เริ่มก่อสร้างแล้ว สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3



รัฐบาล ทุ่มงบ 1,723 ล้าน จ้างอิตาเลี่ยนไทย เดินเครื่องผุดสะพานข้ามโขง 3 นครพนม ? คำม่วน นับถอยหลัง 900 วันเสร็จ ภาคการค้าธุรกิจเตรียมพร้อมรองรับ ทางเชื่อมอินโดจีนที่ใกล้ที่สุด..

วันนี้ (25 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 3 นครพนม-คำมวน หลังจากเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ บริเวณจุดก่อสร้าง บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม กับ บ้านเวินใต้ แขวงคำม่วน สปป.ลาว โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 1,723 ล้านบาท พร้อมเปิดประมูลหาผู้รับจ้างได้บริษัทอิตาเลี่ยนไทย มาเซ็นสัญญาดำเนินการก่อสร้าง เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กำหนดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 30 เดือน คาดแล้วเสร็จในปี 2554

นายพงษ์ศิริ กุสุมภ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางจังหวัด ได้หารือเตรียมพร้อมพัฒนาจังหวัดด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับการเกิดขึ้นของสะพานเพื่อได้รับประโยชน์มากที่สุด และจะนำปัญหาจากสะพานแห่งที่ 1 และ 2 มาเป็นแนวทางแก้ไข อีกทั้งสะพานแห่งที่ 3 ถือเป็นสะพานของไทยอย่างแท้จริง ที่สร้างจากเงินงบประมาณของไทยทั้งหมด ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังจะเป็นจุดกำเนิดทำให้เกิดความเจริญทุกด้านแบบก้าวกระโดด และถือเป็นเส้นทางเชื่อมไปสู่ประตูอินโดจีนที่ใกล้ที่สุด ที่สำคัญลำดับแรก ทางจังหวัด ได้มีข้อตกลงกับบริษัทอิตาเลียนไทย ในการเปิดรับสมัครแรงงานในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการสร้างงานให้กับชาวนครพนมมีงานทำ มีรายได้ เชื่อมั่นว่าจะเกิดผลดีกว่าสะพานแห่งที่ 1 และ 2 แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจากหลายฝ่าย ตั้งแต่ปี 2547 ได้มีการสำรวจความเหมาะสม ออกแบบการก่อสร้าง โดยกำหนดจุดก่อสร้างบริเวณฝั่งไทย ที่ บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ตรงข้ามกับ บ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว สามารถเชื่อมไปยังถนนหมายเลข 13 ของลาว ไปยังเวียดนาม และจีน ถือเป็นเส้นทางเชื่อมสู่อินโดจีนที่มีระยะทางใกล้ที่สุด เพียงแค่ประมาณ 150 กิโลเมตร

โดยการก่อสร้างตัวสะพานมีระยะทางประมาณ 780 เมตร ความกว้าง 13 เมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่องการจราจร ส่วนการก่อสร้างตัวอาคารต่างๆ จะเป็นสถาปัตยกรรมล้านช้างที่ถ่ายทอดมาจากวัดของจังหวัดนครพนม ซึ่งถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่มีการออกแบบให้เกิดความสวยงาม เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ในพื้นที่ ส่งผลดีต่อการค้า การคมนาคมขนส่ง รวมถึงการท่องเที่ยว ในอนาคต



ไทยรัฐออนไลน์