การบรรยายธรรมะ

ของหลวงปู่ชา สุภัทโท


การปล่อยวาง(1)





การปล่อยวาง (1)



การปล่อยวาง( (1)

การที่เราอยู่ร่วมกันรี้จะต้องมีระเบียบ ระเบียบเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนหมู่มาก ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น อยู่คนเดียวก็ต้องมีระเบียบอย่างพระวินัย พระวินัยสมัยก่อนนี้มีนิดเดียวพระสงฆ์ที่มาบวชในพระพุทธศาสนามีมากขึ้นต่างคนต่างจะทำอำร ก็มีหลายเรื่อง บางคนอยากจะทำอย่างนั้น บางคนอยากจะทำอย่างนี้ ก็มีกันมาเรื่อยๆ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าของเราตั้งข้อกติกา คือพระวินัยขึ้นมา เพื่อเป็นข้อปฏิบัติอยู่ไปนานๆ ก็มีตนบางคนก็ทำเรื่องมาอีกหลายอย่าง ดังนั้นพระวินัยจึงไม่มีทางจบสิ้น หลายล้านสิกขาบท แต่ก็ไม่จบ พระวินัยไม่มีทางจบสิ้น แต่ถ้าพูดถึงเรื่องธรรม เรื่องธรรมะนี่มีทางจบ ก็คือ “การปล่อยวาง” เรื่องพระวินัยก็คือเอาเหตุผลกัน ถ้าเอาเหตุผลกันแล้วไม่จบหรอก


สมัยหนึ่งอาตมาไปบริหารพระ 3-4 องค์ไปอยู่ในป่า ไฟไม่ค่อยจะมี เพราะอยู่บ้านป่า องค์หนึ่งก็ได้หนังสือธรรมะมาอ่าน อ่านอยู่ที่หน้าพระประธานที่ทำวัตรกัน อ่านอยู่ก็ทิ้งตรงนั้นแล้วก็หนีไป ไฟไม่มี มันก็มืด พระองค์ที่มาทีหลังก็มาเหยียบหนังสือ จับหนังสือขึ้นมาก็โวยวายขึ้นว่า “พระองค์ไหนนี่ไม่มีสติ ทำไมไม่รู้จักที่เก็บหนังสือ” สอบสวนถามไปถึงพระองค์นั้น พระองค์นั้นก็รับปากว่า “ผมเอาหนังสือเล่มนี้ไว้ที่นี่” “ทำไมท่านไม่รู้จักเก็บหนังสือ ผมเดินมา ผมเหยียบหนังสือเล่นนี้” “โอ...อันนั้นเป็นเพราะท่านไม่สำรวมต่างหากเล่า” เห็นไหมมันมีเหตุผลอย่างนั้น จึงเถียงกัน องค์นั้นบอกว่า “เพราะท่านไม่เอาไปไว้ในที่เก็บ ท่านไม่รู้จักเก็บหนังสือ ท่านจึงไว้อย่างนี้” องค์นี้บอกว่า “เป็นเพราะท่านไม่สำรวม ถ้าท่านสำรวมแล้ว คงไม่เดินเหยียบหนังสือเล่มนี้” มีเหตุผลว่าอย่างนั้น มันก็เกิดเรื่องทะเลาะกัน ทะเลาะกันไม่จบด้วยเรื่องเหตุผล


เรื่องธรรมะที่แท้จริงนั้น ต้องทิ้งเหตุทิ้งผล คือ ธรรมะมันสูงกว่านั้น ธรรมะที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ ระงับกิเลสทั้งหลายได้นั้น มันอยู่นอกเหตุเหนือผลไม่อยู่ในเหตุอยู่เหนือผล ทุกข์มันจึงไม่มีสุขมันจึงไม่มี ธรรมนั้นท่านเรียกว่าระงับ ระงับเหตุระงับผล ถ้าพวกใช้เหตุผลอยู่อย่างนี้ เถียงกันตลอดจนตาย เหมือนพระสององค์นั้น


ธรรมที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ ต้องอยู่นอกเหตุเหนือผล นอกสุขเหนือทุกข์ นอกเกิดเหนือตาย ธรรมนี้เป็นธรรมที่ระงับ คนเราก็มาสงสัยอยู่นี่แหละ ผู้ชายยิ่งสงสัยมาก ความสงสัยนี่ตัวสำคัญ มีเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะตายอยู่แล้ว มันไม่ใช่ธรรมของพระพุทธองค์ ธรรมนั้นเป็นข้อปฏิบัติ เป็นทางเดิน เดินไปเท่านั้น ถ้ามัวคิดว่าเมื่อไปถึงนี้ ฉัน
นี้สุขเหลือเกิน ไม่ได้ ฉันนี้ทุกข์เหลือเกิน ไม่ได้ แต่ถ้าฉันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ นี่คือมันระงับแล้วสงสัยไม่มี


ตรงโน้นมันจะมีอยู่ที่ตรงไหน มันก็อยู่ตรงที่ปฏิบัติไปเรื่อยๆ สุขเกิดขึ้นมา ทุกข์เกิดขึ้นมา เรารู้มันทั้งสองอย่างนี้ สุขนี้ก็สักว่าสุข ทุกข์เกิดขึ้นมาเรารู้มันทั้งสองอย่างนี้ สุขนี้ก็สักว่าสุข ทุกข์นี้ก็สักว่าทุกข์เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นมาดับไปเท่านั้นจะเอาอะไรกับมัน สงสัยทำไมมันเกิดอย่างนั้นเมื่อเกิดอีกทำไมมันไปอย่างนั้นล่ะ สงสัยอย่างนี้มันเป็นทุกข์ ปฏิบัติไปจนตายก็ไม่รู้เรื่อง มันทำให้เกิดเหตุ ไม่ระงับเหตุของมัน


ความเป็นจริง ธรรมที่พวกเราปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ ธรรมนี้นำเราไปสู่ความสงบ สงบจากอะไร จากสิ่งที่ชอบใจ จากสิ่งที่ไม่ขอบใจ ถ้าเราชอบสิ่งที่เราชอบใจ ไม่ชอบสิ่งที่เราไม่ชอบใจ มันไม่หมด ธรรมนี้ไม่ใช่ธรรมระงับ ธรรมนี้เป็นธรรมก่อทุกข์ขึ้นมา ให้เข้าใจอย่างนั้น


ฉะนั้น เราจึงสงสัยตลอดเวลา แหม วันนี้ฉันได้มาแล้ว พรุ่งนี้ทำไมหายไปแล้ว มันหายไปไหน ฉันนั่งเมื่อวานนี้ มันสงบดีเหลือเกิน วันนี้ทำไมมันวุ่นวาย มันไม่สงล เพราะอะไร อย่างนี้ก็เพราะเราไม่รู้เหตุของมัน ครั้นปล่อยวางว่า มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ เห็นไหม มันเป็นอยู่ของมันอย่างนี้ วันนี้มันสงบแล้ว เออไม่แน่นอนหนอ เราต้องเห็นโทษมันอย่างนี้ สงบแล้วมันก็ไม่แน่นอน ฉันไม่ยึดมั่นไว้ สงบก็สงบเถอะ ความไม่สงบก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ฉันไม่ว่า ฉันเป็นผู้ดูเท่านั้น ที่สงบฉันก็รู้ว่าเรื่องมันสงบที่ไม่สงบฉันก็รู้ว่าเรื่องไม่สงบ เห็นไหมเรื่องมันเป็นอยู่ของมันอย่างนั้น อย่างนี้มันก็ระงับ มันก็ไม่วุ่นวาย มันจะสงบ ฉันก็รู้ว่ามันเรื่องของมัน ฉันจะดูอยู่แค่นี้แหละ ดูเรื่องที่มันสงบ มันก็ไม่แน่นอน ดูเรื่องที่มันวุ่นวาย มันก็ไม่แน่นอน มันแน่นอนอยู่แต่ว่ามันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเราอย่าไปเป็นกับมันเลย


ถ้าอย่างนี้ มันก็สบายและสงบ เพราะเรารู้เรื่องมัน ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้เรื่องนั้นเป็นอย่างนั้น อยากให้เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ มันสงบ เพราะเรารู้เรื่องว่าเป็นอย่างนั้น แล้ก็มีการปล่อยวาง เราคิดดูซิว่า ถ้าคนทุกคนต้องพูดให้ถูกใจฉัน คนทุกคนต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสงบ ฉันจึงจะสบาย คนทั้งโลกจะให้เขามาพูดถูกใจเรามีไหม จะทำถูกใจเราทุกคนมีไหม ไม่มีเมื่อไม่มี เราก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีการปล่อยวาง เราเกิดมาในชีวิตหนึ่ง เราจะหาความสงบว่า คุณต้องพูดให้ถูกใจฉัน คุณต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสบาย ในชีวิตหนึ่งจะได้สบายไหมคนเรา คุณต้องพูดให้ถูกใจฉัน คุณต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสงบ ถ้าไม่อย่างนั้นฉันก็ไม่สงบ คนคนนี้เกิดมาไม่รู้กี่ชีวิตก็ไม่มีความสงบเพราะคนหลายคน ใครจะมาพูดให้ถูกใจเราทุกคนใครจะมาทำให้ดีทุกหน มันไม่มีหรอกอย่างนี้ นี่มันเป็นธรรมะ เราจะต้องศึกษาอย่างนี้


ฉะนั้น เราจะต้องอดทน อดทนต่ออารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมา อย่าไปหมายมั่น อย่าไปยึดมั่นจับมาดูแล้วรู้เรื่อง เราก็ปล่อยมันไปเสีย อย่างนางเตยนี้ เห็นไหม มันทำอย่างนั้น มันถูกใจเราไหม บางทีก็ไปในวัดและก็เข้าห้องน้ำเสีย ฉันจะปลงสังขารเดี๋ยวนี้ ฉันไม่หนีหรอก จะไปรื้อส้วมเอามันออกมา ต่อมามันก็ทำอีก เพราะคนมันเป็นบ้าเสียแล้ว จำเป็นมันก็ต้องปล่อยไป นางเตยมันเป็นบ้าเสียแล้ว เราต้องรู้เรื่องกันว่ามันเป็นบ้ามันสติไม่ดี มันเสียสติ อย่าไปถือมันเลย เขาจะพูดอย่างไรก็รับฟังมันไปเถอะ มันจะทำอย่างไรก็ระวังไว้ มันเป็นอย่างนั้นของมัน เราต้องถอยกลับมาอยู่ตรงนี้ เราก็มีความสบาย


อารมณ์ก็เหมือนกันฉันนั้น ที่มันมากระทบเราอยู่ทุกวันนี้ บางทีก็ร้าย บางทีก็ดี บางทีก็ชอบใจ บางทีก็ไม่ชอบใจ คนทุกๆคนนั่งอยู่ในนี้ก็เหมือนกันจะทำให้ถูกใจเราทุกคนมีไหม มันไม่ได้ นอกจากเราปฏิบัติธรรมะให้รู้ว่าคนคนนี้มันเป็นอย่างนี้นานาจิตตังไม่เหมือนกัน เราจำเป็นต้องอบรมใจของเราทุกๆคนเมื่อมันโกรธขึ้นก็ดูความโกรธ ความโกรธนี้มันมาจากไหน เราให้มันโกรธหรือเปล่า ดูว่ามันดีไหม ทำไมเราถึงชอบมัน ทำไมเราถึงไม่ทิ้งมัน เมื่อโกรธขึ้นมาแล้วไม่ดี ไม่ดีเราเก็บมันไว้ทำไม ก็เป็นบ้าเท่านั้น ทิ้งมันเสียถ้าเห็นว่ามันไม่ดี มันก็จะไปในทำนองนี้


เมื่ออยู่ด้วยกันกับคนมากๆ มันก็ยิ่งให้การศึกษาเรามากที่สุด ให้มันวุ่นวายเสียก่อน ให้รู้เรื่องของความวุ่นวายเสียก่อน มันจึงจะถึงความสงบ อย่าหนีไปที่ไหน พระอานนท์กับพระพุทธเจ้าของเราในสมัยก่อน ไปบิณฑบาตบ้านมิจฉาทิฏฐิ พอไปถึงหน้าบ้าน พระพุทธองค์ก็สะพายบาตรยืนเฉย ท่านก็สบายเพราะว่าท่านเข้าใจว่าเรายืนอยู่เฉยๆ มันไม่บาปหรอก เขาจะให้ก็ไม่เป็นไร เขาจะไม่ให้ก็ไม่เป็นไร ท่านยืนอยู่เฉยๆ พระอานนท์เดินย่ำเท้าไปมา อายเขา คิดว่าพระพุทธองค์นี้อยู่ทำไม ถ้าเขาไล่ก็น่าจะหนีไป เขาไม่ให้ก็ยังทนอยู่ ไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย พระพุทธองค์ก็เฉย จนกว่าสุดวิสัยแล้วก็ไป บางทีเขาก็ให้ให้ในฐานที่ไม่เคารพ พระพุทธเจ้าก็เอา เขาให้พระพุทธเจ้าก็เอา ท่านไม่หนีไปไหน ไม่เหมือนพระอานนท์


พอกลับมาถึงอาราม พระอานนท์ก็กราบพระพุทธองค์ ถามว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรงไหนที่เขาไม่ใส่บาตรให้เรา เราจะไปยืนอยู่ทำไม มันเป็นทุกข์อายเขา เขาไม่ให้ก็รีบไปที่อื่นเสียดีกว่า” พระพุทธองค์ตรัส
“อานนท์ ตรงนี้ถ้าเรายังไม่ชนะมัน ไปที่อื่นก็ไม่ชนะ ถ้าเราชนะอยู่ที่นี่ ไปที่อื่นเราก็ชนะ” พระอานนท์ว่า
“ชนะไม่ชนะไม่รู้เรื่องแหละ อายเขา”
“อายทำไมอานนท์ อย่างนี้มันผิดหรือเปล่า เป็นบาปไหม เรายืนอยู่ เขาไม่ให้ก็ไม่เป็นไร”
พระอานนท์บอกว่า “อาย” “อายทำไม เรายืนอยู่เฉยๆ มันเป็นบาปที่ไหน อานนท์เราจะต้องทำอยู่อย่างนี้ ถ้าเราชนะมันตรงนี้ ไปที่ไหนมันก็ชนะ แต่ถ้าเขาไม่ให้ เราก็ไปที่โน้น ถ้าไปที่โน้นแล้ว เขาไม่ให้ เราจะไปไหน อานนท์”
“ไปอีก ไปบ้านโน้นอีก”
“ถ้าหากบ้านโน้นเขาก็ไม่ให้ เราจะไปตรงไหน”
“ไปตรงโน้นอีก”
“เลยไม่มีที่หยุดเลย อานนท์ ถ้าเราไม่ชนะตรงนี้ ไปข้างหน้ามันไม่ชนะ ถ้าเราชนะอยู่ที่นี่แห่งเดียว ไปที่อื่นมันก็ชนะทั้งนั้น อานนท์เข้าใจผิดแล้วไม่ต้องอายซิ”


พระองค์ตรัสว่า อะไรเป็นบาป อันนั้นท่านให้อาย อะไรที่ไม่เป็นบาปจะอายทำไม ใครอายก็โง่เท่านั้น ภาวนายังไม่เป็นเลย ถ้าอายอย่างนั้น เราจะไปอยู่ตรงไหนถึงจะมีปัญญา ถ้าไปอยู่คนเดียว ไม่มีใครพูดดีพูดชั่วให้ มันก็สบายแต่เราจะไม่รู้เรื่อง สบายอย่างนี้ มันไม่มีปัญญา ถ้าถูกอารมณ์แล้ว ปัญญามันไม่มี ก็เป็นทุกข์อย่างนั้น


ฉะนั้น เราอยู่ในโลก ก็ต้องมีความสัมพันธ์กับมนุษย์เรื่อยไปเป็นธรรมดา ไม่อยากเป็นมันก็เป็นไม่อยากจะอยู่มันก็อยู่ เป็นไปอยู่อย่างนั้น ให้เรามาพิจารณาอย่างนั้น เราต้องกลับมาย้อนพิจารณาอารมณ์ที่ท่านตรัสว่า นินทาสรรเสริญมันเป็นคู่กันมา เรื่องนินทาเรื่องสรรเสริญเป็นธรรมดาของโลก ถ้าไม่ดีเขาก็นินทา ถ้าดีเขาก็สรรเสริญพระพุทธองค์ท่านไม่เห็นแก่นินทา ไม่เห็นแก่สรรเสริญ จงเรียนสรรเสริญให้มันรู้จัก จงมาเรียนนินทาให้มันรู้จัก ให้รู้จักสรรเสริญกับนินทา สรรเสริญนินทามันก็มีผลมีเหตุเท่ากัน นินทาเราก็
ไม่ชอบ นี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ถ้าสรรเสริญเราชอบ สิ่งที่เราชอบมันพาให้เราทุกข์มีไหม เช่นว่าเรามีเพชรสักก้อนหนึ่ง เราชอบมาก ชอบกว่าก้อนหินธรรมดา เอาวางไว้ ถ้ามีขโมยมา หยิบเอาก้อนเพชรไป เราจะเป็นอย่างไร นั่นของดีมันหาย ทำให้เราเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน


ดังนั้น เราต้องอดทนต่อสู้ ให้เรามีสติคุ้มครองจิตของเรา สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว อันนี้ช่วยประคับประคองดวงใจของเราให้อยู่กับธรรมะ สติระลึกได้ว่า บัดนี้เราจะจับไม้เท้า เมื่อเราจับไม้เท้าอยู่ก็รู้ว่าเราจับไม้เท้านี่เป็นสัมปชัญญะ ถ้าเรารู้อยู่ในขณะนี้ ขณะเมื่อเราจะทำ หรือเมื่อเราทำอยู่ ก็รู้ตามความจริงของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้แหละที่จะช่วยประคับประคอบใจของเราให้รู้ธรรมะที่แท้จริง ทีนี้ถ้าหากว่า เราเผลอไปนาทีหนึ่ง ก็เป็นบ้านาทีหนึ่ง เราไม่มีสติสองนาที เราก็เป็นบ้าสองนาที ถ้าไม่มีสติครึ่งวัน เราก็เป็นบ้าอยู่ครึ่งวันเป็นอย่างนี้ สตินี้คือความระลึกได้ เมื่อเราจะพูดอะไร ทำอะไร ต้องรู้ตัว เราทำอยู่ เราก็รู้ตัวอยู่ ระลึกได้อยู่อย่างนี้ คล้ายๆกับเราขายของอยู่ในบ้านเรา เราก็ดูของของเราอยู่ คนจะเข้ามาซื้อของหรือขโมยของของเรา ถ้าเราสะกดรอยมันอยู่เสมอ เราก็รู้เรื่องว่า คนคนนี้มันมาทำไม เราจับอาวุธของเราไว้อยู่อย่างนี้ คือเรามองเห็น พอขโมยมันเห็นเรา มันก็ไม่กล้าจะทำเรา