วัดระฆังโฆสิตาราม


วัดสำคัญในประเทศไทย ๒


วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร (วัดระฆัง) เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับท่าช้าง เดิมชื่อ วัดบางหว้าใหญ่ คู่กับ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงนิมนต์ พระอาจารย์สี ที่หนีทหารพม่าไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ให้รวบรวมพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราช แล้วกลับขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหว้าใหญ่ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราช (สี) ให้ชุมนุมพระสงฆ์เพื่อทำสังคายนาพระไตรปิฏกกันที่นี่จนแล้วเสร็จด้วย

ในรัชสมัยนี้เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็น พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกฝ่ายขวา ได้รับพระบรมราชโองการจากสมเด็จพระเจ้าตากสินให้นำกองทัพไปตีเมืองโคราช พระราชวรินทร์จึงรื้อบ้านส่วนหนึ่งของตนที่ปลูกอยู่ข้างๆ พระราชวัง เอามาถวายวัดบางหว้าใหญ่

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ มีพระราชประสงค์จะปฏิสังขรณ์พระตำหนักที่ทรงรื้อมาถวายให้วัดบางหว้าใหญ่เมื่อสมัยก่อน แล้วเปลี่ยนให้เป็นหอพระไตรปิฎกแทน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระขึ้นสระหนึ่งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระอุโบสถซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้มีการขุดพบระฆังโบราณใบใหญ่ มีเสียงดังไพเราะยิ่งนัก แล้วรับสั่งให้รื้อพระตำหนักนั้นมาปลูกลงในสระ เป็นรูปเรือน 3 หลังแฝด เพื่อเป็นที่ประดิษฐานตู้พระไตรปิฎก เรียกกันว่า ตำหนักจันทน์ เพราะปลูกต้นจันทน์ไว้รอบสระ 8 ต้น

สำหรับระฆังใบโตที่เสียงดีใบนั้น ทรงขอไปเก็บไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วทรงสร้างหอระฆังพร้อมกับระฆังอีก 5 ลูก พระราชทานไว้แทน ด้วยเหตุนี้จึงเปลี่ยนชื่อเรียกวัดบางหว้าใหญ่มาเป็น วัดระฆัง จนกระทั่งในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า วัดคัณฑิการาม ("คัณฑิ" แปลว่า "ระฆัง") แต่ชาวบ้านไม่นิยม จึงยังคงเรียกว่าวัดระฆังกันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นอีกครั้ง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (สี) แห่งวัดระฆังก็ทรงเป็นประธานในการทำสังคายนาจนเสร็จเรียบร้อยอีกเช่นกัน

พระสงฆ์อีกหนึ่งรูปที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวัดระฆังไปแล้ว นั่นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะและเจ้าอาวาสวัดระฆังเป็นเวลาหลายสิบปี ท่านรอบรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยและธรรมปฏิบัติ มีความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม นอกจากนั้นยังเปี่ยมไปด้วยจิตเมตตากรุณาแก่ผู้ตกยาก มีอัธยาศัย มักน้อย สันโดษ จึงเป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงยำเกรง โดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเลื่อมใสศรัทธา
ในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอย่างมาก


วัดสำคัญในประเทศไทย ๒


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นี้เองที่เป็นผู้เรียบเรียง พระคาถาชินบัญชร ซึ่งเป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวก และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ให้เสด็จมาช่วยปกป้องคุ้มครองรอบกายของผู้สวดภาวนา จึงได้รับการยกย่องให้เป็นพระคาถาวิเศษ มีผู้ยึดถือสวดกันทั่วประเทศ นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้สร้างพระเครื่ององค์เล็กๆ สำหรับคล้องคอ แจกจ่ายให้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหา โดยพระเครื่องเหล่านั้นเรียกกันว่า พระสมเด็จวัดระฆัง ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นสุดยอดพระบูชาอันดับหนึ่ง เป็นที่ต้องการของนักสะสมพระเครื่องมากที่สุด องค์ที่สภาพสมบูรณ์สวยงาม มีราคาหลายล้านบาท



วัดสำคัญในประเทศไทย ๒


ปัจจุบันสิ่งสำคัญในวัดได้แก่ พระอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระประธาน เรียกกันว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช (รัชกาลที่ 5) เคยตรัสไว้ว่า "ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที..." ทั้งนี้เป็นเพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูปมีความอ่อนโยนและเมตตา คล้ายกับกำลังยิ้มอยู่

หอพระไตรปิฎก หรือตำหนักจันทน์ ฝาผนังด้านนอกทาสีดินแดง ด้านในเขียนภาพฝีมืออาจารย์นาค เป็นภาพแสดงวิถีชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น บานประตูตกแต่งด้วยการเขียนลายรดน้ำและแกะสลักอย่างงดงาม ภายในประดิษฐานตู้พระไตรปิฏกลายรดน้ำขนาดใหญ่ฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา

วิหารสมเด็จ มี 2 หลังอยู่ด้านหน้าของพระอุโบสถ หลังซ้ายคือ วิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ภายในประดิษฐานรูปปั้นของสมเด็จพระสังฆราช (สี) ซึ่งทรงเป็นพระสังฆราชพระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นผู้ทรงมีพระคุณต่อวัดระฆังอย่างสูง หลังขวามือคือ วิหารที่ประดิษฐานรูปปั้นของ 3 สมเด็จ ประกอบด้วย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ทั้ง 3 รูปเป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในอดีตซึ่งจำพรรษาที่วัดระฆัง และทำคุณประโยชน์ให้กับวัดไว้อย่างมากมาย

เนื่องจากวัดระฆังโฆสิตารามตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ท่าน้ำของวัดจึงเป็นสถานที่ปล่อยนก ปลา สัตว์น้ำ และให้อาหารปลา ตามความเชื่อเรื่องการทำบุญและสะเดาะเคราะห์ โดยตลอดทางเดินจากวัดไปสู่ท่าน้ำจะมีแผงขายสัตว์ เช่น ปลาไหล หอยขม เต่า นก ฯลฯ ให้เลือกซื้อพร้อมเคล็ดวิธีในการสะเดาะเคราะห์ด้วย



วัดสำคัญในประเทศไทย ๒





ที่ตั้ง

250 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700

โทรศัพท์0-2411-2255, 0-2418-2729

เปิด- ปิด ทุกวัน เวลา 6.00 - 18.00 น.

รถเมล์ที่ผ่าน

สาย 19, 57, 83

ทางเรือ

- เรือด่วนเจ้าพระยา : ท่าวังหลัง
- เรือข้ามฟาก : ท่าช้าง - วัดระฆัง, ท่าพระจันทร์ - วังหลัง

สถานที่ใกล้เคียง
ป้อมวิชัยประสิทธิ์, พระราชวังเดิม, พิพิธภัณฑ์ฯ เรือราชพิธี, พิพิธภัณฑ์ศิริราช, วัดเครือวัลย์, วัดสุวรรณาราม, วัดอรุณราชวราราม, วังหลัง, โรงพยาบาลศิริราช, พรานนก, สะพานอรุณอัมรินทร์, กรมอู่ทหารเรือ