บีบพม่าปล่อยนักโทษการเมือง



ย่างกุ้ง : ไทยในฐานะประธานอาเซียนพอใจที่ทางการพม่ายอมให้ทูตไทยเข้าพบ ?ซู จี? แต่ย้ำว่าพม่าจะต้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ?อภิสิทธิ์? ระบุถือเป็นแนวโน้มที่ดี ด้านเลขาธิการยูเอ็นเตรียมจับเข่าคุย ?ตัน ฉ่วย? ในการเยือนพม่าเร็วๆนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่ารัฐบาลทหารพม่าได้รับแรงกดดันมากขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อให้ยุติการดำเนินคดีนางออง ซาน ซู จี ในข้อหาละเมิดข้อห้ามการกักบริเวณ แม้ทางการพม่าอนุญาตให้นักการทูตจากประเทศไทย สิงคโปร์ และรัสเซีย ที่ประจำอยู่ในกรุงย่างกุ้ง เข้าพบกับนางซู จี เมื่อวันพุธ

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวว่า ไทยรู้สึกพอใจที่ทางการพม่ายอมให้นักการทูตของไทยเข้าพบกับนางซู จี แต่นี่ยังไม่ใช่การสิ้นสุด เป้าหมายหลักคือทางการพม่าต้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความปรองดองภายในชาติ

ทั้งนี้ ไทยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งมีสมาชิกรวม 10 ชาติ รวมทั้งพม่าด้วย

นางซู จี วัย 63 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว หลังจากที่ชาวอเมริกันชื่อนายจอห์น วิลเลียม เยททอว์ ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบในกรุงย่างกุ้งแล้วลักลอบเข้าไปในบ้านของเธอ ซึ่งนายเยททอว์และผู้ช่วยหญิง 2 คนของนางซู จี ในบ้านพักถูกดำเนินคดีพร้อมกันด้วย

ขณะเดียวกันทางการพม่าไม่ยอมให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีนางซู จี ในวันพฤหัสบดี หลังจากอนุญาตให้นักการทูต 30 คน นักข่าวจากสื่อต่างชาติ 5 คน และจากสื่อท้องถิ่นอีก 5 คน เข้าฟังการพิจารณาคดีเมื่อวันพุธ

นายมาร์ค แคนนิง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่า ที่ได้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีนางซู จี ยืนยันว่านางซู จี ยังดูมีสุขภาพแข็งแรงและมีกำลังใจที่ดีเยี่ยม และการที่นางซู จี ไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะเป็นการส่วนตัวกับนักการทูต นางจึงได้แต่กล่าวขอบคุณบรรดานักการทูตกลางห้องพิจารณาคดีที่มาให้กำลังใจ และหวังว่าจะได้พบปะกับบรรดานักการทูตในสภาพที่ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารพม่าได้อนุญาตให้นักการทูตจากรัสเซีย สิงคโปร์ และไทย เข้าพบนางซู จี ได้หลังจากนั้น

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นว่าการที่รัฐบาลพม่าให้ทูตจากชาติต่างๆในพม่าเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีนางซู จี ในเรือนจำอินเส่ง และยังอนุญาตให้เอกอัครราชทูตไทย สิงคโปร์ และรัสเซีย พบนางซู จี ถือเป็นแนวโน้มที่ดี

?เขาคงได้ยินความห่วงใยจากหลายๆฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่มีการตอบสนองในระดับหนึ่ง และการเข้าไปสังเกตการณ์ก็เป็นการเข้าไปดูในกระบวนการต่างๆของทางการพม่า รวมถึงจะหารือในการทำงานเพื่อหาทางออก ส่วนแนวโน้มการปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน? นายกรัฐมนตรีกล่าว

ส่วนนายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยืนยันว่ารู้สึกวิตกอย่างยิ่งต่อการพิจารณาคดีนางซู จี ทั้งยังเรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมถึงนางซู จี โดยเขาจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพูดคุยกับ พล.อ.อาวุโสตัน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดพม่า ในการเดินทางเยือนพม่าที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้




โลกวันนี้ ฉบับวันที่ 2009-05-22