รวมธรรมบรรยายของ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (4)




แสงส่องใจ 3

คาเม วา ยทิวารญฺเญ นินฺเน วา ยทิวา ถเล
ยตฺถํ อรหนฺโต วิหรนฺเต ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ
พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด คือบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม
ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
ที่นั้นย่อมเป็นภูมิน่ารื่นรมย์
นี้เป็นพระพุทธภาษิต




ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระสังฆราช 4)



แสงส่องใจ(3)


ใจที่ไกลกิเลสแล้วสิ้นเชิง คือใจพระอรหันต์ทั้งหลาย คือใจที่ปราศจากแล้วทั้งความโลภความโกรธความหลง ไม่มีความโลภความโกรธความหลงแม้เล็กน้อยเพียงใดในใจพระอรหันต์ท่านทั้งหมด นั่นก็คือไม่มีความร้อนในใจท่าน ความโลภร้อน ความโกรธร้อน ความหลงร้อน เมื่อหมดจดจากทั้งสามประการนี้ ความร้อนจะมีได้อย่างไร เหมือนไม่มีกองไฟที่ใด ที่นั้นก็ย่อมไม่มีความร้อน ฉันใดก็ฉันนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่มีความร้อนของความโลภความโกรธความหลง ท่านอยู่ที่ไหนก็เท่ากับไม่มีกองไฟในที่นั้น ไม่มีความร้อนในที่นั้น และนอกจากไม่มีความร้อนแล้วยังมีความเย็นจากใจพระอรหันต์ท่าน ที่ใดมีความเย็น ที่นั้นย่อมเป็นที่รื่นรมย์ของทุกชีวิตที่เข้าไปสู่ จึงมีพระพุทธภาษิตว่า "พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด คือบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม ที่นั้นย่อมเป็นภูมิน่ารื่นรมย์"


ใจของท่านผู้ไกลกิเลสแล้วสิ้นเชิง ไม่มีความโลภความโกรธความหลงในใจท่านทั้งหลายนั้น คือใจของพระอรหันต์พุทธสาวก ใจของท่านไม่เป็นพิษไม่เป็นภัยแก่องค์ท่านเอง และไม่เป็นพิษไม่เป็นภัยแก่ผู้ใดทั้งสิ้น กล่าวได้ไม่ผิดว่านี่คือความไม่ก่อทุกข์ก่อร้อนแก่ผู้ใดทั้งสิ้น ใจของท่านเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่องค์ท่านเอง และเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง ให้ความเย็นแก่องค์ท่านเอง ให้ความรื่นรมย์แก่องค์ท่านเอง และให้ความเย็นให้ความรื่นรมย์แก่ทุกชีวิตแก่คนทั้งหลายที่มีโอกาสได้เข้าใกล้ท่าน ได้สัมผัสความรื่นรมย์จากใจท่าน ที่ปราศจากพิษภัยแม้เล็กน้อยเพียงใดของความโลภความโกรธและความหลง
พระอรหันต์ผู้ไกลกิเลสแล้วสิ้นเชิงมีแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่น


ไม่มีในลัทธิอื่น ดังนั้นเมื่อกล่าวว่าพระอรหันต์อยู่ที่ไหนที่นั่นเป็นที่รื่นรมย์ ก็ควรเข้าใจได้ ว่าพระพุทธศาสนาสามารถให้ความรื่นรมย์ได้แน่นอน เพราะพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนานั้น มิได้มีเพียงองค์เดียวหรือสององค์เท่านั้น เมื่อพระอรหันต์องค์สององค์อยู่ที่ใด ก็ยังให้ความรื่นรมย์แก่ที่นั้นได้ พระพุทธศาสนาซึ่งมีพระอรหันต์มากมายจะสามารถให้ความรื่นรมย์ได้เพียงไหน มิยิ่งกว่ามากนักหรือ น่าจะสรุปได้ถูกต้องมิใช่หรือว่าพระพุทธศาสนามีอยู่ในประเทศชาติใด ประเทศชาตินั้นย่อมเป็นที่รื่นรมย์



พระอรหันต์ไม่มีอยู่ที่ไหนเลย แต่พระอรหันต์มีอยู่ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และจะตลอดไปถึงในอนาคตด้วยแม้จะไม่พากันละเลยทอดทิ้งพระพุทธศาสนาให้มากกว่าทุกวันนี้ จนทำให้พระพุทธศาสนาแทบจะไม่หลงเหลืออยู่ในจิตใจผู้คนในประเทศไทยของเรา พระอรหันต์ให้ความรื่นรมย์ร่มเย็น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือพระพุทธศาสนาให้ความรื่นรมย์ร่มเย็นเป็นสุขได้จริง

น่าเสียใจน่าเสียดายอย่างที่สุด ที่ทุกวันนี้พากันทอดทิ้งพระพุทธศาสนาเสียมากเกินไป จึงไม่มีความรื่นรมย์ร่มเย็นเป็นสุขเท่าที่ควร ทั้งที่พระพุทธศาสนาหรือพระอรหันต์ทั้งหลายมีอยู่เป็นความรื่นรมย์ร่มเย็นได้มากมายนัก ความผิดไม่ใช่เป็นของพระพุทธศาสนาหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย แต่เป็นของผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั้งนั้น ที่ให้ความสำคัญเทิดทูนพระพุทธศาสนาน้อยนัก พระพุทธศาสนาไม่ได้รับการเทิดทูนให้สูงส่งโดยควรเลย


พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สุดประเสริฐไม่มีที่เสมอเหมือนได้ เหตุผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนก็คือพระผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ประทานไว้แก่โลก ทรงเป็นพระผู้ประเสริฐเลิศล้น ทรงพร้อมด้วยพระมหากรุณา พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ แม้ความมีเมตตามีปัญญาจะพอมีได้บ้างในบุคคลทั่วไป แต่ความบริสุทธิ์แห่งจิตใจหามีในบุคคลส่วนใหญ่ไม่ จึงหามีบุคคลใดพรั่งพร้อมด้วยพระคุณอันเลิศล้นถึงเพียงนี้สักคนเดียว ไม่ว่าในชาติใดภาษาใดทั้งสิ้น มีเพียงสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสมเด็จพระบรมครูของเราเพียงพระองค์เดียว

อันผู้เข้าใจชัดเจนพอสมควรในพระคุณ 3 ประการแม้จะมีไม่มาก แต่ก็จะซาบซึ้งในสมเด็จพระบรมศาสดาอย่างพ้นจะรำพัน โดยเฉพาะพระมหากรุณา ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ที่สุดเหนือเมตตากรุณาของใครในโลกทั้งหลาย และพระมหากรุณานี้ที่เป็นเหตุให้ได้ปรากฏประจักษ์แจ้งในธรรมสำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือเมตตาธรรม มีคุณพ้นจะพรรณนา เป็นคุณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจริงๆ นั่นก็คือพระเมตตาในสมเด็จพระบรมศาสดา เป็นเหตุให้เจ้าชายพระองค์หนึ่ง คือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งพระราชวงศ์ศากยะ ทรงได้เป็นถึงสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดให้ดี จะไม่รู้สึกหรือว่าเมตตามีคุณยิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้ แม้เมตตาของเราทั้งหลายจะไม่ยิ่งใหญ่เสมอด้วยพระมหากรุณาคุณในสมเด็จพระบรมศาสดา

ผลแห่งความเมตตาจึงไม่อาจทัดเทียมผลที่ทำให้ทรงถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แต่เมตตาย่อมให้ผลดีแน่นอน ปรารถนาผลยิ่งใหญ่เพียงใดในชีวิต ก็พึงอบรมเมตตาของตนให้ยิ่งใหญ่ให้เพียงนั้น ให้เต็มสติปัญญาความสามารถเถิด จะได้พบความสูงส่งแห่งเมตตาแน่นอน เป็นความสุขความร่มเย็นอย่างยิ่งแน่นอน จงเชื่อในความจริงนี้จะมีบุญได้เป็นสุขนัก
การอบรมเมตตาทำได้ด้วยการหัดคิดให้เมตตาเกิดมากที่สุด สม่ำเสมอที่สุด ในจิตใจของเราแต่ละคน เป็นไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า อันเหตุการณ์ที่เกิดเฉพาะหน้าแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน


เหตุการณ์แตกต่างกัน ความคิดเนื่องด้วยเหตุการณ์นั้นเพื่อให้เกิดเมตตาจึงต้องแตกต่างกันไปด้วยเป็นธรรมดา ดังนั้นเรื่องการใช้ความคิดจึงเป็นไปได้มากมายหลายวิธี ข้อสำคัญต้องให้เกิดผลเป็นความเมตตา ขณะเดียวกันเป็นความเย็นใจไม่เร่าร้อนด้วยความโลภโกรธหลง โดยเฉพาะความโกรธจะให้ความร้อนแก่จิตใจอย่าง
รวดเร็วและรุนแรง การคิดเพื่อให้เมตตาเกิด ให้เมตตาดับความโกรธ ให้เมตตาชนะความโกรธ จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง


เคยได้ยินญาติโยมบางคนเล่าถึงวิธีอบรมเมตตา ที่เจ้าตัวกล่าวว่าได้ผล คือทุกวันเมื่อนั่งรถออกจากบ้านไปไหนๆ เห็นใครก็ตาม ไม่ว่าหญิงไม่ว่าชาย ไม่ว่ายิ้มแย้มแจ่มใสไม่ว่าเงียบเหงาเศร้าซึม ก็จะนึกเอาเองว่าคนนั้นคงมีทุกข์อย่างนั้น คนนี้คงมีทุกข์อย่างนี้ นำความทุกข์ร้อยแปดประการมาคิด เช่นเขาอาจจะกำลังต้องการเงินไปรักษาลูกที่เป็นโรคร้ายต้องใช้เงินจำนวนมาก หรือไม่ก็เขาอาจจะกำลังเป็นโรคร้ายที่ยากแก่การรักษาให้หายได้ หรือเขาอาจจะทำความผิดร้ายแรงที่กำลังกลัวนักหนาว่าจะถูกจับได้ ฯลฯ คิดไปต่างๆนานาทำนองนี้


ไม่คำนึงว่าจริงหรือไม่จริง คิดไปอย่างทุ่มเทเชื่อว่าจริงตามคิด เพื่อให้สงสาร เพื่อให้เมตตาเท่านั้น ก็ดีอยู่ เพราะน่าจะช่วยไม่ให้ความหมั่นไส้บ้าง ความโกรธเกลียดบ้าง เกิดขึ้นเมื่อเห็นหน้าคนนั้นคนนี้ขณะนั่งรถผ่านไป หรือเดินผ่านไป ความรู้สึกเช่นนั้นล้วนเป็นกิเลสร้ายที่จะทำลายจิตใจ ทำจิตใจให้เศร้าหมองมากบ้างน้อยบ้าง ตรงกันข้ามกับความเมตตาสงสารที่จะเกิดความเยือกเย็นเป็นสุขเมื่อคิดให้เมตตาสงสารเถิด