เคมีอาหาร-ของใช้ทำเด็กเสี่ยง ?หมัน?



ศาสตราจารย์ริชาร์ด ชาร์ป หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การเจริญพันธุ์ของอังกฤษเตือนภัยอันตรายจากเคมีใกล้ตัว โดยเฉพาะในอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เสี่ยงต่อทารกเพศชายทำให้เป็นมะเร็งและหมันในช่วงชีวิตถัดมาได้

ทั้งนี้ บรรดาแพทย์ในอังกฤษต่างกังวลกับภาวะที่มีทารกคลอดผิดปรกติเพิ่มขึ้น โดย 7% ของทารกเพศชายถือกำเนิดมาพร้อมอัณฑะที่ไม่สมบูรณ์และ 7 ใน 1,000 คนมีอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกผิดรูปร่าง การประเมินล่าสุดพบว่าชายในอังกฤษ 1 ใน 6 มีจำนวนอสุจิต่ำและประสบปัญหามีบุตรยาก และยังพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะในกลุ่มชายอายุ 20 ปีและ 30 ปี เพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในทุก 25 ปี ซึ่งภายหลังวิเคราะห์หลักฐานที่มีอยู่ ศาสตราจารย์ชาร์ปได้ลงความเห็นว่าเคมีเบี่ยงเบนทางเพศมีส่วนทำให้ทารกเพศชายมีความผิดปรกติแต่กำเนิด มะเร็งอัณฑะและปัญหาด้านการเจริญพันธุ์เมื่อเติบโตขึ้น

ตัวอย่างเคมีเบี่ยงเบนทางเพศ เช่น สารกลุ่มพทาเลท (phthalates) พบในพลาสติก พีวีซี วัสดุปูพื้นไวนิล ฉากกั้นอาบน้ำ และตัวทำละลาย สารไตรโคลซาน (Triclosan) เคมีต้านแบคทีเรียใช้ในสบู่ ยาสีฟัน และเขียง สารพาราเบนหรือสารกันบูด (parabens) ที่ใช้ในเครื่องสำอาง ครีม โลชั่น และยารักษาสิวและวินโคลโซลิน (vinclozolin) ยาฆ่าเชื้อราที่ใช้ในผักและผลไม้

ศาสตราจารย์ชาร์ปกล่าวว่า ภัยที่เกิดกับทารกเพศชายมาจากการที่สารเคมีเหล่านั้นเข้าไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน หรือทำปฏิกิริยาเลียนแบบฮอร์โมนเอสโตรเจน บางคนอาจไม่ได้รับอันตรายจากเคมีเหล่านี้ แต่หากสะสมเคมีเหล่านี้ไว้ในร่างกายอาจส่งผลทำลายตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโต และเตือนผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตรหลีกเลี่ยงเคมีดังกล่าว เพราะขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีเคมีอะไรบ้างที่ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน มันทำปฏิกิริยาอย่างไร และไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นผลของเคมีชนิดใด