ผักบุ้ง (Ipomoea aquatica Forsk.)
ผักบุ้ง หรือผักทอดยอด เป็นพืชล้มลุกวงศ์เดียวกับมันเทศ เป็นพืชผักพื้นเมืองที่คนไทยรู้จักคุ้นเคย และใช้บริโภคกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำจืดต่างๆ ตามที่ชื้นแฉะ ในนาข้าว ตามสวน หรือแม้แต่ที่รกร้าง ผักบุ้งมี ลำต้นกลมกลวง มียางสีขาว เห็นข้อปล้องอย่างชัดเจน มีรากออกตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านยาว เรียงสลับ ใบมีรูปร่างแตกต่างกันไปหลายแบบ เช่น แบบรูปไข่ แบบรูปหัวลูกศร ช่อดอกออกตรงซอกใบช่อละ ๑ - ๓ ดอก ดอกเป็นรูปกรวยสีขาว หรือชมพูอ่อนแกมม่วงและมีแฉกรูปดาวสีม่วงตรงกลางดอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๔ - ๕ ซม. ผลรูปไข่หรือกลม เมล็ดสีดำ

ผักบุ้งที่ ขึ้นมาเองตามสวนหรือตามท้องนาจะมีลำต้นค่อนข้างแข็ง ปล้องยาว ยอดอ่อน มีทั้งสีเขียวล้วน และสีแดงแกมม่วง พันธุ์ที่สีเขียวล้วนมักเรียกว่า ผักบุ้งไทยพันธุ์ที่มีสีแดงแกมม่วง เรียกว่า ผักบุ้งแดง นิยมรับประทานเป็นผักสดแกล้มกับอาหารอื่นๆ หรือใช้ประกอบอาหารผักบุ้งที่มีลำต้นอวบ สีเขียวสด ใบดก รูปใบเป็นแถบแคบยาวที่ขายกันตามตลาดเรียกว่า ผักบุ้งจีน มีการปลูกเป็นการค้าโดยเฉพาะ ไม่ได้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ผักบุ้งจีนนี้ เมื่อทำให้สุก จะนิ่มและเปื่อยง่าย นิยมใช้ทำอาหารประเภทผัด ผักบุ้งทุกพันธุ์มีวิตามินเอสูง ถ้ารับประทานเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตา ในตำรายาไทย ใช้ต้นต้มกับน้ำตาลรับประทานเป็นยาถอนพิษเบื่อเมา

สรรพคุณทางยา : ผักบุ้ง ใช้ถอนพิษเบื่อเมา ราก มีรสจืดเฝื่อนใช้ถอนพิษสำแดง
คุณค่าอาหาร : ผักบุ้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 22 กิโลแคลลอรี ประกอบด้วย เส้นใย 101 กรัม แคลเซียม 3 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม เหล็ก 3 มิลลิกรัม วิตามินเอ 11 , 447 iu . วิตามินบี2 0.17 มิลลิกรัม วิตามินซี 14 มิลลิกรัม