มีลักษณะหัวโต ตัวลื่น ฤดูการสืบพันธุ์แตกต่างจากกบชนิดอื่น ขณะที่ทีมวิจัยตั้งชื่อ?กบหัวใหญ่โคราช"ให้เป็นเกียรติแก่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ค้นพบกบชนิดนี้เป็นแห่งแรก สามารถพบเห็นได้บริเวณลำห้วยภายในป่าดงดิบ
โคราช ตื่นกบสายพันธุ์ใหม่โผล่ กลางป่าดงดิบ

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายทักษิณ อาชวาคม ผอ.สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า พื้นที่ป่าของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ต.ภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นป่าดึกดำบรรพ์ที่ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก เห็นได้จากการค้นพบสัตว์พันธุ์ใหม่ต่างๆ ล่าสุดได้ค้นพบกบสายพันธุ์ใหม่ของโลก บริเวณลำห้วยภายในป่าดงดิบสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช โดยเป็นการค้นพบร่วมกันกับ นายเดวิด แม็กลอร์ด อายุ 34 ปี ชาวอเมริกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยแคนซัสสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2546 แต่ได้รับการยืนยันและตีพิมพ์เป็นกบพันธุ์ใหม่ของโลกในวารสาร ZOOTAXA เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2551


นายทักษิณ กล่าวว่า เบื้องต้นทางทีมวิจัยได้ตั้งชื่อสามัญว่า กบหัวใหญ่โคราช หรือ กบปากใหญ่โคราช ให้เป็นเกียรติแก่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ค้นพบกบชนิดนี้เป็นแห่งแรก ทั้งนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Limnonectes megastomias McLeod นาย ทักษิณ กล่าวอีกว่า กบดังกล่าวมีลักษณะที่แตกต่างจากกบห้วยทั่วไป คือ หัวโต ตัวจะลื่นๆ และฤดูการสืบพันธุ์ก็แตกต่างจากกบชนิดอื่นๆ เช่น กบนาจะสืบพันธุ์ช่วงต้นฤดูฝน แต่กบพันธุ์ใหม่นี้จะสืบพันธ์ในช่วงปลายฤดูฝนที่น้ำในลำห้วยนิ่งแล้ว เพื่อไม่ให้กระแสน้ำหลากไหลพัดเอาไข่หรือลูกอ๊อดลอยหายไปตามกระแสน้ำ อีกทั้ง ลูกอ๊อดยังมีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่กว่าลูกอ๊อดทั่วไป ส่วนลักษณะทั่วไปของกบชนิดนี้ จะมีสีดำ ลำตัวค่อนข้างใหญ่ ยาว และส่วนของหัวค่อนข้างกว้าง บนหัวระหว่างตาทั้งสองข้างมีรอยพับของแผ่นหนังพาดขวางด้านท้ายของตา หรือตรงขอบท้ายของแพบสีดำ และมีรอยพับของผิวหนังจากด้านท้ายตาลงไปที่ส่วนต้นของขาหน้า เพศผู้มีหัวใหญ่และมีโครงสร้างคล้ายฟันเขี้ยวอยู่ที่ส่วนปลายของขากรรไกร ล่าง ผิวหนังทางส่วนต้นของลำตัวค่อนข้างเรียบ มีตุ่มเล็กกระจายอยู่บ้าง แต่จะกระจายหนาแน่บริเวณท้ายลำตัวและขนขาหลัง


"สิ่งสำคัญกบหัวใหญ่ โคราช จะซ่อนตัวในเวลากลางวันใต้กองใบไม้ที่ทับถมหรือซอกหินตามลำห้วย และจะออกหากินในเวลากลางคืน และจะดำรงชีวิตใกล้แหล่งน้ำตลอด เพราะเป็นสัตว์ที่ชอบน้ำ และไม่ปรับตัวตามสภาพแวดล้อม หากอยู่ในสภาพแห้งแล้งจะตายและอาจสูญพันธุ์ในที่สุด" ผอ.สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชฯ กล่าว

นสพ.ไทยรัฐ