กำลังแสดงผล 1 ถึง 4 จากทั้งหมด 4

หัวข้อ: กรรม : บริหารและจัดการได้

  1. #1
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ ใต้ร่มประดู่
    วันที่สมัคร
    Jul 2007
    ที่อยู่
    BKK Metropolis
    กระทู้
    312

    กรรม : บริหารและจัดการได้

    “ ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ” หรือว่า “ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ” กฎแห่ง กรรมมีจริงหรือไม่ ? หรือกฎแห่งกรรมยุติธรรมจริงหรือ ? ผู้เขียนก็เคยตั้งคำถาม เคยไม่แน่ ่ใจไม่เชื่อ แต่ก็ยังไม่ได้ปฏิเสธหรือด่วนสรุปว่าไม่จริง จึงลองพิสูจน์ด้วยการลงมือฝึกปฏิบัติตาม วิธีการของครูอาจารย์ ซึ่งสอนตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า เอาตัวเองเป็นเครื่องมือใน การทดลอง ค้นคว้าวิจัย และพิสูจน์ ซึ่งเป็นวิธีเดียวในการประจักษ์ชัดต่อความเป็นจริงแห่งชีวิต

    พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไม่ให้เราเชื่ออะไรง่าย ๆ แต่ให้เราลงมือปฏิบัติและ พิสูจน์ด้วยตัวเราเอง ศรัทธาถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะงมงายได้ ฉะนั้นเราจึงควรพิจารณา เหตุผล คำนึงถึงความเป็นไปได้ ชีวิตนี้เราเลือกที่จะเป็นได้ และเลือกเกิดได้ หากเรารู้จักตัว เราดีพอ และมีกุศโลบายในการบริหารจัดการกรรม ชีวิตจะมีความสงบสุข ความเจริญ พบและ สร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงาม ความทุกข์จะลดน้อยลงตามลำดับ ไม่เชื่อ ก็อย่าเพิ่งปฏิเสธ ลองเปิดใจ อ่านบทความนี้ แล้วลองบริหารจัดการกรรมดู ท่านผู้อ่านจะพบความจริงโดยท่านเป็นผู้รู้ด้วย การพิสูจน์ด้วยตัวเอง
    กรรม แปลว่า การกระทำ ประกอบด้วย การกระทำทางกาย วาจา ใจ (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม) กรรม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิต อำนาจกรรมทำให้เราเกิดมามี รูปร่างหน้าตา มีบุคลิกภาพนิสัยใจคออย่างที่เป็นอยู่ กรรม เป็นเส้นแรงสานสร้างสายสัมพันธ์ พลังกรรมเก่าและพลังกรรมใหม่ถักสานเป็นชะตาชีวิต ชีวิตเราลิขิตได้เอง ไม่ใช่เพราะพรหม ลิขิต หรือสวรรค์บันดาล

    จากกฏดุลยภาพแห่งธรรมชาติที่ว่า เมื่อมีแรงกระทำต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมมีแรง ปฏิกิริยาสะท้อนกลับเสมอ ( action – reaction) ซึ่งแรงปฏิกิริยานี้จะสะท้อนกลับตามความ จริงที่ว่ามนุษย์ย่อมเป็นไปตามการกระทำของตนเอง ทุกการกระทำของมนุษย์จะก่อให้เกิดผล ต่อเนื่องในธรรมชาติ ( consequence) และอานิสงส์ ( feedback) มาสู่ผู้กระทำเสมอ จึง เกิดกลไกเป็นบ่วงกรรม ซึ่งแต่ละบ่วงกรรมจะเข้ามาตามการสะท้อนของแรงปฏิกิริยาเป็นวาระ เมื่อถึงเวลาของมัน เรียกว่า เวรกรรม กรรมทั้งที่ดีและไม่ดีนี้เอง เป็นองค์ประกอบของชะตา ชีวิต และเป็นเส้นแรงสานสร้างสายสัมพันธ์ จนเป็นสังคม เป็นโลก เป็นภพภูมิต่าง ๆ ในที่สุด

    กรรมเป็นอำนาจสากลที่สลับซับซ้อนอย่างยิ่ง ความรู้เบื้องต้นที่ควรรู้เกี่ยวกับ เรื่องกรรมก็คือ อำนาจของกรรมที่มีต่อชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ เราทั้งหลายมีกรรม เป็นของตน เราเป็นผู้รับผลของกรรม เราเป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด เราเป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่า พันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตามเราจักเป็นผู้รับผลกรรม นั้น ” สรุปได้ว่า เราเกิดมานี้ด้วยอำนาจกรรม เกิดมามีรูปร่างหน้าตา นิสัยใจคอ เป็นอย่างไร ก็ด้วยอำนาจกรรม ซึ่งจำแนกอำนาจกรรมตามบทบาทที่มีต่อชีวิตได้ดังนี้
    ๑. กรรมทำให้เรามาเกิด ผลกรรมต่างกันทำให้เกิดต่างกัน เช่น กรรมที่เคร่ง ครัดในศีล มีคุณธรรมของความเป็นมนุษย์ทำให้เกิดเป็นคน กรรมที่มีความละอายต่อชั่วและ เกรงกลัวต่อบาปทำให้เกิดเป็นเทพ กรรมที่มีพรหมวิหาร ซึ่งประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ทำให้เกิดเป็นพรหม กรรมที่เจริญศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุต หลุดพ้นจาก ทุกข์โดยสมบูรณ์ ทำให้เป็นอริยะผู้อยู่เหนือกรรม ก้าวสู่ความไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก กรรมที่ มัวเมาลุ่มหลงในอบายมุข ผิดศีลเป็นประจำ ทำให้เกิดในภพภูมิที่ไม่งาม
    ๒. กรรมตบแต่งขันธ์ห้า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ซึ่ง หมายความว่าใครจะเกิดมามีรูปร่างหน้าตา บุคลิกภาพอย่างไร กรรมได้ก่อตัวเป็นโครง ร่างแล้ว ด้วยเหตุนี้ แม้ลูกที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน จึงมีลักษณะแตกต่างกันไป
    รูป : ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด มีร่างกาย คุณสมบัติ และพฤติกรรม ทั้งหมดของร่างกาย
    เวทนา : ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ ซึ่งเกิดจากการรับรู้ทางสัมผัสทาง ประสาททั้งห้า และทางใจ
    สัญญา : การกำหนดได้ หรือหมายรู้ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์นั้นได้ ตามขั้น ตอนแห่งการรับรู้ทั้งห้าและทางใจ
    สังขาร : องค์ประกอบ หรือ คุณสมบัติต่าง ๆ ที่ปรุงแต่งจิตให้ดี หรือชั่ว หรือ กลาง ๆ โดยมีเจตนาเป็นตัวนำ
    วิญญาณ : การรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้งห้าและทางใจ
    ๓. กรรมในสิ่งแวดล้อมที่เราประสบ มีบ่วงกรรมผูกพันกันอยู่ เช่น ในครอบครัว ที่ทำงาน ภาวะของสังคม สถานการณ์โลก คนที่เกิดมาร่วมภาวะการเดียวกัน ส่วนใหญ่ล้วน เป็นผู้มีกรรมร่วมกันมาในอดีต จึงต้องมาเผชิญชะตากรรมเดียวกัน แต่ในโอกาสหรือวิกฤต ชะตากรรมเดียวกัน แต่ละคนรับผลไม่เหมือนกัน และที่เหมือนก็ไม่เท่ากัน หรือมีความพร้อม เผชิญกับกรรมต่างกัน ตามกรรมของแต่ละบุคคล
    ๔. กรรมในปรากฏการณ์ของชีวิตที่เราต้องพบเมื่อถึงวาระ ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ตามที่เราได้ทำไว้ กรรมสนองตามวาระ เรียกว่า เวรกรรม เช่น กรรมที่เคยฉ้อโกงมาถึงแม้ ร่ำรวยอยู่ก็ล้มละลาย หรือทรัพย์สูญหายได้ ในกรณีที่เป็นคู่กรรมที่เคยสร้างกรรมดีไว้ร่วมกัน ก็จะถูกชะตา อยากรู้จักผูกพันสร้างในสิ่งที่ดีร่วมกันอีก
    จึงอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตทั้งชีวิตของเรา คือผลจากกรรมทั้งสิ้น แต่มนุษย์มิได้รับ เฉพาะผลจากกรรมเก่าเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดมาแล้วมนุษย์มีสิทธิ์และเป็น อิสระที่จะสร้าง กรรมใหม่ได้ไม่รู้จบ และทุกขณะที่เผชิญกับผลแห่งกรรมจากอดีตก็มีสิทธิ์เลือกการสนองตอบ ได้หลายรูปแบบการสนองตอบต่อผลกรรมเก่าในรูปแบบต่างๆ นั้นคือกรรมใหม่มนุษย์สามารถ กระทำสิ่งที่ชั่วร้ายมากได้แต่ก็สามารถสร้างสิ่งที่งดงามประเสริฐที่สุดได้เช่นกัน ดังนั้น พลัง กรรมที่ถักสานเป็นชะตาชีวิตมนุษย์นั้นคือ กรรมรวม เป็นพลังจากกรรมเก่าและพลังแห่งกรรม ใหม่
    แล้วผลกรรมใดมีพลังมากกว่ากันเล่า ? ระหว่างพรสวรรค์ที่ติดตัวมาจากอดีต กับที่เพียรพยายามพัฒนาขึ้นใหม่เป็นพรแสวง อะไรแรงกว่ากัน
    โดยปกติแล้ว อำนาจกรรมเก่าจะส่งผลมากระทำเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากกรรมใหม่ ซึ่งมีพลังมากกว่า และจะมีกำลังมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับความ เพียร ดังพุทธดำรัสที่ว่า “ บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ” ดังนั้นผู้ที่เกิดมาจนอาจร่ำ รวยได้หากขยัน คนโง่อาจฉลาดขึ้นได้หากหมั่นศึกษา คนเลวก็อาจสำเร็จเป็นอริยบุคคลได้หาก กลับตัวกลับใจแล้วบำเพ็ญเพียรอย่างจริงจัง จึงกล่าวสรุปได้ว่า อำนาจที่มีผลต่อชีวิตมาก คือ การกระทำในปัจจุบันนั่นเอง เราจึงสามารถบริหารกรรมได้ หากอำนาจกรรมใหม่ของเราดีพอ มีปริมาณมากพอ มีพลังเพียงพอ และมีกุศโลบายแยบคายพอ ดังนั้น ทุกคนที่เกิดมาแล้ว ไม่ว่า ด้วยกรรมใด อยู่ในสภาพอย่างไร ก็มีสิทธิประสบความสำเร็จ มีความสุขในชีวิตได้เสมอ หากรู้ จักการบริหารและจัดการกรรม
    พลังของกรรมจะมากน้อยขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใดโดยมี เจตนาเป็น
    องค์ประกอบสำคัญ
    - การกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อตน แต่จะมีโทษต่อผู้อื่นได้ มีผลทั้งดีและชั่ว ต้องพิจารณาให้ รอบคอบ และจัดการด้วยกุศโลบายที่เหมาะสม แล้วจึงเลือกทำ
    - การกระทำที่จะเป็นโทษต่อตน แต่เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น มีผลทั้งดีและชั่ว ขึ้น อยู่กับเจตนาในการกระทำ ต้องคิดให้รอบคอบก่อนทำ และหากมีเจตนาแห่งการยินดีเสียสละ ที่ชัดเจน แม้จะเกิดโทษแห่งตนบ้าง ก็ควรทำ
    - การกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อตน และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น รวมทั้งเกิดประ โยชน์ในปัจจุบันและอนาคต การกระทำนั้นดีมาก นำมาซึ่งผลดีอย่างยิ่ง
    - การกระทำใดที่เป็นประโยชน์ต่อภาวะที่เป็นอยู่ และเป็นประโยชน์ต่อการ พัฒนาสภาวะให้ บริสุทธิ์ประเสริฐยิ่งขึ้น การกระทำนั้นยอดเยี่ยม นำมาซึ่งผลดีอย่างยิ่ง
    ดังนั้นกรรมที่ดี มีพลังสร้างสรรค์ และนำชีวิตสู่ความสุขอันสูงสุดได้ คือ การกระ ทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เกื้อกูลแก่ภาวะที่ เป็นอยู่และนำไปสู่ความบริสุทธิ์ จนอยู่เหนือกรรมทั้งปวง หลุดพ้นจากทุกข์ในที่สุด นอกจากนั้น ผลแห่งการกระทำจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเจตนา ณ ขณะที่ทำ หากมีเจตนาดี บริสุทธิ์ใจ จริง ใจ เปี่ยมด้วยความรัก ความปรารถนาดี ย่อมมีอานิสงส์มากกว่าทำอย่างเสียมิได้ ทำเอาหน้า ไม่เต็มใจ ไม่ตั้งใจ ไม่จริงใจ หรือทำอย่างมีเงื่อนไข เพียงเพราะไม่ได้ดังที่ใจตั้งเงื่อนไขไว้ เช่น ทำสิ่งนี้แล้วจะได้รับตอบด้วยสิ่งนั้น พอไม่ได้ก็เป็นทุกข์ ไม่พอใจ ไม่ยินดีเสียแล้ว ทำดีนั้น ดีตั้งแต่คิดที่จะทำ และขณะที่ลงมือกระทำก็ดี ณ ขณะที่ทำ แล้วผลแห่งการสร้างกรรมดี ก็เกิด ขึ้นเองตามกฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมัน กฎแห่งกรรมนั้นเที่ยงธรรมเสมอ ซึ่ง หากพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจะเห็นว่ามีทั้งกรรมเก่าในอดีตทั้งที่ระลึกได้และ ระลึกไม่ได้จาก อดีตชาติ ส่งผลทั้งทางด้านดีและไม่ดีประกอบกับกรรมใหม่ที่สร้างอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าจะ กล่าวว่า “ ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ” คงไม่ใช่แน่นอน เป็นการมองไม่ครบทุกองค์ ประกอบ
    แล้วจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าภพชาติกรรมจากอดีตชาติมีจริง เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ ได้ด้วยการลงมือปฏิบัติธรรม ฝึกจิตอย่างจริงจัง ก็จะประจักษ์ชัดได้ด้วยตนเอง ความรู้ความ เข้าใจจากการฟังการอ่าน การคิดนึก เป็นการเรียนรู้จากภาคทฤษฎี แต่ปัญญาที่เกิดจากการ รู้ตัวทั่วพร้อมโดยไม่พลั้งเผลอ เป็นการรู้ทุกสิ่งตามที่มันเป็นจริง ตามธรรมชาติของมัน โดย ปราศจากการปรุงแต่งใด ๆ ปราศจากอารมณ์ที่ไม่เป็นกลาง ที่เอนเอียงไปด้วยความ รัก โลภ โกรธ หลง ความพอใจ ความไม่พอใจ และไม่ได้เกิดจากความคิดนึกที่มีความวิตก กังวล ฟุ้ง ซ่านรำคาญใจกับเหตุในอดีตและอนาคต แต่เกิดจากปัญญาที่อยู่เหนือความคิดนึกทุกขณะจิต อยู่กับปัจจุบัน โดยรู้ชัดตรงตามจริง มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ การเข้าถึงสัจธรรม สามารถเข้า ถึงได้ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น แม้แต่พระเจ้าก็ช่วยเราไม่ได้ หากเราไม่ช่วยตน เอง ดังพุทธภาษิตที่ว่า “ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ” นั่นแล
    ดังนั้น ชีวิตที่ต้องดำเนินไปจึงเกี่ยวข้องกับการกระทำ พัวพันอยู่ด้วยกรรม เรา ต้องฉลาดในการเลือกกระทำ และเลือกสนองตอบต่อสรรพชีวิต สรรพสิ่ง โดยมีปฏิภาคสัมพันธ์ อย่างเหมาะสมชีวิตจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด โครงสร้างหลักของชีวิต มีกายกับใจ มีการรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส และทางใจ จิตเป็นผู้รับรู้อาการหรือการทำงานของกายและใจ จิตจะ มีอานุภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับสมาธิ สมาธิจะดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับสติ กายและใจจะมีลักษณะเป็น อย่างไรขึ้นอยู่กับอำนาจกรรมที่ใจและกายนั้นสร้างขึ้น ตามอิทธิพลของความทะยานอยาก (ตัณหา) กรรมจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมาตรฐานศีลธรรม และมาตรฐานศีลธรรมของบุคคลจะ สูงเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับปัญญา
    กรรมที่ผู้ใดทำแล้วด้วยเจตนาย่อมเกิดผลทันทีทั้งต่อตัวเขาเอง ต่อผู้ถูกกระทำ ต่อสภาพแวดล้อม และวนกลับมาที่ตัวเขาเองอีกระลอกตามความเข้มข้นของกรรม ยกตัวอย่าง เช่นทันทีที่บุคคลนั้นตั้งใจใส่ร้ายป้ายสีใครสักคน ผลที่มีต่อตนเองคือใจของเขาจะสั่นคลอนพลัง จะลดลง จิตจะเศร้าหมองอ่อนกำลัง ปอดหายใจไม่สะดวก และผลที่มีต่อผู้ถูกกระทำคือ ทำให้ ้เขาโกรธ เกลียด ไม่สมาคมด้วย ไม่ได้รับความเป็นธรรม เดือดร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งยังมีผลต่อเนื่องกระจายออกไปในสภาพแวดล้อมและสังคม คือ บุคคลทั้งหลายเห็นว่า คนเหล่านี้ไม่สามัคคีกัน ก็จะไม่ค่อยเกรงใจ รังแกเอาโดยง่าย ไม่ให้ความช่วยเหลือ และเมื่อ สังคมใดที่มีการใส่ร้ายป้ายสีกันมาก ๆ ไม่มีความรักความสามัคคี จะทำให้เกิดวิกฤตทุกข์โทษ ภัยขึ้นโดยง่าย และเมื่อมีผลกระจายไปในสังคมจนครบวงจรแล้ว ผลการกระทำนั้น ๆ จะมาถึง ตัวผู้กระทำอีกเพราะธรรมชาติทั้งหลายตั้งอยู่บนระบบดุลยภาพแม้แต่จักรวาล เมื่อมีแรงเหวี่ยง ออกจากศูนย์กลาง ก็มีแรงดึงดูดระหว่างมวลกลับเข้าหาศูนย์กลาง แรงเหวี่ยงทั้งหลาย เมื่อ เหวี่ยงออกไป ในที่สุดก็จะหมุนกลับมาหาผู้กระทำ ดังนั้นผู้ที่ใส่ร้ายป้ายสีก็จะถูกดึงดูดด้วยพลัง กรรมให้มาอยู่ในสังคมที่ทรามนิยมใส่ร้ายป้ายสี และจะถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วย ตามกลไกกรรม ที่ตนทำไว้
    ด้วย เหตุที่กรรมใด ๆ ที่ทำไปแล้วก่อให้เกิดผลทั้งต่อตนเองผู้ถูกกระทำ สังคม และสภาพแวดล้อม เช่นนี้มนุษย์ทั้งหลายจึงได้สร้างกรรมร่วมเป็นผลกรรมรวม ของสังคมขึ้น
    และต้องเกิดมาร่วมชะตากรรมเดียวกัน แต่ใครจะรับความเจ็บปวดหรือผลดีใน สถานการณ์ เดียวกันนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเขาร่วมกระบวนกรรมนั้นในแง่มุมใด ถ้าเขาพยายามยับยั้งสิ่งที่เลว เสริมสร้างสิ่งที่ดี เขาย่อมได้รับผลดีจากสถานการณ์ แม้คนอื่นที่ทำส่วนที่เลวไว้กำลังเดือดร้อน อยู่ด้วยสถานการณ์เดียวกันก็ตาม ดังนั้นกรรมจึงเป็นสิ่งที่มีจริง ให้ผลจริง มนุษย์ทั้งหลายมี กรรมเป็นสมบัติของตน แต่มนุษย์ก็มิใช่ตกเป็นทาสกรรม หรือถูกกรรมครอบงำชีวิตอย่างไม่ อาจเปลี่ยนแปลงได้ ในทางตรงข้ามกรรมทั้งหลายนั้นมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติผู้ สร้างย่อมมีอำนาจเหนือสิ่งที่ถูกสร้าง นอกจากนั้นมนุษย์ยังมีอิสระที่จะทำกรรมใหม่ได้ตลอด เวลา มนุษย์จึงสามารถบริหารกรรม และปรับปรุงชะตากรรมของตนได้ตามกำลังความสามารถ รวมทั้งมนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อชดใช้กรรม แต่เกิดมาเพื่อบริหารจัดการกรรม
    พระพุทธองค์ตรัสว่า “ กรรมเป็นอจิณไตย ” กรรมที่มนุษย์ทั้งหลายกระทำจาก อดีต จนถึง ปัจจุบัน มากมายจนนับไม่ถ้วน เอาแค่ในหนึ่งวัน ลองนับดูว่า เราได้สร้างมโนกรรม วจีกรรม เท่าไรแล้ว เพราะฉะนั้น หากจะชดใช้แล้วก็ชดใช้กันด้วยเวลาที่นาน มากจนนับไม่ ถ้วน นับไม่ได้เช่นกัน และทุกขณะที่ชดใช้นั้นก็จะเป็นการสร้างกรรมใหม่ไปในขณะเดียวกัน การชดใช้จึงไม่มีวันจบ
    หากดำเนินชีวิตอย่างไม่เข้าใจกรรม หรือเข้าใจผิดไป ก็จะนำชีวิตสู่ความมืดมน ตกไปในบ่วงกรรมแห่งวัฏสงสารจนหาทางออกไม่ได้ ดังนั้นในบรรดาระบบ กฎเกณฑ์ทั้งหลาย ที่มนุษย์ควรเรียนรู้ให้กระจ่างแจ้งคือ กฎแห่งกรรมและระบบดุลยภาพแห่งธรรมชาติ การคิด การพูด การทำที่ไม่ดี คือสาเหตุสำคัญของความผิดปกติในสัมพันธภาพ เช่น คิดอยากได้ของ ของคนอื่น คิดผูกโกรธ อิจฉา ริษยา พูดโกหก ส่อเสียด เพ้อเจ้อ นินทา หยาบคาย หรือทำร้าย เอาเปรียบกัน สิ่งเหล่านี้คือที่มาของความเกลียดชัง ทำลายล้าง ทะเลาะเบาะแว้ง และเป็นภัย แห่งความสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นการทำลายมิตรให้กลายเป็นศัตรูด้วยความโง่เขลา ด้วยความ ประมาท ปกติมนุษย์ทุกคนได้เคยทำกรรมไว้ทั้งดีและไม่ดีจำนวนนับไม่ถ้วน ทุกคนล้วนมีบ่วง กรรมดีและชั่วอยู่ในตน เกี่ยวพันกับผู้อื่น กับสังคม และสภาพแวดล้อม คนที่ฉลาดจะเหนี่ยวนำ ผลกรรมดีมาใช้ และรีบสร้างกรรมดี ใหม่ ๆ ให้ยิ่งขึ้น ผู้ที่ไม่รู้ (ประมาท) จะมัวเหนี่ยวนำผล กรรม เลวมารัดรึงตนเอง แล้วโวยวายว่าทำไมชีวิตถึงเป็นเช่นนี้ เต็มไปด้วยปัญหา อุปสรรค ทุกข์ทรมาน นั่นเป็นเพราะไปเหนี่ยวนำกรรมเลวมาไว้มาก (โดยไม่รู้ตัว) นั่นเอง การเหนี่ยวนำ กรรมนั้นสามารถทำได้ ๓ วิธีคือ
    ๑. ตั้งใจไว้อย่างไรก็จะดึงผลกรรมอย่างนั้นมาสมทบ การตั้งใจเป็นตัวเหนี่ยว นำผลกรรมตัวแรก ดังพุทธดำรัสที่ว่า “ บุคคลที่ตั้งใจไว้ดีแล้ว กรรมดีเป็นอันมากย่อมตาม บุคคลนั้นมา เสมือนล้อเกวียนย่อมตามรอยเท้าโคกระนั้น บุคคลที่ตั้งใจไว้ชั่วแล้ว กรรมชั่วเป็น อันมากย่อมตามบุคคลนั้นมา เสมือนล้อเกวียนย่อมตามรอยเท้าโคกระนั้น ”
    ๒. ทำกรรมอย่างไรเป็นนิสัยก็จะเหนี่ยวนำผลกรรมอย่างนั้นมาเสริมการกระทำ จนเป็นนิสัยเป็นตัวเหนี่ยวนำผลกรรมตัวที่สอง เช่น บุคคลที่พูดมาก เพ้อเจ้อ ไร้สาระ เป็นนิสัย ย่อมดึงผลกรรมเกี่ยวกับวาจามาพัวพันจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ นินทา กระแนะกระแหนอยู่เนือง ๆ
    ๓. คบคนอย่างไรก็จะนำผลกรรมอย่างนั้นมาสนับสนุน การคบเพื่อนเป็นตัว เหนี่ยวนำกรรมประการที่สาม หากคบกัลยาณมิตร ก็จะชวนทำสิ่งที่ดี มีสำนึกดี นิสัยดี เหนี่ยว นำผลกรรมที่ดีมาให้กันและกัน หากคบเพื่อนเลว ชวนกันทำเลว ก็จะเหนี่ยวนำเอาแต่ สัญชาต ญาณเลว กรรมไม่ดีมาสาดใส่กันและกัน เมื่อคบเพื่อนชั่วอยู่นั้น แม้ทำดี บางครั้งก็ถูกกล่าวหา ว่าเลว ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่าง ๆ นานา เพราะเมื่อคบเพื่อนชั่ว กรรมชั่วในอดีตจะถูกดึง ออกมา ด้วยเหตุนี้บันไดขั้นแรกของการสร้างมงคลแห่งชีวิต พระศาสดาจึงตรัสสอนไว้ว่า “ จง อย่าซ่องสุมสมาคมกับคนพาล จงคบกับบัณฑิต ”
    กรรม ทั้งหลายทั้งดีและชั่วที่นอนนิ่งอยู่ในขันธสันดานของผู้กระทำและผู้ถูกกระ ทำ เมื่อถูกกระตุ้นหรือเหนี่ยวนำด้วยพลังเช่นไร กรรมเช่นนั้นจะออกมาสู่ชีวิตได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น หรืออาจจะทันที ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ คู่สามีภรรยา ซึ่งทุกคู่ล้วนมีกรรมดีและไม่ดีร่วมกันมา ถ้า เมื่อคนใดคนหนึ่งคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี จะดึงบ่วงกรรมไม่ดีมากมายออกมา ทำให้ความสัม พันธ์นั้นยุ่งยากเดือดร้อน แต่เมื่อใดคิดดีพูดดี ทำดีต่อกัน จะดึงเอาบ่วงกรรมที่ดีออกมาเสริม กัน จะเอื้ออาทร ปรารถนาดี มีความอบอุ่น มีความรักผูกพันกันมากขึ้น
    ดังนั้นในความสัมพันธ์หนึ่ง ๆ นั้น ลักษณะความสัมพันธ์จะเป็นเช่นไร อยู่ที่ว่าเรา ตั้งใจสร้างกรรมใหม่ร่วมกันอย่างไร เหนี่ยวนำผลกรรมใดออกมาสนับสนุนหรือบั่นทอน และ เลือกคบคนถูกหรือไม่ ความปกติหรือความผิดปกติในสัมพันธภาพ นอกจากมีผลต่อความสัม พันธ์แล้วยังมีผลต่อภาวะจิตใจ และมีผลต่อร่างกายด้วย เพราะใจและกายที่ยังไม่บริสุทธิ์นั้นยัง พัวพันด้วยบ่วงกรรมนับไม่ถ้วน ชีวิตที่ผิดปกตินั้นย่อมเต็มไปด้วยความไม่รู้ ความทุกข์ ความ เจ็บปวด อุปสรรคปัญหา ความผิดพลาดขาดพลังที่จะช่วยตนเอง หากสะสมไว้มาก ๆ จะนำไป สู่ความหายนะหรือวิกฤตต่าง ๆ ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงควรใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ฉลาด ที่จะเข้าใจกรรมอย่างถูกต้อง และรู้จักที่จะบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
    นอกจากรู้จักการเหนี่ยวนำผลกรรมที่ดีมาใช้แล้ว เราควรรู้จักบริหารจัดการกับ ผลกรรมเก่าและกรรมใหม่ เพื่อที่จะได้พัฒนาไปสู่การนำไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
    ๑. การมีสติ เผชิญผลกรรม แล้วใช้ปัญญา เมื่อถึงวาระรับกรรม หากเป็นผล กรรมดี ก็ไม่ลิงโลดตายใจ จะก่อให้เกิดความประมาทได้ ควรมีสติมั่นไว้ แล้วใช้ปัญญาบริหาร ผลกรรมดี เพื่อสรรสร้างกรรมดีใหม่สืบเนื่องต่อไปให้ยิ่งกว่าเดิมซึ่งเป็นการฉลาดที่จะ ใช้กรรม ดีอย่างได้กำไร หากเป็นผลกรรมเลว ก็อย่าท้อแท้ ตีโพยตีพาย เพราะจะทำให้ผลกรรมรัดตัว แน่นมากขึ้น เสมือนคนที่โดนพันด้วยลวดหนาม ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเจ็บตัว ทางที่ดีควรนิ่งเฉยแล้วมีสติ หาทางแก้ให้พบแล้วค่อย ๆ จัดการตามลำดับ ทุกปัญหาย่อมมีทางออกที่เหมาะสม หากเรา สุขุมรอบคอบ ใช้ปัญญา ย่อมหาทางออกได้เสมอ จงยอมรับความจริงที่ว่า เราสร้างเหตุอันใด ไว้ผลจึงออกมาเช่นนั้น รู้จักที่จะอดทน อดกลั้น ให้อภัย รู้จักที่จะมีสติ เป็นกลาง วางเฉย ไม่ ตอบโต้ไม่ต่อต้าน ไม่ต่อสู้ แต่ทำดีเรื่อยไป และพร้อมที่จะให้ ที่จะทำ ที่จะเสียสละ แบ่งปัน เริ่ม จากสิ่งที่มีเหลือใช้ เกินจำเป็น จนพัฒนาสู่สิ่งที่ประณีต ประเสริฐ กับผู้ที่เรารัก จนพัฒนาสู่ใคร ก็ได้ และทำได้แม้แต่กับผู้ที่คิดร้าย ทำร้ายเราได้ หากทำได้เช่นนี้ วันนั้นเราจะประจักษ์ ชัดถึง ปาฏิหาริย์แห่งชีวิตและพลังจิตตานุภาพ
    ๒. การอโหสิกรรม เป็นการตัดบ่วงกรรม กรรมที่ได้รับการให้อโหสิกรรมแล้ว เป็นโมฆะกรรม ย่อมไม่ให้ผลใด ๆ อีก สามารถทำด้วยการตั้งจิต แล้วสำนึกผิดต่อเจ้ากรรม นายเวรทั้งหลาย และจักสำรวมระวังไม่ให้ผิดพลาดขึ้นอีกรวมทั้งสามารถทำสิ่งที่ดีงามแล้วอุทิศ ผลบุญกุศลที่เกิดขึ้นให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย
    ๓. การก้าวล่วงกรรม บางกรณีเราได้ทำผิดมโนกรรมต่อตนเอง แล้วทุกข์อยู่ ด้วยตนเอง จงสำนึกผิด และไม่จมอยู่กับความไม่พึงพอใจ วิตกกังวลต่อการกระทำของตน ใน กรณีนี้ ให้ก้าวล่วงออกจากกรรมโดยอธิษฐานจิตให้แน่วแน่ว่า เราจะไม่กระทำอีกเป็นอันขาด กรรมนี้จะไม่เกิดขึ้นในใจของเราอีก
    ๔. การแทรกแซงกรรม กรรมแต่ละชนิดให้ผลไม่พร้อมเพรียงกัน ขึ้นอยู่กับ เจตนา ความตั้งใจ และความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกระทำ ดังนี้
    - กรรมหนัก (ครุกรรม) เช่น การเจริญฌานสมาบัติ การกระทำต่อพ่อ แม่ ผู้บริสุทธิ์ใจต่อลูก การกระทำต่ออริยบุคคล ผู้มีใจบริสุทธิ์ หรือกระทำต่อสังคม จะให้ผลทันทีที่ ได้กระทำและมีผลสืบเนื่องตลอดไป
    - กรรมที่ทำจนเป็นนิสัย (อาจิณกรรม) จะให้ผลเร็วรองลงมา สืบเนื่อง เท่าที่กรรมนี้ยังคงเป็นนิสัยอยู่
    - กรรมเบา (ลหุกรรม) จะให้ผลช้า และมีวาระรับผลกรรมสั้น
    - กรรมที่ทำโดยไม่ตั้งใจ (กตัตตากรรม) ได้แก่ อุบัติเหตุทั้งหลาย จะให้ ผลเมื่อกรรมประเภท อื่น ๆ อ่อนตัวแล้ว และมีความประมาทเป็นสาเหตุ
    เมื่อเราทราบว่า กรรมแต่ละประเภทให้ผลต่างกัน เราก็สามารถบริหารจัด การกรรมของเราให้สมควรได้ เช่น หากผลกรรมที่เรากำลังจะเผชิญในอนาคตอันใกล้ คือผล ของกรรมเลวจากกรรมเบา หรือจากกรรมที่ทำจนเป็นนิสัย เราก็สามารถแทรกแซงกลไก กรรม ได้ด้วยการสร้างครุกรรม ที่เกิดเป็นกุศลขึ้นมาได้ทันที กรรมอี่น ๆ ก็จะต้องถอยห่างออก ไป
    ๕. การคลายขันธ์ ใน การฝึกสมาธิ จะทำให้ร่างกายและจิตใจสงบระงับจะมี การปรับองค์ประกอบภายในขันธ์ใหม่ สิ่งผิดปกติต่าง ๆ ในขันธ์ทั้งห้าจะถูกขับออกไปจากกาย และจิตใจ ด้วยเป็นหลักธรรมดาของสรรพสิ่ง ถ้าถูกลดอุณหภูมิให้สงบเย็นลง องค์ประกอบภาย ในจะจัดเรียงตัวกันใหม่เป็นระเบียบมากขึ้น ยิ่งเย็นลงเท่าใดองค์ประกอบภายในจะมีความ เป็นระเบียบเท่านั้น ดังเช่นเหล็กเมื่อเป็นเหล็กธรรมดาโมเลกุลของมันจะไม่เป็นระเบียบ จะ เป็นเหล็กที่ด้อยอานุภาพ แต่เมื่อลดอุณหภูมิให้เย็นลงโมเลกุลจะเรียงตัวใหม่เป็น ระเบียบมาก ขึ้น ขณะที่โมเลกุลจัดเรียงตัวกันใหม่นั้น โมเลกุลประเภทเดียวกันจะเกาะรวมตัวเข้าหากัน โม เลกุลที่แปลกปลอมต่างพวกจะถูกเบียดออกจากกลุ่ม และเมื่อโมเลกุลของเหล็กทั้งหมดเรียง ตัวจน เป็นเนื้อเดียวกันดีแล้ว ก็จะมีอำนาจดึงดูดและเหนี่ยวนำกลายเป็นแม่เหล็ก ในทำนอง เดียวกัน หากจิตใจเร่าร้อนจะฟุ้งซ่าน ทุรนทุราย หากสงบเย็นลงจะนุ่มนวล มั่นคงจนนิ่งสนิท มี ความเบิกบานคงทน และมีอำนาจสูงทุกขณะที่กำลังสงบเย็นขึ้นตามลำดับ กรรมเลวอันเป็นสิ่ง ผิดปกติในร่างกายและจิตใจจะมลายไปพร้อมกับการคลายขันธ์ เพราะกรรมทั้งหลายสะสมอยู่ ในขันธ์ห้า เราก็จะสามารถรักษาปกติสุขแห่งร่างกายและจิตใจ และบำบัดสิ่งผิดปกติออกได้ จากขันธ์ห้าด้วยการคลายขันธ์ กรรมจะเบาบางลงขันธ์ก็จะสะอาดขึ้นโดยลำดับ
    ๖. การชำระจิตให้บริสุทธิ์ เป็น การพัฒนาและยกระดับจิตให้หลุดพ้นจากอำ นาจกรรม เมื่อทำลายอัตตา (ความเป็นตัวตน) แห่งอวิชชา (ความไม่รู้) ได้แล้ว ก็ไม่มีผู้กระทำ เมื่อไม่มีผู้กระทำก็ไม่ถูกกระทำ และไม่ต้องรับผลของกรรมใด ๆ (เป็นการอยู่เหนือกรรมของ อริยบุคคล กรรมจะส่งผลต่อรูป (กาย) เท่านั้น แต่จิตของท่านตัดขาดจากขันธ์แล้ว ไม่เสวย อาการของขันธ์)
    ๗. การหลบในฌานสมาบัติ เมื่อจิตเข้าสู่รูปฌาน อรูปฌาน ฌานสมาบัตนิ
    ิโรธสมาบัติ ร่างกายจะลดการใช้พลังงานลงมาก จนเกือบไม่ได้ใช้เลย ซึ่งเป็นการระงับกลไก การเสวยวิบากกรรมไปชั่วระยะเวลาที่เข้าสู่ฌานสมาบัติ ธรรมดาผลกรรมทั้งหลายจะเข้ามา เป็น วาระ เมื่อหมดเวลาแล้วก็จะต้องผ่านไป นอกจากวิบากกรรมตามวาระไม่ส่งผลหรือส่งผล น้อยมากแล้วการเข้าฌานสมาบัติยังเป็นการสร้างกรรมใหม่อันยอดเยี่ยมให้เกิด ขึ้นอีกด้วย
    ๘. การนำหลักอริยสัจสี่มาปฏิบัติ
    ทุกข์ : เปรียบได้กับอุปสรรค ปัญหาหรือ ภารกิจ งานที่ได้รับมอบ หน้าที่
    ต่อทุกข์คือ กำหนดรู้ ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง มองเห็นความหมายและขอบเขตชัดเจน เพื่อ ดำเนินการต่อไป
    สมุทัย : หาสาเหตุและวิเคราะห์ถึงต้นเหตุแห่งปัญหาข้อขัดข้อง หรือที่มา ของภารกิจ เช่น ทำอะไร เพื่ออะไร หน้าที่ต่อสมุทัยคือ ละ ทำให้หมดไป
    นิโรธ : คือ ความดับทุกข์ ภาวะที่ไม่มีความทุกข์ หรือไม่มีอุปสรรค ไม่มี ปัญหาเหลืออยู่ บรรลุภารกิจที่ได้รับมอบ หน้าที่ต่อนิโรธคือ ทำให้รู้จริง ทำให้สำเร็จ
    มรรค : หาหนทางไปสู่การแก้ปัญหา ไปสู่การบรรลุภารกิจ ไปสู่การดับทุกข์ ที่ดีที่สุด หน้าที่ต่อมรรคคือฝึกและปฏิบัติหนทางที่นำไปสู่ความดับทุกข์ มรรคมีองค์ ๘ ประการ คือสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (วาจาชอบ) สัมมา กัมมันตะ (การกระทำชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (ความเพียร ชอบ) สัมมาสติ (ความระลึกรู้ชอบ) และ สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)เมื่อรู้วิธีการที่ดีที่สุดแม้ลงมือ ด้วยความรอบคอบไม่ประมาทใช้สติปัญญากำกับแล้วก็ตาม ในชีวิตจริงมีหลายเหตุปัจจัยที่ตัว เราไม่สามารถควบคุมกำหนดได้ ย่อมมีข้อผิดพลาดบกพร่องได้ ให้รวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ บทเรียนที่ได้รับเก็บรวบรวมไว้ เพื่อพัฒนาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
    ๙. การบริหารกรรมใหม่ ด้วยการสร้างมงคลแห่งชีวิต ๓๘ ประการ ได้แก่การ ไม่คบคนพาล การสมาคมกับคนดี อยู่ในสถานที่อันสมควร ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ เลี้ยงดูบิดา มารดาสงเคราะห์บุตรภรรยา การไม่ทำบาป การทำงานที่ไม่เป็นโทษ มีความเคารพอ่อนน้อม กตัญญู ฟังธรรมสนทนาธรรมโดยสมควร ประพฤติพรหมจรรย์ การเห็นแจ้งในอริยสัจ เป็นต้น การบริหารกรรมใหม่ด้วยการรักษาศีล ฝึกสมาธิ พัฒนาปัญญา ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เราคิด เริ่มด้วยการมีศรัทธาที่เชื่อมั่นในวิธีการที่ถูกต้อง เชื่อมั่นในครูอาจารย์ เชื่อมั่นในตนเองว่า สามารถทำได้ เช่นเดียวกับครูอาจารย์ อริยบุคคลทั้งหลาย เมื่อรู้วิธีการที่ถูกต้อง เหมาะกับจริต ของตน รวมทั้งมีกัลยาณมิตร ครูอาจารย์ที่เคยฝึกปฏิบัติช่วยแนะนำประคับประคองก็จะไม่หลง ทางเสียเวลา รวมทั้งมีความตั้งใจ มุ่งมั่น ด้วยความเพียรพยายาม ความสำเร็จก็จะบังเกิดขึ้น แน่นอน
    หากเราลองพิจารณาด้วยปัญญา ด้วยเหตุผลและความเป็นไปได้ ลองเปิดใจ กว้างที่จะศรัทธาในตนเอง ศรัทธาในวิธีการคำสอนของครูอาจารย์ พระพุทธศาสนาคงจะอยู่มา ไม่ได้ กว่า ๒ , ๕๐๐ ปี หากคำสอนของพระพุทธองค์ไม่เป็นจริง แต่หากเรายังมีเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น ไม่มีเวลา ยังไม่ถึงเวลา ไม่มีกำลัง คงไม่มีบุญวาสนาพอ หรืออยู่อย่างนี้ก็ดีอยู่แล้ว จะดิ้นรน เพียรพยายามทำไม โดยไม่พร้อมที่จะพิสูจน์ปฏิบัติด้วยการบริหารจัดการกรรม โดย การรู้จักการ เหนี่ยวนำกรรม ๓ วิธี แล้วนำไปใช้ประกอบกับการบริหารจัดการผลกรรมเก่า และ กรรมใหม่ ๙ ประการ ดังกล่าวข้างต้น ก็ขอให้ลองเชื่อในกฎแห่งกรรมดู ไม่จำเป็นต้องเต็มร้อย เมื่อเราเชื่อในกฎแห่งกรรมมากเท่าใด ความละอายต่อความชั่ว เกรงกลัวต่อบาปก็จะมีมาก เท่านั้น และเมื่อลองพิจารณาทุกสิ่งให้เห็นทั้งสองด้าน ทั้งด้านบวกและด้านลบทั้งในส่วนดี และ ข้อเสีย ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์และโทษ...ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยความเป็นกลาง ปราศจาก การปรุงแต่ง เราจะเห็นว่าชีวิตแฝงไว้ด้วยทุกข์ โทษ ภัย ชัดเจนขึ้น เมื่อนั้นเราจะเริ่มเบื่อหน่าย คลายกำหนัดยินดีในการเวียนว่ายตายเกิด และพร้อมจะพัฒนาชีวิตและพร้อมจะปล่อยวางการ ยึดมั่นทั้งหลายลงได้มากขึ้น เพียงแค่ลองเชื่อดูก็เกิดประโยชน์อย่างมากได้เช่นกัน
    ในระหว่างทางเดินในการบริหารและจัดการกรรม เราจะค้นพบความยิ่งใหญ่ ของตนเอง ความมหัศจรรย์ทางจิต และปาฏิหาริย์แห่งการตื่นรู้และเบิกบาน ด้วยความสงบสุข ซึ่งอยู่เหนือสุขทั้งปวง ที่เรียกว่า บรมสุข ท่านเลือกเอาเถิดว่าจะกระทำเช่นไรต่อไป
    โดยสรุป เราลิขิตชีวิตตัวเราเองได้ องค์ประกอบหลักของชีวิตมีกายกับใจ มีจิต เป็นนายและรับรู้ทุกสิ่ง หากเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์ และฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีสติรู้ตัวทั่ว พร้อมโดยสมบูรณ์ไม่พลั้งเผลอ เป็นกลางอยู่กับปัจจุบัน จะเกิดปัญญา รู้เท่าทันสิ่งเร้าทั้งหลาย ที่มากระทบ รู้ทุกสิ่งชัดตรงตามจริง เข้าใจและเข้าถึงกฎแห่งกรรมและสัจธรรม โดยพร้อมจะ ปล่อยวางทุกสิ่ง เป็นอิสระจากพันธนาการทั้งปวง ไม่ว่ากิเลสตัณหา อวิชชา และอุปาทาน ความ ยึดมั่นทั้งหลายพร้อมจะพัฒนาชีวิตและจิตใจไปสู่ความประเสริฐที่สุด โดยปราศจากความลังเล สงสัย อยู่เหนือสมมติบัญญัติและกฎเกณฑ์ทั้งปวง ประจักษ์ชัดในกฎแห่งพระไตรลักษณ์ ที่ทุก สิ่งล้วนไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ทุกสิ่งเป็นทุกข์ เจือไปด้วยทุกข์ และไม่ควรยึดมั่น ถือมั่นเป็นตัวเราของเรา มนุษย์เป็นผู้สร้างกรรม มีกรรมเป็นของตน มนุษย์ผู้สร้างกรรมย่อม มีอำนาจเหนือกรรมที่ตนเองสร้าง เราสามารถทำกรรมใหม่ได้ตลอดเวลาสามารถเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงชะตากรรมของตนได้ มิได้เกิดมาเพื่อใช้กรรม หรือตกเป็นทาสของกรรม แล้วปล่อย ชีวิตไปตามยถากรรม แต่เราเกิดมาเพื่อบริหารกรรม เราสามารถลิขิตและพัฒนาชีวิตของตน ให้งดงามและประเสริฐที่สุดได้ โดยฉลาดที่จะเหนี่ยวนำผลกรรมดีมาใช้ แล้วรีบสร้าง กรรมดี ใหม่ให้ดียิ่งขึ้น ฉลาดในการเลือกกระทำเลือกสนองตอบ โดยมีปฏิภาคสัมพันธ์อย่างเหมาะสม ต่อสรรพสิ่ง ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ฉลาดที่จะเข้าใจกรรมอย่างถูกต้อง และรู้จักที่จะ บริหารและจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
    บทความนี้เขียนด้วยความรักความปรารถนาดี และจากใจจริงหวังไว้ว่าจะสะกิด ใจจุดประกายไฟและท้าทายผู้อ่าน ให้ลองพิสูจน์หาคำตอบทดลองบริหารและ จัดการกรรมดู อยากจะถ่ายทอดบางอย่างที่ต้องใช้เวลานานมากในการทดลองพิสูจน์มาเกือบ ๒๐ ปี เพื่อท่าน ผู้อ่านทั้งหลายจะได้ไม่เสียเวลามากอย่างผู้เขียน ซึ่งเคยไม่เชื่อเคยโง่เคยเหลวไหลในหลาย เรื่อง ตั้งอยู่บนความประมาทและเคยใกล้เกลือกินด่างล้มลุกคลุกคลานเหมือนเด็กหัด เดินลอง ผิดลองถูกมาหลายวิธี โชคดีที่ล้มแล้วลุก โชคดีที่ท้อแต่ไม่ถอย โชคดีที่มีครูอาจารย์และ กัลยาณมิตรช่วยประคับประคอง โชคดีที่เปิดใจกว้าง ที่แม้ไม่เชื่อแต่ก็ลองพิสูจน์ด้วยตนเองทุก วันนี้ก็ยังไม่รู้ในหลายเรื่องและมีอะไรที่ยังไม่ดีอยู่ แต่โชคดีที่เห็นความโง่และความเลวของตน เองชัดเจน แล้วพอที่จะรู้ว่าควรจะพัฒนาบริหารและจัดการมันอย่างไร และโชคดีที่เห็นความดี งามและเห็นประโยชน์ของทุกสิ่ง ทุกชีวิตชัดเจนขึ้น
    ดังนั้นความรู้ที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือรู้จักตนเองควบคุมตนเองได้เพื่อบริหารจัดการ กรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

    ที่มา : นาวิกศาสตร์ ISSN 0125-4324 ปีที่ 91 ฉบับที่ 11

  2. #2
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา
    Mr.Reception
    สัญลักษณ์ของ คนตระการ...
    วันที่สมัคร
    Feb 2008
    กระทู้
    4,209

    Re: กรรม : บริหารและจัดการได้

    อ้าบถึง กรรม : บริหารและจัดการได้


    ได้ยินแต่เพิ่นว่าตามเวร ตามกรรม เนาะ...

  3. #3
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ ไทสกลฯ
    วันที่สมัคร
    Jun 2009
    กระทู้
    217
    ขอบคุณครับ สุดยอดและลึกซึ้ง เป็นคำสอนที่สนับสนุนได้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ความจริงบางอย่าง วิทยาศาตร์ยังค้นไม่พบ

  4. #4
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197
    ขอบคุณมากๆ นะคะ สำหรับสาระที่ดีๆ มอบให้แก่กันค่ะ
    ลึกซึ้งมากนะคะ
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •