ปัญหาโลกร้อน
เทรนด์สุดฮิตที่คนไทยร่วมแรงแสดงออกในวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่เพิ่งผ่านไป...หนีไม่พ้นปัญหาโลกร้อน
ยังคงมีการรณรงค์เรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เปลี่ยนมาใช้หลอดประหยัด ใช้ถุงผ้าลดการเผาขยะ ลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งชักชวนกันปลูกป่า ปลูกต้นไม้
เรียกว่าการรณรงค์ทุกอย่าง มุ่งไปที่ให้มนุษย์ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์...หนึ่งในตัวการก๊าซเรือนกระจกมนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่อาศัยอยู่บนบก กิจกรรมรณรงค์เรียกร้องต่างๆ จึงเน้นให้ความสำคัญกับตัวการทำโลกร้อนที่เกิดขึ้นบนบกจนทำให้เราลืม มองข้าม...ตัวการก่อภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในน้ำ
น้ำเน่าเสียจากชุมชน จากโรงงานอุตสาหกรรมนี่แหละตัวดี ตัวการก่อภาวะโลกร้อน ไม่น้อยหน้าตัวการอื่น
อย่างที่รู้ๆ กัน ภาวะโลกร้อนเกิดจากก๊าซบางชนิดบนโลกนี้ถูกปลดปล่อยขึ้นไปบนท้องฟ้ามากจนเกินไป...มากจนมันรวมตัวเป็นก๊าซเรือนกระจกห่อหุ้มโลกของเราไว้
เมื่อมีกระจกห่อหุ้ม โลกก็จะเป็นเหมือนไก่ในภาพยนตร์โฆษณา ที่เขาเอาไปอบในรถติดกระจกที่จอดตากแดดนั่นแหละ
ก๊าซสำคัญที่รวมตัวกันเป็นก๊าซเรือนกระจกก่อภาวะโลกร้อน ที่มักจะมีการกล่าวขวัญถึงให้เราได้ยินบ่อยๆ และเป็นก๊าซที่มีการรณรงค์ให้หยุด ลด ละ เลิกใช้กันมาตลอดนั่นคือ ก๊าซซีเอฟซีกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
แต่ยังมีก๊าซอีกตัวที่เรากำลังจะลืม นั่นคือ..."ก๊าซมีเทนมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 21 เท่าเนื่องจากมีความสามารถในการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดได้ดีกว่า เลยสามารถกักขังสะสมความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกได้มากกว่า"นายทนง ตันติธีรวิทย์ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย ชี้ให้เห็นความสำคัญของก๊าซมีเทนที่ถูกมองข้ามแต่ก๊าซมีเทนที่ถูกพูดถึง ตัวการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน จะเป็นก๊าซมีเทนที่เกิดจากกิจกรรมบนบกเสียมากกว่าเกิดจากการทำนาที่ต้นข้าวเน่าเปื่อยอยู่ในดิน เกิดการหมักหมมฟาง การเผาฟาง จากเรื่องของวัวควายที่กินหญ้า เกิดจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ รวมไปถึงการหมักก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้
แต่ในน้ำเน่าเสียไม่ค่อยมีการพูดถึงกันเท่าไร...ทั้งที่ในน้ำเน่าเสีย ไม่ว่ามาจากแหล่งใดเมื่อสะสมหมักหมม ก๊าซมีเทนก็ถือกำเนิดขึ้นมาได้... ไม่ต่างกับที่เกิดบนบก"ถ้าถามว่าระหว่างในน้ำกับบนบก แหล่งไหนก่อให้เกิดก๊าซมีเทนสร้างปัญหาโลกร้อนมากกว่ากัน ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลใดมาพิสูจน์ยืนยันได้แต่มีข้อมูลบางอย่างที่พอเทียบเคียงได้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ เพิ่งค้นพบว่ามีก๊าซมีเทนสะสมอยู่ประมาณ 400,000 ล้านตัน ใต้น้ำแข็งทางแถบเหนือของไซบีเรีย และภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ทำให้น้ำแข็งที่กักเก็บก๊าซมีเทนละลาย รอวันที่จะปลดปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และจะเร่งให้โลกร้อนมากขึ้น" นั่นเป็นปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดในน้ำ ยุคดึกดำบรรพ์ที่มนุษย์ยังไม่ได้ก่อมลภาวะให้กับธรรมชาติ...ปริมาณยังมากขนาดนั้นแล้วในยุคปัจจุบันที่มนุษย์ก่อปัญหาให้กับธรรมชาติมากล้น มีแหล่งน้ำเน่าเสียเกิดขึ้นมากมาย ปริมาณก๊าซมีเทนจะมากขนาดไหน...ได้แต่คาดเดา"ปัจจุบัน แม้บ้านเราจะให้ความสำคัญเรื่องการบำบัดน้ำเสียมากกว่าในอดีตก็ตาม มีโรงบำบัดน้ำเสียเกิดขึ้นถึง 98 แห่งแล้วก็ตาม แต่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้แค่ 21.4% เท่านั้นเอง"เพราะทุกวันนี้มีน้ำเสียจากแหล่งชุมชนทั่วประเทศ ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะวันละประมาณ 14 ล้านคิว...แต่บำบัดได้แค่ 3 ล้านคิวต่อวันเท่านั้นเองที่สำคัญตัวเลขนี้เป็นแค่เพียงปริมาณน้ำเสียจากชุมชนที่รวบรวมโดยกรมควบคุมมลพิษเท่านั้น...ไม่ได้รวมน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแลและควบคุม
และไม่ได้รวมน้ำเสียจากภาคเกษตรกรรม ที่จะแสดงอาการให้เห็น เวลาเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม สารเคมีที่ใช้การเกษตรถูกชะลงแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้ปลาในแม่น้ำลำคลองตายลอยเป็นแพ ให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ ในระยะหลัง
"ปัญหาน้ำเสียในบ้านเราขณะนี้ น้ำเสียจากชุมชนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะถูกปล่อยทิ้งสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุดถึง 70% ของปริมาณน้ำเสียทั้งหมด"ประเทศไทยมีเทศบาลและ อบต. ทั่วประเทศกว่า 8,000 แห่ง...แต่มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศ 98 แห่งแต่จำนวนระบบบำบัดน้ำเสียที่มีน้อยนิด...ไม่ใช่ปัญหาใหญ่
ปัญหาใหญ่นั้น ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย บอกว่า...อยู่ตรงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้เงินภาษีอากรจัดสรรงบประมาณก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเงินทั้งสิ้น 79,000 ล้านบาท
แต่ปรากฏว่า เสียเงินก่อสร้างไปแล้ว...ระบบบำบัดน้ำเสียกลับใช้ไม่ได้ หลายแห่งถูกทิ้งร้าง ไม่มีการเดินระบบ หรือไม่ก็เดินระบบบำบัดน้ำเสียไม่ได้สาเหตุหลักก็มาจากความไม่รู้ไม่เข้าใจในระบบจัดการน้ำเสีย รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไรเนื่องจากการเมืองท้องถิ่นนั้น เป็นที่รู้กันดี...นักการเมืองท้องถิ่นมาจากผู้รับเหมา มาเล่นการเมืองก็เพื่อจะได้งานรับเหมาเป็นผู้รับเหมาที่ถนัดแต่รับเหมาก่อสร้างตึก ถนน สะพานเป็นหลักความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคนิคบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นของใหม่ไม่ค่อยมี...เมื่อเข้ามารับงานก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียก็เลยมีปัญหา ใช้งานไม่ได้...เท่านั้นเอง"แม้เราจะเป็นองค์การจัดการน้ำเสียที่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ทั่วประเทศก็ตาม แต่ก็มีขีดจำกัดในเรื่องอำนาจหน้าที่ กฎหมายไม่ให้เราทำได้องค์การจัดการน้ำเสียจะเข้าไปดูแลปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ใดได้ จะต้องได้รับความยินยอมและเห็นชอบ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เสียก่อน"ที่ผ่านมา มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 24 แห่ง ที่ยินยอมให้องค์การจัดการน้ำเสียเข้าไปจัดการปัญหาให้ระบบจากระบบบำบัดน้ำเสียที่หมดเงินก่อสร้างไป 5,945 ล้านบาท แต่ใช้ไม่ได้ เสียเงินปรับเพิ่มแค่ 524 ล้านบาทอนุสาวรีย์นักการเมืองผู้รับเหมา...พลิกกลับกลายมาเป็นระบบกอบกู้ หายนะช่วยลดโลกร้อนได้โดยไม่สูญเปล่าส่วนที่เหลือ...ก็ยังเป็นอนุสาวรีย์ผู้รับเหมาเหมือนเดิม...สรุปแล้ว ประเทศไทย ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เกิดจากน้ำเน่าที่ชาวบ้านปล่อยขเสียลงแหล่งน้ำอย่างเดียวยังมีน้ำเน่าจากระบบการเมืองเก่า และน้ำเน่าในระบบราชการริมคลองหลอดที่หวงอำนาจตะพึดตะพือผสมโรงอีกต่างหากหวงเพื่ออะไร...น้ำเน่าย่อมเข้าใจในน้ำเน่า.

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ