ไทยป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองเพิ่ม



แพทย์จุฬาฯเผยคนไทยป่วยเป็นโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปรกติเพิ่ม ระบุโรคนี้เป็นได้ 2 ระยะคือ ช่วงเด็กถึงวัยรุ่น และช่วงวัยผู้ใหญ่ เตือนหากพบความผิดปรกติทางร่างกายสูงใหญ่ มือเท้าโต หน้าตาเปลี่ยนไปให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

รศ.นพ.สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร รองผู้อำนวยการ (ฝ่ายบริการ) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม เปิดเผยว่า โรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปรกติ (Acromegaly) เกิดจากความผิดปรกติของเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตหรือที่เรียกว่าโกรธฮอร์โมน (Growth Homone) มากกว่าคนปรกติทั่วไป โดยโรคนี้ปรกติจะไม่ค่อยพบบ่อยมากนัก เทียบเป็นอัตราส่วน 1 ต่อหลายแสนคน แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระบบการแพทย์ของไทยในปัจจุบันดีขึ้นกว่าในอดีตมาก มีการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ และแพทย์ระบบทางเดินทางประสาทในการวินิจฉัยและรักษา ทำให้ค้นพบผู้ที่เป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รศ.นพ.สมพงษ์กล่าวว่า อาการของโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปรกตินั้นขึ้นอยู่กับการตรวจพบ และการวินิจฉัยของโรคว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุเท่าไร หากเป็นตั้งแต่เด็กๆ ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เฉลี่ยปีละ 10-15 เซนติเมตร ส่วนใหญ่ผู้ปกครองมักจะพาบุตรหลานไปรักษาเมื่อสูงเกือบ 2 เมตรแล้ว ทำให้โอกาสที่จะรักษาหายมีน้อยมาก สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ในช่วงผ่านการเป็นวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ไปแล้ว การเจริญเติบโตด้านความสูงจะไม่เพิ่มขึ้น แต่สรีระทางร่างกายจะเปลี่ยนไป เช่น หน้าตาจะเปลี่ยนไป คิ้วจะโหนกขึ้น จมูกจะใหญ่ขึ้น คางจะขยาย ปากใหญ่ขึ้น คางยื่น ฟันห่าง มือเท้าใหญ่หยาบกร้าน เสียงพูดจะเปลี่ยนไป ลิ้นคับปาก และอายุไม่ยืน ส่วนระบบร่างกายภายใน อาทิ หัวใจและตับจะโตมากขึ้น ข้อจะเสื่อมเร็ว หลังโก่ง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะเป็นโรคอื่นๆตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจโต อาจหัวใจวายและเสียชีวิตได้

สำหรับโรคนี้รักษาแต่เนิ่นๆสามารถรักษาให้หายขาดได้ สำหรับวิธีการรักษามีหลายวิธี หากพบเนื้องอกมีขนาดเล็กจะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด วิธีที่ 2 คือการฉายแสง วิธีการรักษาลักษณะนี้แพทย์มักไม่แนะนำ เนื่องจากการฉายแสงไปทำลายเนื้องอกให้ตายลงก็จริง แต่จะทำลายเซลล์ดีตายไปด้วย ซึ่งส่งผลกับเรื่องของฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนชนิดอื่นๆ จึงมักเป็นวิธีทางเลือกสุดท้ายที่ใช้กัน

ส่วนการรักษาที่นิยมกันใช้ได้แก่ การฉีดยา สามารถต้านการสร้างฮอร์โมนที่ผิดปรกติได้ และพบว่าเมื่อใช้ยาฉีดฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลง แต่ไม่ได้หายขาด ซึ่งการรักษาด้วยยาจะช่วยทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลง สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้องอกให้ผู้ป่วยรู้สึกบรรเทาและมีชีวิตเหมือนคนปรกติได้