วิธีปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ ตามแนวพุทธ




นายแพทย์เอกชัย จุละจาริตต์

ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาด้านสุขภาพกายและมีปัญหาต่าง ๆ รอบด้าน ตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล.

ครั้นคนกลุ่มนี้ไม่สามารถบริหารความคิดหรือควบคุมความคิดของตนเองได้ ก็มักจะคิดเรื่องที่ตนไม่สบายใจซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงเป็นผลให้เกิดความกังวล เครียด เป็นทุกข์ทางร่างกายที่มาจากจิตใจ
หรือมีสุขภาพจิตที่ไม่ดีไปด้วย และบางคนคิดไม่ดีหรือคิดในทางลบ ก็อาจก่อให้เกิดการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ที่สร้างปัญหาให้กับตนเอง ผู้อื่น ครอบครัว และสังคมก็ได้.

ขณะเดียวกันผู้ใกล้ชิด ญาติ ผู้ดูแล ผู้รับผิดชอบ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้ ก็อาจมีความกังวล เครียด หรือคิดไม่ดีจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ และก่อให้เกิดความทุกข์ได้เช่นเดียวกัน.

บทความเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ รวมทั้งวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างง่าย ๆ เพื่อให้ท่านคิดดี พูดดี และทำดี ซึ่งจะเป็นผลให้สามารถส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิตของตนเองให้มีสุขภาพจิตดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในยามปรกติ ป่วย พิการ พลัดพราก ผิดหวัง หรือในยามที่ต้องดูแล และรับผิดชอบกลุ่มบุคคลดังกล่าวแล้ว.



หลักธรรมในอริยสัจ ๔

อริยสัจ ๔ ประกอบด้วยเรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.
พระพุทธเจ้าทรงเกิดขึ้นจากการตรัสรู้เรื่องอริยสัจ ๔ และหลังการตรัสรู้แล้ว ทรงตรัสสอนเรื่องอริยสัจ ๔ เป็นหลัก.

ขอให้กำลังใจแก่ท่านผู้อ่านว่า การทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส ณ ปัจจุบันชาตินี้ เป็นเรื่องใกล้ตัว. คนทั่วไปที่เข้าใจหลักธรรมเรื่องอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ก็จะสามารถเข้าถึงภาวะของจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสได้ ณ ปัจจุบันขณะนี่เอง.

อริยสัจ ๔ เป็นความจริงอันประเสริฐที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้โดยง่าย ถ้าตั้งใจศึกษาโดยการค้นหาข้อเท็จจริง และวิธีค้นหาข้อเท็จจริงนั้น ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ กล่าวคือ ต้องตรวจสอบเนื้อหาว่า เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็เป็นข้อเท็จจริงของชีวิต. ขณะเดียวกันต้องพิสูจน์โดยการนำไปสู่ภาคปฏิบัติว่า สามารถทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสได้จริงหรือไม่ ถ้าสามารถทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ ก็ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ควรแก่การศึกษาและปฏิบัติต่อไปชั่วชีวิต.

ต่อจากนี้ไป ขอให้ท่านผู้อ่านได้โปรดตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยไม่ต้องหลงเชื่อผู้เขียนเพื่อเข้าถึงอริยสัจ ๔ หรือเพื่อให้รู้แจ้งชัดในเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง.




พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และในวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยสรุป คือ ทรงให้ คิดดี ทำดี เพื่อความเจริญ มั่นคง และผาสุกของแต่ละบุคคลและประเทศชาติ พร้อมทั้งให้มีความสามัคคีเพื่อเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย.

ความสามัคคีในชาติจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการคิดดีทำดี. ในทางตรงกันข้าม การแตกความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการคิดไม่ดีทำไม่ดีต่อกัน ซึ่งเป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ของชาติบ้านเมืองในทุกวันนี้.

พระราชดำรัสเช่นนี้เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนพึงนำไปสู่ภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อสนองพระราชดำรัสโดยตรง อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติอย่างมากมาย.

บทความในเรื่องนี้ เป็นวิธีหนึ่งของการปฏิบัติธรรมเพื่อสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรงด้วย.


กุศลและอกุศล

ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาในเรื่องอริยสัจ ๔ นั้น ท่านผู้อ่านควรรู้จักความหมายของคำว่า กุศลและอกุศลเสียก่อน เพราะเป็นคำที่ต้องใช้ตลอดเวลาของการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมตามแนวพุทธ.

กุศล คือ ความคิด คำพูด และการกระทำต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและหรือผู้อื่น.

อกุศล คือ ความคิด คำพูด และการกระทำต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น.

การคิดแต่กุศลจึงทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส มีความสุขสงบ ซึ่งเป็นผลให้เกิดการพูดดี ทำดี จึงเป็นบุคคลที่ประเสริฐ. ในทางตรงกันข้าม การคิดอกุศลจะทำให้จิตใจสกปรก ขุ่นมัว เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นผลให้เกิดการพูดไม่ดี ทำไม่ดี จึงเป็นคนไม่ดี.

เรื่องของพระพุทธศาสนานั้น มีหลักการปฏิบัติที่สำคัญอย่างตรงประเด็นและง่าย ๆ คือ ให้มีความเพียรในการศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกมีสติบริหารจิตใจให้คิดแต่กุศล เพื่อจะได้พูดดี ทำดี รวมทั้งทำจิตใจของตนให้มีความบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง.




ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ก็คือโรคทางใจ

พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้โดยสรุปว่า มนุษย์มี ๒ โรค คือ โรคทางร่างกายและโรคทางจิตใจ. พระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่มีโรคทางจิตใจ เพราะพระอรหันต์มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระอรหันต์มีสติไม่คิดอกุศล(ไม่คิดชั่ว)และไม่ทำอกุศล คงคิดแต่กุศล(คิดดี)และทำแต่กุศล(ทำดี)อย่างต่อเนื่อง.

ดังนั้น พระอรหันต์จึงไม่มีความทุกข์ทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากการคิดอกุศล และไม่มีความทุกข์ทางร่างกายที่เกิดจากการคิดอกุศล. ดังนั้น จิตใจของพระอรหันต์จึงมีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส.

เป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรม คือ การทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใสนั่นเอง และทุกวินาทีที่จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ความทุกข์จากการคิดอกุศลก็จะไม่เกิดขึ้น.

การจะฝึกปฏิบัติธรรมนั้น ควรมีความรู้เรื่องความทุกข์เสียก่อน เพื่อที่จะได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมสำหรับการดับทุกข์ได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น.
ความทุกข์ในความหมายทั่วไป คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ.
ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับจิตใจและร่างกายที่สืบเนื่องมาจากความคิดหรือการกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นอกุศล.


ทุกข์ในอริยสัจ ๔

ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ตามพระไตรปิฎกมี ๕ แบบ ผู้เขียนย่อลงมาเป็น ๓ แบบ เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจและจดจำ ดังนี้ :-

แบบที่ ๑. ความทุกข์ภายในจิตใจ. ความทุกข์ภายในจิตใจ คือ ความไม่สบายใจที่มากกว่าปรกติ เช่น ขณะที่จิตใจมีภาวะกังวล เครียด หวั่นไหว กลัว พรั่นพรึง กลุ้มใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง ซึมเศร้า สับสน ห่อเหี่ยว ท้อแท้ เบื่อหน่าย น้อยใจ เสียใจ อิจฉา ริษยา ขัดเคือง โกรธ แค้นเคือง พยาบาท รวมทั้งความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจในเรื่องต่าง ๆ ที่มากเกินควร เป็นต้น.

แบบที่ ๒. ความทุกข์ทางจิตใจที่แสดงอาการออกมาภายนอก. ความทุกข์ทางจิตใจที่มากขึ้น อาจเป็นผลให้มีการแสดงออกมาทางกิริยาอาการและคำพูด เช่น มีอาการกระสับกระส่าย ร้องไห้ คร่ำครวญ รำพึงรำพัน พูดเพ้อเจ้อ สับสน ดุดัน หน้านิ่วคิ้วขมวด กลัว เศร้าสร้อย ก้าวร้าว ทำลายสิ่งของ ทำร้ายตนเอง ฉ้อโกง โกงกิน กินตามน้ำ ทำลายชื่อเสียงของผู้อื่น แย่งชิงตำแหน่ง แย่งชิงทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้อื่น เยินยอ ประจบประแจง สอพลอ โกหก ให้สินบน พูดชั่ว ทำชั่วต่าง ๆ นานา เป็นต้น.

แบบที่ ๓. ความทุกข์ทางร่างกายและโรคต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาจากการมีความทุกข์ทางจิตใจ. ความทุกข์ทางจิตใจที่รุนแรงหรือเรื้อรัง จะทำให้เกิดความทุกข์ทางร่างกายและโรคต่าง ๆ ได้ เช่น เกิดอาการมึนงง ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องผูก ลำไส้ใหญ่อักเสบ ถ่ายบ่อย เป็นเบาหวานรุนแรงขึ้น ร่างกายผ่ายผอม นอนไม่หลับ หมดแรง ปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ ข้ออักเสบ ภูมิต้านทานลดลง ติดเชื้อง่าย ภูมิแพ้ ร่างกายอ่อนแอ หายป่วยช้า ผมร่วง ใจสั่น หายใจไม่เต็มอิ่ม วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม เจ็บที่หัวใจ หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบตันหรือแตก อัมพาต โรคหัวใจ มะเร็ง ปวดประจำเดือน ประจำเดือนผิดปรกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคประสาท โรคจิต เป็นต้น.

เนื่องจากร่างกายและจิตใจถูกควบคุมด้วยการทำงานของสมอง. ดังนั้น ขณะที่สมองคิดในเรื่องที่เป็นทุกข์ จิตใจก็จะเป็นทุกข์ และร่างกายก็จะทำงานผิดปรกติไปด้วย จึงเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทางร่างกายหรือเกิดการเจ็บป่วยทางร่างกายได้ เพราะธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเอง.

คนที่มีความทุกข์ทางจิตใจเพิ่มขึ้นในขณะที่มีโรคทางร่างกายและจิตใจอยู่แล้ว จะทำให้หายได้ยาก และอาจซ้ำเติมโรคที่เป็นอยู่แล้ว ให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งเกิดโรคใหม่มาแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย.

ความทุกข์ทางร่างกายที่แสดงออกมานั้น เกิดจากช่วงนั้น กำลังมีความทุกข์ทางจิตใจ เมื่อความทุกข์ทางจิตใจหมดไป ความทุกข์ทางร่างกายก็จะหมดไปด้วย หรือค่อย ๆ หายไป.

สำหรับการเจ็บป่วยทางร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เช่น เป็นแผลในกระเพาะ ข้ออักเสบ ภูมิแพ้ ก็จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการรักษาทั้งทางร่างกาย(ทางโลก)และทางจิตใจ(ทางธรรม)ควบคู่กันไป.



สาเหตุของความทุกข์

สาเหตุของความทุกข์ในอริยสัจ ๔ นั้นเป็นเรื่องง่าย ๆ คนทั่วไปสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่า มีสาเหตุมาจากการคิดอกุศล(คิดชั่ว).

เพราะขณะที่คิดอกุศลอยู่นั้น จิตใจจะสกปรก ขุ่นมัว เป็นทุกข์ไปตามความรุนแรงของความคิด และเพราะคิดอกุศลนี้เอง การกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ จึงเป็นอกุศล(ทำชั่ว) ที่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น.

การหยุดความคิดและควบคุมความคิดไม่ให้คิดอกุศลได้นั้น ย่อมทำให้สามารถพ้นจากความทุกข์และการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นอกุศลต่าง ๆ ได้อย่างตรงประเด็น.

การจะมีความรู้และความสามารถในการบริหารตนเองให้คิดแต่กุศล(คิดดี)ได้นั้น ต้องมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ และมีความสามารถในการปฏิบัติธรรมด้วยการหยุดความคิด(เจริญสมาธิ)และควบคุมความคิด(เจริญสติ)ให้คิดแต่กุศลในชีวิตประวันนั่นเอง.



ความดับทุกข์

ความดับทุกข์ เกิดจากภาวะของจิตใจในขณะนั้นมีความบริสุทธิ์ผ่องใส เพราะกำลังคิดแต่กุศลหรือคิดดี พูดดี ทำดี นั่นเอง.

พระอรหันต์ คือ บุคคลที่มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง จึงพ้นจากความทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดจากการคิดอกุศล.

การมีสติใช้ความรู้ในเรื่องอริยสัจ ๔ และมีความสามารถในการปฏิบัติธรรมจนสามารถดูแลจิตใจของตนเองให้คิดแต่กุศล ย่อมทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส คือ ความดับทุกข์ในพระพุทธศาสนา.

ความดับทุกข์ในชีวิตประจำวันตามหลักอริยสัจ ๔ นั้น เป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ต้องรอชาติหน้า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ขอเพียงแค่พยายามศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ ให้รู้แจ้งชัดตามความเป็นจริง พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อดูแลจิตใจของตนเองให้คิดแต่กุศลหรือคิดดีทำดีจนเป็นนิสัย.



มรรคหรือวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

มรรค คือ ข้อปฏิบัติเพื่อทำให้เข้าถึงความดับทุกข์ หรือทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส.
ขอให้ท่านผู้อ่านได้โปรดฝึกปฏิบัติธรรมตามวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันไปทีละขั้นตอน พร้อมทั้งพิสูจน์ด้วยตนเองว่า สามารถทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสได้จริงหรือไม่ โดยไม่ข้ามขั้นตอน.

ความสำเร็จจะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับศรัทธาและความเพียรของแต่ละท่าน. ถึงวันนี้จะฝึกได้ดีหรือไม่ดีก็ตาม ท่านก็ต้องฝึกไปชั่วชีวิต.




วิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันขั้นที่ ๑

การฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันนั้น มี ๓ ตอน.
ตอนที่ ๑. การฝึกมีสติหยุดความคิด.
ตอนที่ ๒. การฝึกมีสติควบคุมความคิด.
ตอนที่ ๓. ฝึกบริหารความคิดในชีวิตประจำวัน.


ตอนที่ ๑. วิธีฝึกหยุดความคิด ในการฝึกครั้งแรกนี้ เป็นวิธีการที่คนทั่วไปสามารถเริ่มต้นฝึกได้โดยง่าย.
ท่านที่เคยฝึกหยุดความคิดหรือฝึกเจริญสมาธิวิธีใดมาก่อน และประสงค์จะฝึกวิธีเดิมก็ได้ แต่ถ้าจะเปิดวิสัยทัศน์โดยการทดลองฝึกตามที่ผู้เขียนนำเสนอเป็นการชั่วคราวก็จะเป็นการดี.

เมื่อท่านเข้าใจหลักการของการฝึกเจริญสมาธิตามสมควรแล้ว ท่านจะเลือกฝึกวิธีไหนก็ได้.

ท่านควรฝึกในท่านั่งบนเก้าอี้ หรือนอนก็ได้ตามความเหมาะสม. เริ่มต้นด้วยการตั้งเจตนาว่า ต่อจากนี้ไปเราจะพยายามมีสติควบคุมจิตใจของเราให้อยู่กับความว่างหรือไม่คิดเรื่องอื่นใดเลย โดยการกำหนดความว่างไว้ที่เบื้องหน้าก็ได้. การตั้งเจตนาเช่นนี้ จะทำให้สมองคอยควบคุมความคิดไม่ให้คิดปรุงแต่ง เพราะธรรมชาติของสมองเป็นเช่นนั้นเอง.

ขณะฝึกอยู่นั้น จะมีความคิดแวบขึ้นมาเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นการทำงานของสมองที่ปรกติ. เมื่อมีความคิดแวบขึ้นมาและเป็นเรื่องที่ไม่รีบด่วน ก็พยายามอย่าคิดเสริมต่อ เพราะถ้าเผลอสติไปคิดเสริมต่อก็จะเป็นการคิดฟุ้งซ่าน.

ให้พยายามมีสติหยุดความคิดประมาณ ๑