาธิราช (จีนเรียก พีล่อโก๊ะ) ตั้งเมืองแถน ที่นาน้อยอ้อยหนู ชื่อทางการคือ เมืองกาหลง (มหาสิลา วีระวง ว่า คือเมืองเชียงรุ้ง) แต่จีนเรียก ตาลีฟู หรือน่านเจ้าปกครองช่วง พ.ศ.๑๑๙๑ ขยายอาณาเขตได้มาก ตีหลายเมืองทางใต้ของจีน

ขณะที่ พงศาวดารไทย ของ พระบริรักษ์เทพธานี ระบุ “เมืองกาหลง” อยู่พื้นที่ ต.ฝาย อ.เวียงป่าเป้า เชียงราย และ "กาหลง เป็นชื่อลำน้ำด้วย ไหลผ่านจังหวัดลำปาง แพร่
แม่น้ำจริงในตำนานพระลอ ได้ตั้งสัตย์อธิษฐานเสี่ยงน้ำเพื่อตรวจดูดวงชะตาตัวเอง
น้ำกาหลงพลันเกิดสีแดงเลือด บอกเหตุร้ายกาลภายหน้า ขณะนำคนสนิทเดินป่าไปตามแรงมนตราของหมออาคมให้มาตามหาพระเพื่อนพระแพง ธิดาเมืองสรอง เมืองศัตรูอาฆาตของเมืองสรวงมาแต่สมัยรุ่นพ่อขุนบรมฯ ผู้ครองหนองแส รัฐน่านเจ้า ได้ส่งโอรส ๗ องค์ไปปกครอง ๗ หัวเมือง ดังนี้

๑.ขุนลอ ครองเขตซวา ครอบคลุม เชียงทอง หลวงพระบาง ล้านช้าง ขุนลอถือเป็นปฐมกษัตริย์แห่งล้านช้าง คำว่า ซวา หรือชวาในที่นี้มาจากแม่น้ำว้า ภาษาถิ่นเรียกน้ำซวา ตามสำเนียงลาว มิได้หมายถึงประเทศชวา แต่เป็นชื่อเรียกดั้งเดิมหมายถึง หลวงพระบาง ปัจจุบัน

๒.ขุนยี่ผาลาน ครองต้าหอ(หอแตกหรือหอแต) ครอบคลุม เขตสิบสองปันนา

๓.ขุนสามจูสง ครอง จุฬนี คือแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหกในปัจจุบันพงศาวดารล้านช้างกล่าวว่าขุนสามจุสง ไปสร้างเมืองบัวชุม หรือญวนแกวแคว้นตังเกี๋ย

๔.ขุนไสพง ไปสร้างเมืองยวนโยนกนาคนคร หรือเมืองเชียงแสนโยนก(ล้านนา)

๕.ขุนงั่วอิน ไปสร้างเมืองอโยธยา หรืออยุธยา

๖.ขุนลกกลม ไปสร้างเมืองคำเกิด หรือเมืองภูเหิด บ้างว่าคือ เชียงคาม ปัจจุบันอยู่ลาวใต้

๗.ขุนเจืองหรือ เจ็ดเจือง ไปสร้างเมืองปะกัน(เชียงขวาง) หรือเมืองพวน

ช่างบังเอิญสุดประมาณ เรื่องโอรส ๗ องค์นี้ เค้าโครงคล้ายกับพงศาวดารโยนก เรื่องพระเจ้า ๗ ตนถูกส่งไปครองเมืองทั้ง ๗ เช่นกัน

ส่วน พงศาวดารเงินยางเชียงแสน มีส่วนขยายเรื่องราวของ “ขุนเจือง” แตกต่างออกไปอีกแนวหนึ่ง ระบุว่า

“ขุนเจือง” เป็นลูกคนที่ ๒ ของ จอมผาเรือง ๆ เป็นลูกคนที่ ๒ ของ ขุนเรงกวา กษัตริย์องค์ที่ ๑๔ วงศ์ลวจังกราช หรือ ปู่จ้าวลาวจก ซึ่งบรรพบุรุษของคนกลุ่มเผ่าไทหรือไตทั้งหลาย ทั้งชนเผ่าไทในสิบสองปันนา และในสิบสองจุไท เชื่อว่า

ขุนบรม คือ บรรพบุรุษมาตั้งแต่อาณาจักรน่านเจ้า อาณาจักรล้านช้าง
จับประเด็นกรณี ปู่จ้าวลาวจก คือเจ้าโคตร(ปู่ทวด) ของ ขุนเจือง(ลูกผาเรือง)
แต่ ขุนเจือง จะเป็นลูกขุนบรมฯ องค์สุดท้ายในตำนานน้ำเต้าปุง
แม้จะมีข้อสังเกตชวนกังขา โดย มหาสิลา วีรวง สันนิษฐานว่า ขุนเจือง คือ ลูกมอญหรือลูกขอม? ทว่า

ปู่จ้าวลาวจก สำเนียงชื่อบอกชัดเจนเป็นกลุ่มลาว เป็นปู่จ้าวที่มี จก(จอบ) เครื่องมือทำเกษตรสำคัญบุกเบิกสร้างความมั่งคั่งในสังคมบุพกาล

ดังนั้น อาจชิงสรุปคลุม ๆ หยาบ ๆ ได้ว่า ๒-๓ ตำนานเหล่านี้ เหลื่อมซ้อนกันและขัดแย้งกันอยู่ในที แต่ประเด็นสำคัญ คือ บ่งแสดงความเป็นเครือญาติกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในยุคใกล้เคียงกัน

ซึ่งคงอาศัยมีจินตนาการต่อมิติพื้นที่ มิติเวลา ตลอดนับหลายพันปี กลุ่มคนที่อยู่ในดินแดนลุ่มน้ำโขงและอาจพูดได้รวมถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ ต่างมีการโยกย้ายถิ่นฐาน ผสมผสาน และทับซ้อนกันมาอย่างต่อเนื่อง




[fm]http://www.hotlinkfiles.com/files/1978871_wkboy/0001BonyooddoiSurachai.swf[/fm]