สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช







จอมคน ยอดนักรบ แห่งแผ่นดิน

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทุ่มเทชีวิตเป็นเดิมพัน

ในการกอบกู้เอกราชให้แผ่นดิน "สงครามยุทธหัตถี"

เดิมพันอันยิ่งใหญ่ หมายถึงชีวิต หมายถึงแผ่นดิน

ที่พระองค์ไม่อาจปราชัย พระราชประวัติของพระองค์

สมควรค่ายิ่งแก่การเทิดพระเกียรติ



พระราชประวัติโดยย่อ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือที่ชาวบ้านทั่วไปในครั้งนั้นเรียกว่า " พระองค์ดำ " สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชสมภพที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ราชวงศ์สุโขทัย และสมเด็จพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระราชนนี ราชวงศ์สุวรรณภูมิทรงมีพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระอนุชา คือ พระสุพรรณกัลยาณี และสมเด็จพระเอกาทศรถ ตามลำดับ

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมีพระชนมายุ ๕๐ พรรษาทรงประชวรเป็นหัวละลอกขึ้นที่แสกพระพักตร์ ขณะเสด็จไปตีกรุงอังวะและประทับแรมอยู่ที่ตำบลทุ่งแก้ว แขวงเมืองหาง และเสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปี มะเส็ง พุทธศักราช ๒๑๔๘

พระราชกรณียกิจและเหตุการณ์สำคัญ
พุทธศักราช ๒๑๐๗
พระชนมายุ ๙ พรรษา สมเด็จพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ พม่ายกมาตีกรุงศรีอยุธยา ทรงถูกนำไปเป็นตัวประกัน ณ กรุงหงสาวดี ประทับ ๖ ปี
พุทธศักราช ๒๑๑๓
พระชนมายุ ๑๕ พรรษา เสด็จฯ กลับจากกรุงหงสาวดี
พุทธศักราช ๒๑๑๔
พระชนมายุ ๑๖ พรรษา เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง
พุทธศักราช ๒๑๑๗
พระชนมายุ ๑๙ พรรษา ทรงยกทัพไปพร้อมกับสมเด็จพระราชบิดา เพื่อสมทบกับทัพหลวงตีเมืองเวียงจันทน์
พุทธศักราช ๒๑๒๑
พระชนมายุ ๒๓ พรรษา ทรงเรือพระที่นั่งไล่กวดจับพระยาจีนจันตุที่ลงเรือหนีไปปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในการสู้รบครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงความกล้าหาญอย่างยอดเยี่ยม
พุทธศักราช ๒๑๒๒
พระชนมายุ ๒๔ พรรษา ทรงเป็นแม่ทัพต่อสู้กับพระทศราชาซึ่งคุมกองทัพเขมรเข้ามาตีโคราชและหัวเมืองชั้นใน และทรงได้รับชัยชนะทั้งที่ทรงมีกำลังทหารน้อยกว่า
พุทธศักราช ๒๑๒๔
พระชนมายุ ๒๖ พรรษา พระเจ้ากรุงหงสาวดีสวรรคตได้เสด็จฯ ไปกรุงหงสาวดีในพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ องค์ใหม่แทนพระราชบิดา
พุทธศักราช ๒๑๒๖
พระชนมายุ ๒๘ พรรษา ได้เป็นแม่ทัพยกไปช่วยเมืองหงสาวดีไปตีเมืองลุม เมืองคัง ในรัฐไทยใหญ่ ตามคำสั่งของพม่า
พุทธศักราช ๒๑๒๗
พระชนมายุ ๒๙ พรรษา ทรงประกาศอิสรภาพของไทย ณ เมืองแครง พระเจ้ากรุงหงสาวดีให้สุระกำมายกกองทัพตามมาไล่จับสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ทรงยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุระกำมา แม่ทัพพม่าตายและทรงได้รับมอบอำนาจให้บัญชาการบ้านเมืองสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวสงครามไทยกับพม่า พระยาพะสิมยกกำลัง ๑๓๐,๐๐๐ คนมาทางเมืองสุพรรณบุรี พระเจ้าเชียงใหม่มาทางเหนือตีพม่าแตกกลับไป
พุทธศักราช ๒๑๒๘
สงครามไทยกับพม่า ทรงสู้รบกับพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ พม่า ๑๕๐,๐๐๐ คน ไทย ๘๐,๐๐๐ คน ไทยตีทัพพม่าแตกกลับไป
พุทธศักราช ๒๑๒๙
สงครามไทยกับพม่า พระเจ้าหงสาวดียกกำลังทหาร ๒๕๐,๐๐๐ คน มาล้อมกรุงอยู่ ๖ เดือน ไทยมีกำลัง ๘๐,๐๐๐ คน ตีขับไล่พม่าจนต้องถอยทัพกลับไป ไม่สามารถเข้าถึงกำแพงพระนครได้
พุทธศักราช ๒๑๓๓
พระชนมายุ ๓๕ พรรษา สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดาสวรรคต พระองค์เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถ เป็นพระมหาอุปราชา และมีพระเกียรติยศสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง
สงครามไทยกับพม่า พระมหาอุปราชายกมาครั้งแรกที่สุพรรณบุรี พม่า ๓๐๐,๐๐๐ คน ไทยมีกำลัง ๘๐,๐๐๐ คน ตีพม่าแตกพ่ายไป จับพระยาพะสิมแม่ทับพม่าที่จระเข้สามพันธุ์
พุทธศักราช ๒๑๓๕
พระชนมายุ ๓๗ พรรษา สงครามยุทธหัตถี พม่า ๒๔๐,๐๐๐ คน ไทย ๑๐๐,๐๐๐ คน รบกันที่เมืองสุพรรณบุรี ทรงมีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชามังกะยอชวาแห่งกรุงหงสาวดี ด้วยพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕
สงครามเมืองทะวาย ตะนาวศรี ไทย ๑๐๐,๐๐๐ คน ตีได้เมือง
พุทธศักราช ๒๑๓๖
สงครามเมืองเขมร ไทย ๑๓๐,๐๐๐ คน เขมร ๗๕,๐๐๐ คน ไทยตีได้เมืองเขมร
พุทธศักราช ๒๑๓๗
สมครามไทยกับพม่า ไทยตีได้หัวเมืองมอญ
พุทธศักราช ๒๑๓๘
สงครามไทยกับพม่า ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีครั้งที่ ๑ ไม่สำเร็จ ไทยมีกำลัง ๑๒๐,๐๐๐ คน
พุทธศักราช ๒๑๔๒
สงครามไทยกับพม่า ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีได้สำเร็จ ไทย ๑๐๐,๐๐๐ คน แล้วไปล้อมเมืองตองอูอยู่ ๒ เดือน เสบียงอาหารหมดต้องยกทัพกลับ
พุทธศักราช ๒๑๔๖
สงครามเมืองเขมร ได้เมือง
พุทธศักราช ๒๑๔๗
สงครามครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกทัพไปตีกรุงอังวะ ไทย จำนวน ๒๐๐,๐๐ คน แต่ทรงประชวร และเสด็จสวรรคตเสียก่อน


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


สงครามยุทธหัตถี

สมเด็จพระนเรศวรทรงก้าวขึ้นครองราชบัลลังค์ได้เพียงไม่นาน ๔ เดือนเท่านั้น ก็เผชิญศึกใหญ่ พม่ายกเข้ามารุกรานอีก ในช่วงที่ผลัดแผ่นดินใหม่ ด้วยความเข้าใจว่าอาจเกิดความยุ่งยากขึ้นมาตามธรรมเนียมของบ้านเมือง พม่าได้ยกไพร่พลมาครั้งนี้เป็นทัพใหญ่มีไพร่พลถึง ๓ แสน จัดเป็น ๒ ทัพ มุ่งเข้ามาทางด่านพระเจดีย์ สามองค์ เพื่อเข้าตีกรุงศรีอยุธยาอย่างเร็วพลันไม่ให้ตั้งตัวได้

สมเด็จพระนเรศวรทรงปรับกระบวนวิธีการรบใหม่ทันที โดยทรงใช้วิธียาตราทัพไปซุ่มรับอยู่ที่สุพรรณบุรี แล้วส่งกองทัพน้อยไปเมืองกาญจนบุรีทำทีเหมือนจะไปรักษาเมือง พม่าหลงกลรุกไล่กองทัพน้อยของไทย ซึ่งถอยหนีหลอกล่อมาทางที่ทัพหลวงซุ่มอยู่

พอได้จังหวะ ก็พร้อมกันออกตะลุมบอน ตีพม่าแตกยับถูกทหารไทยฆ่าฟันล้มตายนับไม่ถ้วน ส่วนแม่ทัพคือ พระมหาอุปราชาทรงหนีรอดเงื้อมือไปได้

นับเป็นชัยชนะศึกใหญ่ต้อนรับการขึ้นสู่ราชบังลังค์ของสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของชาวไทย ที่ทำให้ขวัญของชาวไทยในเวลานั้นพลันฮึกเหิมขึ้นมาอย่างน่าประหลาด ซึ่งทำให้พระเกียรติคุณของสมเด็จพระนเรศวรเกริกไกรกึกก้องขจรขจาย ไปทั่วทุกทิศานุทิศ ทำให้ไทยก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในย่านคาบสมุทรอินโดจีนแหลมทองของไทยนับ แต่บัดนั้นเป็นต้นมา

โดยการทำสงครามยุทธหัตถีในครั้งนั้น เกิดขึ้นเมื่อ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช ๙๔๕ ( พ.ศ. ๒๑๓๕) ก่อนที่จะได้ทำสงครามยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรทรงพระสุบินว่าได้ต่อสู้กับจระเข้ใหญ่


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช



**********************************

บรรณานุกรม :

สะเทื้อน ศุภโสภณ. สมเด็จพระนเรศวร มหาวีรราชเจ้า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ One World, ๒๕๔๗.
ประเทือง แก้วสุข.ใครนำไทย ไป... กรุงเทพฯ : กกกก ก่อกิจการพิมพ์, ๒๕๔๔.

ภาพประกอบ :

รวบรวมโดย : นักศึกษาฝึกงาน คณะมนุษยศาสตร์ สาขาสารสนเทศ